กว่าจะเป็นเมืองไทย-คนไทย-ภาษาไทย อพยพจากไหนไปไหนกันมาบ้าง

ภาพเขียนที่ผาลายในเมืองจ้วงกวางสี (ภาพคัดลอกจากหนังสืองานวิจัยฯ ของอาจารย์ฉิน เซิ่งหมิน)

เริ่มมี “เมืองไทย” เมื่อไหร่? “คนไทย” มาจากไหน? แล้ว “ภาษาไทย” ล่ะมีกำเนิดมาอย่างไร? คำถามเหล่านี้มีผู้ให้คำตอบอยู่ไม่น้อย สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้คำตอบดังกล่าว

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ในบทความของเขาที่ชื่อ “ประวัติศาสตร์ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้ของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ” (ใน, ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท, สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งแรกมิถุนายน 2559) ซึ่งกองบรรณาธิการ นำเนื้อหาเพียงบางส่วนมานำเสนอดังนี้


 

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาทั้งของผู้คนและดินแดน เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์อาเซียนหรืออุษาคเนย์ ซึ่งบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่มีชื่อเรียกเก่าแก่มาแต่ยุคดึกดําบรรพ์จนทุกวันนี้ว่าสุวรรณภูมิ

ร้อยพ่อพันแม่ อาเซียนอุษาคเนย์อยู่บนเส้นทางการค้าโลกอย่างน้อยตั้งแต่ ราว พ.ศ. 1000 โดยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศไทยเป็นดินแดนคาบสมุทร เสมือนสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงโลกตะวันออก (มหาสมุทรแปซิฟิก) กับตะวันตก (มหาสมุทรอินเดีย) ในยุคที่เทคโนโลยีการเดินเรือทะเลสมุทรยังไม่ก้าวหน้า

มีผลให้ผู้คน (ยังไม่เรียกไทย) และสังคมวัฒนธรรม (ยังไม่เรียกไทย) ทั้งในไทยและสุวรรณภูมิมีลักษณะหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ผสมผสานปะปนอยู่ด้วยกัน ทั้งจากภายในกันเองระหว่างแผ่นดินใหญ่กับหมู่เกาะ และทั้งจากภายนอกที่มาจากตะวันออกและตะวันตก จนไม่มีสิ่งใดยืนยันได้แน่ว่าอะไรเป็นของแท้ๆ ไร้สิ่งเจือปน

เริ่มมีคนไทย, เมืองไทย ราวหลัง พ.ศ. 1700 มีการเคลื่อนย้ายและโยกย้าย อพยพครั้งใหญ่ของทรัพยากรและผู้คนจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าโลกและการค้าภายในภูมิภาค จึงเริ่มมีคนไทยและเมือง ไทยอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ยุคมืด, ช่องว่าง แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่ยอมรับความจริงที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วมองข้าม หรือทํามองไม่เห็นด้วยอคติทางชาติพันธุ์หรืออย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งทําราวกับไทยตั้งอยู่ลอยๆ โดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหว ทั้งในภูมิภาคและในโลก

ดังนั้น จึงมีสิ่งที่เรียกกันภายหลังว่ายุคมืด หรือช่องว่างของประวัติศาสตร์ไทย ระหว่าง พ.ศ. 1700-1800

………..

เคลื่อนย้ายทรัพยากรและโยกย้ายอพยพผู้คน

ทรัพยากรและผู้คนจากลุ่มน้ำโขงถูกเกณฑ์ให้ทยอยโยกย้ายและอพยพลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา สนองการขยายตัวของการค้าโลกราวหลัง พ.ศ. 1700 [อพยพ ในที่นี้ไม่ยกโขยงถอนรากถอนโคนเหมือนที่เคยเข้าใจตามประวัติศาสตร์ไทยชุดก่อนๆ แต่อพยพบางส่วน โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ที่เดิม]

