สืบราก “อักษรไทย” จากอินเดียใต้ ณ จุดประชุมพลวานรของพระราม

ศิลาจากรึกพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกหลักที่ 1 อักษรไทย
ศิลาจากรึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 (ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

สืบราก “อักษรไทย” จาก อินเดียใต้ ณ จุดประชุมพลวานรของพระราม

ภายหลังรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง การศึกษาจารึกทั้งในแง่ของการอ่าน การแปล ตีความ และหาที่มาของอักษรไทย แพร่หลายมากขึ้น มีผู้สนใจศึกษาจำนวนมาก เพราะการสืบค้นที่มาของภาษาไทย หรือ “อักษรไทย” ย่อมขยายความเข้าใจประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาติไทยไปในตัวด้วย

ตำนานอักษรไทย หนังสือของ ยอร์ช เซเดส์ น่าจะเป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่อธิบายประวัติและวิวัฒนาการของอักษรไทยอย่างเป็นระบบ และมีอิทธิพลต่อการศึกษาของคนรุ่นต่อมา อย่างไรก็ตาม งานของเขาไม่ใช่ความพยายามแรกในการอธิบาย “รากเหง้า” ของอักษรไทย แต่มีการบันทึกเป็นหลักฐานที่สามารถใช้ประกอบการศึกษาได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ธนโชติ เกียรติณภัทร ผู้เขียนบทความ “สืบประวัติ ‘อักษรไทย’ ในแบบเรียนโบราณ” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2566) ผู้ให้ความสนใจและศึกษาประวัติอักษรไทยอย่างจริงจัง โดยยกหลักฐานจาก จินดามณี และตำนานจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต รวมถึงตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ช่วยอธิบายที่มาของ อักษรไทย ว่าอาจเริ่มต้นจากบริเวณ อินเดียใต้ ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

อักษรไทย มาแต่ “รามราฐ”

จินดามณี ฉบับสมุดไทยเลขที่ 121 หมู่ตำราภาพ เก็บรักษา ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ เนื้อหาโดยส่วนใหญ่คล้ายกับจินดามณี เล่ม 1 หรือจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ซึ่งขึ้นต้นเนื้อหาด้วยส่วนอักษรศัพท์ แต่เนื้อหาในตอนท้ายกลับมีความแตกต่างจากจินดามณีฉบับอื่น เนื่องจากมีการแทรกตัวอย่างคำประพันธ์จากตำรากาพย์สารวิลาสินี และแบบอักษรต่าง ๆ ได้แก่ อักษรเฉียงคฤนถ์ อักษรเฉียงพราหมณ์ และอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง

สันนิษฐานว่า สมุดไทยเล่มนี้อาจคัดลอกหลัง พ.ศ. 2376 อันเป็นปีที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงค้นพบจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) และเชิญลงมาไว้ในกรุงเทพฯ [1] 

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของจินดามณี เลขที่ 121 คือ โคลงท้ายสมุดไทยจำนวน 10 บท กล่าวถึงที่มาของอักษรไทย ซึ่งไม่ปรากฏในจินดามณีฉบับอื่น โคลงชุดนี้เริ่มจากการนมัสการพระพุทธเจ้า แล้วจึงอธิบายระบบตัวอักษร ดังนี้

