อักษรไทยมาจากไหน? อ่านฝรั่งคลั่งสยามค้นข้อมูลเรื่องที่มาของ “อักษรไทย”

ศิลาจารึกหลักที่ 1 อักษรไทย

ทำไมต้องถามว่า “อักษรไทยมาจากไหน” ใครๆ รู้ว่า อักษรไทย มาจากอินเดียไม่ใช่หรือ?

เราต้องถามว่า อักษรไทย มาจากไหน เพราะเหตุหลายประการเช่น :-

1. อักษรไทยมีรูปร่างต่างกับอักษรขอม, มอญและอักษรตระกูลต่างๆ ในอินเดีย, จึงน่าเห็นใจที่หลายคนไม่รู้ว่าเป็นญาติกัน

2. บางคนรักชาติมากจนอยากจะเชื่อว่า อักษรไทยเป็นของไทยโดยเฉพาะ และมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยไม่เลียนแบบใครมาสักตัว

3. ตั้งแต่สมัยที่ชนชั้นปกครองหันหน้าไปสู่ตะวันตก และตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการปลุกระดม “ความรักชาติ” แต่สงครามเอเชียมหาบูรพา ตลอดระยะเวลาสงครามเย็น, ประชาชนถูกล้างสมองให้รังเกียจประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน รวมทั้งอินเดียและจีน, จนยากที่ใครจะนึกความสัมพันธ์กับ “ของต่ำ” ของชาติอื่น

4. ผมสงสารคน “รักชาติ” ที่เลือกเชื่อความฝัน จึงต้องมองข้ามความจริงที่เก่าแก่สง่างามยิ่งกว่าที่เราเคยคิด

5. แต่ก่อนผมคิดว่า วิวัฒนาการอักษรไทยน่าจะติดตามง่ายๆ, เป็นสายเดียวแบบ A>B>C>D ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม, หลังจากพิจารณาอักษรสมัยสุโขทัยและที่มาของมันอย่างลึก, ผมต้องยอมรับว่า อักษรสุโขทัยเป็นของประดิษฐ์ขึ้นมาจากแหล่งต่างๆ นานาที่ซับซ้อนไม่น้อย

ข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับ อักษรไทย

1. อักษรสุโขทัย น่าจะเป็นอักษรประดิษฐ์, แต่เราไม่มีหลักฐานว่าใครประดิษฐ์หรือประดิษฐ์เมื่อไรและที่ไหน

2. อักษรสุโขทัยที่เรารู้จักจากศิลาจารึก เป็นของคิดขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะมันกลมกลืนกับภาษาไทยทุกวิถีทางอยู่แล้ว

3. อักษรสุโขทัยจะพัฒนามาจากอักษรขอมโดยตรง (ตามที่อาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ เคยเสนอ) ไม่ได้

4. อักษรสุโขทัยเป็นอักษร “บ้าน” ไม่ใช่อักษร “ธรรม”, เหมาะเป็นอักษรสำหรับวานิช

5. อักษรสุโขทัยไม่เหมาะจะใช้สลักหินหรือจารใบลาน, แต่เหมาะจะเขียนกับกระดาษ

6. ชาวสุโขทัยต้องรู้จักอักษรขอมและอักษรมอญเป็นแน่ และจะต้องรู้จักอักษณคฤนถ์ของอินเดียใต้ด้วย

7. ยังเป็นที่น่าคิดว่า ชาวสุโขทัยควรจะคุ้นกับอักษรชนิดหนึ่งคล้าย “ทวารดีหวัด” เช่นที่พบในจารึกเนินสระบัว

อย่างไรก็ตาม, ผมจะขึ้นต้นที่สุโขทัยไม่ได้ แต่จะต้องย้อนหลังไปประมาณ 3,000 ปีก่อนปัจจุบัน และเริ่มที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของภาษาเขียนส่วนใหญ่ของโลก, ทั้งตะวันตกและตะวันออก