ลุ่มน้ำโขง หมายถึงบริเวณ พม่า, ไทย, ลาว แล้วต่อเนื่องไปทางทิศตะวัน ออกถึงภาคใต้ของจีน (พื้นที่กวางสี-กวางตุ้ง) และภาคเหนือของเวียดนาม (โดยเฉพาะ พื้นที่เมืองแถน ปัจจุบันเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่าเดียนเบียนฟู)

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หมายถึงฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สุโขทัย ลงไปสุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นถึงกระจายไปฟาก ตะวันออก เช่น ลพบุรี ฯลฯ

การโยกย้ายอพยพ และความเคลื่อนไหวต่างๆ ผมอธิบายอย่างละเอียดอยู่ใน หนังสือสุพรรณบุรี มาจากไหน? (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557) จะสรุป ย่อมาดังนี้

ความขัดแย้งในหุบเขา

ขณะนั้นมีความขัดแย้งรุนแรงทางภาคใต้ของจีนแถบยูนนาน (เช่น กรณีน่านเจ้า) ส่งผลกระทบให้มีสงครามขยายพื้นที่กว้างขวางเกือบทั่วภูมิภาค (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือกว่าจะเป็นคนไทย ของ ธิดา สาระยา สํานักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2531)

คนกลุ่มต่างๆ ที่มีหลักแหล่งในหุบเขา บางพวกพากันเคลื่อนย้ายถ่ายเทหนี การรุกรานรุนแรงนั้น โดยใช้เส้นทางคมนาคมการค้าที่มีแต่เดิม แล้วมีการค้าภายใน พร้อมไปในคราวเดียวกัน และสืบเนื่องมาหลังจากนั้น

บางพวกอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง แล้วถูกเรียกว่า สยามก๊ก (เสียมกุก) ก็เคลื่อนย้ายในคราวนี้ด้วย

ผลของสงครามและการค้าทําให้มีบ้านเมืองน้อยใหญ่เกิดใหม่บนเส้นทาง เหล่านั้น เช่น สุโขทัย, สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช

รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาจากลุ่มน้ำโขง ขณะนั้นรัฐที่อู่ทอง (จีนเรียก กิมหลิน, จินหลิน แปลว่า แผ่นดินทอง) ลุ่มน้ำจรเข้สามพัน (อําเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) ค่อยๆ ลดความสําคัญลง โดยไม่ร้างตามที่เคยเชื่อกันมา

แล้วมีศูนย์กลางแห่งใหม่กําลังเติบโตขึ้นแทนที่ ซึ่งภายหลังรู้จักในชื่อรัฐสุพรรณภูมิ (เอกสารจีนเรียก เจนลีฟู) ริมแม่น้ำท่าจีน (อําเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี)

ส่วนฟากตะวันออก ขณะนั้นรัฐละโว้ (อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี) ย้ายศูนย์กลางลงไปอยู่บริเวณอโยธยา (อําเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) สมมุติเรียกว่ารัฐละโว้-อโยธยา ที่จะเติบโตเป็นกรุงศรีอยุธยาต่อไปข้างหน้า

การเคลื่อนย้ายและโยกย้ายอพยพมิได้เพิ่งมีครั้งนี้เป็นคราวแรก แต่เคยมีมาก่อนนานมากตั้งแต่ยุคโลหะราว พ.ศ. 1 หรือ 2500 ปีมาแล้ว และมีต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย ดังพบเครื่องมือสัมฤทธิ์, เหล็ก และประเพณีฝังศพครั้งที่สองในไทยจากแหล่งทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือเวียดนาม

คําบอกเล่าการโยกย้ายอพยพ

การเคลื่อนย้ายและโยกย้ายอพยพครั้งใหญ่มีหลักฐานและร่องรอยอยู่ในคําบอกเล่าลักษณะต่างๆ เช่น นิทานเรื่องขุนบรม, ตํานานสุวรรณโคมคํา, ตํานานสิงหนวัติ, นิทานเรื่องพระร่วง, นิทานเรื่องท้าวอู่ทอง, ฯลฯ รวมถึงมหากาพย์เรื่องท้าวยุ่ง ท้าวเจือง