นะโมความนอบน้อม   นมะการ

โมแห่งเราเริ่มงาน   เร่งเร้า

อัตถุทั่วไตรยทวาร   มีเถิด

พุทธัศะแด่พุทธเจ้า   ตรัสรู้สรรพธรรม์

อักษรแส้งสืบสร้าง   สรรมา

ต่างต่างชนนานา   ย่อมใช้

โดยประเทศภาษา   หลายอย่าง เจียวแฮ

เขียนอ่านออกโอฐได้   รอบรู้เรื่องราว

อักษรสังเขปเข้า   เปนสอง

หย่างหนึ่งหมายคำของ   อรรถใช้

หย่างหนึ่งนักปราชญ์ตรอง   นับแต่ เสียงนา

แล้วจึ่งรวมตัวให้   ถูกถ้อยคำคน

หย่างว่าแรกนั้นอัก   ษรเจ็ก จีนญวน

ตัวมากนักฤๅเด็ก   จักรู้

ยุมย่ามใหญ่ไม่เล็ก   ดั่งผัก ชีนา

ลูกสิศศึกษาสู้   สืบสิ้นสี่ปี

หย่างหลังที่ว่านั้น   อักษร

ชนอเนกนับนิกร   ห่อนได้

ไทยพม่าเขมนมอญ   แม้นแขก ฝรั่งแฮ

ฮีนดู่สิ่งหฬใช้   แยกย้ายยักผสม [2]

โคลงข้างต้นสรุปได้ว่า นักปราชญ์ไทยในอดีตแบ่งอักษรเป็น 2 ประเภท คือ อักษรแทนคำ และอักษรแทนเสียง

1. อักษรแทนคำ ได้แก่ อักษรจีน และญวน อักษรประเภทนี้ถือตัวเขียนระบบสัญลักษณ์รูปคล้าย (logograph) ดัดแปลงมาจากอักษรระบบภาพที่เหมือนจริงมาเป็นภาพที่คล้ายจริง มีลักษณะเป็นลายเส้นที่เรียบง่ายไม่ละเอียดเหมือนอักษรภาพ ในระบบนี้กำหนดให้ 1 สัญลักษณ์ หรือ 1 ตัวอักษร มีความหมายแทน 1 คำ ดังตัวอย่างอักษรจีน เช่น อักษร 馬 มีความหมายว่า ม้า อักษร 山 มีความหมายว่า ภูเขา ฯลฯ

โคลงในจินดามณีเลขที่ 121 กล่าวว่าอักษรจีนและญวนมีตัวอักษรเป็นจำนวนมาก (เนื่องจากอักษรหรือสัญลักษณ์ 1 ตัวแทน 1 คำ) อีกทั้งยังใช้เวลานานในการศึกษา ดังความว่า “ตัวมากนักฤๅเด็ก จักรู้” และ “ลูกสิศศึกษาสู้ สืบสิ้นสี่ปี”

2. อักษรแทนเสียง ได้แก่ อักษรไทย พม่า เขมร มอญ แขก และฝรั่ง เป็นอักษรที่ใช้สัญลักษณ์แต่ละตัวแทน 1 เสียง เมื่อจะประกอบเป็นคำนั้นต้องนำอักษรแต่ละตัวมาประสมเข้าเป็นคำ จัดอยู่ในตัวเขียนระบบแทนเสียงหรือตัวอักษร (alphabet)

หลังจากอธิบายประเภทระบบอักษรแล้ว โคลงท้ายสมุดไทยจินดามณีเลขที่ 121 จึงกล่าวถึงที่มาของอักษรไทยว่าพราหมณ์จากเมือง “รามราฐ” นำเข้ามาแล้วดัดแปลงมาเป็นอักษรไทย ดังนี้

อักษรไทยหย่างนี้   เดิมพหรามณ์

จรจากแต่เมืองราม   ราฐโพ้น

ต่อตั้งอยู่ยังสยาม   ประเทศ  นี้แล

แปลงรูปยักหย่างโน้น   จึ่งให้ไทยเรียน [3]

เมือง “รามราฐ” หรือราเมศวรัม ตั้งอยู่ใน อินเดียใต้ ชายฝั่งโจฬมณฑล มีที่ตั้งอยู่ปลายแหลมใกล้กับเกาะลังกา ขุนวิจิตรมาตราอธิบายความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้ไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์สุนทรภู่ว่า ตามตำนานเมืองนี้เป็นบริเวณที่พระรามประชุมพลวานรจองถนนข้ามไปยังเกาะลังกา จึงได้นามเมืองว่า “ราเมศวร์”

