ใ-(ไม้ม้วน) ไ-(ไม้มลาย) ทำไม? อะไร?

ไม้ม้วน ไม่มลาย

ไม้ม้วน ไม้มลาย ทำไมเรียกสะไอว่า ไม้มลาย?

คำถามที่เป็นหัวเรื่องนี้ถ้านำไปถามใครๆ จะได้รับคำตอบว่า “ไม่รู้ เพราะครูไม่เคยสอน” ทีแรกผมก็ไม่ทราบเพราะไม่เคยสอนเหมือนกัน ที่รู้ก็เพราะเพื่อนทางภาคอีสานและพายัพบอกให้จึงได้ทราบ เมื่อทราบแล้วก็ขอขยายให้ทราบกันทั่วไป

ชื่อของสระใอ (ไม้ม้วน) คำในวงเล็บบอกให้เรารู้ว่าปลายของสระนี้ม้วนเข้า ส่วนสระไอ (ไม้มลาย) เราไม่ทราบความหมายของคำ “มลาย” ว่าเป็นภาษาใด เป็นภาษาไทยหรือไม่ แปลว่าอย่างไร? ครูก็ไม่เคยสอนอธิบายให้นักเรียนทราบ ไม่มีหนังสือตำราเล่มใดบอกว่า “มลาย” แปลว่าอย่างไร ทำไมจึงเรียกว่า “ไม้มลาย” เป็นเรื่องที่เราจะต้องถกเถียงกัน

มีแต่บอกว่าคำที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) มี 20 คำ ให้นักเรียนท่องจำกันว่า

“ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่   ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ   มิหลงใหลใครขอดู

จะใคร่ลงเรือใบ   ดูน้ำใสและปลาปู

สิ่งใดอยู่ในตู้   มิใช่อยู่ใต้ตั้งเตียง

บ้าใบ้ถือใยบัว   หูตามัวมาใกล้เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง   ยี่สิบม้วนจำจงดี”

คำนอกนี้ ให้ใช้สระไอ (ไม้มลาย)

มีคำเมืองเก่าแก่อยู่คำหนึ่งว่า “มาย” แปลว่า “คลี่, คลาย, ขยาย” ตัวอย่างเช่น เวลากินข้าวอิ่มมาก “ต้องมายสายฮ้าง” แปลว่า “ต้องคลายเข็มขัด”

พจนานุกรมล้านนา-ไทย (ฉบับแม่ฟ้าหลวง) หน้า 955 “มาย ก. คลาย, ขยาย…”

ในพจนานุกรมภาคอีสาน-ภาคกลาง ให้ความหมายไว้ว่า “มาย ก. คลี่ออก, ขยายออก (-คลาย) (ภาคกลางแผลงเป็น “มลาย”)

“มาย” คำนี้ในภาคอีสานเขาใช้กันอยู่เป็นประจำวันก็ว่าได้ เช่น ไหมหรือด้ายมันพันกันยุ่ง จนเป็นก้อนกลม แม่จะบอกพวกเด็กๆ ว่า “เอาไปช่วยกันมายหน่อย” คือ ให้เอาไปช่วยกันสางออก, แก้ออก, คลายออกจากกลุ่มที่พันกันยุ่งนั้น หรือ “มายเชือก” คือ ให้ดึงปลายเชือกออกจากขดหรือม้วน หรือเวลาเราเอาหวายพันขาเก้าอี้หวายไว้ดีแล้ว รุ่งเช้ามาดู ปรากฏว่ามันหลุดลุ่ยคลายออก เพราะพันไว้ไม่แน่น เขาจะพูดว่า “มันมายออก” หรือเวลาอากาศหนาวจัดมาก มือไม้เป็นเหน็บเย็นเฉียบ ชาวอีสานเขาเอามือไปอังไฟ สักครู่เขาจะพูดว่า “เออ! ค่อยมายออกหน่อย” คือ จะแบมือเหยียดออกก็ค่อยคล่องขึ้น

