ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2539 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
เชื่อกันมาโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ชากังราว เป็นชื่อเดิมของกำแพงเพชร บทความนี้เป็นการศึกษาทบทวนให้ทราบว่า ความเชื่อเช่นนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีเหตุผลหรือหลักฐานอะไรที่คิดเช่นนั้น และมีหลักฐานหรือแนวคิดใหม่อย่างไรขึ้นมาบ้างหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้
เมืองชากังราวในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว) เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1913-1931) มีเรื่องราวกล่าวถึงอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (และฉบับอื่นๆ) อยู่ไม่มากนัก และกล่าวอย่างสั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำสงครามกับเมืองต่างๆ ดังจะได้ยกมากล่าวให้เห็นภาพทั้งหมดดังนี้
พ.ศ. 1913 เสวยราชสมบัติ ปีถัดมา พ.ศ. 1914 เสด็จไปแคว้นสุโขทัยและได้ดินแดนสุโขทัยทั้งหมด ปีถัดมา พ.ศ. 1915 ยึดได้เมืองพังค่าและเมืองแสงเชรา (ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใดแน่ แต่น่าจะแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก) ปีถัดมา
“ศักราช 735 ฉลูศก (พ.ศ. 1916) เสดจไปเมิองซากังราว แลพญาไสแก้ว แลพญาคำแหงเจ้าเมืองซากังราวออกต่อรบท่านๆ ได้ตัวพญาไสแก้วตาย แลพญาคำแหง แลพลท้งปวงหนีเข้าเมิองได้ แลทับหลวงเสดจกลับคืนมา”
ปีถัดมา พ.ศ. 1917 สถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ปีถัดมา พ.ศ. 1918 เข้ายึดเมืองพิษณุโลกได้ กวาดต้อนเจ้าเมืองกับครัวเรือนชาวพิษณุโลกได้มาก ปีถัดมา
“ศักราช 738 มโรงศก (พ.ศ. 1919) เสดจไปเอาเมิองซากังราว เล่า ครั้งนั้นพญาคำแหงแลท้าวผาคอง คิดด้วยกันว่าจยอทับหลวง แลจทำหมีได้ แลท้าวผ่าคองเลิกทับหนี แลจึ่งเสดจยกทับหลวงตาม แลท้าวผาคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพญาแล เสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทับหลวงเสดจกลับคืน”
อีกสองปีต่อมา
“ศักราช 740 มเมิยศก (พ.ศ. 1921) เสดจไปเอาเมิองซากังราว เล่า ครั้นมหาธรรมราชาออกรบทับหลวงเปนสามารถ แลเหนว่าจต่อด้วยทับหลวงก็ได้ จึ่งมหาธรรมราชาออกถวายบังคม”
อีกแปดปีต่อมา (พ.ศ. 1929) ยกทัพจะไปเชียงใหม่ แต่ตีเมืองลำปางไม่ได้จึงเสด็จกลับ และอีกสองปีต่อมา
“ศักราช 750 ฉลูศก (พ.ศ. 1931) เสดจไปเอาเมิองซากังราว เล่า….” การเสด็จไปครั้งนี้ได้ประชวรและสวรรคตระหว่างทาง”
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้ดินแดนสุโขทัยทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีเมืองใดที่คิดจะต่อต้านพระองค์ โดยเฉพาะจากเมืองสำคัญอย่างเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองแคว้น คงมีเมืองสองแควกับเมืองชากังราวเท่านั้นที่คิดต่อต้าน แต่เมื่อพระองค์ยกกองทัพขึ้นมาปราบปรามและจับตัวเจ้าเมืองสองแควกับครอบครัวไปได้ ก็ไม่ปรากฏการเป็นปฏิปักษ์จากเมืองสองแควอีก เหลือแต่เมืองชากังราวที่มีเจ้าเมืองชื่อพระยาคำแหงเท่านั้น ที่พระองค์ต้องยกกองทัพมาทำสงครามด้วยถึง 4 ครั้ง
สองครั้งแรกยึดเมืองไม่สำเร็จ พระยาคำแหงยังคงมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะครั้งที่สองนั้น พระยาคำแหงได้พันธมิตร คือพระยาผากองแห่งเมืองน่านมาช่วยรบด้วย ครั้งที่สาม พ.ศ. 1921 ปรากฏชื่อผู้ที่รบป้องกันเมืองชากังราวคือ มหาธรรมราชา ครั้งนี้ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฯ กล่าวว่า พระมหาธรรมราชาสู้รบด้วยเป็นสามารถ แต่เห็นทีจะสู้ไม่ได้จึงออกมาถวายบังคม
อย่างไรก็ดี ต่อมา พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยังคงต้องเสด็จยกทัพไปรบกับเมืองชากังราวอีก แต่ครั้งนี้ทรงประชวรจึงเสด็จยกกองทัพกลับคืน และสวรรคตในระหว่างทาง
ชากังราว ไม่เคยยอมแพ้ใคร
มีข้อน่าสังเกตว่า ลักษณะการทำสงครามของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ตามที่มีการบรรยายอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฯ นั้น เป็นการทำสงครามเฉพาะกับเมืองที่ต่อต้านพระองค์เท่านั้น หาใช่เป็นสงครามกับแคว้นสุโขทัยทั้งแคว้นไม่ เพราะในช่วงเวลานี้ สุโขทัยมิได้มีเอกภาพทางการปกครองเหลืออยู่ เมืองทั้งหลายในเครือข่ายต่างยอมอยู่ใต้อำนาจสมเด็จพระบรมราชาธิราชเกือบหมดสิ้นแล้ว คงมีพระยาคำแหงแห่งเมืองชากังราว ผู้น่าจะเป็นเจ้าเมืองที่มีไพร่พลมากและกล้าแข็งที่สุด จึงต่อต้านกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้
