เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย

เวียงกุมกาม
การขุดค้นเวียงกุมกาม (ภาพจาก สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) (ตกแต่งกราฟิกเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ)

เวียงกุมกาม เป็นที่รู้จักกันมานาน นับจากที่กรมศิลปากรได้พบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญไชย (ลำพูน) จากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณวัดกานโถม (วัดช้างค้ำ) เมื่อ พ.ศ. 2527 การขุดค้นยังคงดำเนินต่อมาภายหลังเป็นช่วงๆ

จาก พ.ศ. 2527-2546 เป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี ที่กรมศิลปากรได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้ หลักฐานโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมที่พบทำให้เรื่องราวของเวียงกุมกามชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขุดค้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 พบประติมากรรมมกรคายมังกรที่วัดกู่ป้าด้อม และเครื่องถ้วยจีนที่ฝังจมอยู่ในชั้นดินใต้ตะกอนทรายบริเวณวัดหนานช้าง

ข้อมูลเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถนำมาสรุปภาพรวมของ “เวียงกุมกาม” ได้ครบถ้วน แต่ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการให้แก่ผู้ที่สนใจจะสืบค้นประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้เพิ่มเติม

แผนที่ เชียงใหม่ และ เวียงกุมกามเวียงกุมกาม ในเอกสารประวัติศาสตร์

เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ พบว่ามีขนาดกว้างประมาณ 600 เมตร ยาวประมาณ 850 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 2 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ คือตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี ตำบลหนองหอย และตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่

เมืองโบราณแห่งนี้ หลักฐานจากตำนานพื้นเมืองทุกฉบับกล่าวพ้องกันว่าสร้างโดยพญามังราย ในช่วงเวลาหลังจากที่พระองค์ผนวกเอาเมืองหริภุญไชยไว้ในพระราชอาณาจักรได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องศักราชการสร้างเวียงกุมกามของพญามังราย ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ เพราะเอกสารพื้นเมืองหลายฉบับระบุถึงศักราชที่พญามังรายทรงสร้างเวียงกุมกามไว้ต่างกัน โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนาน 15 ราชวงศ์ [1] ระบุว่าสร้างใน พ.ศ. 1829 “…เถิงปีรวายเส็ด สกราชได้ 648 ตัว เจ้าพญามังรายย้ายมาตั้งส้างเวียงกุมกาม…” [2] ส่วนพงศาวดารโยนกระบุว่า “…ครั้นถึงปีจอ อัฐศก จุลศักราช 648 พระยาเมงรายจึงย้ายสถานมาสร้างเวียงกุมกาม ณ ที่ใกล้แม่น้ำระมิงค์…”

ตำนานเหล่านี้แม้จะเรียบเรียงมาจากตำนานพื้นเมืองต่างๆ แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเอกสารชั้นรองเพราะเรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ส่วนชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระได้เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. 2060 ถือว่าเป็นหลักฐานเอกสารที่เก่ากว่าฉบับอื่นๆ ระบุว่าพญามังรายสร้างเวียงกุมกามขึ้นใน พ.ศ. 1846 “…พระเจ้ามังรายได้สร้างนครกุมามเมื่อจุลศักราช 665…”

เวียงกุมกาม สร้างขึ้นเมื่อใด?

เกี่ยวกับศักราชในการสร้างเวียงกุมกามนี้ เคยมีผู้เสนอว่าปีที่สร้างเวียงกุมกามควรเป็น พ.ศ. 1837 โดยให้เหตุผลประกอบ 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 พ.ศ. 1834 หลักฐานจากเอกสารจีนระบุว่าเป็นปีที่หริภุญไชยได้ส่งบรรณาการไปจีน แสดงว่าหริภุญไชยยังมิได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรของพญามังราย

ประการที่ 2 พ.ศ. 1835 พญามังรายเข้าตีเมืองหริภุญไชย และต่อมาอีก 2 ปี จึงสร้างเวียงกุมกาม [3] ทั้งนี้โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารจีนว่า “วันที่ 30 เดือน 8 ปีที่ 29 รัชศกจื้อหยวน (11 ตุลาคม 1835) มีพระบรมราชโองการให้ปู่ตุนหมางหวู่ หลูหมีสือ ยกกองทัพไปตีประเทศป่าไป่ซีฟู่” [4] โดยระบุว่าการโจมตีป่าไป่ซีฟู่หรือเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น เป็นเพราะจีนไม่พึงพอใจที่พญามังรายโจมตีหริภุญไชยซึ่งถือว่าเป็นรัฐในบรรณาการ

เหตุผลทั้ง 2 ประการที่นำมากล่าวอ้างนี้ อาศัยศักราชที่ได้สอบค้นโดยการใช้เอกสารจีนประกอบ และมีผู้ให้เหตุผลประกอบว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏในศักราชตามชินกาลมาลีปกรณ์ ตั้งแต่ช่วงพญามังราย-พญาผายู (พ.ศ. 1783-1899) มีความแม่นยำมากกว่าศักราชที่ปรากฏในเอกสารอื่น

แผนที่ เวียงกุมกามส่วนเรื่องราวหลังรัชกาลพญาผายูนั้น ศักราชที่ปรากฏในตำนาน 15 ราชวงศ์มีความถูกต้องมากกว่า [5] ทั้งที่ชินกาลมาลีปกรณ์นี้พระรัตนปัญญาเถระรจนาเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2060 ในสมัยแผ่นดินพระเมืองแก้วและตกแต่งเพิ่มเติมมาถึง พ.ศ. 2071 แผ่นดินพระเมืองเกษเกล้า แต่ศักราชของเหตุการณ์ที่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ หลังรัชสมัยพญาผายูซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการรจนาชินกาลมาลีปกรณ์กลับมีความถูกต้องน้อยกว่าเอกสารที่เขียนขึ้นในยุคหลัง

อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งได้ชี้แนะหลักฐานบางประเด็นที่อาจต้องอธิบายเพิ่มเติม เช่น [6]