คำผญาของชาวอีสาน หนุ่มจีบสาว เขาถ่อมตัวว่า “บุญบ่ฮอดยอดบ่เกี้ยวแสนสิฝั้นก็เล่ามาย” เอาความว่า “เขาบุญไม่ถึง สุดไขว่คว้า เปรียบเหมือนพยายามฟั่นด้ายจะให้เป็นเกลียว แต่มันก็คลายออกอยู่ร่ำไป”

ฉะนั้นการที่เราเรียกสระใอว่า “ไม้ม้วน” เพราะปลายของสระนี้ม้วนเข้า ส่วนสระไอ ขอสันนิษฐานว่า เดิมน่าจะเรียกว่า “ไม้มาย” เพราะปลายของสระนี้ คลี่, คลายออก เป็นการตรงกันข้ามกับสระใอ (ไม้ม้วน)

สมัยก่อน ไทยเรานิยมยกย่องภาษาเขมรว่าเป็นภาษาชั้นสูง มีกฎมีเกณฑ์และมีความไพเราะ จึงนำมาใช้ประมาณ 4,000 กว่าคำ โดยมากคำเขมรมักจะเป็นคำแผลง เช่น “เกิด” เป็นคำกริยา แผลง เป็นคำนาม “ก็อมเนิด” (การเกิด, ที่เกิด) แผลงเป็นคำกริยาการีต “บ็องเกิด” (ทำให้เกิด คือ คลอดลูก) หรือคำว่า “เพ็ญ” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า “เต็ม” แผลงเป็นคำกริยา “บ็อมเพ็ญ” แปลว่า “ทำให้เต็ม” เหล่านี้เป็นต้น

ไทยเราก็เอาวิธีแผลงคำของเขมรมาใช้แผลงคำไทยบ้าง เช่น แผลง ถก เป็น “ถลก”, เม็ด-เมล็ด, แมง แมลง, แข็ง-คำแหง (-กำแหง, แข็งแรง, กล้าแข็ง), ชาย-ชะม้าย, ลังเลือง-มลังเมลือง (-สุกใส, อร่ามเรือง), ม้าง (-ล้าง, ทำลาย, รื้อ) -มล้าง (-ม้าง, ล้าง, ฆ่า, ผลาญ)

ดังนั้น “ไม้มาย” ซึ่งแปลว่า “สระที่มีปลายคลายออก” จึงถูกแผลงเป็น “ไม้มลาย”

ในพจนานุกรม “มาย ก. ตวง, นับ (ป.)” “มลาย (มะลาย) ก. แตก, ตาย, ทำลาย”

จะเห็นได้ว่า “มลาย” (ในพจนานุกรม) ไม่ได้แผลงมาจาก “มาย” (ในพจนานุกรม) เพราะ “มาย” เป็นภาษาบาลี “มลาย” เป็นคำไทย และมีความหมายไปคนละทางคนละเรื่อง

ขอสันนิษฐานว่า “มลาย” ในพจนานุกรมที่มีความหมายว่า “แตก, ตาย, ทำลาย” นั้นคงแผลงมาจาก “มาย” ในความหมายเดิมที่แปลว่า “คลี่, คลาย, ขยาย” เหมือนกัน กล่าวคือ เวลาคนตายแล้วทวารทั้งห้าเปิด เช่น ช่องทวารที่เมื่อเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ถูกขมิบไว้อย่างสนิท ครั้นเจ้าของสิ้นชีวิตแล้ว ช่องทวารก็ “มาย” คือ ที่ขมิบไว้ก็คลายออก ถ้าคนนั้นตายด้วยโรคท้องเดินอุจจาระไหลออกมาหมด จึงเรียกว่า “ทวารเปิด” ม่านตาก็มายที่เรียกว่า “ม่านตาขยาย” ช่องลำคอที่เคยปิดไว้อย่างสนิทก็มายออก คือ เปิดโล่งกรอกน้ำเข้าไปได้อย่างสะดวก กล้ามเนื้อเส้นเอ็นทั้งหลายก็มาย อวัยวะจึงอ่อนปวกเปียก ถ้าอวัยวะเกิดมีการ “มาย” ขึ้นแล้วแสดงว่า “ตายสนิท”