เส้นทางเคลื่อนย้ายและโยกย้ายอพยพ

มี 2 สายหลัก เริ่มจากลุ่มน้ำโขง

1.จากลุ่มน้ำโขง (ตอนบน) โยกย้ายสู่หุบเขาลุ่มน้ำกก-อิง (เชียงราย-พะเยา) และปิง-วัง (เชียงใหม่-ลําปาง) แล้วลงที่ราบลุ่มน้ำน่าน-ยม ผ่านแพร่-น่าน สู่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก-สุโขทัย

2.จากลุ่มน้ำโขง (ตอนกลาง) โยกย้ายผ่านช่องเขาจังหวัดเลย เข้าสู่ที่ราบลุ่มน้ำน่าน-ยม บริเวณอุตรดิตถ์-พิษณุโลก-สุโขทัย  ต่อจากบริเวณลุ่มน้ำน่าน-ยมก็ทยอยเคลื่อนย้ายลงทางฟากตะวันตกของแม่น้ำ เจ้าพระยา เข้าสู่สุพรรณบุรี แล้วต่อลงไปราชบุรี, เพชรบุรี จนถึงนครศรีธรรมราช

(มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนหลายอย่าง ดังอธิบายอยู่ในหนังสืออย่างน้อย 3 เล่ม (1) เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 (2)   เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555 (3) พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545)

…………

คนไทยเมืองไทย กับ ผู้ไทยเมืองแถน

คนเรียกตัวเองว่าไทย เรียกเมืองของตัวเองว่าไทย เมื่อเคลื่อนย้ายจากสอง ฝั่งโขงลงมาอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วรับสิ่งใหม่ คือวัฒนธรรมมอญ-เขมร

ตรงนี้บางที่จะเกี่ยวดองถึง ผู้ไทย เมืองแถนในเวียดนาม ซึ่งต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะส่วนมากออกเสียงไทยว่า ไท ไม่ออกเสียง ไต

(มีร่องรอยทางภาษาอยู่ในคําอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ความเป็นมาของ คําสยามฯ สํานักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2535 หน้า 356, 393)

ไทย, ไท, ไต

ไทย หมายถึงคนพูดภาษาไทย และมีสํานึกร่วมทางประวัติศาสตร์ไทย แล้ว มีผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม อยู่ในขอบเขตรัฐไทยอันเป็น ประเทศไทยปัจจุบัน โดยไม่จํากัดชาติพันธุ์

ไทยและคนไทยไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะไม่มีจริงในโลก ทั้งไม่ใช่ชื่อชนชาติมา แต่ดั้งเดิมดึกดําบรรพ์

แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เพิ่งสมมุติให้มีขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ราวหลัง พ.ศ. 1700 (คราวเดียวกับมีอักษรไทย)

คนที่เรียกตัวเองว่า ไท หรือ ไทย (ออกเสียง ท เหมือนกัน แต่ไม่ ต) เพิ่งพบหลักฐานตรงๆ ราว พ.ศ. 2000 ในสมุทรโฆษคําฉันท์ และในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศส)

ก่อนหน้านี้ไม่เคยพบหลักฐาน แต่มักเหมากันเองว่านั่นไทย นี่ไทย โน่นก็ไทย

ไท, ไต ไม่แปลว่าคนไทย แบบเดียวกับความเข้าใจของคนในประเทศไทย ทุกวันนี้

แต่แปลว่า ชาว, คน มีใช้ในภาษาพูดของทุกชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ ทั้งมอญ เขมร และไทย-ลาว เช่น

ไตลื้อ หมายถึง ชาวลื้อคนลื้อ (ในสิบสองพันนาของจีน), ไทดํา หมายถึง ชาว ลุ่มน้ำดําคนลุ่มน้ำดํา (ในเวียดนาม ภาคเหนือ), ไทบ้าน หมายถึง ชาวบ้านคนบ้าน, ไทเวียงจัน หมายถึง ชาวเวียงจันคนเวียงจัน, ฯลฯ