1. ผู้เขียนอ้างถึงบทความของ Luce ที่อ้างอิงจากหยวนสื่อ (ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวนฉบับหอหลวง) ซึ่งระบุว่ามีเมือง Lo-hu (ละโว้) และเมือง Nu-jen (เมืองผู้หญิง) ส่งทูตไปจีนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1832 และอีกครั้งในวันที่ 11 ตุลาคม 1834 นั้น แท้จริงคือเมืองหริภุญไชยหรือไม่ เพราะเมืองที่ปกครองโดยผู้หญิงนั้นนอกเหนือจากหริภุญไชยแล้วยังมี Nu-wang ซึ่ง Luce เข้าใจว่าน่าจะเป็นดินแดนทางตอนเหนือของเจนละบก และเป็นเมืองเดียวกับส่งทูตไปจีนพร้อมละโว้ใน พ.ศ. 1832

2. หากเชื่อตามชินกาลมาลีปกรณ์ว่าพญามังรายผนวกหริภุญไชยใน พ.ศ. 1835 แล้ว ทำไมไม่เชื่อตามเอกสารฉบับเดียวกันที่กล่าวว่า เวียงกุมกามสร้างใน พ.ศ. 1846

เป็นอันว่า ศักราชการสร้างเวียงกุมกามยังหาข้อยุติที่ลงตัวไม่ได้

วัดช้างค้ำ (กานโถม)
วัดช้างค้ำ (กานโถม)

พญามังราย กับการสร้างเมือง “แม่แช่ว”

อย่างไรก็ดีก่อนการสร้างเวียงกุมกาม มีสถานที่อื่นที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้น ดังที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับ เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานมูลศาสนา ตำนาน 15 ราชวงศ์และพงศาวดารโยนก ล้วนระบุตรงกันว่า หลังการผนวกหริภุญไชยได้ใน พ.ศ. 1824 พญามังรายโปรดให้ “…ก็หื้อขุดแม่น้ำผ่าบ้าน หื้อเปนที่ตกท่าแห่งฅนทังหลาย ลวดรียกชื่อว่า แม่แช่ว มีภายหนอีสานแห่งเมืองละพูน อยู่ที่นั้นได้ 3 ปลี น้ำท่วมเมื่อกลางวัสสา ช้างมล้างัวควาย หาอยู่บ่ได้ ลวดเรียกว่าเชียงเลิอ ต่อเท้าบัดนี้แล…” [7]

แม่แช่วที่พญามังรายทรงสร้างนั้น น่าจะเป็นเมืองขนาดเล็ก และอาจมีเพียงพนังดินที่เป็นผลมาจากการขุดลัดคุ้งแม่น้ำ มิได้เป็นเมืองที่มีขอบเขตกำแพง-คูเมืองมั่นคงแข็งแรง แต่ยังคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องมา เนื่องจากในครั้งพญามังรายสร้างกาดกุมกามนั้น ตำนานพื้นเมืองหลายฉบับระบุว่ามีชาวแจ้ช้างเชียงเลิอ [8] ขี่เรือข้ามน้ำมาตลาดเรือคับคั่งชนกันล่มหลายลำ โดยในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่าเชียงเลิอนั้นเป็นชื่อใหม่ของแม่แช่ว

นอกจากนั้นยังปรากฏชื่อของเชียงเลิอว่าพันนาหนึ่งที่เข้าร่วมกับแสนคราวรบกับหมื่นหัวเคียนแสนหวีครั้งเมืองเชียงใหม่เกิดการจลาจลในช่วงปลายราชวงศ์มังรายราว พ.ศ. 2088″ [9] และอาจเป็นได้ว่าในช่วงที่แม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางเดินจากด้านทิศตะวันออกของเมืองหริภุญไชยมายังด้านทิศตะวันตกนั้น เมืองนี้ได้ตื้นเขินลง

จากการสำรวจบริเวณตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน พบร่องรอยลำเหมืองขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกว่า “แม่แช่ว” และเชื่อว่าเป็นที่เดียวกับแม่แช่วที่พญามังรายสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ หลังจากเวนเมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าปกครอง [10]

วัดกู่คำ วัดแรกของเวียงกุมกาม

การสร้างเวียงกุมกามของพญามังรายนั้น เอกสารระบุรายละเอียดว่า “…หื้อขุดคือเวียงทั้งสี่ด้านไปเอาน้ำแม่ระมิงเข้าใส่คือ ตั้งลำเวียงรอดทุกด้าน…” [11] การแปลความจากภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าเวียงกุมกามมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 600 เมตร ยาวประมาณ 850 เมตร แต่สภาพปัจจุบัน แนวกำแพงด้านทิศตะวันตกและบางส่วนของด้านทิศเหนือไม่ปรากฏร่องรอย อาจเป็นได้ว่าความยาวที่แท้จริงของเวียงกุมกามน่าจะครอบคลุมถึงบริเวณวัดเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่คำ ทั้งนี้เนื่องจากวัดกู่คำเป็นวัดที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรกของเวียงกุมกาม จึงควรอยู่ภายในบริเวณตัวเมือง

ผลการขุดตรวจทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2542-2543 พบว่าแนวคูน้ำ-คันดินที่คั่นระหว่างด้านตะวันออกของวัดเจดีย์เหลี่ยม-วัดธาตุขาว และด้านทิศตะวันตกของวัดพระเจ้าองค์ดำ-วัดปู่เปี้ยนั้น เป็นร่องเหมืองที่ราษฎรขุดขึ้นในภายหลัง ไม่ใช่แนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกของเวียงกุมกาม และหลักฐานจากเอกสารที่ระบุว่า “…เจ้าเม็งราย ให้เอาดินที่หนองต่างมาทำอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม…” [12] นั้น เจดีย์กู่คำจึงอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเวียงกุมกามด้วย