ถ้านำศพไปเก็บไว้หรือเอาไปฝัง เนื้อหนังมังสาก็เปื่อยเน่าผุ พังสลายตัวไปหมดสิ้น ถ้านำไปเผาซากศพนั้นก็ถูกไฟเผาผลาญวอดวายถูกทำลายหายสูญ กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง “มาย” ซึ่งแผลงเป็น “มลาย” จึงเกิดมีความหมายขึ้นว่า “แตก, ตาย, ทำลาย, สูญหาย”

“มาย” ในพจนานุกรมที่ให้ความหมายไว้ว่า ตวง, นับ (ป.) นั้น ไม่มีใครใช้พูดหรือเขียนกัน เพราะเป็นภาษาบาลี ฉะนั้น ทางที่ดีควรแก้ไขเสียใหม่ว่า

“มาย (ภาษาถิ่นอีสาน, พายัพ) ก. คลี่, คลาย, ขยาย”

และควรเพิ่มเติมความหมายของคำ “มลาย” ว่า “มลาย (มะลาย) ก. แตก, ตาย, ทำลาย, คลี่, คลาย, ขยาย”

เพราะเหตุใด สระไ-, ใ- มีสองรูป?

ในเวลานี้ ไทดำ ในเมืองแถงซึ่งอยู่ตอนเหนือของเวียดนาม พูดออกเสียงคำที่ใช้สระไอ (ไม้มลาย) เช่น ไฟ, ไป, ไก่, ไหม้, ไห้ (ร้องไห้) ฯลฯ เป็นเสียง ไอ ตรงกันกับไทย ดังประโยคว่า

“หย็อก ไฟ ได้ หนี้, หย็อก ขี้ ได้ กิน”

ความแปล ไปเล่นกับไฟได้หนี้ เล่นกับขี้ได้กิน กล่าวคือ ไปเล่นกับไฟๆ ไหม้บ้านเสียหายหมด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขาเอาเงินมาสร้างบ้านใหม่ ไปเล่นกับขี้ๆ ย่อมติดมือมา เวลากินข้าว (ไม่ล้างมือ) ก็ต้องกินขี้เข้าไปด้วย

ความหมาย อย่าไปคบคนพาล

ข้อย เบ่า ได้ งิน – ฉันไม่ได้ยิน

ข้อย ไป ซื้อ ไส่ ไก่ มา – ฉันไปซื้อได้ไข่ไก่มา (อักษร ข. เป็น ส.)

เป็นสังไฟไหม้ป่า – ไฟไหม้ป่าเพราะอะไร

ส่วนคำที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) ไทดำออกเสียงเหมือนสระอากับสระอืกล้ำกัน เรารู้สึกว่าเป็นการออกเสียงที่ยากลำบากมาก ลิ้นไทยไม่สามารถจะพูดให้เหมือนเขาได้เลย สระไทยก็เขียนได้ไม่ เหมือนตามที่เขาออกเสียง ในที่นี้ขอใช้อย่างที่อาจารย์บรรจบ พันธุ์เมธา เขียนว่า “เอ-อ” เช่น ใจ ว่า “เจอ-อ”, ใหม่-เหม่อ-อ, ใด-เดอ-อ, ใบ-เบอ-อ, ใหญ่-เหญ่อ-อ ฯลฯ ขอยกตัวอย่างคำที่ใช้สระใอ

“เต้อ-อ ก็ตาด เหนือ ก็ตาด ปาหลาด แล่น สนๆ” (อะไรเอ่ย?) “ข้างล่างหนึ่งแผ่น ข้างบนก็หนึ่งแผ่น ปลาสลาด วิ่งไป วิ่งมา (ปลาสลาดว่ายไปว่ายมา)”…(คำไข…หูกทอผ้า)

ข้อยเบ่าเข้าเจอ-อ – ฉันไม่เข้าใจ

อาว จี่ ไป ก่าเดอ-อ – อาจะไปที่ใด (จะไปไหน)

ผู้หญิงนั้นแม่นเฝอ-อ – ผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร (อักษร ผ. เป็น ฝ.)

