พระเจ้าแสนแสว้ : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ

เศียรพระเจ้าแสนแสว้ หรือเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่นั้นเป็นเศียรพระพุทธรูปแบบศิลปะล้านนาที่เชื่อกันอย่างจริงจังว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปที่มีความเก่าแก่ไปจนถึงสมัยเชียงแสนหรือสมัยแรกเริ่มอาณาจักรล้านนา หรือที่เรียกกันตามทฤษฎีการจำแนกพระพุทธรูปล้านนาว่า ยุคสิงห์หนึ่ง ซึ่งวิเคราะห์และเทียบเคียงจากพุทธลักษณ์ของพระพักต์ของพระพุทธรูปพระเจ้าแสนแสว้นี้กับพระพุทธรูปในกลุ่มเดียวกันที่เรียกกัน

ทว่าจากการศึกษาพระพุทธรูปล้านนาผ่านคติความเชื่อกลับพบว่าพุทธลักษณะของพระพุทธรูปไม่สามารถกำหนดอายุหรือช่วงสมัยการสร้างพระพุทธรูปได้อย่างแน่ชัด (ดังมีตัวอย่างในผลการศึกษาเรื่อง พุทธศิลปะในนิกายสีหฬภิกขุ ของ สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ และ ฮั่นส์ เพนธ์) ซ้ำยังปรากฏหลักฐานเป็นประจักษ์พยานอีกว่า พระพุทธรูปล้านนาบางองค์ที่มีลักษณะแบบที่เรียกกันว่าสิงห์หนึ่งกลับมีจารึกหรือประวัติว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยสิงห์สาม และ/หรือพระพุทธรูปที่ควรจัดว่าเป็นพระพุทธรูปในสมัยสิงห์สามกับปรากฏจารึกและประวัติการสร้างว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยสิงห์สอง เช่น พระพุทธรูปที่พระยายุทธิเสถียรสร้าง พระเจ้าศรีบุญเรืองซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย เป็นต้น

เศียรพระเจ้าแสนแสว้ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

จากข้อสังเกตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วพุทธลักษณะของพระพุทธรูปล้านนานั้นจัดอยู่ในกระแสนิยมเช่นกัน และด้วยเหตุที่ว่าพุทธลักษณะที่เคยได้รับความนิยมแล้วถูกทิ้งช่วงไปแต่แล้วภายหลังได้รับความนิยมอีกครั้ง และการผสมผสานพุทธลักษณะดังปรากฎหลักฐานว่ามีอยู่จริงด้วยเช่นกันนั้น จึงทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นนี้ว่าพุทธลักษณะของพระพุทธรูปล้านนาไม่สามารถกำหนดอายุการสร้างหรือช่วงสมัยการสร้างได้อย่างชัดเจน และดังนั้นเศียรพระเจ้าแสนแสว้ก็มิควรได้รับการฟันธงหรือด่วนสรุปว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปล้านนาในยุคแรก

แล้วเศียรพระเจ้าแสนแสว้สร้างขึ้นที่ไหนอย่างไร?

เล่ากันแบบมีหลักฐานว่าพบเศียรพระแสนแสว้ครั้งแรกก่อนที่จะถูกนำไป กทม. ที่วัดยางกวง เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง แต่เมื่อค้นเรื่องวัดยางกวงในเอกสารโบราณทั้งในสมัยราชวงศ์มังรายและในสมัยหลังลงมาก็ไม่พบว่ามีเอกสารใดกล่าวถึงว่ามีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พอจะอนุมานว่าเป็นพระเจ้าแสนแสว้ได้ที่วัดยางกวง ชะรอยว่าเศียรพระแสนแสว้ (รวมถึงองค์พระแสนแสว้) ไม่น่าจะเป็นพระพุทธรูปเดิมของวัดยางกวง

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าปกติแล้วพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ของเมืองเชียงใหม่มักจะมีประวัติการสร้างหรือตำนานกล่าวถึงไว้ทุกองค์ เช่นพระเจ้าเก้าตื้อ พระอัษฐารส พระเจ้าแข้งคม ฯลฯ หากพระเจ้าแสนแสว้เป็นพระพุทธรูปของเมืองเชียงใหม่จริงก็น่าจะปรากฎหลักฐานการสร้างหรือตำนานความเป็นมาบ้าง ยิ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงขนาดของพระเจ้าแสนแสว้ที่ควรจะเป็นว่าน่าจะมีขนาดขององค์ที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับพระเศียรที่เหลืออยู่ ซ้ำยังถูกสร้างด้วยสำริดด้วยแล้ว ยิ่งควรต้องมีการกล่าวถึงการสร้างไว้อย่างยิ่ง