ฟีนีเซียน

ทั้งชาวเมโสโปเตเมีย (ลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรติส) และชาวอียิปต์ (ลุ่มน้ำไนล์) เคยมีภาษาเขียนมาอย่างน้อย 5,000 ปีแล้ว, แต่เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยภาพและสัญลักษณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน จนไม่มีใครอื่นอยากเอาเยี่ยงอย่างหรือไม่สามารถเอาเยี่ยงอย่างได้, จึงเป็นคลองตันที่ไม่ต้องติดตาม

"พ่อค้าชาวฟีนีเซียน? รูปดินเผาจากคูบัว, จังหวัดราชบุรี
“พ่อค้าชาวฟีนีเซียน? รูปดินเผาจากคูบัว, จังหวัดราชบุรี

เมื่อประมาณ 1,500 ปี ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล มีชนอย่างน้อยสามกลุ่มที่พูดภาษาในตระกูลเซมิติกตะวันตก, คือ ฟีนีเซียน, ฮีบริว และอะระเมอิก, ได้พัฒนาภาษาเขียนที่ใช้สัญลักษณ์แทนเสียง, ไม่ใช่ภาพแทนสิ่งของ, กิริยาและนามธรรม หนังสือแทนเสียง เหล่านี้มักเรียกรวมเพื่อความสะดวกว่า “อักษรฟีนีเซียน” มันไม่มีความสวยงาม, ไม่มีตระกูล, แต่มันมีประโยชน์มากจนใครๆ ยังเอาเยี่ยงอย่างตลอดจนถึงทุกวันนี้

รอยประทับอักษรฟีนีเซียนบนก้อนดินเหนียว เชื่อว่าได้จากปาเลสไตน์ อายุราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล
รอยประทับอักษรฟีนีเซียนบนก้อนดินเหนียว เชื่อว่าได้จากปาเลสไตน์ อายุราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล

ชาวฟีนีเซียนจะเป็นใครมาจากไหน, ไม่มีใครทราบ, แต่ในประวัติศาสตร์ปรากฏว่าเขาเป็นชาวเรือฉกรรจ์ที่สามารถคุมเส้นทางการค้าทางทะเลได้จากมหาสมุทรแอตแลนติกถึงมหาสมุทรอินเดีย, โดยมีศูนย์กลางตามฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน (อิสราเอล, เลบานอน และซีเรียปัจจุบัน) จากการขุดค้นทางโบราณคดี ชาวฟีนีเซียนไม่มีวัฒนธรรมสูง (เช่นสถาปัตยกรรมใหญ่ๆ หรือศิลปะงามๆ) และเท่าที่มีอยู่ส่วนใหญ่เลียนมาจากบ้านเมืองข้างเคียงคือ แอสซิเรียและอียิปต์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวฟีนีเซียนคือ หมวกรูปกรวยที่กระดกไปข้างหน้า ซึ่งเคยพบตามโบราณสถานสมัยทวารวดีในประเทศสยาม

จารึกอักษรฟีนีเซียนบนลูกโม่ในแท่นพิมพ์ จากเมือง Ur ทำจากดินเผา ยาว 10.4 ซ.ม. อายุราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล
จารึกอักษรฟีนีเซียนบนลูกโม่ในแท่นพิมพ์ จากเมือง Ur ทำจากดินเผา ยาว 10.4 ซ.ม. อายุราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวฟีนีเซียนคือ จารึกที่ใช้สัญลักษณ์แทนเสียง, ไม่ใช่ภาพแทนสิ่งของ, กิริยาและนามธรรม จารึกที่เป็นเรื่องเป็นราวมีไม่กี่ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นการขีดเขียนอย่างหยาบๆ บนสิ่งของหรือเศษกระเบื้อง

อย่างไรก็ตาม, จารึกเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเขียนด้วยอักษรแทนเสียงล้วนๆ โดยไม่มีภาพประกอบ นี่แหละคือจุดกำเนิดของอักษรฮีบริว, กรีก, โรมัน, อาหรับ, อินเดียตระกูลต่างๆ และอุษาคเนย์ตะกูลต่างๆ ในที่สุด อักษรฟีนีเซียนไม่สวยไม่งามก็จริง, แต่ว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง, กลุ่มชนภาษาอื่นจึงยินดีเรียนมาเพื่อเขียนภาษาของตน