ยู่ เต๋ง ป๋าน เติ้น เหญ่อ-อ – อยู่เหนือโต๊ะใหญ่

เสื้อนี้เอ็มป้าเห้อ-อ ข้อย – เสื้อตัวนี้แม่ป้าให้ฉัน ฯลฯ

ไทใหญ่, ไทเขิน, ไทขำดี, ไทมาว, ไทเหนือ, ไทแดง (ในพม่า ไทรง ไทอ้ายตอน, ไทพาเก่, ไทโนร่า, ไทคำยาง, ตลอดจนไทอาหม (ในมณฑลอัสสัม) ไทเหนือ (ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน) ออกเสียงคำที่ใช้สระไอ (ไม้มลาย) เช่น ไป, ไฟ, ไหม้, ไก่, ไว, ไห้ (ร้องไห้) ฯลฯ ออกเสียงตรงกันกับไทยดังตัวอย่างประโยคว่า

“มี ต็อง อ้ำ มี ไส้ ป้อ อำ มี ค้อน เต๊า ไป อ้ำ ไหล้” (คำไข…เรือ…(ไม้เท้า ไม้ถ่อ))

หมายเหตุ ไป-เดิน (เดิน-เป็นคำเขมร) ไทใหญ่ใช้คำไทแท้. ส่วนคำว่า “ไป” (ของไทย) ไทใหญ่ว่า “กว่า” เช่น กว่าไหล-ไปไหน กว่าแหล่-ไปเที่ยว

“ไก่เผิกมินขึ้นหลังกา เจิกซาววาล่ามอ้ำไหล้”-ไก่ขาวบินขึ้นหลังคา เชือกยี่สิบวาก็ล่ามไม่ได้ (อะไรเอ่ย?)—ควันไฟ

หมายเหตุ เผิก-เผือก / เจิก-เชือก (ไทใหญ่ออกเสียง เอือ เป็น เออ เสียง เอีย เป็น เอ เช่น เมีย-เม/อักษร ม. เป็น บ. เช่น เมา-เบา, เมอ-อ-ใบ)

“จ้อย กัน กิน จั่ง หวาน จ้อย กัน หาม จั่ง เมา จ้อย กัน เอา จั่ง ไหล้” (ช่วยกันกินจึงจะอร่อย ช่วยกันหามจึงเบา ช่วยกันเอาจึงได้), “จ้อยกันเอา” หมายความว่า “ช่วยกันทำ”

ส่วนคำที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) ไทใหญ่ออกเสียงเหมือนกับสระอากับสระอืกล้ำกัน เหมือนกับไทดำ เช่น “เม่อ อ่อน เส่อ-อ เส้อ ขาว ปิน สาว เส่อ-อ เส้อ ขีว เถ้า มา เส่อ-อ เส้อ แลง” (ยังเป็นเด็กใส่เสื้อขาว โตเป็นสาวเสื้อเขียว แก่เฒ่าใส่เสื้อสีแดง) (อะไรเอ่ย?)—พริก

“มีตา เห้อ-อ ลู มีหู เห้อ-อ ถ่อม” (มีตาให้ดู มีหูให้ฟัง) ตรงกับของไทยเราว่า “มีตาไว้ดู มีหูไว้ฟัง” หมายความว่า มีตาไว้ดูสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เช่น ดูหนังสือ ดูนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น หูก็จงใช้ฟังเรื่องที่ดีมีสารัตถประโยชน์

“เห้อ-อ เจียว เห้อ-อ กาน เห้อ-อ นาน เห้อ-อ แล่น”-อยากเร็วให้คลาน อยากนานให้วิ่ง ตรงกับของไทยเราว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”