ไทยน้อย, ไทยใหญ่

คนไทยในเมืองไทย (กรุงศรีอยุธยา) บอกว่าตัวเองเป็นไทยน้อย (ไม่ไทยใหญ่) ไทยน้อยอยู่ทางลุ่มน้ำโขง (ตะวันออก) เชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำดํา-แดง ในเวียดนามแล้ว ต่อเนื่องถึงกวางสีและกวางตุ้งในจีน

ไทยใหญ่อยู่ทางลุ่มน้ำสาละวิน (ตะวันตก) ในพม่า

ไทยน้อย จากเมืองแถน

ไทยน้อยเป็นที่รู้จักทั่วไปว่าคือลาวสองฝั่งโขง เคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถน ลุ่มน้ำดํา-แดง ในเวียดนามติดพรมแดนลาวทุกวันนี้ มีบอกในตํานานขุนบรม กับ นิทานกําเนิดโลกและมนุษย์ในพงศาวดารล้านช้าง

……….

กว่าจะเป็นคนไทยและเมืองไทย

ตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายไปมาจากกวางสี-กวางตุ้ง (แหล่งภาษาไทย-ลาว เก่าสุด) กับลุ่มน้ำโขง-เจ้าพระยา ทั้งทางบกและทางทะเล ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมา แล้ว ผมเคยเขียนเล่าไว้นานแล้วในหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ มหาวิทยาลัย ศิลปากรร่วมกับสํานักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537)

กรณีคนไทยกับผู้ไทย ไม่ได้หมายความว่าบรรพชนคนไทยในไทยเคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถนในเวียดนาม

แต่เมืองแถนอยู่บนเส้นทางคมนาคมภายในระหว่างกวางสี-กวางตุ้ง กับลุ่มน้ำ โขง-เจ้าพระยา ซึ่งเป็นตระกูลไทย-ลาว พวกออกเสียง ท ว่า ท (ไม่ ต) แล้วเรียก ตัวเองว่า ไท ที่ภายหลังสะกดว่า ไทย

พวกพูดภาษาไทย-ลาว เป็นพลเมืองมีหลักแหล่งถาวรในรัฐทวารวดีแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000 (ดูในหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ของ ธิดา สาระยา สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2538 หน้า 180)

ผู้ไทย จากเมืองแถนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลทางการเมืองการค้าภายในและอื่นๆ เมื่อราวหลัง พ.ศ. 1500 (ดูใน ประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)

นับแต่นี้ไปจึงพบหลักฐานว่ามีพวกสยาม พูดภาษาไทย อยู่ทางดินแดนฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วต่อเนื่องลงไปถึงภาคใต้ หลังจากนั้นมีอักษรไทย เรียกตัวเองว่า ไทย เรียกเมืองว่า ไทย

แต่ยังบอกตรงๆ ไม่ได้ว่า ชื่อ ไทย มาจากไหน? เกี่ยวดองกับผู้ไทยหรือไม่? อย่างไร?

………

ภาษาไทย, อักษรไทย, คนไทย

ภาษาไทย หมายถึง ตระกูลภาษาไทย-ลาว (ทางจีนเรียก ตระกูลภาษาจ้วง-ต้ง (จ้วงกับต้ง เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์พูดไทย-ลาว มีหลักแหล่งในกวางสี-กวางตุ้ง) มีหลักแหล่งเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณกวางสี

ภาษาไทย เป็นภาษากลางทางการค้าภายใน อาจเป็นเพราะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของคนหลายชาติพันธุ์ (หรือด้วยเหตุอื่นใดอีก ยังหาไม่พบขณะนี้) ทําให้คนหลายกลุ่ม หลายเหล่า หลายเผ่าพันธุ์ ที่พูดตระกูล ภาษาต่างกัน เช่น มอญ-เขมร, ม้ง-เย้า, ชวา-มลายู, ฯลฯ ยอมใช้สื่อสารกันแทนภาษาของตน

อักษรขอมไทย สมัยแรกๆ ไม่มีอักษร เมื่อต้องใช้อักษรเป็นหลักฐานทางการค้า ก็พร้อมใจกันใช้อักษรเขมรที่มีมาก่อน (เรียกกันสมัยหลังว่า อักษรขอม) ใช้ถ่ายถอดภาษาพูดไทย-ลาว ทั้งในเรื่องทางศาสนาและทางการค้า

