ผ่าเบื้องหลัง ท้าวหิรัญพนาสูร อีกหนึ่งการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลที่ 6 สะท้อนอะไร?

ท้าวหิรัญพนาสูร ท้าวหิรันยพนาสูร ดวงวิญญาณอสูรที่คอยถวายความจงรักภักดีคือ ใน รัชกาลที่ 6
ภาพถ่าย รูปหล่อ ท้าวหิรัญพนาสูร ในรัชกาลที่ 6 ต่อมา ตกทอดเป็นพระราชมรดกในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประกอบกับฉากหลังที่ตกแต่งขึ้นภาพจากหนังสือ พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้หลายครั้ง และหากนับย้อนไปตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชสมบัติ ย่อมพบข้อมูลเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงนับถือ ซึ่งเล่าขานกันมาว่า ทรงมีดวงวิญญาณอสูรที่คอยถวายความจงรักภักดีคือ ท้าวหิรัญพนาสูร (เอกสารในอดีตสะกดคำเป็น ท้าวหิรันยพนาสูร)

ก่อนหน้าจะเอ่ยถึงความเป็นมาของท้าวหิรันยพนาสูร หรือ ท้าวหิรัญพนาสูร คงต้องย้อนกลับไปเล่าข้อมูลเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ทรงมีความสามารถมากมาย ดังบันทึกของ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ว่า “ทรงใส่พระทัยอยู่ในอักษรศาสตร์และศิลป” ทรงแปลและแต่งบท “ละคอน” (สะกดตามสมัยอดีต) อย่างไทยและยุโรปให้ข้าในพระองค์แสดง เรียกว่า “ละคอนและโขนสมัคร์เล่น”

Advertisement

และเมื่อใดเหมาะออกแก่การทอดพระเนตรบ้านเมือง จะเสด็จฯ ประพาสไปทุกที่ในพระราชอาณาจักร โดยมีเสด็จทางมณฑลพายัพและปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือด้วย

เกร็ดความเป็นมาของ “อสูร” ที่มี 2 เรื่องเล่า

วิศรุต บวงสรวง ผู้เขียนบทความเรื่อง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453 – 2468” เป็นส่วนหนึ่งในงานดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ศาสนวัตถุกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไทย พุทธทศวรรษ 2410 – 2540” ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 บ12 โบราณคดี, วัตถุ / 26 ท้าวหิรันยพนาสูร (28 มิถุนายน – 16 สิงหาคม พ.ศ. 2465) ซึ่งเอกสารนี้อธิบายความไว้ว่า

เมื่อจะเสด็จฯ ประพาสมณฑลพายัพ ใน พ.ศ. 2449 ซึ่งยุคนั้นยังเดินทางด้วยม้าจากปลายทางรถไฟเข้าป่าไป เหล่าบรรดาข้าราชสำนักมีหน้าที่ตามเสด็จฯ ต่างพากันหวาดกลัวภัยอันตราย เพราะเส้นทางการเดินทางเต็มไปด้วยป่าเขากันดาร มีสัตว์ป่าดุร้าย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสกับบรรดาข้าราชสำนักว่า

“…ธรรมดาเจ้าใหญ่ นายโตจะเสด็จแห่งใดก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรเปนสัมมาทิษฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตราย…”

ต่อมามีผู้ตามเสด็จฯ ผู้หนึ่งได้กราบทูลว่าฝันเห็นชายผู้หนึ่ง รูปร่างล่ำสัน ร่างกายใหญ่โต ชายผู้นั้นบอกว่า ตนชื่อ “หิรันย์” เป็นอสูรชาวป่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และการเดินทางไปมณฑลพายัพครั้งนี้จะตามเสด็จฯ เพื่อคอยดูแลระวังมิให้เกิดภยันตรายระหว่างทางเสด็จฯ

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงได้ยินเช่นนั้น จึงมีรับสั่งให้จัดธูปเทียนเครื่องสังเวยเซ่นบูชาในบริเวณป่าที่ประทับ และเมื่อถึงเวลาเสวยค่ำในทุกวัน ได้ทรงแบ่งพระกระยาหารของพระองค์เป็นเครื่องเซ่นพระราชทานแด่อสูรนั้นเสมอ

หลังจากนั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปที่ใด บรรดาผู้ตามเสด็จฯ จะพร้อมใจกันอัญเชิญให้หิรัญอสูรตามเสด็จฯ ด้วย และมักเชื่อกันว่าที่ทรงเสด็จฯ โดยสวัสดิภาพ เพราะอสูรตนนั้นคอยคุ้มครองระวังภัย

