ผู้เขียน | กรรณิการ์ ฉิมสร้อย |
---|---|
เผยแพร่ |
เมืองโบราณศรีเทพ ที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า เมืองศรีเทพ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2566 นับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย หลังจากเราว่างเว้นการมีมรดกโลกแห่งใหม่ถึง 31 ปี เมืองโบราณศรีเทพ มีพัฒนาการร่วม 2,000 ปี มีสถาปัตยกรรมและศิลปะตามแบบวัฒนธรรม “ทวารวดี” ที่น่าสนใจ
“ทวารวดี” คืออะไร? กรรณิการ์ ฉิมสร้อย ไปหาคำตอบมาจาก รศ. ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ทวารวดี” ได้คำตอบหรือยังว่าที่จริงคืออะไร?
คำว่า ทวารวดี มีหลายนิยามความหมายมาก แต่ในแวดวงวิชาการทั่วไป เวลาพูดถึงทวารวดีเรากำลังหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และดูช่วงอายุอย่างคร่าว ๆ คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงที่เราเรียกช่วงทวารวดี นอกจากความหมายเบื้องต้นนี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เพราะมีผู้คนคิดว่าทวารวดีเป็นชื่อบ้านเมืองด้วยหรือเปล่า
ซึ่งแน่นอนว่าหลักฐานที่เราได้จากเอกสารจีนก็ดี หรือบันทึกต่าง ๆ นานา ก็ดี มันต้องเป็นชื่อบ้านเมืองนั่นแหละ แต่ว่าบ้านเมืองนี้จะใช้ระบบการปกครองแบบไหน? แบบมีศูนย์กลางที่เดียวอยู่ตลอดเป็นเวลาร้อย ๆ ปี เหมือนกรุงศรีอยุธยา 417 ปี หรือเหมือนกรุงเทพฯ 236 ปี อันนี้ยังเป็นที่ถกเถียง และยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะนักวิชาการบางคนมองว่า ศูนย์กลางทวารวดีอยู่ที่จังหวัดนครปฐม บางคนมองว่าศูนย์กลางอาจจะเคลื่อนย้ายไปได้เรื่อย ๆ ตามแต่ว่าผู้ปกครองเมืองไหนจะขึ้นมามีอำนาจมากกว่ากัน
ดังนั้น ในเชิงของการปกครองหรือว่านิยาม บางท่านก็มองว่าเป็นอาณาจักรมีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ บางคนอาจมองว่าเป็นกลุ่มบ้านเมืองที่มารวมตัวกัน แล้วสถาปนาใครขึ้นมาปกครอง พออำนาจคนนี้หมดไปก็มีคนอื่นของบ้านเมืองใกล้เคียงขึ้นมาแทน นี่คือคำว่าทวารวดีที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน
เป็นชื่อราชวงศ์ด้วยหรือไม่?
อืม… เรารู้ว่าต้องมีระบบกษัตริย์ เพราะมีชื่อของกษัตริย์อยู่ เช่น พระเจ้าหรรษวรมัน แต่ก็ยังมีปัญหาว่าจะเป็นกษัตริย์เขมรได้ไหม อันนั้นเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ถึงขนาดเป็นชื่อราชวงศ์ไหม อันนี้ยังไม่มีหลักฐาน แต่อย่างน้อยที่สุดทำให้เรารู้ว่าชื่อทวารวดีเกิดจากหลักฐานที่เป็นเหรียญก็ดี จารึกบนฐานพระพุทธรูปก็ดี มันกระจายไปวงกว้าง ไม่ได้มีแค่เมืองใดมืองหนึ่งเท่านั้น มีทั้งที่นครปฐม อู่ทอง ไปจนถึง อ. ปากช่อง ปัจจุบัน
ทวารวดีอยู่ในดินแดนไทย?
