ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เวลามีเรื่องสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชการ เรามักได้ยินว่าเรื่องนั้นๆ เผยแพร่หรือประกาศผ่าน “ราชกิจจานุเบกษา” อยู่เสมอ ราชกิจจานุเบกษาคืออะไร เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ ต้องเป็นเรื่องไหนถึงได้อยู่ในนั้น
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายราชกิจจานุเบกษาไว้ว่า “สิ่งพิมพ์ของทางราชการที่จัดให้มีขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นที่ประกาศข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ประสงค์จะให้ประชาชนได้ทราบ เช่น กฎหมาย ประกาศคนล้มละลาย การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท”
ราชกิจจานุเบกษามีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2401 เรียกว่า “โรงอักษรพิมพการ”
โรงพิมพ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชฐานชั้นกลาง ที่จำกัดการเข้าออกของบุคคลภายนอกอย่างเข้มงวด ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับ “พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ” ซึ่งเป็นพระที่นั่งบรรทมของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าทรงกำกับดูแลโรงพิมพ์แห่งนี้อย่างใกล้ชิด
ต่อมา วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือแจ้งข่าวราชการ เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” แปลว่า เป็นที่เพ่งดูราชกิจ นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยเล่มแรกที่จัดทำโดยคนไทย
วัตถุประสงค์ในการพิมพ์ก็เพื่อ “เพื่อให้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าฦาผิๆ ไปต่างๆ ขาดๆ เกินๆ เปนเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียติยศแผ่นดินได้”
ราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 4 มีรายงานข่าวราชสำนักและข่าวทั่วไป รวมกันอยู่เช่นเดียวกับรูปแบบของหนังสือพิมพ์ คือ มีข่าวประกาศต่างๆ ข่าวการแต่งตั้งขุนนาง คำเตือนสติ ข่าวประสูติ ข่าวเพลิงไหม้ รายงานน้ำฝน และข่าวเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
นอกจาก ราชกิจจานุเบกษาคืออะไร อีกคำถามหนึ่งก็คือ ต้องเป็นเรื่องไหนถึงได้ตีพิมพ์?
คำตอบคร่าวๆ คือ ปัจจุบันเรื่องที่จะนำลงประกาศหรือลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาได้ ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
1. เรื่องที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องส่งไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
3. เรื่องที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องประกาศหรือส่งพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
ที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะพอทำให้เห็นภาพได้บ้างว่า ราชกิจจานุเบกษาคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ถึงยังอยู่ยืนยงผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ นับถึงตอนนี้ก็เกือบ 170 ปีเข้าไปแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- ตัวพิมพ์อักษรไทย เกิดครั้งแรกในพม่า จากเชลยที่ถูกพม่าจับช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2
- “หมอสมิท” ตัวละครลับ ผู้อยู่เบื้องหลังความโด่งดังของ “พระอภัยมณี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549
ณัฐพล ยิ่งกล้า, เรียบเรียง. “ราชกิจจานุเบกษา”. เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567