จึงพบจารึกและใบลาน, สมุดข่อย จํานวนมากเขียนภาษาไทย ใช้อักษรเขมร แล้วเรียกกันสมัยหลังๆ ว่า อักษรขอมไทย

อักษรไทย

เมื่อมีอํานาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองมากขึ้น ก็มีอักษรไทย ซึ่งวิวัฒนาการ จากอักษรเขมร (อักษรขอม) เพื่อถ่ายเสียงตระกูลไทย-ลาว ให้ครบตามต้องการ ใช้งานการค้าและอื่นๆ

ต่อมาจึงมีวรรณกรรมราชสํานักเป็นภาษาไทย อักษรไทย ขณะนี้พบเก่าสุด ราวหลัง พ.ศ. 1900 ด้วยลีลาสําเนียงและ ฉันทลักษณ์ลุ่มน้ำโขง ที่เชื่อมโยงถึงผู้คน ชนเผ่าบนพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ต่อเนื่องภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

ไทย, คนไทย

เหตุทั้งหมดโดยรวม ทําให้กลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทย, อักษรไทย เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย โดยแรกมีบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีขอบเขตไม่กว้างขวางนัก

เหนือสุด ที่ อุตรดิตถ์ เพราะพ้นขึ้นไปเป็นลาว ไม่ไทย

ใต้สุด ที่ เพชรบุรี เพราะต่ําลงไป เป็นชาวนอก, ชาวเทศ ไม่ไทย

ตะวันออกสุด ที่ สระบุรี, นครราชสีมา เพราะพ้นจากนั้นขึ้นที่ราบสูงโคราช เป็น ลาว, เขมร ไม่ไทย

ตะวันตกสุด ที่ สุพรรณบุรี, ตาก, เพราะพ้นจากนั้นไปเป็นมอญ, กะเหรี่ยง ละว้า ไม่ไทย

กลุ่มคนที่อยู่ปนกันมาก่อน เช่น “ขอม” มอญ-เขมร, “แขก” ชวา-มลายู, ฯลฯ ก็ทยอยปรับเปลี่ยนโอนตามอํานาจเศรษฐกิจการเมืองของคนกลุ่มใหญ่กว่า เป็นไทย, คนไทย

เมืองไทย, กรุงศรีอยุธยา

หลังเจ้านครอินทร์จากสุพรรณภูมิยึดครองอยุธยา พ.ศ. 1952 ศิลปวัฒนธรรมอยุธยาก็ขึ้นยุคใหม่ของคนเป็นมอญ-เขมร ปนลาว แล้วเรียกไทย เรียกบ้าน เมืองว่า เมืองไทย ชื่อทางการว่ากรุงศรีอยุธยา (สืบเนื่องจากอโยธยาศรีรามเทพ)

ศิลปวัฒนธรรมแบบลุ่มน้ำโขงจากรัฐสุพรรณภูมิ ทยอยเข้าสู่อยุธยา แล้วปะปน กับแบบมอญ-เขมรที่มีอยู่ก่อน

นับแต่นี้ไปเป็นยุคใหม่ของศิลปวัฒนธรรมอยุธยา ที่ต่อไปข้างหน้าจะเรียกว่า ไทย

ศิลปวัฒนธรรมอยุธยาทั้งของราชสํานักและของราษฎร ล้วนมีร่องรอยจากลุ่มน้ำโขง เช่น

สําเนียงหลวงของอยุธยา ได้จากเหน่อสุพรรณแบบลุ่มน้ำโขง, ขุนแผน คือ แถนจากลุ่มน้ำโขง, ระเบ็ง จากเซิ้งบั้งไฟ, โคลงไทย ได้จากโคลงลาว, ขับเสภา จากลุ่มน้ำโขง, พระรถ เมรี นิทาน บรรพชนลาว เข้าสู่ราชสํานักเป็นบรรพชนไทยสยามอยุธยา…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2564