ซากโบราณสถานเวียงกุมกาม
1 วัดหนานช้าง, 2-3 วัดกู่ป้าด้อม

นอกจากเจดีย์กู่คำแล้ว พญามังรายได้ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรพร้อมสถาปนาวัดกานโถมและพระพุทธรูป 5 พระองค์ขึ้นในชุมชนที่นับถือไม้เดื่อต้นหนึ่ง [13] ผลการขุดค้นทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2527 บริเวณวัดช้างค้ำหรือวัดกานโถมได้พบเศษภาชนะดินเผาและพระพิมพ์ดินเผาศิลปะหริภุญไชย แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนในวัฒนธรรมหริภุญไชยอยู่ก่อนการสร้างวัดกานโถมแล้ว

ศูนย์กลางการค้าลุ่มแม่น้ำปิง

เวียงกุมกาม เป็นเมืองที่พญามังรายดำริให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าในลุ่มแม่น้ำปิงขึ้นแทนเมืองหริภุญไชย โดยโปรดให้สร้างตลาดกุมกามขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าขาย “แล้วพระยาเมงรายให้ตั้งตลาดกุมกามเป็นที่ประชุมซื้อขายแห่งชนทั้งหลาย…” [14] หลักฐานจากเอกสารพื้นเมืองหลายฉบับระบุว่าในครั้งนั้นการค้าขายภายในเวียงกุมกามเจริญรุ่งเรืองมากนัก มีเรือล่องมาค้าขายคับคั่งจนชนกันล่มวันละหลายลำ

พ.ศ. 1833 พญามังรายยกทัพไปเมืองพุกามอังวะ ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะได้ดำเนินทางพระราชไมตรีโดยการถวายนางอุสาปายโคพระราชธิดา พร้อมทั้งช่างโลหะแขนงต่างๆ แก่พญามังราย เช่น ช่างทองคำ ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างอื่นๆ มาไว้ยังเวียงกุมกาม เมืองรอยและเชียงตุง [15] ดังนั้นนอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการค้าแล้ว เวียงกุมกามยังเป็นศูนย์กลางของช่างหัตถกรรม (สล่า) ในช่วงต้นๆ ของราชวงศ์มังรายอีกด้วย

หลักฐานจากเอกสารระบุว่า ในสมัยต้นราชวงศ์มังราย เวียงกุมกามมีความสำคัญควบคู่กับเมืองเชียงใหม่และลำพูนทั้งในกิจกรรมทางการเมืองและศาสนา ดังเช่นครั้ง พญาไชยสงคราม ราชโอรสของพญามังรายมีชัยชนะเหนือพญาเบิกในการศึกที่บ้านแม่ตาล พญามังรายโปรดให้ตีกลองอุ่นเมืองทั่วเวียงเชียงใหม่และกุมกาม [16]

นอกจากนั้น เวียงกุมกาม ยังเป็นที่ประทับของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ในช่วงต้นราชวงศ์มังราย ดังเช่นใน พ.ศ. 1853 ครั้งพญามังรายทรงพระประชวรได้เสด็จมาประทับยังเวียงกุมกาม และนางชิบคำอัครมเหสีของพญาแสนภู (พ.ศ. 1855-1887) ยังโปรดเสด็จไปยังเวียงกุมกามอยู่เสมอ จนต้องมีการสร้าง “ขัวชิบคำ” เพื่อข้ามน้ำแม่โถไปยังเวียงกุมกาม และราชโอรสของพญาแสนเมืองมาซึ่งทรงพระนามว่าท้าวยี่กุมกามได้ประสูติ ณ เวียงกุมกามนี้ [17]

พ.ศ. 1913 แผ่นดินพญากือนาได้อัญเชิญพระสุมนเถระจากสุโขทัยขึ้นมาพำนักอยู่ที่วัดพระยืน เพื่อเผยแผ่ศาสนาลังกาวงศ์ ได้มีความกล่าวถึงผู้คนจากเชียงใหม่และเวียงกุมกามไปนมัสการพระสุมนเถระที่หริภุญไชย “…ฝูงคนอันอยู่ภายในกุมกามเชียงใหม่โพ้นก็ดี ฝูงคนอันมีในเมืองหริภุญไชยนี้ก็ดี เขามีใจศรัทธาแก่มหาเถรเป็นเจ้า บางคนเข้าบวชจำศีลกระทำวีระอันดีแห่งสำนักมหาเถรเป็นเจ้า…” [18]

พ.ศ. 1954 สิ้นรัชสมัยของพญาแสนเมืองมา พญาสามฝั่งแกนราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติยังนครเชียงใหม่ ในช่วงเวลานั้นเกิดข้อขัดแย้งทางธรรมวินัยระหว่างพระญาณคัมภีร์กับพระมหาสวามีอุทุมพร พระญาณคัมภีร์จึงไปหารือพระธรรมกิตติเพื่อพิจารณาความ ประจวบกับเวลานั้นอุบาสกผู้หนึ่งชื่อพิงไชย สร้างวัดบ้านลานหัวเวียงกุมกาม พระธรรมกิตติจึงให้พระญาณคัมภีร์ไปอยู่ยังวัดบ้านลานใน พ.ศ. 1965 [19]

ใน พ.ศ. 1975 พระภิกษุลังกาวงศ์ได้อุปสมบทใหม่ที่ท่าน้ำกุมกาม [20] และหลังการสร้างเวียงเจ็ดลินของพญาสามฝั่งแกนใน พ.ศ. 1981 เวียงกุมกามก็ลดบทบาทลง เนื่องจากกษัตริย์นิยมไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน รวมทั้งไม่ปรากฏชื่อเวียงกุมกามในพันนาทั้งหลายที่เกณฑ์เข้าร่วมรบศึกกับเมืองเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามหลักฐานจากเอกสารพบว่าในช่วงเวลานี้เวียงกุมกามยังคงมีชุมชนอยู่ โดยปรากฏชื่อหานสี่พันกุมกาม เข้ารบกับกองทัพของพระบรมไตรโลกนาถ และปรากฏชื่อหมื่นช้างกุมกามเป็นผู้เจรจากับชีมล่านพุกามมังลุงลว้าง ครั้งชีมล่านพุกามมังลุงลว้างเข้ามาทำลายศรีเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช [21] และการสรงน้ำดำเกล้าพระมหาพุทธพิมพ์ที่วัดเกาะกุมกามใน พ.ศ. 2060 รวมทั้งการประดิษฐานพระปฏิมาทองสัมฤทธิ์หนักประมาณ 3 ล้าน ที่วัดกุมกามทีปารามหรือวัดเกาะกุมกาม ใน พ.ศ. 2062 และการสร้างวิหารใหญ่ที่วัดกู่คำใน พ.ศ. 2066 ในแผ่นดินพระเมืองแก้ว [22]