อยู่ในดินแดนไทยแน่นอน เพราะเราพบจารึกบนเหรียญเงินที่พูดถึง “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” แสดงว่าทวารวดีนั้นมีจริงในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศไทย และยังมีจารึกบนฐานพุทธรูปที่วัดจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นี่คือหลักฐานที่พบในเมืองไทย ส่วนหลักฐานที่เจอนอกประเทศ เช่น หลักฐานที่เป็นบันทึกของพระภิกษุจีนจิ้นฮง ท่านไล่เรียงชื่อดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงมาทางใต้ของอินเดียว่ามีนามประเทศอะไรบ้าง ดินแดนอะไรบ้าง แต่ออกเสียงเป็นสำเนียงจีน ปรากฏว่าบ้านเมืองที่เขาเรียก “โถ โล โป ตี” มันอยู่ในจังหวะที่น่าจะอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยพอดี
นักจารึกและผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณพยายามถอดเสียงว่าโถโลโปตีตรงกับอะไร ในที่สุดก็น่าจะเป็นทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับการเจอเหรียญเงินในประเทศไทย ฉะนั้น ทวารวดีอยู่ในเมืองไทยแน่ แต่ศูนย์กลางจะเป็นที่นครปฐมหรือบ้านเมืองอื่น เช่น อู่ทอง หรือบางคนบอกว่าลพบุรีไหม อันนี้เป็นข้อถกเถียงในเชิงรายละเอียด
ส่วนความเห็นผม โดยส่วนตัวค่อนข้างให้น้ำหนักกับนครปฐมมากกว่าคนอื่น เพราะในเชิงความกว้างใหญ่ของเมือง ขนาดของโบราณสถาน ความหนาแน่นของโบราณวัตถุที่พบที่นครปฐมมีมากกว่า
ทำไมต้องชื่อ “ทวารวดี” ?
ทวารวดีแปลว่าอะไร? ทวารวดีเป็นชื่อเมือง มีปรากฏในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร แปลว่าเมืองที่ประกอบไปด้วยประตูและรั้ว และยังถือเป็น “นามมงคล” เพราะเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะด้วย ชื่อเมืองทวารวดี หรือ ทวารกา ฉะนั้น ชื่อเมืองต้นประวัติศาสตร์จะเอาชื่อบ้านเมืองในอินเดียมาตั้งเป็นชื่อบ้านเมืองตัวเองด้วย ไม่ได้หมายความว่ามีศูนย์กลางอยู่นอกประเทศไทย
ทำไมจึงว่าเป็นดินแดนแรกเริ่มพุทธศาสนา?
ลักษณะของบ้านเมืองที่เจริญขึ้นในยุคต้นประวัติศาสตร์ของไทย เป็นช่วงแรกที่ดินแดนไทยเริ่มที่จะใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือสื่อสาร เมื่อทวารวดีรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาประสมประสาน ส่วนหนึ่งคือรับเอาตัวอักษรเข้ามาใช้ด้วย และพร้อม ๆ กับที่ใช้ตัวอักษร สิ่งที่รับมาพร้อมกัน คือวัฒนธรรม อารยธรรมในมิติอื่น ๆ เช่น ระบบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ และที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องศาสนาพุทธ ดูเหมือนคนทวารวดีจะยอมรับนับถืออย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับศาสนาพราหมณ์ จะเห็นว่าพุทธศาสนามีปริมาณความหนาแน่นที่มากกว่า
ดังนั้น เราอาจบอกได้ว่าโดยภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครปฐม คูบัว เมืองหลัก ๆ ของทวารวดี นับถือพุทธศาสนามากกว่า และถ้าอนุมานจากตัวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบ มีความละม้ายคล้ายคลึงในทางรูปแบบกับศิลปะอินเดียที่อยู่ร่วมสมัยกัน คือต่อเนื่องตั้งแต่คุปตะ มาหลังคุปตะ และต่อเนื่องด้วยปาละ แสดงให้เห็นเหมือนกันว่าพุทธศาสนาของทวารวดี น่าจะรับมาจากอินเดีย แต่ไม่ได้หมายความว่าศูนย์กลางพุทธศาสนาในบ้านเมืองอื่นจะไม่เกี่ยวข้อง
โดยความเห็นส่วนตัว ผมว่าศรีลังกาในยุคอนุราธปุระอาจมีประเด็นความสัมพันธ์กับทวารวดี มากกว่าที่เราเคยวิจัยกันมา มากกว่าความรู้ที่เรามีกันอยู่ปัจจุบัน น่าคิดอยู่
ก่อนหน้าทวารวดีไม่มีการเอ่ยถึงศาสนาใด ๆ ?
