ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ |
เผยแพร่ |
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ เมืองโบราณศรีเทพ หรือ เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ จึงขอนำบทความจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนมิถุนายน ปี 2551 ว่าด้วยเรื่องราว “เขาคลังนอก” มหาสถูป “เมืองศรีเทพ” ข้อมูลจากปากคนใน เมื่อครั้งอนุรักษ์พัฒนา โดย ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (ณ ขณะนั้น) มานำเสนอ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “เมืองศรีเทพ” เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก และมีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว
ต่อมาได้ขยายตัวและเจริญขึ้นโดยรับวัฒนธรรมจากภายนอก ซึ่งเข้าใจว่าได้รับจากบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งได้แก่วัฒนธรรม “ทวารวดี” ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมาอีกทอดหนึ่ง
โดยปรากฏหลักฐานประเภทอาคารสิ่งก่อสร้างจำนวนหลายแห่ง เช่น โบราณสถานเขาคลังใน เป็นต้น จนกระทั่งอิทธิพลเขมรโบราณได้แผ่เข้ามา เมืองนี้ก็ได้รับอิทธิพลและเจริญขึ้นด้วยเช่นกัน ดังปรากฏหลักฐานอาคารสิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งมีลักษณะการก่อสร้างเป็นปราสาทแบบเขมร โดยรวมระยะเวลาที่เมืองนี้เจริญขึ้นนั้น นับเป็นเวลาเกือบ 1,000 ปีทีเดียว
จากตำแหน่งของเมืองศรีเทพ ที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อทางอารยธรรมของ 2 ภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองนี้ได้เจริญขึ้นพร้อมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการส่งผ่านองค์ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอารยธรรมต้นกำเนิด จนกระทั่งได้ผสมผสานและมีรูปแบบที่ลงตัวเป็นของตนเองสืบเนื่องมา จนล่มสลายไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โบราณสถานหลักทั้ง 3 แห่ง ที่กล่าวถึง ล้วนตั้งอยู่ภายในเขตเมืองโบราณแบบวัฒนธรรมทวารวดีที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งร้างตั้งอยู่นอกเมืองอีกจำนวนหลายแห่ง
โบราณสถานที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด เห็นจะเป็นโบราณสถาน “เขาคลังนอก”
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 กรมศิลปากร โดยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน เขาคลังนอก ซึ่งเป็นการดำเนินงานศึกษาด้านวิชาการโบราณคดีทั้งหมด (เริ่มโครงการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551) รวมไปถึงการออกแบบเพื่อการบูรณะในปีงบประมาณถัดไป
ปัจจุบัน (ปี 2551-กอง บก. ออนไลน์) โบราณสถานเขาคลังนอก มีที่ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร
ที่มาของชื่อเขาคลังนอก เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิม เพราะเหตุว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายภูเขาสูงใหญ่ และเชื่อกันว่าน่าจะมีทรัพย์สมบัติและอาวุธเก็บรักษาอยู่ภายใน ประกอบกับในเขตเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่เรียกว่า “เขาคลังใน” จึงได้เรียกโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่นอกเมืองแห่งนี้ว่า “เขาคลังนอก”
สภาพก่อนการดำเนินงานทางโบราณคดี พบว่า มีลักษณะเป็นเนินทรงกลมคล้ายภูเขาขนาดใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ มีเศษอิฐและศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งบริเวณ บริเวณด้านบนเนินปรากฏหลุมลักลอบขุดขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นโพรงลึกลงไป ทำให้เห็นโครงสร้างภายในที่ก่อด้วยอิฐอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาระยะเวลาประมาณ 2 เดือนนั้น ได้ทำงานเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ พบว่า ผังของอาคารน่าจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีการยกเก็จหรือเพิ่มมุมตามระเบียบแบบแผนของอาคารแบบทวารวดี ฐานมีขนาดเฉลี่ยกว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร โดยใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลักๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร
มีการประดับตกแต่งโดยการก่อเป็นซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ วางซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปโดยรอบ แต่ไม่พบร่องรอยการฉาบปูนและปูนปั้นประดับ เหมือนที่โบราณสถานเขาคลังใน บางจุดยังคงมีลักษณะคล้ายรูปแบบศิลปกรรมของอินเดียอย่างชัดเจน คือ การก่อซุ้มลักษณะโค้งแบบกุฑุ (สถาปัตยกรรมที่เป็นรูปวงโค้งคล้ายเกือกม้า) ที่พบมากในสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย รวมทั้งยังพบชิ้นส่วนยอดของสถูปขนาดเล็กที่ใช้ประดับอาคารอีกด้วย และอาจมีบันไดทางขึ้นสู่ด้านบนทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตูตั้งอยู่ด้านบน เพื่อผ่านเข้าไปยังลานประทักษิณ เพื่อประกอบศาสนพิธีที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
บนฐานเขียงด้านทิศตะวันออก ยังปรากฏร่องรอยของหลุมเสาไม้จำนวน 4 หลุม แต่ไม่พบร่องรอยของกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยการก่อศิลาแลงทับซ้อนอยู่บนชั้นพังทลาย แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีด้านบนในสมัยหลังอีกด้วย
องค์สถูปด้านบนก่อด้วยอิฐแบบทวารวดี มีร่องรอยของแกลบข้าวผสมอยู่ในเนื้ออิฐ ลักษณะสถูปประกอบด้วยฐานเขียงที่ซ้อนกันตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง เหนือขึ้นไปพบว่า มีร่องรอยการก่อลดชั้นและยกเก็จที่มุม ซึ่งอาจมีองค์สถูปทรงกลมตั้งอยู่ด้านบน แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว
ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ แห่งภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า เขาคลังนอก มีลักษณะเป็นมหาสถูป ซึ่งมีความสำคัญตั้งอยู่นอกตัวเมืองโบราณ รับคติการสร้างจากพุทธศาสนามหายาน ที่นิยมสร้างอาคารบนฐานสูง รูปแบบผังมณฑลจักรวาล และมีความสัมพันธ์กับ “เขาถมอรัตน์” ที่ตั้งอยู่ห่างจาก “เมืองศรีเทพ” ไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะเกือบ 20 กิโลเมตร โดยมีภาพสลักเกี่ยวกับพุทธศาสนามหายานอยู่ภายในถ้ำบนยอดเขา และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกัน
จุดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้ อยู่ที่หลักฐานที่ปรากฏอยู่บริเวณฐานอาคาร ซึ่งยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่มาก มีความอ่อนช้อย แต่ซ่อนความแข็งแกร่งแฝงไว้ และมีกลิ่นอายแบบอินเดียผสมผสานอยู่มาก กล่าวได้ว่าในประเทศไทยยังไม่เคยพบโบราณสถานในสมัยเดียวกัน ที่ยังคงสภาพและมีขนาดใหญ่มากเท่านี้มาก่อน สะท้อนคุณค่าทางรูปแบบศิลปกรรมอย่างชัดเจน
กล่าวโดยสรุปว่า โบราณสถาน เขาคลังนอก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ มีการใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีอยู่ด้านบน มีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างชัดเจน อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับชุมชนที่เจริญขึ้นที่เมืองโบราณศรีเทพและเขาถมอรัตน์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ผู้มาเยี่ยมชมมักถามว่า ได้พบมานานแล้วหรือยัง ซึ่งความจริงแล้วกรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเขาคลังนอก และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 29 วันที่ 26 มีนาคม 2506 น. 859 โดยขึ้นทะเบียนดังนี้ คลังนอกเมืองศรีเทพ บ้านหนองปรือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งเขตที่ดิน รวมเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 1 งาน ทั้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนพร้อมๆ กับตัวเมืองศรีเทพและปรางค์นอก (ปรางค์ฤาษี) จะเห็นว่าโบราณสถานแห่งนี้ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมาเป็นเวลา 45 ปีแล้ว กว่าที่จะได้มีโอกาสเผยโฉมให้เราได้เห็นความงดงามกันในปัจจุบัน
หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพียงระยะ 2 เดือนเศษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551) อาจให้คำตอบทางวิชาการได้ไม่มากนัก ทุกสิ่งเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังคงปรากฏร่องรอยของซากอาคารที่เป็นองค์ประกอบของโบราณสถานอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ยังหลงเหลือร่องรอยและถูกลักลอบขุดทำลายไปแล้ว จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการศึกษาให้ครบถ้วนเสียก่อน ถึงจะคลี่คลายปมปัญหาทางวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้รวมถึงเรื่องราวของเมืองศรีเทพที่ยังคลุมเครืออยู่ต่อไปได้
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทวดา กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
- ไทยเสนอ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” สู่มรดกโลก
- ขรรค์ขัย-สุจิตต์ บุก ‘เมืองศรีเทพ’ ถกปมศูนย์กลาง ‘ทวารวดี’ จริงหรือ?
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562