ชินกาลมาลีปกรณ์ซึ่งเป็นเอกสารร่วมสมัยราชวงศ์มังราย และเป็นเอกสารโบราณสำคัญชิ้นหนึ่งที่ปรากฏประวัติพุทธศาสนาและการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญเกือบทุกองค์ของเมืองเชียงใหม่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการสร้างหรือหล่อพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ถึงขนาดพระเจ้าแสนแสว้

แม้แต่โคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งเป็นหลักฐานที่กล่าวถึงการเดินทางผ่านบริเวณวัดยางกวงในสมัยพระเมืองแก้วก็มิได้กล่าวถึงว่ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในวัดใดในย่านนั้น หากมีพระเจ้าแสนแสว้อยู่ที่วัดยางกวงแล้วจริง (ตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้ว) กวีผู้แต่งก็คงจะพรรณนาถึงมิพลาดแน่

เศียรพระเจ้าแสนแสว้ ขณะที่อยู่ที่วัดยางกวง เชียงใหม่ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ชะรอยว่าเศียรพระเจ้าแสนแสว้ (รวมถึงองค์) อาจมิได้ถูกสร้างขึ้นที่เมืองเชียงใหม่แต่น่าจะถูกสร้างขึ้นที่อื่นแล้วภายหลังถูกย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดยางกวงก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามด้วยประวัติการพบครั้งแรกและพุทธลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แบบพระพุทธรูปล้านนา จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเศียรพระแสนแสว้ถูกสร้างในอาณาจักรล้านนาเป็นแน่แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ คุณอภิชิต ศิริชัย ได้เสนอการสืบค้นซึ่งพบว่าพระเกศโมลีขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนไม่ได้ถูกพบหรืองมได้กลางแม่น้ำโขงอย่างที่เชื่อกันมานาน จากภาพถ่ายที่เก่าที่สุดยืนยันว่าเป็นของที่พบบนพื้นดิน ทั้งนี้คุณอภิชิตยังได้เสนอการนำภาพถ่ายโบราณวัตถุทั้งของเศียรพระเจ้าแสนแสว้และพระเกศโมลีดังกล่าวมาประกอบภาพเข้าด้วยกัน และสันนิษฐานอย่างไม่เป็นทางการว่ามีความเป็นได้ที่ชิ้นส่วนของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั้งสองเดิมน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่มาจากพระพุทธรูปองค์เดียวกัน ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะถูกหล่อขึ้นโดยแยกหล่อแต่ละชิ้นส่วน ชิ้นส่วนหนึ่งๆ หล่อขึ้นที่เมืองหนึ่งๆ ตามตกลง และจะถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันเฉพาะวาระ

ผู้เขียนมีความเห็นว่าทั้งสองข้อสันนิษฐานดังกล่าวควรหาหลักฐานเชิงประจักษ์พยานให้มากกว่านี้หากจะยืนยันความเป็นไปได้ตามที่สันนิษฐานไว้ และเนื่องจากว่าไม่พบหลักฐานในเอกสารใดที่กล่าวว่าในอดีตมีประเพณีการนำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปของแต่ละเมืองมาประกอบเข้าด้วยกัน หรือแต่ละเมืองที่เป็นพันธมิตรกันได้แบ่งกันหล่อคนละชิ้นส่วนแล้วจึงนำมาต่อกันที่เมืองใดเมืองหนึ่งในภายหลัง ข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก ทั้งนี้เพราะเทคนิคการหล่อพระพุทธรูปสำริดแบบล้านนาส่วนใหญ่ต้องขึ้นรูปหุ่นด้วยดินเหนียวปั้นให้ได้สัดส่วนก่อนทั้งองค์จึงสามารถหล่อหรือแบ่งหล่อได้ เช่น พระเจ้าเก้าตื้อ ที่มีส่วนต่อถึง ๘ แห่ง ก็หล่อขึ้นทั้งองค์ ณ สถานที่เดียว ส่วนเรื่องพระเกศโมลีที่น่าจะเคยเป็นส่วนเชื่อมต่อหนึ่งของส่วนเศียรพระเจ้าแสนแสว้นั้น อาจจะมีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามมีผู้ที่เสนอความเห็นแย้งว่าพระเกศโมลีของเศียรพระแสนแสว้แต่เดิมนั้นควรจะเป็นแบบที่เรียกกันว่าพระเชียงแสนสิงห์หนึ่งคือมีลักษณะเป็นทรงดอกบัวตูม ด้วยยังเชื่อมั่นในกรอบทฤษฎีการกำหนดอายุการจำแนกพระพุทธรูปล้านนาตามพุทธลักษณะแบบสิงห์ ๑ ๒ และ ๓ อยู่ ซึ่งเรื่องเกศโมลีของเศียรพระแสนแสว้นี้แท้จริงแล้วจะมีลักษณะอย่างไรหรือแบบใดก็ได้ เพราะไม่จำเป็นเสมอไป(ดังได้กล่าวมาแล้ว)ว่าพุทธลักษณะพระพักตร์แบบนี้ต้องมีพระเกศโมลีเป็นทรงดอกบัวตูมเท่านั้น พบพระพุทธรูปสำริดบางองค์ที่มีพุทธลักษณะของพระพักตร์แบบเดียวกับพระพักตร์ของพระเจ้าแสนแสว้นี้แต่ก็มิได้มีพระเกศโมลีเป็นทรงดอกบัวตูมเสมอไป ทั้งนี้ยังพบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแบบที่นิยามกันว่าอยู่ในกลุ่มสิงห์ ๓ มีพระเกศโมลีเป็นทรงดอกบัวตูมอยู่หลายองค์ ปรากฏจารึกปีที่สร้างที่ฐานอย่างชัดเจน

เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าแสนแสว้มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนได้อ่านเอกสารโบราณที่มีการปริวรรตแล้วและยังไม่ได้ปริวรรตอีกหลายฉบับ ทั้งที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์สำนวนหลักและสำนวนรอง ก็ไม่พบว่ามีการกล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่พอที่ควรจะเป็นพระเจ้าแสนแสว้นี้ได้ จนกระทั้งคุณเมธี ใจศรี ซึ่งทราบว่าผู้เขียนกำลังจะนำเสนอข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระเจ้าแสนแสว้องค์นี้ ได้อ่านเอกสารโบราณฉบับหนึ่ง เป็นคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยภาษาล้านนาชื่อว่า “ตำนานอารามป่าสักหลวงเมืองเชียงแสน” ที่เผยแพร่ให้อ่านในเว็ปไซต์ Lanna Manuscripts ซึ่งความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงว่ามีการสร้างพระพุทธขนาดใหญ่ที่วัดป่าสักเชียงแสนในสมัยพญาแสนเมืองมาโดยพญาสามฝั่งแกนพระราชบุตร พระพุทธรูปที่พญาสามฝั่งแกนสร้างองค์นี้มีขนาดใหญ่จนพระชานุหรือเข่าทั้งสองข้างกว้างจนเลยเสาวิหารทั้งสองด้าน คำถามที่ควรเกิดขึ้นต่อไปก็คือว่า พระพุทธรูปดังกล่าวนี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหรือพระพุทธรูปสำริด???

ตามความเป็นจริงแล้วหากในกรณีที่ตำนานกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่มากจนเข่าพ้นออกจากเสาวิหารนี้เป็นความจริง นั้นก็แปลว่ามีวิหารอยู่ก่อนที่จะมีการสร้างหรือประดิษฐานพระพุทธรูปประทานองค์ดังกล่าวนี้ เหตุเพราะหากมีการสร้างวิหารครอบพระพุทธรูปในภายหลัง วิหารที่สร้างขึ้นก็คงต้องมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูป เข่าของพระพุทธรูปคงไม่ถูกปล่อยให้ยื่นออกมานอกตัววิหาร นำไปสู่การวิเคราะห์ในขั้นต่อไปว่า แท้จริงแล้วพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่กล่าวถึงในตำนานนี้อาจเป็นพระพุทธรูปที่ถูกหล่อแยกส่วนด้วยสำริดแล้วถูกเคลื่อนย้ายนำมาประกอบในวิหารภายหลัง เพราะถ้าหากเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นก่อด้วยอิฐ ก็คงไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอย้ำว่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่พอจะเป็นไปได้ในกรณีที่เอกสารโบราณตำนานว่าป่าสักหลวงนี้มีเค้าความจริงตามที่กล่าวไว้เท่านั้น

เศียรพระเจ้าแสนแสว้ขณะที่อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ภาพจาก (ภาพจาก www.pralanna.com)

พระเจ้าแสนแสว้อาจถูกสร้างเฉพาะส่วนพระเศียร / หล่อเสร็จทั้งองค์หรือไม่?

อาจมีหลายท่านตั้งข้อสันนิษฐานว่า ชิ้นส่วนอื่นของพระเจ้าแสนแสว้นั้นคงหล่อไม่เสร็จหรือตั้งใจหล่อเพียงส่วนพระเศียร ผู้เขียนเห็นว่ามีตัวอย่างหลายกรณีที่สามารถยืนยันได้ว่าในอดีตมีการหล่อพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ได้สำเร็จสมบูรณ์ แม้ว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของพระเจ้าแสนแสว้(จากการอนุมาน)แล้วจะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม เช่น พระอัษฐารส ที่หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าเก้าตื้อหล่อในสมัยพระเมืองแก้ว เป็นต้น