ส่วนสะพานที่จองถนนข้ามไปนั้นมีชื่อว่า “รามเสตุ” คือสะพานของพระราม (เสตุ หมายถึง สะพาน) หลังจากเสร็จสงครามแล้ว มีผู้ขอให้พระรามทำลายสะพาน เนื่องจากเกรงว่ายักษ์ที่ลังกาจะข้ามมาทำร้ายผู้คนบนแผ่นดินใหญ่ พระรามจึงใช้ศรทำลายสะพาน อย่างไรก็ดี บริเวณรามเสตุนั้นยังถือเป็นจุดที่มหาสมุทรอินเดียมาบรรจบกับสมุทรมโหทาธิ (อ่าวเบงกอล) พวกฮินดูถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถือกันว่าหากผู้ใดมาอาบน้ำทะเลที่รามเสตุย่อมเกิดความสวัสดิมงคลแก่ผู้นั้น [4]

เมืองรามรัฐยังปรากฏอยู่ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ว่า ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระเจ้าแผ่นดินเมืองรามรัฐ ซึ่งมีพระนามว่ารามาธิบดีเหมือนกันนั้น หมายจะปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึงกระทำอุบายต่าง ๆ ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถทำร้ายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้แม้สักครั้งเดียว

ในครั้งที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินรามรัฐซัดหอกอาคมหมายปลงพระชนม์ แต่หอกตกมาอยู่เบื้องล่างพระราชบัลลังก์ ครั้งที่ 2 พระเจ้าแผ่นดินรามรัฐส่งนกไม้แกะสลักซึ่งลงอาคมพร้อมด้วยทหาร 4 คนมาปลงพระชนม์ แต่ทหารที่ลอบเข้าไปในห้องบรรทมเกิดอาการ “ตัวแข็ง” ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และครั้งที่ 3 พระเจ้าแผ่นดินรามรัฐส่งช่างโกน พร้อมหีบกลมายังกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเปิดหีบกลนั้น ปรากฏเป็นรูปพ่อมดถือปืนขึ้นมาขู่เพื่อปลงพระชนม์ แต่เอ็นที่เชื่อมร่างกายหุ่นพ่อมดกลับแตกเป็นเสี่ยง ๆ ส่วนช่างโกนนั้น เมื่อจะโกนพระเกศาและพระมัสสุ ก็คิดใช้มีดโกนนั้นลอบปลงพระชนม์ แต่เกิดอาการตัวสั่นจนหมดแรงทำให้แผนการล้มเหลว [5]

ในที่สุดพระเจ้าแผ่นดินรามรัฐเห็นว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีบุญญาธิการ จึงส่งพระราชสาส์นมาเจริญพระราชไมตรี พร้อมส่งพราหมณ์ 2 คนมาประกอบพิธีโล้ชิงช้าในกรุงศรีอยุธยา วันวลิตกล่าวถึงผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็มีพราหมณ์จากที่ต่าง ๆ เดินทางมาสู่สยามโดยเฉพาะมาจากเมืองรามรัฐ และพราหมณ์เหล่านี้ได้รับความยกย่องนับถือในหมู่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าชาย พระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชน” [6]

ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่กล่าวถึงพราหมณ์รามรัฐ ในตำนานระบุว่านายสำเภาจากเมือง “รามราช” เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยของ “สมเด็จองค์นารายณ์เป็นเจ้ารามาธิบดีศรีเอกาธิราช” ใน “ศักราช 712 ปีขาลนักกษัตร” (ตรงกับ พ.ศ. 1893 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง) ต่อมาองค์นารายณ์เป็นเจ้ารามาธิราช แห่งเมืองรามราชส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี โดยมีเครื่องราชบรรณาการเป็นเทวรูป พระนารายณ์ พระลักษมณี พระอิศวร หงส์ และชิงช้าทองแดง

พร้อมกับ “ชีพ่อพราหมณ์เป็นภาษา 5 เหล่า มอบให้แดงธรรมนารายณ์เป็นหัวหน้า”

พราหมณ์ภาษา 5 เหล่า หมายถึง ปัญจทราวิท คือ มหาราษฎร์ ทมิฬ กรณาฏกะ คุชราต และอานธระ [7] เรือสำเภาเดินทางเข้ามาถูกพายุซัดเข้าปากแม่น้ำตรัง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรายงานไปกราบบังคมทูล สมเด็จพระรามาธิบดี จึงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญเทวรูปไปกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดลมพายุ 7 วัน 7 คืน เนื่องจากเทวรูปสำแดงฤทธิ์ เป็นเหตุให้ต้องประดิษฐานอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชสืบมา [8]

