“เมืองศรีเทพ” เมืองมรดกโลกล่าสุดของไทย “ตำนานเมืองเทวดา” กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

โบราณสถาน มหาสถูปเขาคลังนอก เมืองศรีเทพ ตำนานเมืองเทวดา
มหาสถูปเขาคลังนอก เมืองศรีเทพ ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ให้การรับรอง โบราณสถาน “เมืองโบราณศรีเทพ” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เมืองศรีเทพ ซึ่งปัจจุบันคือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ที่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

โบราณสถาน “เมืองศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ คือหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ณ สถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งโบราณสถานแห่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างและถูกลืมเลือนไปในที่สุด

โบราณสถาน เขาคลังใน เมืองศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
“คนแบกใต้ฐานเขาคลังใน” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด

ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่ง กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก

เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่ เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง และถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับว่า ละแวกนี้มีเมืองโบราณอยู่หรือไม่ และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง

ในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองศรีเทพ”

องค์สุริยะเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เมืองศรีเทพ
“องค์สุริยะเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมือง แล้วมีเนินดินสูงล้อมรอบคล้ายกำแพงเมือง ด้านนอกของเนินดินเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น การขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยกรมศิลปากร และเป็นที่น่าแปลกใจของกรมศิลปากรเมื่อเห็นว่า ภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณ ไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น

โบราณสถาน ปรางค์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เมืองศรีเทพ
“ปรางค์ศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา เมืองโบราณแห่งนี้เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ ก่อนจะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัยและมีความเชื่อว่า หากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ ก็จะเกิดอาเพศกับตนเองและครอบครัว

บางคนอาจล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติ เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยภายในสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทำได้แค่เพียงอาศัยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประกอบอาชีพเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนก็จะมีการประกอบอาชีพการเกษตร ล่าสัตว์ และเก็บของป่า

ด้านพิธีกรรมความเชื่อ สมัยก่อนชาวบ้านมักจะไปกราบไหว้และนำเครื่องเซ่นไปไหว้ศาล ซึ่งตั้งไว้บนเนินดินบริเวณขอบพื้นที่เมืองโบราณ หรือเนินที่กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นกำแพงเมือง หลังจากที่เมืองโบราณเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทางอุทยานฯ ได้อัญเชิญศาลแห่งนี้ลงมาไว้ด้านล่าง โดยเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เจ้าพ่อศรีเทพ” และหลังจากย้ายศาลลงมา ทางอุทยานฯ ก็ได้เข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณศาล

เจ้าพ่อศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
“เจ้าพ่อศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

จุดนี้ทำให้การเข้ามากราบไหว้ศาลของชาวบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ ชาวบ้านเลิกนำของเซ่นเข้ามากราบไหว้ศาล แต่ยังจุดธูปเทียนอยู่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ศาลในวันที่ทางอุทยานฯ จัดงานบวงสรวงขึ้น ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงกลายเป็นงานประจำปีในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเมืองโบราณไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปอาศัยอยู่ ซึ่งชาวบ้านทุกคนให้ความสำคัญและเคารพในพื้นที่เมืองโบราณ เพราะไม่ได้เป็นเพียงโบราณสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านต้องการรักษาภาพลักษณ์ และอนุรักษ์ไม่ให้พื้นที่เมืองโบราณนี้ไม่ถูกทำลายจากบุคคลภายนอก 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

คำสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่

ปฏิญญา บุญมาเลิศ. คําเรียกผีและความเชื่อเรื่องผีในภาษาไทยถิ่นเหนือ. (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ,2554)

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว.แผ่นพับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562