และในครั้งที่สามก็น่าจะเป็นไปได้ที่พระยาคำแหงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่เมืองชากังราว เพื่อแสดงอำนาจที่ยังคงความเป็นอิสระอยู่ส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัยเดิม
นอกจากนี้ สำนวนในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวอย่างรวบรัดว่า “…มหาธรรมราชาออกถวายบังคม” โดยจบความลงเพียงเท่านี้ จะหมายถึงพระมหาธรรมราชายอมรับความพ่ายแพ้โดยการออกมาถวายบังคมจริงหรือไม่ เหตุที่ได้ตั้งเป็นข้อสงสัยเพราะได้พบการใช้สำนวนเช่นนี้อีก เมื่อกล่าวถึงการทำสงครามครั้งต่อมากับแคว้นล้านนา ดังจะได้นำมาเสนอดังนี้
“ศักราช 748 ขานศก (พ.ศ. 1929) เสดจไปเอาเมิองเชียงใหม่ แลให้เข้า ปล้นเมิองนครลำภางมีได้ จึ่งแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภางๆ นั้น จึ่งออกมาถวายบังคม แลทับหลวงเสดจกลับคืน”
จากข้อความที่ยกมาเสนอข้างต้นมีความชัดเจนว่า ที่กล่าวว่าเจ้าเมืองลำปางออกมาถวายบังคมนั้น มิใช่เป็นการอ่อนน้อมเนื่องจากการพ่ายแพ้สงคราม แต่เป็นไปได้ว่า สำนวนนี้น่าจะหมายถึง เมื่อการรบไม่แพ้ชนะต่อกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงออกมาเจรจาความเพื่อยุติสงครามเลิกแล้วต่อกันมากกว่า แต่เพื่อเป็นการถวายเกียรติยศแด่กษัตริย์ฝ่ายตน ผู้จดบันทึกหรือเรียบเรียงพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฯ จึงได้ใช้สำนวนดังกล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นการแน่นอนว่า ที่มหาธรรมราชาเมืองชากังราวออกถวายบังคมนั้น จะหมายถึงการยอมแพ้ในการทำสงครามครั้งนั้น ดังนั้น จึงได้พบว่าต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยังคงต้องยกทัพเพื่อทำสงครามกับเมืองชากังราวอีก แต่ก็ต้องสวรรคตเสียก่อน จึงเป็นอันว่าในรัชกาลนี้ยังเหลือ ชากังราว อีกเมืองเดียวในแคว้นสุโขทัย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยังทรงปราบไม่สำเร็จ
ในรัชกาลของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาต่อมาคือ สมเด็จพระราเมศวรกับสมเด็จพระรามราชาธิราช เชื้อสายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) สมเด็จพระนครินทราชาธิราช เชื้อสายของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โอรสของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาไม่กล่าวถึงเมืองชากังราวอีกเลย แต่ก็ควรที่จะเป็นช่วงเวลานี้ ที่เมืองชากังราวได้ยุติการเป็นปฏิปักษ์กับกรุงศรีอยุธยา และเข้ารวมเป็นกลุ่มเมืองเหนือของราชอาณาจักรศรีอยุธยาอย่างถาวร
ความเชื่อเรื่อง ชากังราว เป็นชื่อเก่าของเมืองกำแพงเพชร
หลังจากช่วงเวลานี้ มีพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เพียงฉบับเดียว ที่กล่าวถึงเมืองชากังราวอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้าย ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นโอรสของสมเด็จเจ้าสามพระยา โดยกล่าวว่า
“ศักราช 813 มแมศก (พ.ศ. 1994) ครั้งนั้น มหาราชมาเอาเมิองชากังราวได้แล้ว จึงมาเอาเมืองศุกโขไท เข้าปล้นเมืองมีได้ กเลิกทับกลับคืน”
มหาราชที่กล่าวถึงนี้คือพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่พระองค์ทรงรวบรวมเมืองแพร่และเมืองน่านเข้าไว้ในแคว้นล้านนาได้แล้ว ทำให้ล้านนามีเขตแดนประชิดกับดินแดนของอาณาจักรอยุธยาทางลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ดินแดนของอาณาจักรอยุธยาส่วนนี้คือส่วนที่เป็นกลุ่มเมืองเหนือที่ในอดีตคือแคว้นสุโขทัยนั่นเอง
การยึดได้เมืองชากังราวในครั้งนี้ก็คือ สงครามครั้งแรกในการแย่งชิงดินแดนที่เคยเป็นแคว้นสุโขทัยเดิม ระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเพื่อการปกป้องดินแดนแห่งนี้
การสงครามของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้เป็นสงครามที่ยาวนาน กินเวลาเกือบตลอดช่วงรัชกาลของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ผู้ซึ่งสวรรคตในเวลาใกล้เคียงกัน คือ พระเจ้าติโลกราชสวรรคต พ.ศ. 2030 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2031 การสงครามในครั้งนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เกิดงานวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย ที่มีฉบับคัดลอกตกทอดมาให้ได้ศึกษากันในปัจจุบัน