วรรณคดีเรื่องอื่น ๆ กล่าวถึงบทบาทพราหมณ์รามรัฐ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญความรู้ด้านพิธีกรรมต่าง ๆ ดังเช่น โคลงภาพคนต่างภาษา จารึกวัดพระเชตุพน บรรยาย “พราหมณ์รามเหศร์” ไว้ดังนี้

๏ รามเหศร์หุติชาติเชื้อ   รามรัฐ

สบสิพาคมเพียร   เพียบรู้

ทวาทศพิธียัช   ชุเวท  ก็ดี

อาจผูกอาจแก้กู้   เก่งมนตร์ ฯ [9]

โคลงข้างต้นอธิบายได้ว่า พราหมณ์จากเมืองรามรัฐเป็นผู้เชี่ยวชาญใน “หุติ” คือการบูชา มีความรู้ใน “สิพาคม” คือ ไสพาคม หมายถึงคัมภีร์อาถรรพ์เวทในศาสนาพราหมณ์ ถือเป็นพระเวทที่ 4 ที่เพิ่มจากไตรเพท (ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท) ตลอดจนความรู้ใน “ทวาทศพิธี” คือพระราชพิธีสิบสองเดือน รวมทั้งชำนาญในคัมภีร์ยชุรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงมนตร์และวิธีใช้มนตร์ต่าง ๆ

หลักฐานจากตำนานและวรรณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของพราหมณ์รามรัฐ หรือพราหมณ์จากอินเดียใต้ในฐานะผู้นำความรู้ด้านศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ มาเผยแพร่ในดินแดนไทย และข้อมูลจากจินดามณีเลขที่ 121 ที่ระบุว่าอักษรไทยกำเนิดจากอักษรของพราหมณ์รามรัฐ ถือเป็นความรู้ด้านประวัติอักษรไทยที่ส่งต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่แสดงให้เห็นว่าอักษรไทยมีวิวัฒนาการ “แปลงรูปยักหย่างโน้น” มาจากอักษรอินเดียใต้

สอดคล้องกับการศึกษาในปัจจุบันที่ระบุว่าอักษรไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากอักษรปัลลวะที่แพร่กระจายมายังดินแดนไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นอักษรที่เรียกว่าหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 13-15) และส่งอิทธิพลให้เกิดอักษรขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 15-18) และอักษรมอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 17-18)

อักษรทั้งสองนี้ ส่งอิทธิพลต่อการกำเนิดอักษรไทยสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นมีพัฒนาการมาจนถึงอักษรไทยในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พีระ พนารัตน์. “จินดามณี สมุดไทยเลขที่ 121 (เอกสารสมุดไทยเลขที่ 121 หมู่ตำราภาพ),” อธิบายจินดามณี และ จินดามณี ฉบับนายมหาใจภักดิ์ ฉบับพญาธิเบศ. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2564), น. 340.

[2] “จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี,” สมุดไทยดำ, อักษรขอม-ไทย, ภาษาบาลี-ไทย, เส้นหรดาล, เลขที่ 121, หมวดตำราภาพ, หมู่ตำราภาพ, หอสมุดแห่งชาติ.

[3] เรื่องเดียวกัน.

[4] ขุนวิจิตรมาตรา [กาญจนาคพันธุ์]. ภูมิศาสตร์สุนทรภู่. (กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2542), น. 94-95.

[5] วันวลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182. แปลโดย วนาศรี สามนเสน. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2548), น. 30-34.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 34.

[7] ขุนวิจิตรมาตรา, [กาญจนาคพันธุ์]. ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2518), น. 348.

[8] ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช, (พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2473. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) 2473), น. 1-5.

[9] ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, พิมพ์ครั้งที่ 7. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2554), น. 695.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566