วิศรุต ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลจากเอกสารนี้มีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างจากข้อมูลในบันทึก “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ 6)” โดย หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ที่เล่าว่า ก่อนการเสด็จมณฑลพายัพ เป็นรัชกาลที่ 6 เอง ที่ทรงพระสุบิน (ฝัน) ไปว่า

“มียักษ์ตนหนึ่งมาเฝ้าทูลว่าชื่อหิรัญจะมาอยู่เฝ้าดูแลรักษาพระองค์มิให้มีภัยแต่อย่างใดได้. จึงโปรดให้ช่างทำรูปยักษ์ตามที่ทอดพระเนตร์เห็นในพระสุบินนั้นรับไว้และเรียกว่า ‘ท้าวหิรัญ’ ต่อมา…”

บทความของวิศรุตอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า การที่ผู้คนยังพากันนับถือผี กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่มีผู้คนพากันนับถือ “หิรันยอสูร” พระองค์เองก็ทรงแบ่งเครื่องเสวยไปเซ่นสังเวยให้กับหิรันยอสูรทุกครั้งจนเป็นธรรมเนียม

เมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงมีความเชื่อว่า หิรันยอสูรคอยคุ้มครองให้เสด็จฯ ไปที่ต่างๆ โดยปลอดภัยทุกครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ ลักษณะเป็นรูปยักษ์สวมชฎาเทริดอย่างไทย ถือไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ หล่อเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2454 และประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญหิรันยอสูรเข้าสถิตในรูปสัมฤทธิ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า “ท้าวหิรันยพนาสูร”

ใน พ.ศ. 2465 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างทำการปั้นและหล่อ ท้าวหิรัญพนาสูร (ท้าวหิรันยพนาสูร) ขนาดใหญ่ขึ้นอีกองค์หนึ่ง โดยมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าว่ารถยนต์พระที่นั่ง “ทุษยันต์” ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงใช้ตรวจการซ้อมรบของเสือป่า มีท้าวหิรัญพนาสูรประดิษฐานอยู่ด้านหน้ารถด้วย

กล่าวกันว่า ในกาลต่อมา รูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูรที่หล่อขึ้นเป็นครั้งแรก ตกทอดเป็นพระราชมรดกในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

นัยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “ท้าวหิรัญพนาสูร”

วิศรุต อธิบายว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2453 ความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ถูกท้าทายตั้งแต่ต้นรัชกาล เนื่องจากทรงมีความขัดแย้งกับเหล่าทหารตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ จนเกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งเกิดพร้อมกับข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ทั้งนี้ สถานการณ์ในช่วงต้น อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัชกาลก่อน ทำให้พระองค์ทรงระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ให้กระทบกับเครือข่ายอำนาจเดิม

พระองค์ต้องรักษาพระราชอำนาจ และระวังพระญาติใกล้ชิด นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับกลุ่มปัญญาชนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย การเกิดขึ้นของกบฏ ร.ศ. 130 ยิ่งตอกย้ำสถานะด้านเสถียรภาพทางการเมืองของพระองค์มากขึ้น

วิศรุต จึงวิเคราะห์ไว้ว่า แม้ความเชื่อในท้าวหิรัญพนาสูรจะปรากฏตั้งแต่ พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) แต่การหล่อรูปปั้นท้าวหิรัญพนาสูรเพิ่งกระทำขึ้นใน พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 6 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการเมืองในรัชกาลที่ 6 ด้วย เพราะเพิ่งผ่านพ้นการกวาดล้างกบฏ ร.ศ. 130

ถึงแม้ว่ากบฏก่อการไม่สำเร็จ วิศรุต มองว่า ปรากฏการณ์นั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงต่อระบอบสมสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้น วิศรุต จึงวิเคราะห์ว่า รูปปั้น “ท้าวหิรัญพนาสูร” หรือ “ท้าวหิรันยพนาสูร” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งที่…

“ช่วยสร้างความมั่นพระทัยมากขึ้นว่าทรงมีอสูรคอยเฝ้าคุ้มครองพระองค์อยู่ในยามที่ทรงหวาดระแวงว่าจะมีผู้ไม่จงรักภักดีคอยปองร้ายต่อพระองค์ และอีกนัยหนึ่งก็เป็นสําแดงพระราชบารมีให้เห็นว่า แม้แต่อสูรก็ยังจงรักภักดีและคอยถวายการคุ้มครอง บรรดาผู้คิดร้ายจงอย่าได้คิดล่วงเกินพระองค์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิศรุต บวงสรวง. “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453 – 2468” ส่วนหนึ่งของงานดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ศาสนวัตถุกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไทย พุทธทศวรรษ 2410 – 2540”. เข้าถึงผ่านระบบออนไลน์ เมื่อ 21 มกราคม 2565.

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2565