พ.ศ. 2068 พญาเกศเชษฐราชจากเมืองน้อยขึ้นครองนครเชียงใหม่ ในครั้งนั้นบ้านเมืองเป็นจลาจล จนใน พ.ศ. 2081 ก็ถูกกลุ่มขุนนางบังคับให้สละราชสมบัติให้กลับไปครองเมืองน้อยดังเดิม ท้าวซายคำราชโอรสจึงขึ้นครองราชย์แทน แต่ในไม่ช้าก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ขุนนางจึงพร้อมกันเชิญพญาเกศขึ้นครองนครอีกครั้งแต่ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ในเวลาต่อมา

สิ้นแผ่นดินพญาเกศฯ ขุนนางทั้งหลายต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนฝ่ายของตนเอง โดยขุนนางส่วนหนึ่งต้องการให้พระไชยเชษฐากษัตริย์แห่งล้านช้างผู้เป็นราชนัดดาของพระเมืองแก้วขึ้นครองราชสมบัติ แต่บ้านเมืองในยามนั้นเป็นจลาจล พระนางจิระประภาเทวีจึงเสด็จขึ้นครองเมืองชั่วคราว อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ชาวเวียงกุมกามอาจมีกำลังไม่เพียงพอหรืออาจอพยพไปรวมกับชาวเชียงใหม่หรือลำพูน เพราะเมื่อหลังจากทัพของพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาตีเมืองลำพูนได้สำเร็จ ได้ยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่ตำบลต้นไร่เหนือกู่คำกุมกามโดยไม่พบหลักฐานว่ามีชาวเวียงกุมกามได้ร่วมกันต้านทัพกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด [23]

พ.ศ. 2089 พระไชยเชษฐาเสด็จขึ้นครองเชียงใหม่ แต่ใน พ.ศ. 2090 ก็เสด็จกลับล้านช้าง เมืองเชียงใหม่จึงว่างเว้นกษัตริย์นานถึง 4 ปี ท้าวแม่กุจึงขึ้นครองราชสมบัติ ณ นครเชียงใหม่ แต่ล้านนายามนั้นจลาจลมาก ดังนั้นเมื่อทัพของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกเข้ามาล้อมเมืองเชียงใหม่ได้เพียง 3 วัน ก็สามารถผนวกเอาเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาทั้งมวลไว้ได้ใน พ.ศ. 2101

ประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย?

ตลอดเวลาร่วม 200 ปี ที่เมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาทั้งปวงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และในช่วงเวลานี้ เรื่องราวของเวียงกุมกามก็เริ่มหายไปจากเอกสารพื้นเมือง

ในช่วงปลายของอำนาจทางการเมืองของพม่าในดินแดนล้านนา บ้านเมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้ภาวะระส่ำระสาย ผู้คนต่างพากันทิ้งบ้านเรือนหลบไปอยู่ตามป่าเขา แม้พระเจ้ากาวิละและพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีสามารถขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2317 นั้น เมืองเชียงใหม่ก็ยังขาดแคลนกำลังพลเพียงพอที่จะตั้งรักษาเมือง พระเจ้ากาวิละจึงได้ตั้งมั่นอยู่ที่เวียงป่าซางถึง 14 ปี จึงได้กลับมาตั้งมั่นฟื้นฟูบูรณะเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดีเอกสารประวัติศาสตร์กล่าวชื่อท่าวังตาลในฐานะท่าเรือคมนาคมในลำน้ำปิง ในตอนต้นสมัยพระเจ้ากาวิละ ซึ่งยอมรับกันว่าท่าวังตาลเป็นท่าเรืออยู่ในบริเวณเขตเมืองโบราณเวียงกุมกาม นั่นหมายถึงความเป็นชุมชนได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว

สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ที่เวียงกุมกามมากขึ้น โดยได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานหลายแห่ง อาทิ เจดีย์เหลี่ยมหรือกู่คำที่ปฏิสังขรณ์โดยศรัทธาของหลวงโยนการวิจิตรคหบดีชาวพม่า และเจดีย์ที่วัดกานโถม (ช้างค้ำ) ส่วนโบราณสถานอื่นๆ ก็ยังคงถูกทิ้งร้างอยู่ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ส่งผลให้โบราณสถานหลายแห่งตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของประชาชน

เรื่องราว “เวียงกุมกาม” จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานี้ หลายประเด็นยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้น-ขุดแต่งกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้ ก็นับเป็นข้อเท็จจริงอันสำคัญยิ่งที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์เวียงกุมกามจะนำไปประกอบการศึกษาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงวิชาการต่อไป

การศึกษาทางด้านปฐพีวิทยาของ “เวียงกุมกาม”

บริเวณพื้นที่ตั้งของเวียงกุมกามมีความสูงประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะภูมิสัณฐานเป็นแบบที่ราบน้ำท่วมถึง (Alluvial plain) เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทับถมของตะกอนลำน้ำในฤดูน้ำหลาก ทำให้เกิดเป็นสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเรียบ มีความลาดเทประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีแนวทิศทางการลาดเทจากด้านทิศเหนือลงสู่ทิศใต้และจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก [24] ตะกอนที่พบส่วนใหญ่จะเป็นตะกอนทรายหยาบ-ละเอียด มีดินเหนียวและทรายแป้งปะปนเล็กน้อย ซึ่งการทับถมในลักษณะนี้จะทำให้เกิดเป็นพื้นที่ราบลุ่ม (basin) เป็นแนวแคบๆ ไปตามความยาวของแม่น้ำปิง และคันดินธรรมชาติ (natural levee)

การขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณโบราณสถานหลายแห่งในเวียงกุมกามที่ผ่านมา พบว่าชั้นดินที่ปกคลุมโบราณสถานนั้น จำแนกออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1. ชั้นดินที่ทับถมอยู่เหนือตะกอนน้ำพา โครงสร้างดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาล น้ำตาลปนเทาหรือน้ำตาลเข้ม มีเศษโบราณวัตถุและอินทรียวัตถุปะปนในชั้นดิน ชั้นดินนี้ทับถมอยู่บนชั้นทรายตะกอนน้ำพา จึงเป็นชั้นดินที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากที่น้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่และมีการใช้พื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน

2. ชั้นดินตะกอนน้ำพา ส่วนใหญ่เป็นดินทราย พบตั้งแต่ทรายละเอียด-ทรายหยาบแทรกปะปนกัน ในบางแหล่งเช่นวัดอีก้างนั้น พบชั้นกรวดขนาดใหญ่ปะปนอยู่ด้วย ชั้นดินนี้เกิดจากการพัดพาของแม่น้ำปิง

3. ชั้นดินที่ทับถมอยู่ใต้ชั้นตะกอนน้ำพา ชั้นดินนี้ส่วนใหญ่เป็นดินทราย และดินร่วนปนทรายสีน้ำตาลปนเทา มักพบเศษโบราณวัตถุปะปนอยู่ด้วย ชั้นดินนี้เป็นชั้นดินร่วมสมัยกับการใช้งานของโบราณสถานภายในเวียงกุมกามจนกระทั่งถึงช่วงเวลาทิ้งร้างของเวียงกุมกามก่อนน้ำท่วมครั้งใหญ่

พ.ศ. 2546 สำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่, หจก. เฌอ กรีน และ ผศ.ชาติชาย ร่มสินธิ ได้ตรวจสอบลักษณะทางปฐพีวิทยาบริเวณแหล่งโบราณสถานวัดหนานช้าง พบว่าดินตัวอย่างเกือบทุกผนังชั้นดินมีปริมาณอินทรียวัตถุลดลงตามความลึก ยกเว้นตัวอย่างจากผนังชั้นดินด้านทิศตะวันออกของวัดหนานช้าง (บริเวณใกล้แนวพนังดิน) พบว่าปริมาณอินทรียวัตถุในชั้นดินล่างมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับสัณฐานของดินที่แสดงออกด้วยสีดินที่เข้มขึ้น ลักษณะเช่นนี้น่าจะบ่งบอกถึงการเป็นชั้นดินที่เคยมีคนอยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการพบหลักฐานกิจกรรมการหล่อโลหะที่พบบริเวณด้านหน้าซุ้มประตูโขง

ข้อมูลใหม่ใต้ตะกอนทราย

พ.ศ. 2540-2546 สำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ขุดแต่งโบราณสถานภายในเวียงกุมกามเพิ่มเติม คือ

วัดกู่ป้าด้อม

การขุดแต่งบริเวณอุโบสถใน พ.ศ. 2546 พบประติมากรรมมกรคายมังกรประดับผนังราวบันไดด้านนอกของอุโบสถ นับเป็นประติมากรรมนูนต่ำภาพแรกที่ปรากฏในศิลปะล้านนาและแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมจีนในเวียงกุมกามอย่างเด่นชัด

และพบชิ้นส่วนพระเพลาเทวดาปูนปั้น 1 ชิ้น ประทับนั่งหันด้านหลังเข้าชนกัน ลักษณะประติมากรรมเทียบเคียงได้กับภาพเทวดาปูนปั้นที่ประดับผนังวิหารเจ็ดยอด วัดมหาโพธารามที่พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1998 จึงเป็นได้ว่าเทวดาปูนปั้นที่พบนี้ ควรสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช และน่าจะมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับประติมากรรมรูปมกรคายมังกรที่พบประดับผนังด้านนอกของราวบันไดอุโบสถในวัดเดียวกัน

ประติมากรรมรูปมกรคายมังกรที่พบ เป็นปูนปั้นนูนต่ำรูปมังกรแบบจีน ส่วนหัวของมังกรติดอยู่กับผนังในตำแหน่งตัวเหงา มีมกรคายส่วนลำตัวของมังกรออกมา ลำตัวของมกรพาดทับเป็นแนวราวบันไดประดับด้วยลายกนก การศึกษาในชั้นนี้พบว่าลวดลายปูนปั้นรูปมังกรปรากฏให้เห็นอยู่ที่ซุ้มโขงในวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวงเช่นกัน [25] ที่ปลายซุ้มเป็นรูปมังกรหันหน้าออกจากกัน เอาหางพันกันขึ้นไป นอกจากนั้นยังพบที่ส่วนของนาคฑันต์ไม้สลักทำเป็นรูปตัวลวงของวิหารที่มีการสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 24 ตัวลวงก็หมดความนิยมลงและมีการสร้างรูปพญานาคขึ้นมาแทนที่

ประติมากรรม โบราณวัตถุ ที่ค้นพบ ใน เวียงกุมกาม
(ซ้าย) ประติมากรรมรูปมกรคายมังกร ประดับผนังด้านนอกราวบันไดอุโบสถ วัดกู่ป้าด้อม, (ขวา) ต้า หมิง วัน ลี่ อักษรจีน 6 ตัว ที่ก้นด้านนอกเครื่องถ้วยจีน ค้นพบที่วัดหนานช้าง