ประวัติศาสตร์ของไทดำ, ไทใหญ่, ไทเหนือ และพี่น้องไทยอื่นๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ล้วนแต่กล่าวว่าอพยพมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น

ไทยเราสมัยที่ยังอยู่ในประเทศจีน ก็คงจะออกเสียงคำพูดที่ใช้สระไอ (ไม้มลาย) กับคำพูดที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) ต่างกัน เช่น เดียวกับพี่น้องไทยต่างๆ เช่นกัน

เมื่อไทยอพยพลงมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้คบหาสมาคมติดต่อกับเขมรอย่างใกล้ชิด รับเอาวัฒนธรรมทางภาษาและอักษรศาสตร์ของเขมรมาใช้อย่างมาก ดังปรากฏว่าไทยนำเอาคำพูดภาษาเขมรมาใช้ประมาณ 4,000 กว่าคำ อักษรไทยส่วนมากดัดแปลงมาจากอักษรขอม อักษรเขมรมีสระไอ (ไม้มลาย) แต่เพียงรูปเดียว สระใอ (ไม้ม้วน) ของอักษรเขมรไม่มี อักขรวิธีของอักษรไทย ก็คล้อยตามอักขรวิธีของอักษรเขมร ลิ้นไทยเริ่มรัวเหมือนลิ้นเขมร คำไทยแท้ๆ เช่น เฮา, เฮือน, ไฮ่ ฯลฯ ก็เปลี่ยนเสียงเป็น เรา, เรือน, ไร่ ฯลฯ ประกอบทั้งการออกเสียงสระใอ (ไม้ม้วน) ให้เหมือนเสียงสระอากับสระอืกล้ำกัน เป็นการยากลำบากมาก ก็เลยออกเสียง ไอ เหมือนกันหมด

ร่องรอยที่ว่าไทยเคยออกเสียงสระใอ (ไม้ม้วน) เหมือนกับสระอากับสระอืกล้ำกัน ยังหลงเหลืออยู่บ้างบางคำ เช่น ชาวภาคพายัพออกเสียง “ให้” ว่า “หื้อ” แต่ไม่ออกเสียงกล้ำ อา-อื แล้ว คงเป็นเสียง “อื” แต่เพียงเสียงเดียว ชาวนครศรีธรรมราชออกเสียง “ใจ” ไม่เป็นเสียง อา-อื แล้ว แต่ออกเสียงเป็น “เอย” ว่า “เจย”

ผมคิดว่า สมัยตั้งแต่กรุงสุโขทัยขึ้นไป ไทยยังออกเสียงคำที่ใช้สระไอ (ไม้มลาย) ต่างกับคำที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) อยู่ การที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ให้สระนี้มีสองรูป ก็เพื่ออนุวัตตามเสียงของคนไทยในสมัยนั้น

ท่านประดิษฐ์สระไอ (ไม้มลาย) ขึ้นเพื่อกำหนดให้ออกเสียง “ไอ” เช่น ไป, ไฟ, ไก่, ไหม้, ไข่ ฯลฯ

ท่านประดิษฐ์สระใอ (ไม้ม้วน) ขึ้นเพื่อกำหนดให้ออกเสียง อา-อื กล้ำกัน เช่น เนอ-อ (ใน), เจอ-อ (ใจ) ฯลฯ

ลาวเรียก สระไ- ว่า สระไอ (ไม้มาย) สระใ- ว่า สระเออ (ไม้ม้วน)

ผมมีจดหมายไปเรียนถามเลขานุการเอก สถานทูตลาว ท่านใจดีแท้ ตอบให้ผู้เขียนทราบ ท่านยังได้กรุณาบอกเพิ่มเติมมาอีกว่า คนลาวล่าง (ลาวใต้) ออกเสียงคำที่ใช้สระไอ (ไม้มาย) เป็นเสียง “ไอ” เช่น ไป, ไว, ไห้ (ร้องไห้) ไหม้ ไส เช่น ไปไส-ไปไหน ฯลฯ