เรื่องเมืองชากังราวตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเห็นว่า ต้องเป็นเมืองใหญ่มีพลเมืองมากเมืองหนึ่งของแคว้นสุโขทัยแต่เดิม แต่ก็น่าแปลกใจว่า หลังจากปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ในเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1994 แล้ว กลับไม่ปรากฏชื่อเมืองนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับใดอีกเลย
และในทางตรงกันข้าม ชื่อเมืองกำแพงเพชรซึ่งไม่เคยมีเรื่องราวปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับใดมาก่อนเลย ก็กลับมีชื่อปรากฏเรื่องราวขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากที่ชื่อเมืองชากังราวได้หายไปจากพระราชพงศาวดาร
เมืองชากังราวมิได้หายไปไหนแน่นอน แต่ต้องได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น กำแพงเพชรจึงเป็นเมืองที่ได้รับการสนใจเป็นอย่างมากจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าควรเป็นชื่อใหม่ของเมืองชากังราว จึงได้ทรงหาหลักฐานและเหตุผลเพื่อมาอธิบายข้อสมมุติฐานของพระองค์ การศึกษาของพระองค์ในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์คำอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ดังความตอนหนึ่งมีว่า
“ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแผนที่เข้ากับเรื่องที่มีมาในพระราชพงศาวดาร เห็นว่าเมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่นนอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้”
ข้อความข้างต้น เป็นการแสดงวิธีการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า การที่ทรงมีความเห็นเช่นนั้นเป็นการพิจารณาจากเนื้อหาในพระราชพงศาวดารโดยตรวจสอบกับสภาพความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์
นอกจากนี้ยังได้ทรงแสดงรายละเอียดในพระราชวินิจฉัยว่า ได้ทรงพบชื่อเมืองชากังราวในเอกสารอื่น คือในหนังสือกฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักพา ได้กล่าวถึงชื่อเมือง “ชาวดงราวกำแพงเพชร” ไว้คู่กัน ซึ่งพระองค์ทรงมีความเห็นว่า เป็นการนำชื่อเก่าคือ ชากังราว ซึ่งคัดลอกผิดเป็นชาวดงราว มาเรียกรวมกันกับชื่อใหม่คือกำแพงเพชร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงตรวจสอบที่เมืองกำแพงเพชรและบริเวณใกล้เคียง ทรงวินิจฉัยว่า บนฝั่งแม่น้ำปิงเดียวกันกับเมืองกำแพงเพชรนอกเมืองออกไปทางทิศเหนือ มีกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่กลุ่มหนึ่งนั้นคือเมืองนครชุม ตามที่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักหนึ่ง (คือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ศิลาจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม) ว่า พระมหาธรรมราชาลิไท ได้ทรงนำพระศรีรัตนมหาธาตุมาสถาปนาไว้ที่เมืองนครชุมเมื่อ พ.ศ. 1900 ส่วนที่บนฝั่งแม่น้ำปิงตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชรที่ปากคลองสวนหมาก มีร่องรอยของคูเมืองกำแพงเมืองเป็นคันดิน ภายในเมืองมีวัดมหาธาตุอยู่ด้วยนั้น ทรงวินิจฉัยว่าเป็นเมืองชากังราว
แต่ต่อมาภายหลังเมื่อได้เสด็จไปเมืองกำแพงเพชรอีก ได้ทรงสอบสวนที่มาของศิลาจารึกนครชุมซึ่งครั้งแรกทราบแต่เพียงว่า ได้มาจากวัดเสด็จซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเดียวกันกับเมืองกำแพงเพชร ครั้งนี้ได้ความจากคำบอกเล่าว่า ศิลาจารึกถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดมหาธาตุที่ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณปากคลองสวนหมาก บนฝั่งแม่น้ำปิงตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชรที่ทรงวินิจฉัยในครั้งแรกว่าเป็นเมืองชากังราวนั่นเอง
คราวนี้พระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่ที่ได้รับการระบุว่าเคยเป็นที่ตั้งของศิลาจารึกหลักนี้ และได้สำรวจพบว่า แท่นฐานของศิลาจารึกนครชุมยังคงอยู่ที่เดิม ทรงตรวจสอบวัดขนาดของรูบนแท่นฐานกับขนาดของเดือยของศิลาจารึก จนแน่พระทัยว่า ศิลาจารึกนครชุมได้เคยปักอยู่บนแท่นฐานนี้จริง จึงทรงแน่พระทัยว่าเมืองโบราณแห่งนี้คือเมืองนครชุม ดังปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์คำอธิบายหนังสือเรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า
เมืองนครชุมที่ในศิลาจารึกเขียนว่า นคระชุ นั้น “…เมืองนี้เป็นเมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง หลักเมืองกำแพงเพชรออกไปทางตะวันออกที่มีวัดสร้างไว้มากนั้น เป็นอรัญญิกมิใช่เมือง”
