“ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”?!

ทวารวดี ศรีเทพ

เมื่อพูดถึง “ทวารวดี” หลายคนคงมีภาพจำจากประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า เป็นชื่ออาณาจักรแห่งแรกและเก่าสุดในไทยราวหลัง พ.ศ. 1000 นับถือศาสนาพุทธ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ทว่าในอีกฟากฝั่งของวงวิชาการกลับไม่เห็นพ้อง และคาดว่า ทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ มากกว่า นครปฐม-อู่ทอง

ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในบทความ “‘ทวารวดี’ อยู่ลพบุรี-ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ไม่อยู่นครปฐม-อู่ทอง (สุพรรณบุรี)” ในมติชนออนไลน์ ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอของนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ยืนยันและชี้ว่า “ทวารวดี” มีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ นครปฐม-อู่ทอง อย่างที่เข้าใจกันมาตลอด 

ในบทความกล่าวถึงงานนักวิชาการมีชื่อทั้ง 2 คน ได้แก่ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร และ ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมืองชื่อทวารวดี กับพื้นที่ที่ไม่แน่ชัด

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายประเด็นนี้ผ่านงาน “ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม–กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 49-55) ไว้ว่า เมืองชื่อทวารวดีเป็นที่รู้จักในบรรดาแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยมาเนิ่นนาน ทั้งยังเป็นดินแดนโบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของประเทศไทยใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า พื้นที่แห่งใดคือทวารวดี เพราะแม้จะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่นักโบราณคดีไทยยุคแรก ๆ เรียกว่า “ศิลปะทวารวดี” แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ที่ตั้งของเมืองชื่อทวารวดีอยู่ที่ใด เพราะวัตถุโบราณเช่นนี้กระจายทั่วไปตามแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือบ้านเมืองสมัยโบราณบนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัวที่จังหวัดราชบุรี ฯลฯ 

หรือแม้แต่การค้นพบเหรียญที่มีตัวอักษรคำว่าทวารวดีในเมืองโบราณอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และที่อื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า สถานที่ที่พบเหรียญนั้นจะเป็นเมืองทวารวดี เพราะจำนวนวัตถุที่พบน้อยมาก ทั้งวัตถุชนิดที่พบยังมีขนาดเล็ก และสามารถพกพาไปได้ทั่วแดน 

ดังนั้น จึงไม่สามารถการันตีได้ว่า สถานที่ที่พบวัตถุจะเป็นเมืองทวารวดีตามไปด้วย

เบาะแส “ทวารวดี” ในศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร คาดว่าทวารวดีน่าจะอยู่ที่ลพบุรี จากการคาดคะเนผ่านหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 2 อย่าง “ศิลาจารึกวัดศรีชุม” จังหวัดสุโขทัย 

ในหลักฐานปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติผู้ทำจารึก และเล่าเรื่องการเดินทางแสวงบุญของพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีในพื้นที่ต่าง ๆ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีที่ได้เข้าไปซ่อมแซมปูชนียสถานร้างแห่งหนึ่ง บริเวณทิศใต้ของเมืองสุโขทัย โดยกล่าวว่า

“…ลางแห่งที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย ตรธานเป็นป่าเป็นดง สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า ที่ตนเข้าไปเลิกให้กระทำพระมหาธาตุหลวงคืน พระมหาธาตุด้วยสูง เก้าสิบห้าวาไม่ เหนือพระธาตุหลวงไซร้ สองอ้อมสามอ้อม พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้แล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณ พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล ๐ สถิต เคริ่งกลางนครพระกฤษณ์ ๐…”

แปลความคร่าว ๆ ได้ว่า พระองค์บูรณะสถูปพระธาตุองค์หนึ่งจนเสร็จสมบูรณ์ และกล่าวถึงสถูปนี้ว่า มีขนาดใหญ่ ซึ่งขอมเรียกว่า “พระธม” แปลตรงตัวว่าพระใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางเมืองของพระกฤษณะชื่อว่า “เมืองทวารวดี” โดยเมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ “เป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ” 

“ชุมนุมพระมหาธาตุ” คำใบ้สำคัญ ชี้ “ทวารวดี” อยู่ที่ลพบุรี?

อาจารย์พิเศษ ระบุด้วยว่า คติเกี่ยวกับการชุมนุมพระธาตุ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนานถึงสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ มีบันทึกอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่น ๆ โดยมีเรื่องเล่าในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำหนังสือที่เขียนบนใบตาลมาถวายพระเจ้าตาก อ้างว่าเป็นของ “อธิการวัดใหม่” เชื่อว่าเป็นพระพุทธทำนาย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“…ในพุทธศักราชล่วงได้ 2320 จุลศักราช 1139 ปี พระนครบางกอก [คือกรุงธนบุรี] จะเสียแก่พม่าข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรีเป็นชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย…”

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 เมืองนั้นเชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อเรื่อง “ชุมนุมพระมหาธาตุ” หรือ “ชุมนุมพระบรมธาตุ” ทั้งหากย้อนดูในเรื่องโบราณสถานหรือวัตถุก็พบศิลปะทวารวดีจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ทั้งสองเมืองนี้มีความเชื่อมโยงกัน และสถานที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 หรือ จารึกวัดศรีชุม ก็หมายถึงปูชนียสถานเก่าองค์หนึ่งที่มีอยู่ในเมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งก็คือเมืองที่ยืมชื่อเมืองของพระกฤษณะมาใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองทวารวดี”

“ทวารวดี” อยู่ใน “เมืองศรีเทพ” ?

ด้าน ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์” เสนอความเห็นผ่าน เพจ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ “เมืองศรีเทพ” แม้ว่านักวิชาการหลายคนจะมองว่าเมืองแห่งนี้น่าจะไม่ใช่ศูนย์กลางของทวารวดีก็ตาม เนื่องจากศิลปะโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างขึ้นในพุทธศาสนา แต่เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ อย่าง พระกฤษณะ พระวิษณุ ทั้งศรีเทพยังตั้งอยู่ในแม่น้ำป่าสัก ห่างไกลจากแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวไทย

แต่ ศ. ดร. พิริยะ ได้ให้เหตุผลว่า หากเราวิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลป์ จะเห็นว่าศรีเทพเป็นสถานที่โบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะ เทพเจ้าในลัทธิไวษณพ ผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดี ด้านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็พบว่า ทวารวดีเป็นเมืองของพระวิษณุ และเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา) ส่วนเรื่องภูมิศาสตร์ ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม

เพราะฉะนั้น “ศรีเทพ” จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางของทวารวดีราชธานีแรกของสยาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3089458


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2566