มังกร เป็นสัตว์เทพเจ้าตามความเชื่อของจีน เกิดจากการนำเอาส่วนต่างๆ ของสัตว์ 5 ชนิดมาผสมกัน คือเขากวาง หัววัว ลำตัวงูที่ตกแต่งด้วยเกล็ดปลา เท้าแบบเหยี่ยว ตามคติจีนเปรียบมังกรเหมือนจักรพรรดิ โดยเฉพาะมังกร 5 เล็บ ถือเป็นสัญลักษณ์ขององค์จักรพรรดิ เช่นเดียวกับหงส์ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ขององค์จักรพรรดินี ผู้ใดจะนำไปใช้มิได้

ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับจีนนั้น เริ่มปรากฏร่องรอยตั้งแต่ก่อนพญามังรายผนวกอาณาจักรหริภุญไชย และเพิ่มบทบาทความสัมพันธ์ยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ดังปรากฏหลักฐานในหมิงสือลู่ว่า พ.ศ. 1917 จีนเริ่มให้ความสนใจป่าไป่ซีฟู่อีกครั้ง และใน พ.ศ. 1931 ป่าไป่ซีฟู่ได้ส่งบรรณาการไปยังจีน [26] ทั้งนี้โดยได้พบร่องรอยที่สอดคล้องกันในตำนานพื้นเมืองหลายฉบับที่ระบุตรงกันว่าครั้งพญาสามฝั่งแกนครองเมืองเชียงใหม่ ได้มีการยกเลิกบรรณาการที่ส่งให้กับจีน จึงเป็นมูลเหตุให้จีนยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนใน พ.ศ. 1945 และ 1948 [27]

วัดหนานช้าง

การขุดแต่งโบราณสถานวัดหนานช้างในระหว่างวันที่ 25 และ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ได้กลุ่มเครื่องถ้วยจีน 2 กลุ่ม จำนวนรวม 55 ใบ

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มจานขนาดเล็กเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบจำนวน 8 ใบ สภาพสมบูรณ์จำแนกลวดลายที่ตกแต่งได้ 2 กลุ่ม คือลายสวนหิน 4 ใบ และลายหงส์แบบจีน 4 ใบ พบวางตะแคงเรียงซ้อนกันในชั้นทรายตะกอนน้ำพาบริเวณพื้นที่ลาดด้านทิศตะวันตกของพนังดินหน้าวัดหนานช้าง ระดับล่างของชั้นดินนี้มีเศษถ่านและอินทรียวัตถุอื่นๆ ปะปนอยู่จำนวนหนึ่ง จากลักษณะและตำแหน่งของกลุ่มจานที่พบวางเรียงตะแคงซ้อนกันเป็นกลุ่ม แสดงว่ากลุ่มจานเหล่านี้ถูกมัดหรือบรรจุในลังไม้และอาจไหลลงมาจากบนยอดพนังดินซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากในตำแหน่งใกล้เคียงได้พบร่องรอยของบ่อน้ำสร้างอยู่ในแนวพนังดินด้วย

กลุ่มที่ 2 พบบรรจุอยู่ในไหเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาลถูกขุดฝังอยู่ใต้ชั้นดินทับถมพังทลายใต้ชั้นตะกอนทรายที่ทับถมกันหนาประมาณ 1.30-1.50 เมตร มีการวางเรียงอิฐกั้นระหว่างลำตัวไหและทรายบริเวณรอบๆ ปากไหปิดทับด้วยถาดสัมฤทธิ์และมีก้อนอิฐปิดทับ 3 ก้อน ภายในไหบรรจุเครื่องถ้วยจีนและเครื่องใช้สัมฤทธิ์รวม 51 รายการ เครื่องถ้วยเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พบทั้งประเภทเขียนลายด้วยสีน้ำเงินใต้เคลือบและลายเขียนด้วยสีเหลือง แดง เขียว ฟ้า และน้ำตาลเป็นรูปสัตว์และพรรณพฤกษาต่างๆ หลายชิ้นมีอักษรจีนจารึกใต้ก้น และ 1 ในจำนวนนี้ มีหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นความสำคัญของบุคคลเป็นเจ้าของเครื่องถ้วยจีนกลุ่มนี้ และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและจีนที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารพื้นเมืองล้านนาฉบับใดๆ

เครื่องถ้วยจีนดังกล่าว เป็นจานลายคราม ที่ก้นด้านในเขียนลายหงส์แบบจีน 2 ตัว ลำตัวด้านนอกเขียนลายหงส์แบบจีน 1 ตัวและลวดลายพรรณพฤกษา ใต้ก้นด้านนอกเขียนอักษรจีน 6 ตัว เขียนเรียงกันในแนวตั้ง 2 แถว ความว่า “ต้า หมิง วัน ลี่” ระบุว่าจานใบนี้ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าวั่นลี่แห่งราชวงศ์หมิงซึ่งครองราชย์ในประเทศจีนในช่วง พ.ศ. 2116-2162

ความสำคัญของจานใบนี้คือเป็นภาชนะที่ผลิตขึ้นในเตาหลวงภายใต้พระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าวั่นลี่เพื่อใช้เป็นเครื่องต้นสำหรับพระจักรพรรดิและมเหสี หรือเพื่อพระราชทานแก่พระมหากษัตริย์ของดินแดนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและได้รับการยอมรับในพระราชอำนาจจากจักรพรรดิจีนเท่านั้น ไม่ใช่ภาชนะของบุคคลทั่วไป [28] และหากเป็นการได้มาโดยเป็นของตอบแทนบรรณาการแล้ว เครื่องถ้วยชิ้นนี้ ย่อมเข้ามาสู่ล้านนาโดยการพระราชทานของพระเจ้าวั่นลี่ในช่วงเวลาที่พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิของประเทศจีน

เครื่องถ้วยจีน วัดหนานช้าง
เครื่องถ้วยจีนแบบต่างๆ ค้นพบที่วัดหนานช้าง

ไขปริศนาเครื่องถ้วยจีน

ลักษณะการฝังไหซึ่งบรรจุกลุ่มภาชนะเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หมิง พบว่าอยู่ในชั้นดินที่ต่ำกว่าระดับฐานรากของอาคารโบราณสถานวัดหนานช้าง 20-30 ซม. และมีซากปรักหักพังของอิฐปะปนอยู่ในชั้นดินตอนบนใต้ชั้นตะกอนทรายโดยไม่พบร่องรอยการขุดลงมาจากชั้นดินตอนบน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการฝังเพื่อต้องการซุกซ่อนสมบัติเหล่านี้

