ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สถาปัตยกรรมสมัย “ทวารวดี” ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมอินเดีย ซึ่งต้นทางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ สถูป และ ปราสาท
สถูป เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเหมือนเนินดินขนาดใหญ่ เป็นตัวแทนของเนินดินฝังศพ ผังกลม มีส่วนทึบที่เข้าไปไม่ได้เป็นส่วนสำคัญ
ส่วน ปราสาท นิยามง่าย ๆ คือเป็น “บ้านของเทพเจ้า” มักเป็นอาคารห้องสี่เหลี่ยม มีภายในเดินเข้าไปได้ มักมีชั้นซ้อนด้านบนหลายชั้น ในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งชั้นจริงและชั้นจำลอง
ปราสาทจึงเป็นบ้านของเทพที่ “มีชีวิต” เพราะตามคติฮินดู เทพเจ้าทุกองค์มีพระชนม์ตลอดกาล แต่สถูปเป็นหลุมของบุคคลที่ “เสียชีวิต” ไปแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนาเป็นหลัก อุทิศแด่พระพุทธเจ้าผู้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว
จะเห็นว่าพุทธศาสนานิกายเถรวาท ค่อนข้างให้ความสำคัญการ “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า และการบูชา “พระบรมธาตุ” สถูปจึงเป็นภาพแทนเนินดินบรรจุพระบรมธาตุที่พบเห็นได้มากในอินเดียระยะต้น คือในศิลปะอินเดียโบราณ อมราวดี และในลังกา ช่วงที่พุทธศาสนาเถรวาทแพร่หลาย
โดยทั่วไปเราจะไม่พบการสร้างสถูปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขณะที่ปราสาทสามารถพบได้ทั่วไปตามคติฮินดูและพุทธมหายาน
สถูปยุคแรกมีองค์ประกอบสำคัญคืออยู่ในผังกลม เป็นทรงคล้ายขันขนาดใหญ่คว่ำอยู่ เรียกว่าทรงโอคว่ำ แทนเนินดินฝังศพ (ช่างอินเดียมองว่าคล้ายไข่ จึงเรียกว่า “อัณฑะ”) ยอดเป็นทรงฉัตรแสดงความสูงส่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านในเป็นกรุแบบห้องปิดตายเพื่อบรรจุพระบรมธาตุ หรือเรือนธาตุ คตินี้แพร่เข้ามาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ และกลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมทวารวดีด้วย
ในสมัยทวารวดี พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลัก จึงปรากฏการสร้างสถูปตามรูปแบบศิลปะอินเดียโบราณ อมราวดี และลังกา คือสถูปผังกลมฐานทรงโอคว่ำ เช่น สถูปพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ตามสันนิษฐานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างองค์จำลองไว้
เป็นไปได้ว่า สถูปลักษณะนี้คงเป็นที่นิยมในศิลปะทวารวดียุคแรก ก่อนการเข้ามาของสถูปทรงปราสาทที่มีรายละเอียดมากกว่าจะมาแทนที่ จึงพบร่องรอยสถูปทรงโอคว่ำน้อยมาก
สถูปที่ได้รับความนิยมสูงสุดในศิลปะทวารวดีอย่างแท้จริงคือสถูปทรงปราสาท คือรับรูปแบบจากอาคารทรงปราสาทมาปรับปรุง ทำลักษณะเรือนธาตุเป็นผังสี่เหลี่ยมเหมือนปราสาท แล้วออกแบบให้เป็นอาคารทึบ ไม่มีประตู เข้าไปภายในไม่ได้ แต่บรรจุพระบรมธาตุอยู่ภายใน
ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดความ “พร่าเลือน” ระหว่างสถูปกับปราสาท และกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะทวารวดี
ว่าง่าย ๆ คือ เป็นสถูปที่มีทรงอาคารเหมือนปราสาทนั่นเอง…
อ่านเพิ่มเติม :
- “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”?!
- ตามรอย ลายประจำยามก้ามปู ลวดลายเก่าตั้งแต่สมัย “ทวารวดี”
- “วัฒนธรรมทวารวดี” ต้นเค้า “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย
อ้างอิง :
ศาสตราจารย์ ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2565). ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2566