การไม่พบชิ้นส่วนอื่นของพระพุทธรูปสำริดนอกจากส่วนพระเศียรที่มีขนาดใหญ่ มิได้พบเพียงเศียรของพระเจ้าแสนแสว้นี้เท่านั้น ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัยก็มีเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่พบเพียงพระเศียรและเรียกว่าเศียรพระเจ้าแสนแสว้เช่นกัน นอกจากนี้ที่อยุธยาก็มีการพบเศียรพระสำริดขนาดใหญ่ในทำนองที่หาส่วนองค์ไม่เจอเช่นเดียวกันนี้ คือเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญ์ และมีการจัดสัมมนาถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันเมื่อเร็วๆ มานี้

ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วข้อสันนิษฐานที่ว่าเศียรพระเจ้าแสนแสว้เป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่ยังหล่อไม่เสร็จ หรือ มีความตั้งใจหล่อเฉพาะส่วนพระเศียรนั้นจึงเป็นข้อสันนิษฐานที่ด่วนสรุปเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปที่พบเพียงส่วนพระเศียรคือพระพุทธรูปที่หล่อไม่เสร็จหรือตั้งใจหล่อเพียงส่วนพระเศียรอย่างนั้นเสมอไป ฉะนั้นในความเห็นของผู้เขียนข้อสันนิษฐานนี้ดูจะไม่เป็นธรรมกับหลักฐานสักเท่าไหร่ อนึ่ง ด้วยความที่เทคนิค ขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูปมีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องปั้นหุ่นขึ้นทั้งองค์ก่อนพระพุทธรูปที่จะทำการหล่อจึงจะมีสัดส่วนที่ลงตัวเหมาะสม และด้วยเศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีร่องสำหรับใช้เชื่อมต่อกับส่วนองค์ นั้นแสดงให้เห็นว่าแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์เต็มองค์

นอกจากนี้อีกข้อสงสัยหนึ่งที่ควรได้รับการอธิบายเพิ่มเติมมีอยู่ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะหล่อขึ้นเพียงส่วนพระเศียร ส่วนองค์น่าจะก่อด้วยอิฐและปูน เพราะมีตัวอย่างในสมัยหลัง? ซึ่งแท้จริงแล้วในกรณีของพระเจ้าแสนแสว้นี้มีชื่อเรียกชัดเจนซึ่งได้ตามเทคนิคการประกอบแต่ละชิ้นส่วนขององค์พระเข้าด้วยกันโดยการใช้ แสว้ แส้ ซึ่งก็คือ สลัก หรือ กลอน เป็นตัวเชื่อมเข้าด้วยกัน ชื่อ “แสนแสว้” นั้นแปลว่ามีจำนวนแสว้หรือสลักอยู่มาก (ดังทราบกันบ้างแล้ว) ดังนั้นในกรณีของพระเจ้าแสนแสว้นี้จึงมิใช้พระพุทธรูปที่หล่อเฉพาะส่วนเศียรแล้วนำไปประกอบกับส่วนองค์ที่เป็นปูนปั้น หรือก่ออิฐถือปูนแต่อย่างใด และด้วยชื่อเรียกที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการประกอบนี้เองจึงสะท้อนให้เห็นว่าพระเจ้าแสนแสว้เป็นพระพุทธรูปที่น่าจะเคยหล่อแล้วเสร็จด้วยสำริดมาแล้วทั้งองค์ เชื่อว่าเมื่อครั้งที่มีการนำพระเศียรของพระเจ้าแสนแสว้มาไว้ที่วัดยางกวง ชื่อ “แสนแสว้” คงได้ติดมาด้วยอยู่แล้วแต่เดิมเช่นเดียวกับคำอธิบายเรื่องชื่อนี้

แล้วชิ้นส่วนที่เหลือหายไปไหน?

นอกจากนั้นข้อสันนิษฐานที่อาจเป็นไปได้อีกประการหนึ่งเกิดจากข้อสังเกตที่ว่า การที่พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ๆ มักหลงเหลือแต่ส่วนพระเศียร เกศโมลี ให้เห็น อาจเป็นเพราะส่วนองค์ถูกนำไปหลอมและหล่อเป็นอย่างอื่นไปแล้วก็เป็นได้ เพราะในช่วงที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามมีความจำเป็นที่จะใช้สำริดหล่ออย่างอื่น ซึ่งอาจจะเป็นปืนใหญ่ มีตัวอย่างความขาดแคลนวัตถุดิบที่จะใช้หล่อปืนใหญ่ในยามสงครามจนต้องรื้อสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาเอาทองเหลืองไปหล่อเป็นปืนใหญ่ด้วยเช่นกัน

ส่วนคำถามที่ว่าแล้วทำไมจึงเหลือส่วนพระพักตร์ไว้นั้น ก็อาจจะเป็นเพราะส่วนนี้มีความหมายและมีความสำคัญบางประการต่อความรู้สึกหรือความศรัทธามากกว่าส่วนอื่นก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่พอจะเป็นไปได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561