หากลำดับเวลาของการปรากฏของเครื่องถ้วยชิ้นหนึ่งที่มีพระนามของจักรพรรดิวั่นลี่ ผู้ครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2116-2162 กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินล้านนา พบว่าเป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะวุ่นวายมีการแย่งชิงอำนาจทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะในช่วงหลังสมัยของพระนางวิสุทธิเทวีเชื้อสายของราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายในปี พ.ศ. 2120 พม่าได้แต่งตั้งมังนรธาช่อขึ้นปกครองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2102-2150) ในช่วงนี้เกิดการจลาจลเนื่องจากการแย่งอำนาจของกลุ่มการเมืองในพม่า ทำให้ขุนนางพม่าที่ปกครองล้านนาต่างแย่งชิงอำนาจกันด้วย และใน พ.ศ. 2141 ทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกขึ้นมาตีบ้านเมืองรายรอบเมืองเชียงใหม่ได้ [29] ต่อมา ใน พ.ศ. 2174 เจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกจับไปหงสาวดี [30]

ดังนั้นเจตนารมณ์ของการฝังซ่อนสมบัติที่วัดหนานช้าง อาจมีสาเหตุมาจากความวุ่นวายของบ้านเมืองในช่วงนั้น และหากนำมาเชื่อมโยงกับเหตุกาณ์ทางธรรมชาติที่พื้นเมืองเชียงแสนระบุถึงการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2200 ความว่า “…สกพทได้ 1019 ปีเมิงเร้า (พ.ศ. 2200) น้ำท่วมเมืองชุแห่ง พระแสนเมือง ได้เป็นเจ้าฟ้าแล้ว มานั่งเมืองแล…”[31] สอดคล้องกับพงศาวดารโยนกที่ระบุว่า “…ลุศักราช 1019 ปีระกา นพศก บังเกิดน้ำเหนือหลากมามาก ท่วมเมืองทุกแห่ง พระแสนเมือง ได้กลับจากกรุงอังวะในปีนั้น…” [32] ทำให้แปลความได้ว่า เครื่องถ้วยจีนกลุ่มนี้ถูกฝังก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใน พ.ศ. 2200 จนถึงสมัยพระยาสุลวฤาไชย (หนานทิพย์ช้าง) เหตุการณ์เกี่ยวกับเชียงใหม่ได้ถูกจดบันทึกเพียงข้อความสั้นๆ และไม่ปรากฏชื่อของเวียงกุมกามในบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่ก่อการจลาจลหลังการทิวงคตของพระยาสุลวฤาไชยใน พ.ศ. 2302 ทั้งที่เอกสารดังกล่าวระบุชื่อเมืองต่างๆ ที่ก่อการจลาจลมากมายไม่เว้นแม้แต่ชุมชนขนาดเล็ก เช่น สะปุง และร้องจี่ “…ยามนั้น บ้านเมืองทั้งมวลข้ำเขือกเยือกไหวไผเมืองมัน ชิงกันเป็นเจ้าเป็นนาย เกิดเป็นโกลาหลชุแห่ง ลำพูน เชียงใหม่ บ้านสัน วังพร้าว ทะกาน หนองหล้อง ร้องจี่ จอมทอง สะปุง ป่าซาง บ้านเหนือรบบ้านใต้ บ้านใต้รบบ้านเหนือ เป็นเสี้ยนศึกฆ่าฟันกัน…” [33] อย่างน้อยแสดงว่า ความเป็นบ้านเมืองของกุมกามไม่ปรากฏแล้วตั้งแต่ตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 24

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งจากการขุดแต่งบริเวณด้านทิศตะวันออกของวัดพระเจ้าองค์ดำ วัดพญามังราย และวัดหนานช้างซึ่งเป็นแนวที่อยู่ถัดแนวปิงห่างมาทางตะวันตก พบแนวพนังดินทอดยาวจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ใต้แนวพนังดินดังกล่าวพบโกลนดินของพระพุทธรูปหลายชิ้น บางชิ้นแสดงลักษณะพระอุระอวบอ้วนแบบล้านนา และบางชิ้นเป็นโกลนดินพระพุทธรูปทรงเครื่องโดยยังคงปรากฏร่องรอยของมงกุฎบนพระเกศา [34]

การศึกษาของศักดิ์ชัย สายสิงห์ [35] พบว่า พระพุทธรูปทรงเครื่องในล้านนานั้น น่าจะเริ่มสร้างในช่วงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช โดยน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาพเทวดาปูนปั้นที่ประดับผนังวิหารวัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอดที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่กระทำอัฐฐมสังคายนาใน พ.ศ. 1998 การพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยในครั้งนี้ นับเป็นหลักฐานประการสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าแนวคันดินดังกล่าวนั้น ควรสร้างขึ้นในช่วงหลัง พ.ศ. 1998 และน่าจะเป็นการสร้างขึ้นหลังการสร้างวัดหนานช้างเพื่อใช้เป็นพนังดินที่ช่วยแก้ปัญหาการไหลบ่าของน้ำปิงห่าง

กรณีของปิงห่าง มีรายงานความก้าวหน้าการศึกษาตะกอนวิทยาของร่องน้ำที่เชื่อว่าเคยเป็นแม่น้ำปิงนั้น พบว่าเป็นเพียงร่องน้ำที่เกิดจากการขุดลอกเพื่อชักน้ำเข้ามาใช้ประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอผลการศึกษา ซึ่งจะเป็นประเด็นให้เกิดการเสวนากันได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

สรุปเรื่อง “เวียงกุมกาม”