ก่อนหน้าทวารวดี เป็นยุคการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ บูชาผี ผู้ล่วงลับที่เชื่อว่าอาจให้คุณให้โทษเราได้ ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมที่สืบทอดมามันต้องมีอยู่แน่ ทำไมถึงพูดอย่างนั้น เพราะทวารวดีบางเมืองเราเจอตุ๊กตาดินเผา ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าเป็นของเล่นได้ไหม ส่วนหนึ่งก็มองว่ามันคล้าย ๆ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงก็คือ เป็นการอุทิศตุ๊กตานี้ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่จะมาทำร้ายทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตาย
ยังมีข้อน่าสังเกต ตุ๊กตาพวกนี้ ตุ๊กตาเสียกบาลจะเป็นการปั้นดินเหนียวเฉพาะกิจ ปั้นแล้วก็จบกัน แล้วค่อยปั้นใหม่ แต่บางอันเช่น ตุ๊กตาจูงลิง ใช้แม่พิมพ์นะ ไม่ค่อยมีคนพูดกัน ใช้แม่พิมพ์ประกบ ซึ่งทำให้ผมมองว่าถ้าอันนี้เป็นตุ๊กตาเสียกบาลที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน แสดงว่าในอดีตน่าจะต้องเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำตุ๊กตาเสียกบาลจำนวนมาก ถึงขนาดที่ต้องใช้แม่พิมพ์
ผมเคยคุยเล่น ๆ คนในอดีตสิ่งที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คือโรคระบาดหรือที่เรียกกันว่าโรคห่า ฉะนั้น ตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าทวารวดีจะมีโรคระบาด ทำให้คนต้องมาร่วมกันทำพิธีปั้นตุ๊กตาเสียกบาลถึงขนาดต้องทำแม่พิมพ์ออกมา ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ
จู่ ๆ “ทวารวดี” ก็หายไป?
จริง ๆ แล้วเหตุปัจจัยที่ทำให้บ้านเมืองหนึ่งถูกทิ้งร้างลง พูดในแง่พื้นที่เล็ก ๆ ก่อน อย่างบางเมืองที่ร้างผู้คนลงไปจากที่เคยเจริญมาก ๆ อาจมีหลายเหตุผล เช่น เกิดโรคระบาด หรือเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม แต่ถ้าพูดถึงภาพกว้าง เช่น การหายไปของวัฒนธรรมทวารวดี เช่น การสร้างพุทธรูปหน้าตาแบบทวารวดี การสร้างธรรมจักร หรือการใช้ตัวอักษรแบบทวารวดีหายไป
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าหายไปพร้อมกับมีวัฒนธรรมอื่นเข้ามาแทนที่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าวัฒนธรรมนั้นมาจากกัมพูชา ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อยู่ดี ๆ เราค้นพบว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 พื้นที่ภาคกลางของไทยเหมือนมีวัฒนธรรมเขมรเข้ามาแทน เริ่มมีการสร้างพวกปราสาท มีจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันขึ้นมา การที่พระองค์ท่านมีโองการ ทำให้เราสันนิษฐานว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เริ่มมีอำนาจเหนือลพบุรีแล้ว
กลางพุทธศตวรรษที่ 16 คือช่วงวัฒนธรรมทวารวดีค่อย ๆ หายไปจากลพบุรี พอมาดูบ้านเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคกลางก็พบว่าค่อย ๆ หายไปเหมือนกัน เป็นวัฒนธรรมเขมรค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ พอมาถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมเขมรเข้ามาค่อนข้างจะเต็มตัว
การวิจัยค้นคว้าเรื่องทวารวดียังมีต่อไป?
ที่จริงมีประเด็นที่เราจะค้นคว้าต่อได้ในเรื่องรายละเอียด แต่เรื่องหลัก ๆ คล้าย ๆ มันจะหยุดแล้วล่ะ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษไหน หายไปศตวรรษไหน นับถือศาสนาใด นิกายไหน อันนี้ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว แต่สิ่งที่อาจเพิ่มเติมมาก็อยู่ที่หลักฐานที่พบใหม่ เช่น เจอเหรียญขึ้นมาใหม่ อาจเพิ่มเติมประเด็นการแพร่กระจาย เป็นต้น
ถ้า “ทวารวดี” มีอายุร่วม 400 ปี ทำไมถึงมีกษัตริย์องค์เดียวที่เอ่ยถึง?
