ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล กับความขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ความโกลาหลและขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2500 [1] เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวความขัดแย้งทางการเมืองรายวัน ทั้งระหว่างพรรคการเมืองเอง ชนชั้นนำเอง กระทั่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น สื่อมวลชน นักคิดฝ่ายซ้าย ฝ่ายอนุรักษนิยม ฯลฯ

กรณีที่กลายเป็นกระแสข้ามปีนั่นคือ กระแสความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับในหลวง ผ่านพระราชดำรัสในปี 2499 ที่พบว่า เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันกองทัพบก วันที่ 25 มกราคม 2499 ที่มีใจความอยู่ที่ว่า ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคณะรัฐบาลรัฐประหาร

สิ่งสำคัญก็คือเป็นพระราชดำรัสที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการสนองพระราชโองการ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ หยุด แสงอุทัย ได้ทักท้วงว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย “ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”

และแน่นอนว่า ทัศนะเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการโต้แย้งจากฝ่ายตรงข้าม จนถึงขั้นกล่าวหาว่า หยุดกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ [2]

ความขัดแย้งของรัฐบาลกับราชสำนักยังเกิดขึ้นอีกในปลายปี ในวโรกาสทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2499 ตามประเพณีแล้วจะมีการลดหย่อนโทษและปล่อยนักโทษ ในครั้งนี้แม้จะยังมีอยู่ แต่รัฐบาลได้งดพระราชอำนาจในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เพราะว่ารัฐบาลจะโยกให้ไปเป็นนิรโทษกรรมเนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษแทน ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีของพระมหากษัตริย์เทียบเท่างานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [3]

ก่อนจัดงานประมาณ 3 เดือน รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ถูกว่างเว้นมาอย่างยาวนาน หลังจากคณะรัฐประหารได้ขึ้นมาครองอำนาจเกือบทศวรรษ นั่นคือ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผลการเลือกตั้งก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเลือกมากที่สุดนั่นคือ 86 ที่นั่ง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้มา 30 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นที่โจษจันกันว่า มีการทุจริตอย่างมโหฬารจนถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” ด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้งปลอมที่เรียกกันว่า “ไพ่ไฟ” และเวียนให้คนหน้าเดิมมาลงคะแนนที่เรียกว่า “พลร่ม” [4]

และนำมาซึ่งการประท้วงอย่างใหญ่โตโดยนิสิต นักศึกษา ประชาชน ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 ได้ทำให้คะแนนความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกต่ำลงอย่างมาก สวนทางกับคะแนนนิยมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ที่แสดงตนบทตีสองหน้าที่ด้านหนึ่งก็เห็นอกเห็นใจผู้ประท้วง ในอีกด้านก็แสดงความภักดีต่อนายกรัฐมนตรี [5] ยังไม่นับว่าก่อนการเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นวายและความรุนแรง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ผิณ ชุณหวัน เมื่อปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับตุลาคม ปี 1953)

กว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ลุมาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2500 ภายในคณะรัฐบาลที่เคยเรืองอำนาจมาจากคณะรัฐประหารเดิมเริ่มแตกขั้วเป็น 2 ฝ่าย รัฐบาลได้ยกฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่และดำเนินการใช้อำนาจที่สวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พวกเขาเคยใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง นั่นคือได้ยกเลิกเสรีภาพสื่อมวลชนที่เคยให้ อย่างเช่น เพรสคอนเฟอเรนซ์ รวมไปจนถึงกรณีลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อจากการจับกุม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนเมษายน 2500 [6] นอกจากนั้นก่อนงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพียงไม่กี่สัปดาห์ ฝ่ายสังคมนิยมยังจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เพื่อวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่ตามก้นสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการติดต่อกับจีนคอมมิวนิสต์ [7]…

อำนาจการเมืองของเจ้าของจารีตเดิมกับผู้นำรัฐบาล

การกระทำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พยายามสร้างความหมายใหม่ เพื่อเสริมสร้างอำนาจของตนในยามที่สถานภาพทางการเมืองคลอนแคลน โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่น่าสนใจก็คือการกล่าวอ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นอนุสรณ์ที่รัฐบาลตั้งใจจะเชิดชูเกียรติในภายใต้นิยาม “ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาลชั่วกาลนาน” [8] เห็นได้ชัดว่าในวลีนี้ไม่มีคำว่าพระมหากษัตริย์

รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวโดยหลายกิจกรรมมีข้อกังขาอย่างยิ่งว่าจะเป็นการแข่งบุญแข่งวาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาคภาษาไทยที่ครบสมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ทั้งยังมีการแทนที่พื้นที่แห่งพระราชพิธีด้วยรัฐพิธี การจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเกิดขึ้นหลังจากงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อ พ.ศ. 2499 เพียงปีเดียว [9] สนามหลวงก็ถูกปรับใช้เป็นพื้นที่รัฐพิธี มีการสร้างโรงพิธีมณฑลและจำลองรูปพุทธมณฑลสำหรับงานใหญ่นี้