จากการดำเนินงานทางโบราณคดีใน เวียงกุมกาม ที่ผ่านมา สรุปผลความก้าวหน้าได้ดังนี้

1. พญามังรายสร้างเวียงกุมกามขึ้นในบริเวณชุมชนในวัฒนธรรมหริภุญไชย

2. ศักราชในการสร้างเวียงกุมกาม ยังหาข้อสรุปไม่ได้

3. การพบประติมากรรมปูนปั้นรูปมกรคายมังกร เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของอาณาจักรล้านนาและจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ที่เด่นชัด

4. กลุ่มเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงกลุ่มที่ 2 พบในไหที่ฝังอยู่ในบริเวณวัดหนานช้าง เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2116 และก่อน พ.ศ. 2200

5. การฝังเครื่องถ้วยจีนกลุ่มที่ 2 อยู่ในช่วงการจลาจลของบ้านเมือง และเป็นการฝังก่อนการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่

6. จากลักษณะชั้นดินทับถมปนเศษโบราณวัตถุหนาแน่น และการขุดฝังไหภาชนะในชั้นดินดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าวัดหนานช้างกลายเป็นวัดร้างในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 23 เพราะไม่พบโบราณวัตถุสมัยหลังๆ บนชั้นดินตอนบน

7. การทิ้งร้างของวัดหนานช้าง จะรวมถึงการทิ้งร้างของเวียงกุมกามด้วยหรือไม่นั้น ต้องรอผลการขุดแต่งโบราณสถานอื่นๆ อีก เพราะลักษณะการถูกทับถมโดนตะกอนทรายหนาประมาณ 1.5 เมตร นอกจากที่วัดหนานช้างแล้ว ได้พบที่วัดกู่ป้าด้อมและวัดโบสถ์ที่อยู่ค่อนมาทางทิศตะวันตกของเมือง ส่วนโบราณสถานอื่นๆ มีการทับถมของตะกอนทรายเพียง 0.5-1 เมตร เท่านั้น โบราณสถานเหล่านี้อาจมีการใช้ประโยชน์ภายหลังมหาอุทกภัยก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ใช้เอกสารต้นฉบับหลักจากวัดพระงาม ซึ่งจารขึ้นเมื่อ พ.. 2397 ส่วนตำนาน 15 ราชวงศ์นั้น รศ.สมหมาย เปรมจิตต์ ใช้ต้นฉบับจากวัดเมธังกรวาส ซึ่งจารขึ้นใน พ.. 2432 ในการสอบชำระ

[2] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี หน้า 26 และตำนาน 15 ราชวงศ์ หน้า 25

[3] สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. 2537, หน้า 33-34.

[4] จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. ประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม. เอกสารอัดสำเนา. 2545, หน้า 4 อ้างจาก วินัย พงศ์ศรีเพียร. ป่าไป่ซีฟู่ป่าไป่ต้าเตี้ยน เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน, 2539), หน้า 160.

[5] วินัย พงศ์ศรีเพียร. เรื่องเดียวกัน. หน้า 7.

[6] จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. เรื่องเดียวกัน. หน้า 4.

[7] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี หน้า 26, ส่วนพงศาวดารโยนก หน้า 259 เรียกแม่แช่ว, ตำนาน 15 ราชวงศ์ เรียกเวียงแซ่ว, ตำนานมูลศาสนา หน้า 186 เรียกเมืองเซ่

[8] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี หน้า 26

[9] อ้างแล้ว หน้า 26 และ 88

[10] สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานการขุดแต่งและปรับสภาพภูมิทัศน์โบราณสถานวัดเกาะกลาง .ลำพูน. 2542, หน้า 6.

[11] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. หน้า 20.

[12] พงศาวดารโยนก หน้า 260 และชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 102

[13] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี หน้า 25-26, ตำนาน 15 ราชวงศ์ เล่ม 1 ผูก 1-2 หน้า 71

[14] พงศาวดารโยนก. 2516, หน้า 259.

[15] พงศาวดารโยนก หน้า 263-264, และตำนาน 15 ราชวงศ์ เล่ม 1 ผูก 1-2 หน้า 83

[16] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า 33

[17] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า 46 และตำนาน 15 ราชวงศ์ เล่ม 2 ผูก 3-4 หน้า 9

[18] ประชุมศิลาจารึกภาค 3 หน้า 138

[19] ดร.ประเสริฐ ณ นคร. ตำนานมูลศาสนาเชียงราย เชียงใหม่ เชียงตุง. 2537, หน้า 170.

[20] รศ.สรัสวดี อ๋องสกุล, 2537 อ้างจาก สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์, ผู้ปริวรรต. คลองเจือพญากือนา. หน้า 50.

[21] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี หน้า 61-75

[22] ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 142-161

[23] พงศาวดารโยนก หน้า 283-284 และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า 89

[24] หจก. เชียงใหม่นรินทร์กรุ๊ป. รายงานการสำรวจแผนผังบริเวณเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่. 2546.

[25] หจก. ช่อฟ้าก่อสร้าง. ายงานการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถานวัดกู่ป้าด้อม. 2546, หน้า 29.

[26] วินัย พงศ์ศรีเพียร. เรื่องเดียวกัน. หน้า 95.

[27] สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานการขุดปรับขุดแต่ง ออกแบบเพื่อการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เมืองเชียงแสน. 2543, หน้า 9-13.

[28] ข้อมูลจากการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ ณัฐภัทร จันทวิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยจีน สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547

[29] พงศาวดารโยนก หน้า 406

[30] สรัสวดี อ๋องสกุล. พื้นเชียงแสน. เอกสารอัดสำเนา. หน้า 55.

[31] สรัสวดี อ๋องสกุล. เรื่องเดียวกัน. หน้า 121.

[32] พระยาประชากิจกรจักร์. พงศาวดารโยนก. หน้า 410.

[33] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า 89

[34] หจก. เฌอ กรีน. รายงานการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถานวัดหนานช้าง. 2546, หน้า 263.

[35] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา. 2532, หน้า 104.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2560