ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ตำนานของ “ท้าวหิรัญพนาสูร” อสูรที่ถวายตัวรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนได้กลายเป็น “ผีทรงเลี้ยง” ถือเป็นเรื่องราวที่เล่าขานกันขนานใหญ่ทั้งในหมู่ข้าราชบริพารและผู้ตามเสด็จทั้งหลาย ดังมีบันทึกของผู้เคยสัมผัสประสบการณ์ “ความเฮี้ยน” และได้รับรู้เรื่องราวของอสูรตนนี้จากบุคคลใกล้ชิด
หลักฐานชิ้นสำคัญคือหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ผู้เป็นแบบปั้นรูปท้าวหิรัญพนาสูร ณ ศาลด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่อสูรตนนี้มาถวายตัว จนกลายเป็นพระภูมิประจำพระราชวังพญาไท ดังนี้ [ปรับย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2449 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังมิได้เสด็จเถลิงราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งในครั้งกระโน้นยังเป็นป่ารถชัฏไม่มีทางรถไฟ ถนนหนทางเช่นในปัจจุบันนี้ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วยก็ล้วนแต่หวาดหวั่นกลัวภยันตรายไข้เจ็บในป่า เพราะมีคนล้มป่วยเป็นไข้ป่าอยู่เป็นอันมาก
จึงรับสั่งปลุกใจว่าต่อแต่นี้ไปพวกท่านไม่ต้องเกรงกลัวภยันตรายใด ๆ อีก ทั้งนี้เพราะได้ทรงสุบินนิมิตไปว่า มีท้าวหิรัญพนาสูร ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “ฮู” อาสาจะมาเป็นมหาดเล็กป้องกันภัยจากภูติผีปีศาจ และไข้เจ็บทั้งปวงให้ อย่าให้ข้าราชบริพารเกรงกลัวภยันตรายใด ๆ อีกต่อไปเลย
ซึ่งการก็สมจริงตามกระแสพระราชดำรัสสั่ง เพราะปรากฏว่าต่อจากนั้นมา ข้าราชบริพารทุกคนที่ตามเสด็จมิได้มีใครป่วยเจ็บจากไข้ป่าหรือรับภยันตรายใด ๆ เลย ที่ป่วยเจ็บอยู่ก่อนแล้วก็หายป่วยทั้งสิ้น
จึงเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีอสูรเป็นเทพบริวารคอยรับใช้อยู่ด้วย มหาดเล็กและข้าราชการบางคนถึงกับได้เห็นด้วยตาตนเองว่า มีอสูรคอยติดตามอารักขาขบวนเสด็จอยู่ก็เคยมี
ดังนั้นมหาดเล็กและข้าราชบริพารใกล้ชิดในสมัยนั้นจึงได้พบเห็นพิธีการอันประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเป็นประจำวันทั้งเช้าและเย็น คือการแบ่งเครื่องเสวยออกเซ่นสรวงท้าวหิรัญพนาสูร
ข้าราชการผู้มีหน้าที่ประจำ ในการแบ่งเครื่องเสวยออกเซ่นสรวงท้าวหิรัญพนาสูรในครั้งกระนั้น ก็คือหลวงปราโมทย์กระยานุกิจ (มา)
การเซ่นสรวงดังกล่าวนี้ในตอนแรก ๆ ก็เซ่นสรวงกันลอย ๆ โดยไม่มีรูปอสูรประดิษฐานในการเซ่นสรวง แต่ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุสาตรจิตรกรช่างเขียนประจำพระองค์ ร่างรูปท้าวหิรัญพนาสูรขึ้นตามที่ทรงพระสุบิน แล้วโปรดให้หล่อรูปสัมฤทธิ์ขนาดเล็กสมมติเป็นท้าวหิรัญพนาสูรขึ้น
และรูปท้าวหิรัญพยาสูรขนาดเล็กนี้ ภายหลังโปรดให้หล่อขึ้น 4 รูป นำไปติดไว้ที่หน้าหม้อรถยนต์พระที่นั่งเนเปียรูปหนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ข้างพระที่ในห้องบรรทมรูปหนึ่ง อยู่ที่บ้านพระยาอนิรุธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) รูปหนึ่ง กับอยู่ที่กองมหาดเล็กรับใช้ในพระบรมมหาราชวังอีกรูปหนึ่ง
การเซ่นสรวงในคราวต่อมาจึงได้กระทำที่รูปสัมฤทธิ์ขนาดเล็กนี้ วันใดมิได้ทำการเซ่นสรวง ก็มักจะเกิดอาเพศ ถ้วยชาม เครื่องของเสวยแตกโฉ่งฉ่างให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณทุกครั้งจนข้าราชบริพารทั้งหลายเชื่อถือ เลื่อมใสว่ามีท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู) มาสมัครเป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจริงโดยทั่วกัน
คำบอกเล่าอีกสำนวนคือบทสัมภาษณ์ของ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) อดีตข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ซึ่งอยู่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ (ศุข อามระดิษ) ได้กล่าวถึง “อภินิหาร” ของอสูรตนนี้ เมื่อคราวเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ความว่า
“พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) คือขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประทับอยู่ที่นครปฐม ทางกรุงเทพฯ ได้เกิดมีการจับกุมพวกที่คิดกบฏขึ้น พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกก็รีบเสด็จขึ้นรถไฟไปเข้าเฝ้าที่นครปฐม กราบบังคมทูลเหตุการณ์ที่ได้ทำการจับกุมพวกกบฏเรียบร้อยแล้วให้ทรงทราบ