อาจสรุปความสำหรับตอนนี้ได้ว่า หลังจากที่ได้ทรงตรวจสอบหลักฐานที่มาของจารึกเมืองนครชุมแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเปลี่ยนพระทัยใหม่ว่าเมืองนครชุมควรเป็นเมืองโบราณที่อยู่ปากคลองสวนหมาก คือเมืองนครชุมที่รู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง ชื่อบ้านนครชุมที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ล้วนมีที่มาจากการวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์ของพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์มิได้เปลี่ยนพระทัยเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองชากังราว ยังทรงยืนความคิดเดิมว่าเป็นที่เดียวกันกับที่ตั้งเมืองนครชุม คือเป็นชื่อเก่าของเมืองนครชุม
ความคิดใหม่เกี่ยวกับที่ตั้งเมืองชากังราว
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องเมืองชากังราวไปแล้ว ก็ไม่เคยมีผู้ใดที่จะคิดตรวจสอบความเป็นไปได้ หรือขยายผลการศึกษาต่อไป ดังนั้น ปัจจุบันจึงกลายเป็นความเชื่อซึ่งบางครั้งก็ไม่ทราบที่มา โดยเชื่อว่าเมืองกำแพงเพชรมีชื่อเดิมว่าเมืองชากังราว ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากพิจารณาผลสรุปของการศึกษาของพระองค์ท่านในเรื่องนี้ก็จะเป็นว่า เมืองชากังราวเป็นชื่อเก่าของเมืองนครชุม และภายหลังต่อมาได้ข้ามฟากแม่น้ำปิงมาสร้างเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่
คงมีแต่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เท่านั้นที่พยายามค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองชากังราว โดยท่านได้นำเสนอหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเมืองชากังราวอยู่ด้วย คือจารึกหลักที่ 8 ศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฏ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งกล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทว่า หลังจากที่เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองสองแคว 7 ปี พระองค์ได้เสด็จกลับมายังเมืองสุโขทัยอีก (ประมาณ พ.ศ. 1911-2) และได้ทรงขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ได้เคยนำขึ้นไปประดิษฐานไว้บนเขาสุมนกูฏ ครั้งนั้น มีไพร่พล บริวารจากเมืองต่างๆ ตามเสด็จขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทด้วย ศิลาจารึกได้ระบุชื่อของเมืองต่างๆ ไว้ดังนี้
“…มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม เบื้องใ…เมืองพาน เมือง…เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจายเป็นบริวาร…”
สำหรับศิลาจารึกที่มีชื่อเมืองชากังราวหลักนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การนำเสนอส่วนข้อความโดยวิธีการปริวรรตตัวอักษรจากอักษรโบราณเป็นอักษรปัจจุบันนั้น ปริวรรตออกมาเป็น “ชากนราว” และเมื่อตรวจสอบกับหลักศิลาจารึกตัวจริงพบว่า ตัวอักษรที่ตรงนี้มิได้ลบเลือน หากแต่เห็นตัวอักษรจารึกว่า “ชากนราว” อย่างชัดเจน แต่เมื่อนำเสนอในส่วนที่เป็นคำอ่านได้ใช้คำอ่านว่า “ชากังราว” โดยมิได้ทำเชิงอรรถชี้แจงแต่ประการใด แสดงว่าคณะกรรมการจัดทำหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 เล่มนี้ มีความมั่นใจอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ชากนราวกับชากังราว คือชื่อเมืองชื่อเดียวกันนั่นเอง
ถ้าหากมีความมั่นใจเช่นนี้ ศิลาจารึกหลักนี้จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ปฏิเสธข้อวินิจฉัย ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า ชากังราวเป็นชื่อเก่าของเมืองนครชุม เพราะศิลาจารึกได้แสดงความหมายระบุว่า เมืองชากัง (กน) ราว กับเมืองนครชุม (นครพระชุม) เป็นคนละเมืองกัน
จากหนังสือ ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยฯ ของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มิได้ยืนยันว่าชื่อเมืองชากนราวในศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฏ จะเป็นชื่อเดียวกับชื่อเมืองชากังราวในหนังสือพระราชพงศาวดารหรือไม่ เพราะในบทความเรื่อง “หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย” ในหนังสือของท่านเล่มดังกล่าวนั้น ท่านใช้คำว่าชากันราวโดยตลอด (โดยปริวรรตต่างกับที่นำเสนอในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 ซึ่งปริวรรตว่า ชากนราว)