การใช้พื้นที่สนามหลวงที่เคยเป็นพื้นที่ของจารีตในนามของรัฐบาลพลเรือนเคยถูกใช้เมื่อครั้งงานฌาปนกิจเหล่าทหารฝ่ายคณะราษฎรที่เสียชีวิตจากกบฏบวรเดช 2476 ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่มีการใช้สนามหลวงเพื่อรัฐพิธีอันใหญ่โต แต่อย่างไรก็ตามการใช้พุทธศาสนาที่เป็นสัญลักษณ์เดิมของฝ่ายชนชั้นนำ ก็ยังถือว่าเป็นที่ยอมรับได้

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำเรือพระที่นั่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติของโลกทรรศน์แบบจารีตของกษัตริย์มาใช้ใน “ขบวนแห่พุทธพยุหยาตราและพุทธประทีปบูชา” มีการเลือกใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยให้ทหารแต่งกายทหารเรือโบราณอัญเชิญพระพุทธรูปปางลีลา อัญเชิญพระไตรปิฎกลงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และพระสงฆ์ลงเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ทั้งยังประกอบด้วยเรือ 39 ลำ ฝีพายแต่ละคนแต่งกายแบบนักรบโบราณ ขัดกระบี่พร้อมทุกคน

เมื่อเคลื่อนขบวนก็มีการเห่บนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเดิมกระบวนพิธีขบวนแห่พยุหยาตราชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ แต่ได้รับการประยุกต์ใช้ให้ความหมายใหม่กับรัฐพิธีที่มีผู้นำเป็นเพียงสามัญชน [10]

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์นั้นเล่า นอกจากกำหนดการที่วางตำแหน่งให้ในหลวงเสด็จฯ มาทรงเปิดงานแล้ว ก็ไม่ได้มีพระราชกรณียกิจสำคัญใดต่องานนี้อีก แม้พิธีมอบพระพุทธรูปประจำจังหวัดก็เป็นงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม [11] ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2500 รัฐบาลก็ให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดฐานกบฏจลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกันหรือปราบปรามการกบฏหรือการจลาจล, พระราชบัญญัติล้างมลทินให้แก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ กรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว, พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษประเภทอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ [12] การล้างโทษนักการเมืองอย่างมหาศาลเหล่านี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งในวโรกาสทรงพระผนวชของในหลวงในปี 2499

ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล

นอกจากกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ หยุด แสงอุทัย และกรณีนิรโทษกรรมในวโรกาสทรงพระผนวช ในปี 2499 แล้ว เรายังพบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธี แต่โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เสด็จแทนพระองค์ เนื่องจากว่าพระองค์ทรงพระประชวร ไม่สามารถจะเสด็จฯ มาทรงร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษได้ ดังจดหมายนี้ [13] (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

ขอประทานเสนอ

เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขะบูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ซึ่งได้แจ้งให้สำนักพระราชวังทางกรุงเทพฯ ดำเนินไปแล้ว

ทั้งนี้เป็นเพราะทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประชวรพระโรคหวัด มาตั้งแต่การพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้ว แต่ที่มิได้มีพระราชกระแสงดเสด็จพระราชดำเนินเสียแต่แรก ก็เพราะทรงคาดว่าเมื่อใกล้เวลาพิธี พระอาการอาจจะเป็นปรกติ เสด็จพระราชดำเนินได้ แต่เมื่อถึงวันที่จะเสด็จฯ มาพระนคร นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายตรวจแล้ว ถวายคำแนะนําไม่ให้เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนคร ปรากฎรายละเอียดในสำเนารายงานของนายแพทย์ประจำพระองค์ที่ได้แนบมาพร้อมนี้ จึงขอประทานเสนอเพื่อทราบ

[ลายเซ็น]

12 พ.ศ. 2500

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2500 ขณะที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงมีพระอาการปวดเมื่อยที่พระอังสะซ้าย ตลอดจนถึงพระกร มีมูลพระนาสิกไหลและแสบพระศอ ไม่มีไข้ ได้ถวายพระโอสถตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ พระอาการทุเลาขึ้นบ้าง แต่จะมีพระอาการทางพระศออยู่

วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับหัวหิน ในขณะเสด็จพระราชดำเนินนั้น อากาศร้อนอบอ้าวผิดปรกติ พระอาการจึงเพิ่มขึ้นอีก ได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จฯ ลงสรงน้ำหรือตากแดด หรือประทับในที่อบอ้าว แต่ประทับในที่โปร่งได้ พระอาการหวัดยังคงมีอยู่ตลอดมา จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พระอาการพระศอซึ่งก่อนหน้านั้นทุเลาขึ้นเล็กน้อย กลับมีพระอาการแสบขึ้นอีก พร้อมกับมีพระเสมหะติดอยู่มาก ทั้งมีพระอาการมึนพระเศียรด้วย

ในวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ได้ถวายตรวจพระอาการ ปรากฏว่า มีพระอาการมากขึ้นและความดันพระโลหิตได้ขึ้นสูงกว่าปรกติมาก จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำว่า ยังไม่สมควรจะเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ เพราะขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในประเทศใกล้เคียง และมีทีท่าที่จะแผ่กระจายเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพระอาการไม่ดีอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ โดยรถยนตร์ในอากาศอบอ้าว ทั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปประกอบพระราชกรณียกิจในหมู่ที่มีชุมนุมชนมากเช่นนั้น เป็นการเสี่ยงต่อพระราชอนามัยอย่างมาก

(ลงชื่อ) เกษตร สนิทวงศ์

นายแพทย์ประจำพระองค์

11 พฤษภาคม 2500 เวลา 13.30 น.

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

หนังสือพิมพ์ไทม์ลงข่าวว่า เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐบาล [14] ขณะที่รัฐบาลต้องออกมาแถลงข่าวปฏิเสธความขัดแย้งนี้ นอกจากนั้นรายงานฉบับเต็มของนายเบิร์กเลย์ เกจ (Berkeley Cage) ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่ส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน วันที่ 28 พฤษภาคม 2500 อันถือเป็นหลักฐานร่วมสมัย ยังชี้ให้เห็นความขัดแย้งของในหลวงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้

รายงานชี้ให้เห็นว่า ตามหมายกำหนดการเดิมของพระองค์จะเสด็จฯ 4 วัน แน่นอนว่า เหตุผลจากราชสำนักอย่างเป็นทางการคือทรงพระประชวร แต่ในสายตาของทูตอังกฤษแล้วกลับมองว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือทรงไม่พอพระทัย เกี่ยวกับการจัดงานนี้เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญกับพระองค์เท่าที่ควรจึงทรงงดเสด็จฯ [15]

ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงตนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและงานนี้ โดยการไม่เข้าร่วมงาน [16] หลังจากงานฉลองฯ ไม่นานพบว่า ระหว่างการแต่งตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 ก็พบว่า มีการยับยั้งกระบวนการดังกล่าวโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 2 ครั้ง นั่นคือ วันที่ 18 และ 22 มิถุนายน 2500 [17]

สอดคล้องกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษนิยม ยื่นฟ้องให้ศาลตีความว่า การแต่งตั้งเช่นนั้นไม่น่าจะถูกต้อง [18] ยังไม่นับกรณีที่มีการกระทำที่เสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการอ้างเรื่องดังกล่าวของฝ่ายค้านในฐานะที่เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองผ่านการไฮด์ปาร์กที่สนามหลวง ในรัฐสภา กระทั่งบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างครึกโครม [19] เรื่องดังกล่าวนับว่าอุกอาจอย่างมากเมื่อเทียบกับบริบทในปัจจุบัน หากรัฐบาลปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เชิงอรรถ :

[1] การพระศานาภาค 5, 6, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500), น. 3-12.

[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 376-378.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 378-379.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 364-366.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 366-369.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 386.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 387.

[8] หจช. สร. 0201.10.3 / 19 “เรื่องพระไตรปิฎกฉบับครบรอบ 2,500 ปี” (พ.ศ. 2495) อ้างใน ถนอมจิต มีชื่น. จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลองพุทธศตวรรษ. น. 89

[9] วิกิพีเดีย สารานุกรม. “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี_พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (22 กุมภาพันธ์ 2552)

[10] ถนอมจิต มีชื่น. จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลองพุทธศตวรรษ. น. 110-111.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 110.

[12] การพระศานาภาค 5, 6, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500), น. 16.

[13] “เอกสาร (ก) บันทึกข้อความจากเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมบันทึกของนายแพทย์ประจำพระองค์” อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย”. http://somsakwork.blogspot.com/2006/07/king-and-i-2500-berkeley-cage-28-2500.html (5 กรกฎาคม 2549)

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 379. และทักษ์ เฉลิมเตียรณ, พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ, แปล. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์). น. 119-120

[15] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย”. http://somsakwork.blogspot.com/2006/07/king-and-i-2500-berkeley-cage-28-2500.html (5 กรกฎาคม 2549)

[16] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 379.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 382-383.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 374, 382.

[19] เรื่องเดียวกัน, น. 383-384.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาล การนิยามความเป็นไทยในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564