สถูปเจดีย์ ทำไมนิยมเรียกรวมกัน ทั้งที่บางอย่างไม่เหมือนกัน?

เจดีย์ปากน้ำ สถูปเจดีย์ สถูป เจดีย์
เจดีย์ปากน้ำ (ภาพจาก The New York Public Library)

“สถูป” และ “เจดีย์” เป็นคำที่มาคู่กันเสมอ เมื่อพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดี มักกล่าวรวม ๆ ว่า “สถูปเจดีย์” เพื่อเรียกโบราณสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง จนคนคิดไปว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน

ทำไมถึงเรียกแทนกันและท้ายที่สุด 2 คำ แตกต่างกันอย่างไร?

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า…

“ตำราในพระพุทธศาสนากำหนดว่า พระเจดีย์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า เจดีย์ มี 4 ประเภท คือ

ธาตุเจดีย์ หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าของพระมหากษัตริย์ จักรพรรดิ 

บริโภคเจดีย์ หมายถึงสังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาหรือที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยประทับ เช่น ที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน

ธรรมเจดีย์ หมายถึงคาถาแสดงพระอริยสัจ หรือคัมภีร์ในพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก 

อุเทสิกะเจดีย์ คือของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแด่พระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร เช่น สร้างบัลลังก์ให้หมายแทนพระพุทธองค์

การที่เจดีย์มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวางดังที่กล่าวข้างต้น จึงพ้องกับความหมายของคำว่า สถูป ที่บ่งถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างเพื่อบรรจุอัฐิธาตุ

ด้วยเหตุนี้ สถูปจึงใช้แทนเจดีย์ เป็นเช่นนี้ในประเทศอินเดียสมัยโบราณมาแล้ว

ในสมัยสุโขทัย คำว่าสถูปและเจดีย์ใช้ควบคู่กัน เช่น ‘จุ่งทั้งหลายกระทำบูชาพระสถูปเจดีย์’ แม้ในปัจจุบันนักวิชาการก็ยังเรียกพระสถูปเจดีย์เป็นคำคู่ แต่โดยทั่วไปนิยมคำว่าเจดีย์มากกว่าสถูป

คำว่า ‘สถูป’ มีที่ใช้เมื่อต้องการระบุสิ่งก่อสร้างนั้นเพื่อบรรจุอัฐิ เช่น เมื่อพระเจ้ายอดเชียงรายแห่งเมืองเชียงใหม่ ‘ทรงสร้างสถูปขนาดใหญ่’ ในวัดมหาโพธารามคราวถวายพระเพลิงพระศพของพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นอัยกา ‘แล้วบรรจุพระอัฐิในถูปนั้น’…”

นอกจากความเห็นของอาจารย์สันติแล้ว ในงาน “คำว่า ‘สถูป’ และ ‘เจดีย์’ สิ่งก่อสร้างในอารยธรรมอินเดียโบราณ: พระเวท พระไตรปิฎก และอรรถกถา” ของ พงษ์ศิริ ยอดสา นักวิจัยประจำศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา Center for Buddhist Studies ยังอธิบายไว้เพิ่มอีกว่า

แม้คำว่าสถูปและเจดีย์จะชี้ถึงสิ่งก่อสร้างแบบเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือ สถูปจะเน้นไปที่สิ่งก่อสร้างสำหรับบรรจุสรีรธาตุของถูปารหบุคคล (บุคคลที่คู่ควรแก่การนำกระดูกของเขาบรรจุในสถูปไว้บูชา) และภายในจะต้องมีสรีรธาตุบรรจุโดยมีห้องโถง เสา และแท่นสำหรับว่าสรีรธาตุ และยังหมายถึงสถูปจำลองที่ครอบภาชนะสำหรับบรรจุพระธาตุได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน เจดีย์มีหลายนัย ใช้ได้ทั้งสถานที่ปฏิบัติธรรม สถานที่สำหรับเคารพนับถือ สถานที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงสถานที่บูชาและระลึกพระพุทธเจ้า 

หรือจะเอาไว้ใช้เรียกสถานที่บรรจุสรีรธาตุของถูปารหบุคคล ที่มีสรีรธาตุ หรือสถานที่บูชาหรือรำลึกถึงบุคคลที่ไม่มีสรีรธาตุก็ได้

จากข้อมูลที่อธิบายมา หวังว่าคงทำให้ใครหลายคนเข้าใจถึงความแตกต่างของสถูปและเจดีย์ได้ ที่มักเรียกรวมกันว่า “สถูปเจดีย์” และตอบคำถามว่าเหตุใดต้องใช้ 2 คำนี้คู่กัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2567