แต่อย่างไรก็ดี ที่แผนภูมิแสดงที่ตั้งเมืองสระหลวงและสองแคว ในบทความเดียวกันได้ใช้คำว่า ชากังราว จึงน่าจะแสดงว่า ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เองก็มีความเห็นโดยอัตโนมัติว่า ชื่อชากนราวในศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฏที่ท่านปริวรรตต่างไปเป็นชากันราวนั้น คือชื่อเดียวกันกับชากังราวในพระราชพงศาวดารนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงมิได้วางเมืองชากังราวไว้บนตำแหน่งเดียวกันกับเมืองนครชุม แต่ก็ยังจัดไว้ให้อยู่ในกลุ่มเมืองใกล้เคียงกันบนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงคือ เมืองชากังราว เมืองสุพรรณภาว เมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร และเมืองบางพาน ตามทฤษฎีว่าด้วยระเบียบการระบุชื่อเมืองตามตำแหน่งที่ตั้งเมืองเวียนตามเข็มนาฬิกาในศิลาจารึกที่ท่านได้ตั้งขึ้นมา
ทบทวนความเชื่อเดิมเรื่อง “ชากังราว”
เนื่องจากหลักฐานจากศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฏมิได้จารึกว่าชากังราวตรงๆ แต่จารึกว่าชากนราวหรือชากันราว ซึ่งแม้ว่าจะค่อนข้างเป็นไปได้มากว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชากังราวก็ตาม ก็อาจเป็นไปได้แม้เพียงเล็กน้อยว่า เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อคล้ายๆ กันกับเมืองชากังราว
จึงต้องย้อนกลับมาพิจารณาข้อวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อีกครั้งจะเห็นว่า ที่ทรงวินิจฉัยว่าชื่อชากังราวเป็นชื่อเก่าของเมืองนครชุม และต่อมาข้ามฟากแม่น้ำปิงมาสร้างเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่นั้น เป็นผลมาจากเหตุสองประการคือ จากการตรวจสอบเรื่องในพระราชพงศาวดารโดยสอบกับสภาพทางภูมิศาสตร์ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง เป็นหลักฐานจากพระไอยการลักพา ซึ่งเป็นกฎหมายสมัยอยุธยา ในกฎหมายกล่าวถึงชื่อเมืองชาวดงราว (ซึ่งเข้าพระทัยว่าคัดลอกผิดมาจากชากังราว) อยู่คู่กับชื่อเมืองกำแพงเพชร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่าการกล่าวชื่อเป็นคู่เช่นนี้ เป็นการนําชื่อเก่าคือ ชากังราว มาเรียกรวมกับชื่อ กำแพงเพชร ซึ่งเป็นชื่อใหม่
สมมุติว่าชาวดงราวเป็นการคัดลอกผิดมาจากชากังราวจริง ก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดตามที่เขียนไว้ในกฎหมาย ซึ่งกล่าวเริ่มต้นด้วยเสมียนสุภาวดีทูลถามข้อปฏิบัติต่อพระเจ้าแผ่นดินว่า หากมีข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย มีคนลักพาไปขายถึงเมือง “…เชลียงศุกโขไททุ่งย้าง บางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพชรเมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังนี้…” และเมื่อมีผู้ไถ่ตัวมาได้เอามาส่งให้เจ้านายเก่าที่กรุงศรีอยุธยา เจ้านายเก่ากลับให้ไปเอาเงินคืนจากผู้ที่เอาไพร่ข้าเหล่านั้นไปขายเอง เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันจะให้ตัดสินว่าอย่างไร
พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชดำรัสว่า เขาลักไปขายไกลถึงเมือง “…เชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชศุกโขไทใตล่าฟ้าเขียว…” จะมาใช้เกณฑ์การตัดสินเหมือนกับที่ลักพาไปขายยังเมืองใกล้ๆ เช่น เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ ไม่ได้
จะเห็นว่า ข้อความในกฎหมายที่ยกชื่อเมืองโดยเขียนติดกันไม่เว้นวรรคนั้น ไม่มีความหรือลักษณะชี้บอกแต่อย่างใดว่าเมืองใดคู่กับเมืองใด ถ้าหากจะจับคู่โดยเอาชื่อที่ 1 คู่ กับชื่อที่ 2 ชื่อที่ 3 คู่กับชื่อที่ 4 ตามลำดับจนครบทั้ง 8 ชื่อ ก็จะทำให้ชื่อชาวดงราวคู่กับกำแพงเพชร แต่ตามประโยคที่เป็นพระราชดำรัสตอบ ได้ลำดับชื่อเมืองใหม่โดยเอาเมืองศุกโขไทซึ่งเดิมลำดับไว้เป็นชื่อที่ 2 แต่มาคราวนี้ได้ลำดับไว้ เป็นชื่อสุดท้าย ทำให้การจับคู่ตามแบบเดิมเปลี่ยนไป
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างได้ว่าชาวดงราวคู่กับกำแพงเพชร แท้ที่จริงแล้วการยกชื่อเมืองทั้ง 8 ชื่อมากล่าวนั้นเห็นเจตนาได้ว่า เป็นการยกตัวอย่างชื่อเมืองในกลุ่มเมืองเหนือที่เห็นว่าอยู่ไกล ดังวลีต่อท้ายชื่อเมืองในพระราชดำรัสตอบว่า “…ใตล่าฟ้าเขียว…” นั้นก็คือ “ใต้หล้าฟ้าเขียว” ซึ่งหมายความถึงระยะทางไกลโพ้นเพียงเท่านั้น ดังนั้น จึงอาจที่จะถือว่ากฎหมายลักษณะลักพานี้เป็นหลักฐานที่ปฏิเสธความเห็นที่ว่า เมืองชากังราวเป็นชื่อเก่าของเมืองกำแพงเพชรด้วยก็ได้ เพราะ 8 ชื่อที่กล่าวนั้นคือเมือง 8 เมืองในกลุ่มเมืองเหนือที่อยู่ไกล
สำหรับวิธีการศึกษาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า “…ได้ตรวจสอบแผนที่เข้ากับเรื่องที่มีมาในพระราชพงศาวดาร เห็นว่าเมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่นนอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้…” นั้น น่าจะเป็นเพราะการลำดับเรื่องในพระราชพงศาวดารที่ทำให้เกิดภาพพจน์เป็นเช่นนั้นได้
กล่าวคือ พระราชพงศาวดารได้ลำดับเรื่องตามกาลเวลาว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชยกทัพขึ้นเหนือ ครั้งแรกตีเมืองชากังราวไม่สำเร็จ ครั้งที่สองตีเมืองสองแควสำเร็จ ครั้งที่สามตีเมืองชากังราวไม่สำเร็จ ครั้งที่สี่พระมหาธรรมราชาออกถวายบังคมที่เมืองชากังราวซึ่งทรงเข้าพระทัยว่า เป็นการยอมแพ้ และเนื่องจากทรงมีความคิดตั้งอยู่ก่อนแล้วว่า เมืองชากังราวอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งตามสภาพภูมิศาสตร์คือเส้นทางขึ้นสู่ดินแดนล้านนาทางแม่น้ำปิง
ดังนั้น เมื่อพระราชพงศาวดารลำดับเรื่องการสงครามครั้งต่อไปว่าเป็นการยกทัพเพื่อทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่ จึงทรงแน่พระทัยยิ่งขึ้นว่าความคิดที่ทรงตั้งไว้แต่แรกนั้นถูกต้อง เพราะว่าสามารถเอาชนะเมืองชากังราวได้แล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงสามารถยกทัพผ่านขึ้นไปทำสงครามกับเชียงใหม่ได้
การที่ทรงตั้งแนวคิดไว้ก่อนเช่นนี้ ทำให้ทรงวินิจฉัยทบทวนความเชื่อเดิมเรื่องเมืองชากังราวเกี่ยวกับพระยาผากอง ผู้มาช่วยเมืองชากังราวในการต่อต้านกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาผิดพลาดไป ดังที่ทรงกล่าวว่า “…ครั้งที่ 2 ได้กองทัพท้าวผากอง (ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เจ้าเมืองนครเขลางค์ คือเมืองนครลำปาง) มาช่วยรักษาเมือง…” ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ท้าวผากองหรือพระยากองผู้นี้เป็นเจ้าเมืองน่านที่เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับแคว้นสุโขทัย
แสดงว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมิได้ทรงตรวจสอบกับพงศาวดารเมืองน่าน จึงเข้าพระทัยผิดไปว่าเป็นเจ้าเมืองลำปาง เพราะตามตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองลำปางสามารถมาช่วยเมืองชากังราวได้สะดวก หากเมืองชากังราวมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจริงตามที่ได้ทรงตั้งแนวคิดไว้ก่อน
แต่ถ้าหากพระองค์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพระยาผากองจากพงศาวดารเมืองน่านแล้ว เชื่อว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนพระทัยเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองชากังราวอย่างแน่นอน เพราะโดยสภาพทางภูมิศาสตร์พระยาผากองเมืองน่านย่อมไม่สามารถยกทัพผ่านพื้นที่ของเมืองศรีสัชนาลัย หรือเมืองสุโขทัย หรือเมืองสองแคว ฯลฯ ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้ว เพื่อมาช่วยเมืองชากังราวที่ตั้งอยู่ที่เดียวกันกับเมืองกำแพงเพชรบนฝั่งแม่น้ำปิงได้
เมืองชากังราวควรตั้งอยู่ที่ใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อไปนี้จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดใหม่เพื่อให้ทราบว่า เมืองชากังราวควรตั้งอยู่ ณ ที่ใดแน่
หลักฐานที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงเมืองชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายในเรื่องราวเมื่อ พ.ศ. 1994 โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนั้นว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ลงมายึดเมืองชากังราวได้และจะเข้ายึดเมืองสุโขทัย แต่ทำไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับคืนไป
เหตุการณ์ในปีนี้เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงสามารถที่จะนำไปตรวจสอบกับเอกสารโบราณของล้านนาซึ่งมีอยู่หลายฉบับได้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการบอกเวลาในเอกสารของล้านนาทั้งที่เป็นตัวเลขศักราชหรือปีนักษัตรได้พบว่า ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา เอกสารล้านนาฉบับต่างๆ เริ่มมีความเที่ยงตรงแม่นยำขึ้น และมีหลายฉบับที่อาจเอามาสอบทานหาความถูกต้องได้ง่าย
