ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | นุชจรี ใจเก่ง : สัมภาษณ์ |
เผยแพร่ |
ปัญหาเกี่ยวกับ “คนไท” ดูจะทำให้เกิดการถกเถียงในทุกแวดวงวิชาการ นอกจากคำถามยอดนิยมว่า “คนไทยมาจากไหน?” แล้ว เรื่องของ “ภาษาไทย” ก็เป็นปัญหาถกเถียงในประเด็นที่ว่า ภาษาไทยจัดอยู่ในตระกูลใดกันแน่?
ภาษาไทยจัดอยู่ในตระกูลใดกันแน่?
“เดิมนั้น นักภาษาศาสตร์บางท่านจัดให้ภาษาไทยอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาจีน-ทิเบต หรือ Sino-Tibetan” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบาย แล้วบอกต่อไปอีกว่า
“แต่ว่านักภาษาศาสตร์บางท่านก็บอกว่า ที่ไปจัดอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่ามันมีเสียงวรรณยุกต์ ภาษาจีนนี่มันมีเสียงวรรณยุกต์ แต่ว่ามีเพียง 3 เสียง ของไทยเรามี 5 เสียงในภาคกลางนะครับ ปักษ์ใต้และอีสานมี 7 เสียง ทีนี้ฝรั่งได้ยินเสียงวรรณยุกต์เหล่านั้น ก็รู้สึกว่าภาษาไทยนี่มันเป็นจีนเสียยิ่งกว่าจีนเองเสียอีก เพราะจีนมีแค่ 3 วรรณยุกต์เท่านั้น ก็เลยจับเอาภาษาไทยไปไว้ในตระกูลจีน-ทิเบต”
ต่อมาทฤษฎีดังกล่าวก็ถูกคัดค้าน พร้อมกับนำเสนอทฤษฎีใหม่โดยลูส เบเนดิกส์ ว่า ภาษาไทยจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลนี้แพร่กระจายอยู่ทางตอนใต้ของจีน จนถึงแคว้นอัสสัมของอินเดีย และกระจายลงไปทางใต้จนถึงอินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะมีผู้ที่สนใจเชื่อถือ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากนักภาษาศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ตั้งทฤษฎีเป็นนักมานุษยวิทยา ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ และวิธีการในการศึกษาก็ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
“ที่ว่า ไท-กะได-อินโดนีเซีย ก็เป็นเพราะเบเนดิกส์เป็นคนตั้งสมมติฐานขึ้นมา แต่ว่าเบเนดิกส์ไม่ได้เป็นนักภาษาศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการประชุมภาษาศาสตร์ที่อเมริกา แคนาดา อะไรแบบนี้ ก็เกือบจะเป็นเอกฉันท์ว่าใช้ไม่ได้ เพราะว่ามันมีเรื่องสีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พวกนักภาษาศาสตร์ก็บอกว่า นี่มันเป็นนักมานุษยวิทยา จะไปรู้เรื่องอะไร เพียงแต่เข้าใจทฤษฎีของภาษาศาสตร์ก็ไม่เข้าใจแล้ว จะบังอาจมาตั้งทฤษฎี เขาก็เลยไม่ยอมรับ” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากวิธีการศึกษาของเบเนดิกส์ที่ศึกษาเปรียบเทียบจากคำในปัจจุบัน ต่างจากวิธีการของนักภาษาศาสตร์
“เขาก็มีคำอยู่หลายคำที่เอามาเปรียบเทียบ อย่าง ตาย ก็เป็น ปตาย กู เป็น อกู เขามีคำอยู่หลายคำ” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐอธิบาย
“แต่ว่านักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่รับ เขาก็บอกว่ามันไม่ใช่วิธีการทางภาษาศาสตร์ที่เขาจะทำ ทางภาษาศาสตร์เขาจะต้องสานคำกลับไป จากภาษาถิ่นตางๆ เขาจะสานกลับไปว่าภาษาไทยใน พ.ศ. 1200 นั้น ควรจะมีพยัญชนะอะไรบ้าง มีเสียงสระอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเสียงดั้งเดิม โดยสานคำจากภาษาถิ่นต่างๆ ค่อยๆ สานกลับไปจนกระทั่งเป็นภาษาดั่งเดิมเมื่อ พ.ศ. 1200 ก็ให้มาเลเซียสานกลับไป อินโดนีเซียสานกลับไป ฟิลิปปินส์กลับไป แล้วจึงจะเอาภาษาเมื่อ 1,200 ปีมาเทียบกัน
แต่เดี๋ยวนี้ที่เบเนดิกส์ทำ เอาคำในภาษาปัจจุบัน เช่น ตาย ปตาย กู อกู นี่เขาบอกว่ามันไม่ถูกหลัก เพราะว่าอาจจะเป็นว่าเดิมไม่เหมือนกัน แล้วมันกลายมาเหมือนกันทีหลัง เพราะฉะนั้นวิธีการที่ถูกต้องจะต้องสานคำกลับไป ส่วนใหญ่เขาถึงไม่เชื่อถือ เพราะภาษาศาสตร์เขาต้องสานคำกลับไป ให้เก่าที่สุด ถ้าไปถึง Proto thai เมื่อ 2,000 ปีมาแล้วได้ยิ่งดี”
“แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกหลายคนที่ชอบทฤษฎีของ ไท-กะได-อินโดนีเซีย ที่บอกว่า ภาษาไทย และอินโดนีเซีย รวมทั้งมาเลย์ และฟิลิปปินส์นั้นเป็นภาษาเดียวกัน แต่ว่าเขาก็ไม่รับว่ามันมาจากทางใต้ตามที่ลูส เบเนดิกส์ เสนอ ว่าจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนกระทั่งไปถึงเมืองจีน นักภาษาศาสตร์เขาไม่รับ แต่เขารับว่าอาจจะมีไท-กะได-อินโดนีเซีย เป็นตระกูลภาษาที่มันเกี่ยวเนื่องกันเท่านั้นเอง” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐอธิบายสรุป
ด้วยปัญหาที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ การระบุว่าภาษาไทยจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาใด จึงยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ กล่าวว่า “มันรวมเข้าที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะงั้นก็จะมีคนว่าเอาไปรวมกับโพลีนีเซียน ไปรวมกับออสเตรเลียอะไรก็ไปกันใหญ่ ต่างคนต่างก็ยังไม่มีเหตุผลเรื่องนี้เพราะงั้นภาษาไทยก็เป็นตระกูลที่แยกออกมาจากภาษาอื่น ไม่เกี่ยวกัน”
คำอธิบายทั้งหมดนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในงานประชุมทางวิชาการเนื่องในวาระฉลองอายุ 7 รอบของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เรื่อง “จารึกและเอกสารโบราณ : การศึกษาวิจัยในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต” ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2546 (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546)
อ่านเพิ่มเติม :
- ใ-(ไม้ม้วน) ไ-(ไม้มลาย) ทำไม? อะไร?
- ไม้ตรี ไม้จัตวา : อิทธิพลภาษาจีนในภาษาไทย
- กว่าจะเป็นเมืองไทย-คนไทย-ภาษาไทย อพยพจากไหนไปไหนกันมาบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2559