ตัวพิมพ์อักษรไทย เกิดครั้งแรกในพม่า จากเชลยที่ถูกพม่าจับช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2

แอนน์ จัดสัน ผู้ริเริ่มสร้างแบบ “ตัวพิมพ์อักษรไทย”

หลักฐานเกี่ยวกับ “ตัวพิมพ์ไทย”  ปรากฎชัดในตอนปลายรัชกาลที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2359 โดยการค้นคว้าของศาสตราจารย์ ขจร สุขพานิชพบว่า หมอจัดสัน (Adoniram Judson)  และแอนน์ ฮาเซลไตน์ จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีคณะแบพติสท์ ชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เป็นผู้คิดเขียน “ตัวพิมพ์อักษรไทย” ขึ้น เนื่องจากนางจัดสันได้เรียนรู้ภาษาไทยจากเชลยศึกชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

โดยใน พ.ศ. 2359 ช่างพิมพ์คนสำคัญ จอรจ์ ฮัฟ (George H. Hough) ได้หล่อ “ตัวพิมพ์อักษรไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก ตามแบบเขียนของ นางจัดสัน เพื่อใช้ในการพิมพ์คัมภีร์แมทธิวภาษาไทย

Advertisement
ปกหนังสือ A Grammar of the Thai or Siamese Language

พ.ศ. 2362 การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินพม่าจากพระเจ้าปะดุง มาเป็นพระเจ้าจักกายแมงซึ่งสร้างความไม่มั่นคงต่อชาวต่างชาติ ทำให้ นายฮัฟ ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองเซรัมโบร์ นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย โดยนำตัวพิมพ์อักษรไทยติดตัวไปด้วย

พ.ศ. 2371 ร้อยเอก เจมส์ โลว์ (James Low) ทหารชาวอังกฤษที่ประจำการอยู่ที่อินเดีย ซึ่งมีโอกาสเรียนรู้ภาษาไทยได้เรียบเรียงตำราไวยากรณ์ไทยชื่อ A Grammar of the Thai or Siamese Language อันเป็นประเทศที่มีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของ ตัวพิมพ์อักษรไทย ซึ่งถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของ “ตัวพิมพ์อักษรไทย” ที่พบในขณะนี้  โดยสันนิษฐานว่าหนังสือเล่มนี้อาจทำขึ้นจากตัวพิมพ์ไทยชุดเดียวกันกับที่นยางจัดสันออกแบบไว้

ตัวพิมพ์อักษรไทยชุดแรกนี้ได้ถูกซื้อต่อโดย โรเบิร์ต เบิร์น (Robert Burn) และทอมสัน (Thomson) มิชชันนารีคณะ London Missionary Society เพื่อนำมาใช้ในการพิมพ์หนังสือเผยแผ่ศาสนาในประเทศสิงคโปร์ โดยหลักฐานที่เหลือยู่ถึงปัจจุบันคือ หนังสือพระธรรมลูกา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2377

ตารางเปรียบเทียบตัวอักษรไทยจากหนังสือที่พิมพ์ในยุคต้น โดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

แล้วเมื่อใดที่ตัวพิมพ์อักษรไทยชุดนี้จะเดินทางมาถึงสยาม?

พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley)เดินทางมาถึงสิงคโปร์ คณะ A.B.C.F.M. (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ซื้อแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์อักษรไทยต่อจากคณะ London Missionary Society และมอบให้หมอบรัดเลย์นำมาพิมพ์หนังสือเผยแผ่ศาสนาต่อในประเทศไทย สิ่งพิมพ์แรกในเมืองไทยที่พิมพ์ออกมาคือ “บัญญัติสิบประการ”  ก่อนจะพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นๆ ตามมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พจนานุกรม ฉบับมติชน, สำนักพิมพ์มติชน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2561