พระองค์ก็ได้มีพระราชดำรัสกับกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถว่า ‘เมื่อคืนนี้ฉันก็ฝันไปว่า ท้าวหิรันย ฮู มาบอกว่าได้มีกบฏกันขึ้นในกรุงเทพฯ และบอกด้วยว่าเหตุการณ์เรียบร้อยแล้วไม่ต้องตกพระราชหฤทัย’
พระมหาเทพกษัตรสมุหกล่าวว่า ‘เรื่องนี้พระองค์ท่านเอง ในตอนแรกก็ไม่ทรงเชื่อพระสุบิน แต่ที่ไหนได้พอรุ่งขึ้นทูลกระหม่อมเล็ก (กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ) ก็เสด็จขึ้นมาเฝ้ากราบทูลเรื่องนี้จริง ๆ”
อีก “เหตุการณ์ประหลาด” ที่พระมหาเทพกษัตรสมุหเล่าไว้ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เกี่ยวข้องกับรถพระที่นั่งรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นรถเนเปียสีขาวและติดรูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูรไว้ รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ และพระองค์ก็ใช้ขับไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 เป็นประจำ กระทั่ง…
“ทรงพบกับความประหลาดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอยู่บ่อย ๆ ที่รถพระที่นั่งคันนี้จอดอยู่ในโรงเก็บที่วัง… ในเวลากลางคืน พอกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงตื่นบรรทมในตอนดึก มักจะได้ทรงเห็นรถพระที่นั่งเปิดไฟสว่างจ้าอยู่เสมอ ตอนแรกกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงคิดว่า คงจะมีใครเปิดไฟเล่น แต่เมื่อทรงลงไปตรวจดูแล้วก็ไม่พบใคร
มีอยู่คืนวันหนึ่ง นอกจากรถพระที่นั่งจะเปิดไฟหน้ารถสว่างจ้าแล้ว รถพระที่นั่งยังจอดขวางโรงเก็บ ซึ่งแคบแสนแคบ เปลี่ยนจากที่จอดเดิมตามธรรมดาเสียอีกด้วย… ต่อให้ใครเก่งแสนเก่งก็ขับรถกลับไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อคนขับรถจะเอารถพระที่นั่งออก จึงต้องใช้วิธีเอาขึ้นแม่แรงยกรถกันเป็นการใหญ่
รุ่งขึ้นกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงกระหืดกระหอบเข้าเผ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงเล่าเรื่องนี้ถวายให้ทรงทราบ”
กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ยังเคยตรัสกับพระมหาเทพกษัตรสมุหด้วยว่า “ฉันไม่กล้าขับรถคันนี้”
ต่อมาพระองค์ได้ทรงถวายคืนรัชกาลที่ 7 เพราะไม่กล้าเก็บไว้
หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังเล่าด้วยว่า ตลอดพระชนมชีพของรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ท้าวหิรัญฯ มาถวายตัวรับใช้พระองค์นั้น “บางครั้ง เมื่อเสด็จประทับอยู่ในหัวเมือง มีผู้อ้างว่าได้แลเห็นคนรูปร่างล่ำสันใหญ่โตนั่งบ้างยืนบ้างอยู่ใกล้ ๆ กับที่ประทับ
การเห็นนี้ไม่ใช่เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ได้เห็นพร้อม ๆ กันหลายคนก็มี และการเชื่อถือหิรันยอสูรนี้ไม่ใช่มีเฉพาะแต่ข้าราชบริพารตามเสด็จเท่านั้น ถึงแม้แต่ข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาล (ข้าราชการต่างจังหวัด) ก็นิยมนับถือด้วย”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพญาไท จึงทรงมีพระราชดำริให้มีศาลเทพารักษ์แบบศาลพระภูมิประจำบ้าน และให้ท้าวหิรัญพนาสูรเป็นเทพารักษ์ประจำวัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาอาทรจุรศิลป์ (ม.ล. ช่วง กุญชร) ช่างกรมศิลปากร เป็นผู้หล่อรูปสัมฤทธิ์และได้ขุนหิรัญปราสาทมาเป็นแบบปั้น มีพิธีบวงสรวงอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2465
ปัจจุบันศาลนี้ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชวังพญาไท ด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และมีประชาชนจำนวนมากให้ความเคารพเลื่อมใส มาสักการบูชาอยู่เป็นประจำไม่ขาด
อ่านเพิ่มเติม :
- “ขุนหิรัญปราสาท” ต้นแบบใบหน้าท้าวหิรัญพนาสูร “ผีทรงเลี้ยง” ในรัชกาลที่ 6
- ผ่าเบื้องหลัง ท้าวหิรัญพนาสูร อีกหนึ่งการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลที่ 6 สะท้อนอะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุธีรา อินทรน้อย เรียบเรียง. (2508). ประวัติขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ใน พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์)
วรรณ อารมระดิษ เรียบเรียง. (2515). อามระดิษ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ (ศุข อามระดิษ)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2567