อันนี้น่าสงสัยเหมือนกัน เพราะถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น ในกัมพูชาที่เจริญขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เขามีชื่อกษัตริย์ ผู้ปกครองเพียบเลย แต่ทวารวดีเราขาดหลักฐาน มีอยู่ประมาณองค์สององค์ที่รู้จักชื่อ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งชื่อกษัตริย์อาจไปอยู่ในหลักฐานที่ไม่ได้ถาวร เช่น พวกคัมภีร์ที่ทำจากใบลานหรือกระดาษ เลยทำให้เราขาดหลักฐาน
ปัญหาหนึ่งของทวารวดีคือการเสื่อมสภาพของตัววัตถุ อายุพันปีต้องเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา คนรุ่นนั้นเขาก็มองว่าสิ่งที่สร้างชั่วชีวิตเขามันแข็งแรงแล้ว ไม่คิดว่าจะต้องอยู่เป็นพัน ๆ ปี ก็แค่ชั่วชีวิตเขา เหมือนเราสร้างบ้าน คงไม่คิดว่าบ้านเราจะต้องอยู่ถึงพันปี แค่ในชั่วชีวิตเราเท่านั้น
การที่เราศึกษาเรื่องของทวารวดี ถ้ามองให้ลึก ไม่ใช่ในเชิงวิชาการ แต่ในเชิงของคนทั่วไป การที่ได้รู้ว่า “ทวารวดีคืออะไร” อย่างน้อยมันคือรากฐานของประเทศไทย แน่นอนว่าคนในยุคทวารวดี หลายคนในปัจจุบันอาจจะมองว่าเป็นคนมอญ แต่วัฒนธรรมหลายอย่างได้สืบทอดมาถึงอยุธยา เช่น ลวดลายบางตัว อาทิ ลายประจำยาม ลายก้ามปู เป็นรากฐานมาตั้งแต่ทวารวดี ซึ่งช่วงนั้นอาจจะรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง หรือการรับเอาวัฒนธรรมการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่ใช้ภาษาบาลี หรือสร้อยนามของอยุธยา “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” อาจเป็นชื่อบ้านเมืองเดิมต่อเติมมาด้วย ดังนั้น ทวารวดีแม้จะอายุเป็นพันปีก็เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานวัฒนธรรมไทยที่เราปฏิเสธไม่ได้
พื้นที่ค่อนข้างสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดี คือ จังหวัดนครปฐม และเมืองโบราณบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ที่นครปฐม “เจดีย์พระประโทณ” สะท้อนประเพณีการสร้างเมืองสมัยนั้นว่า ต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองเมือง ไม่ให้เกิดภยันตรายใด ๆ
ส่วน “พระปฐมเจดีย์” เรามองเห็นสิ่งก่อสร้างข้างนอกนั้นเป็นการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ภายในที่ถูกเจดีย์ครอบไว้เป็นศิลปทวารวดี และที่ยืนยันชัดว่า นครปฐมเป็นศูนย์กลางทวารวดีมาก่อน คือ “หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ขุดพบในจอมปลวก ที่วัดทุ่งพระเมรุ ชาวบ้านอัญเชิญมาประดิษฐานที่นี่
นอกจากนี้ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ปางปฐมเทศนา ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดีแท้ ๆ ว่ากันว่ามีเพียง 6 องค์ในโลกเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่ประเทศไทยถึง 5 องค์
สำหรับ “เมืองโบราณบ้านคูบัว” ราชบุรี แม้จะมีขนาดเล็กกว่านครปฐม แต่ถ้าเทียบกับเมืองอื่นก็ถือว่าไม่เล็ก เราจะเห็นเรื่องคติการสร้างบ้านเมือง คติภูเขาศักดิ์สิทธิ์ดัดแปลงให้เป็นศาสนสถาน บ้านคูบัวขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก และยังเห็นสถาปัตยกรรมโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากช่างสมัยคุปตะ จะเห็นศิลปวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” เป็นอาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีมาก่อน สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2416 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี ในคราวแรกของการตั้งมณฑลราชบุรี แล้วจึงปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เพื่อจัดแสดงแหล่งประวัติศาสตร์ การสร้างบ้านแปลงเมืองในแต่ละยุคสมัย ร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในราชบุรี รวมถึงโบราณวัตถุที่สมบูรณ์งดงามของยุคทวารวดี
ในรั้วเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มี “อาคารทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)” ที่มาพำนักในช่วงบั้นปลายชีวิต ภายหลังที่ว่างจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในครั้งนั้นแล้ว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุนิติภาวะและทรงเป็นกษัตริย์เต็มตัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ จึงได้มาพำนักที่ราชบุรี ด้วยเหตุผลว่าอากาศดี และไกลจากปัญหาทางการเมือง
อ่านเพิ่มเติม :
- อย่างเป็นทางการ! “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นแท่นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย!
- “เมืองศรีเทพ” เมืองมรดกโลกล่าสุดของไทย “ตำนานเมืองเทวดา” กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
- เจาะเรื่อง “เขาคลังนอก” มหาสถูป “เมืองศรีเทพ” ข้อมูลจากปากคนใน เมื่อครั้งอนุรักษ์พัฒนา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2562