อักษรฟีนีเซียนเขียนจากขวาไปซ้ายเช่นเดียวกับฮีบริวและอาหรับปัจจุบัน; มีพยัญชนะประมาณ 20 ตัว, ไม่มีสระเขียน ส่วนตัวแรก K ที่โรมันเขียนเป็น A นั้น, เดิมเป็น Glottal Stop ที่เป็นพยัญชนะสำคัญในภาษาตระกูลเซมิติก แต่เป็นสระในภาษาตระกูลอื่น นี่คือต้นเหตุที่ทำให้ตัว อ อ่าง (ที่ไทยออกเสียงเป็นสระ) ต้องจำแนกไว้ในหมวด “พยัญชนะ” เหมือนอย่างในอักษรอินเดียตระกูลอื่นๆ ที่สืบทอดมาจากฟีนีเซียนโดยตรง

อธิบายตามเส้นนอน :-

ตาราง 1ตาราง 2

ช่องที่ 1 เป็นอักษรโรมัน; ช่องที่ 2 ภาพที่นำมาใช้แทนเสียง (1,500 ปีก่อนคริสตกาล); ช่องที่ 3-7 อักษรที่ขีดด้วยมีดบนของแข็ง เช่นหินหรือกระเบื้อง (1,000 ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล); ช่องที่ 8 ถึง 11 อักษรที่วาดบนกระดาษด้วยพู่กันหรือปากกาปากกว้าง (500-100 ปีก่อนคริสตกาล); ช่องที่ 12 อักษรฮีบริวต้นคริสตศักราช); ช่องที่ 13 อักษรกรีกรุ่นหลัง

อธิบายตามเส้นตั้ง :-

ช่องที่ 1/2 เป็นภาพหัววัว, เพราะเขาเรียกวัวว่า “ ’A ” จึงใช้หัววัวแทนเสียงนี้; ต่อมาหัววัวเขียนว่า K และกลายเป็น A ในที่สุด

ช่องที่ 4/2 เป็นรูปปลาที่กลายเป็น ∆ และ D ในที่สุด

ช่อง 5/2 เป็นรูปคนชูมือที่กลายเป็น ∃ และ E ในที่สุด

ช่อง 13/2 เป็นภาพน้ำที่เขาเรียกว่า “อึม” จึงกลายเป็น M ในที่สุด

ช่อง 14/2 เป็นรูปงูเห่าแบบอียิปต์ที่กลายเป็นตัว N

ช่อง 16/2 ดูเป็นดวงตาที่กลายเป็นตัว O

ช่อง 17/2 เป็นภาพตีนที่กลายเป็นตัว P

ช่อง 20/2 เป็นหัวคนกลายเป็นตัว R (กรีกเขียนว่า P)

ที่ตัวกรีก-โรมันดูมีรูปร่างต่างกับตัวฟีนีเซียนมากนั้น เกิดจากภาษาฟีนีเซียนเขียนจากขวาไปซ้าย ในขณะที่ภาษากรีก-โรมันเขียนจากซ้ายไปขวา ดังนั้นแต่ละตัวย่อมกลับข้าง, เช่นจาก ∃ มาเป็น E หรือ q มาเป็น P เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ภาษาฟีนีเซียนไม่เขียนสระ (เพราะไม่จำเป็นในตระกูลภาษาเซมิติก) แต่ภาษากรีก-โรมันต้องเขียนสระให้ได้, จึงยืมพยัญชนะฟีนีเซียนบางตัวไปใช้เป็นสระ, เช่นเอาตัว Glottal Stop (1) ใช้แทนสระอะ-อา, ตัว H แทนเสียง E (5,4), ตัว Y (10) แทนเสียงอิ-อี และตัว Glottal Stop อีกตัว (16) แทนเสียง O

ทั้งหมดนี้เป็นการติดตามวิวัฒนาการอักษรฟีนีเซียนสู่ตะวันตก จนกลายเป็นอักษรกรีกและโรมันที่ใช้กันในตะวันตกจนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 559