ส่วนคำที่ใช้สระเออ (ไม้ม้วน) เป็นเสียง “เออ” เช่น เจอ (ใจ), เนอ (ใน), เหม่อ (ใหม่), เส่อ (ใส่) ฯลฯ

“ทำไมจึงเรียกสระไอว่าไม้มลาย” ผมสันนิษฐานว่า “สระไอ” เดิมคงเรียกว่า “ไม้มาย” เมื่อทราบว่าลาวก็เรียกสระไอว่า “ไม้มาย” จึงเป็นการสันนิษฐานที่ถูกต้อง

นี้แสดงว่าเมื่อก่อนลาวล่าง (ลาวใต้) ก็เคยออกเสียงสระใอ (ไม้ม้วน) อย่างสระอากับสระอืกล้ำกันได้ แต่ในเวลานี้ออกเสียงกล้ำไม่ได้แล้ว คงออกเสียงเป็น “ไอ” เหมือนกันหมด

อาจารย์บรรจบ พันธุเมธา ได้ไปทัศนาจรเมืองเชียงรุ่ง กลับมาแล้วเขียนเรื่อง “คนไท-ไทย” ลงในนิตยสาร “สตรีสาร” ฉบับที่ 30 ประจำ 23 ตุลาคม 2526 ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ได้ให้อ้ายติน (ไทลื้อใช้คำนำหน้านามผู้ชายว่า ‘อ้าย’ เทียบเท่ากับ ‘นาย’ ผู้หญิง ไม่ว่าเด็ก สาวแก่แม่หม้ายใช้ว่า ‘อี’ นำหน้านาม เทียบเท่ากับ ‘นาง’) ออกเสียงคำที่ใช้สระ ‘ไอ’ (ไม้ม้วน) 20 คำ ก็ปรากฏว่าเป็นเสียง ‘ไอ’ ไม้มลาย) ทุกเสียง นอกจาก ‘ให้’ เป็น ‘หื้อ’ คำเดียวเท่านั้น

นับเป็นการยืนยันให้เห็นว่าเสียง ‘เอ-อ’ (=อา+อี) นี้ออกเสียงกันไม่ได้กลายเป็นเสียง ‘ไอ’ มานานแล้ว ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดรูปไม้ม้วนไว้ คงจะให้เป็นที่กำหนดว่าเสียงต่างกับ ‘ไอ’ นั้น ก็นานตั้ง 700 ปีมาแล้ว”

ถ้าไทยเรายังออกเสียงคำที่ใช้สระใอ (ไม้ม้วน) อยู่ว่า

“ผู้เหญ่อ-อ หาผ้าเหม่อ-อ   เห้อ สะเภ้อ-อ เช้อ-อ คล้องคอ

เฝ่อ-อ เจอ-อ เอา เส่อ-อ ห่อ   มิ หลง เหลอ-อ เครอ-อ ขอดู

จะเคร่อ-อ ลงเรือ เบอ-อ   ดูน้ำ เสอ-อ และปลาปู

สิ่ง เดอ-อ อยู่ เนอ-อ ตู้   มิเช่อ-อ อยู่ เต้อ-อ ตั่งเตียง

บ้า เบ้อ-อ ถือ เยอ-อ บัว   หูตามัว มา เกล้อ-อ เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง   ยี่สิบม้วนจำจงดี”

ก็ไม่จำต้องมานั่งท่องจำว่า

“ใฝ่ใจให้ทานนี้   นอกในมีและใหม่ใส

ใครใคร่และยองใย   อันใดใช้อย่าใหลหลง

ใส่กลสะใภ้ใบ้   ทั้งตำใต้และใหญ่ยง

ใกล้ใบและใช่จง   ใช้ให้คงคำบังคับ”

เห้อ-อ เสียเวลา เช่อ-อ ไหมครับ ผมขอขอบ เจอ-อ ทุกท่านที่เอา เจอ-อ เส่อ-อ อ่านบทความนี้จนจบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2565