จากหนังสือ พงศาวดารโยนก ซึ่งเป็นการประมวลเรื่องจากเอกสารโบราณของล้านนาฉบับต่างๆ โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ตำนาน 15 ราชวงศ์ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้เก็บความมาลงในหนังสือ ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยฯ ของท่าน หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพิมพ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1994 ไว้ตรงกันว่า ในปีนั้น พระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองสองแควเกิดผิดใจกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช โดยขอให้ยกทัพลงมาเอาดินแดนในกลุ่มเมืองเหนือทั้งหลาย
พระเจ้าติโลกราชจึงยกทัพมาตั้งอยู่ที่ “ทุ่งย้าง เมืองฝาง” และยกทัพมาตั้งทัพอยู่ที่ข้าง “แม่ตั้ง” ในเมืองสองแคว ยกทัพไปตีเมืองปากยมจับเจ้าเมืองฆ่าเสีย แล้วให้หมื่นนครยกทัพไปตีเมืองเชลียง หมื่นนครยกทัพไปค้างแรมที่ “แม่น้ำลึม” กลางคืนถูกชาวเชลียงลอบตีแตกพ่ายกลับมาที่ทัพหลวง พอดีมีข่าวศึกล้านช้างจะมารบเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชจึงนำพระยายุธิษฐิระและครัวเรือนชาวสองแควกลับคืนไป
เอกสารของล้านนาได้ชี้ให้เห็นเส้นทางการยกทัพของพระเจ้าติโลกราชว่า พระองค์มาจากเขตล้านนาทางเมืองแพร่ หรือเมืองน่าน ซึ่งจากทั้งสองเมืองเมื่อผ่านพื้นที่เขาสูงของล้านนาแล้วก็จะถึงที่ราบแห่งแรกคือทุ่งย้างเมืองฝางจึงพักพลอยู่ ทุ่งย้างเมืองฝางปัจจุบันคือเมืองทุ่งยั้งในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ที่อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน หลังจากนั้นจึงจับเส้นทางแม่น้ำน่านมายังเมืองสองแคว (พิษณุโลก) พักอยู่ริมน้ำแม่ตั้ง (เรียกชื่อต่างกันไปเป็นแม่กรังบ้างแม่กลันบ้าง ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด)
ต่อจากนั้นจึงล่องตามแม่น้ำน่านตีได้เมืองปากยม ซึ่งอยู่ที่ที่แม่น้ำยมมาพบกับแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิจิตร หลังจากนั้นจึงส่งหมื่นนครยกทัพจับเส้นทางทวนกระแสแม่น้ำยมเพื่อยึดเมืองเชลียง (เส้นทางนี้ต้องผ่านเมืองสุโขทัยก่อน) แต่ถูกที่สกัดเสียก่อนที่น้ำลึมหรือรึม แควใดแควหนึ่งของแม่น้ำยม (เพราะแม่น้ำยม ช่วงระหว่างเมืองสุโขทัยไปยังปากยมที่พิจิตรทางน้ำแปรปรวนเปลี่ยนเส้นทางบ่อยๆ บริเวณนั้นจึงมีทางน้ำหลายสาย เนื่องจากการกระทำของกระแสแม่น้ำยม) หมื่นนครได้แตกพ่ายกลับมาที่ตั้งทัพใหญ่ที่เมืองสองแควริมแม่น้ำน่าน กองทัพพระเจ้าติโลกราชยกกลับตามเส้นทางขามา
เอกสารของล้านนาที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารของกรุงศรีอยุธยา คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่กล่าวอย่างย่อๆ ที่มีความสอดคล้องกันได้แก่ การบอกศักราชของเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ พ.ศ. 1994 เป็นเรื่องสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราช กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน มีเรื่องกองทัพล้านนาเข้ารบกวนเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำยมแต่ทำไม่สำเร็จเหมือนกัน โดยเอกสารล้านนากล่าวว่าจะไปตีเมืองเชลียงในขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฯ กล่าวว่าจะไปตีเมืองสุโขทัย (เพราะทิศทางการยกทัพไปยังเมืองทั้งสองนั้นไปทางเดียวกัน)
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาข้อความที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้อย่างรวบรัดว่า “…มหาราชมาเอาเมิองชากังราวได้…” ในขณะที่เอกสารล้านนาเล่าเรื่องอย่างละเอียดว่า พระเจ้าติโลกราชได้เมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้คือ เมืองทุ่งยั้งในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองสองแควในจังหวัดพิษณุโลก และเมืองปากยมในเขตจังหวัดพิจิตร
ข้อความที่กล่าวต่างกันในเอกสารสองฝ่าย แต่เนื่องจากเล่าเหตุการณ์ร่วมกันจึงแสดงว่า เมืองชากังราวควรตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านตอนใดตอนหนึ่งระหว่างเมืองทุ่งยั้งถึงเมืองปากยม แต่เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ตามลำดับว่า พระยาผากองเจ้าเมืองน่านลงมาช่วยเมืองชากังราวรบหลังจากที่เมืองสองแควตกอยู่ใต้อำนาจสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้ว จึงแสดงว่า เมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแควมากกว่า (คืออยู่เหนือเมืองสองแควขึ้นไป)
บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านระหว่างเมืองสองแควกับเมืองทุ่งยั้ง โดยเฉพาะในเขตอำเภอพิชัย อำเภอตรอน และอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำจะเป็นแผ่นดินที่ราบผืนใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งของแคว้นสุโขทัยในอดีต ปัจจุบันมีชุมชนโบราณที่มีร่องรอยคูน้ำคันกำแพงดิน แสดงลักษณะการเป็นชุมชนระดับเมืองอยู่หลายแห่งด้วยกัน จากทิศเหนือลงใต้คือ เมืองโบราณปากคลองโพที่ไหลลงแม่น้ำน่านทางฝั่งตะวันตก อยู่ในเขตท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองตาชูชก อยู่ปากคลองตรอนที่ไหลลงแม่น้ำน่านทางฝั่งตะวันออก ในเขตท้องที่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองพิชัย อยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตัวอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองโบราณที่บ้านนายาง อยู่บนฝั่งแม่น้ำน่านฟากตะวันออกห่างจากเมืองพิชัยประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในเขตท้องที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองโบราณที่บ้านท้องโพลง อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ในเขตท้องที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
โดยตำแหน่งที่ตั้งของเมืองทั้ง 5 นี้ ทุกเมืองมีสิทธิ์ที่จะเป็นเมืองชากังราวได้ทั้งสิ้น เพราะนอกจากตำแหน่งที่ตั้งเมืองชากังราวซึ่งได้จากการพิจารณาเรื่องราวในเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยตรวจสอบความเป็นไปได้ทางภูมิศาสตร์แล้ว โดยลักษณะของภาษาที่เป็นชื่อเมืองชากังราวนั้น น่าจะเป็นภาษาเดียวกันกับชื่อเมืองต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ตำราพิชัยสงคราม คือเมืองที่ระบุว่าอยู่โดยรอบเมืองพิษณุโลก (สองแคว) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับดังนี้ เมืองชาไสร เมืองชาโขล และเมืองชาตะกาน (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเมืองชาติตระการ) ส่วนเมืองชากังราวก็ควรจะอยู่ถัดไปทางทิศเหนือ ซึ่งเมืองทั้ง 5 ตั้งอยู่ทางทิศที่กล่าวถึงนี้
อย่างไรก็ดี เกณฑ์ที่ควรนำมาพิจารณาว่าเมืองใดควรจะเป็นเมืองชากังราวนั้น อยู่ที่ว่าเมืองนั้นควรเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีบริเวณที่ทำกินกว้างขวาง และมีหลักฐานเป็นโบราณวัตถุโบราณสถานที่แสดงการอยู่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สรุป
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรผลิตขึ้นในสมัยโบราณ จะมีลักษณะวิธีการเรียบเรียงเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานานถึงในปัจจุบันเมื่อจำเป็นต้องนำมาใช้ นอกจากภาษาที่เข้าใจยากแล้ว อาจเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอเอกสารเหล่านั้นผิดไปจากที่คนโบราณเจตนาจะให้เป็นได้ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาพลวงตาแก่คนยุคปัจจุบันให้เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยที่ความเป็นจริงแล้วคนโบราณผู้ผลิตเอกสารนั้นขึ้นมา มิได้ต้องการที่จะสื่อความหมายอย่างที่คนยุคปัจจุบันเข้าใจก็ได้
เรื่องที่ตั้งเมืองชากังราวเป็นเรื่องหนึ่งที่นักปราชญ์รุ่นก่อนหน้านี้เข้าใจวิธีการนำเสนอเรื่องราวในพระราชพงศาวดารผิดไป ทำให้เกิดความเชื่อว่า เมืองชากังราวควรตั้งอยู่ที่นั่นที่นี่อย่างเหนียวแน่น และเมื่อพบหลักฐานอื่นใดนอกเหนือจากพระราชพงศาวดาร ก็จะมีการตีความให้เข้าได้กับที่ตั้งไว้เป็นความเชื่อแต่เบื้องแรก จึงควรที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันจักได้สืบสานต่อ โดยการแก้ไขปรับปรุงหากมีการผิดพลาด หรือเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งในที่นี้ได้นำเสนอสถานที่ตั้งเมืองชากังราวแห่งใหม่ อันเป็นผลที่ได้หลักฐานเพิ่มเติมมาก
จากหลักฐานและแนวคิดใหม่ที่ได้จากการพิจารณา เอกสารประเภทตำนานพงศาวดาร ได้นำเสนอสถานที่ตั้งเมืองชากังราวใหม่จำนวน 5 แห่งนั้น เมืองพิชัยน่าจะเป็นสถานที่น่าสนใจที่สุดที่ควรจะเป็นเมืองชากังราวได้ เนื่องจากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินและการเป็นที่ราบกว้างใหญ่ของพื้นที่บริเวณนั้น คงเหลือที่ควรจะตรวจสอบเพิ่มเติมหาร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งที่อยู่บนผิวดินและใต้ดิน ว่าจะมีหลักฐานอย่างพอเพียงหรือไม่ในการเป็นชุมชนใหญ่มาก่อนในสมัยสุโขทัยหรือเก่าไปกว่านั้น
การที่ศึกษาทราบว่า เมืองชากังราวควรตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตท้องที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์นั้น จะสามารถนำมาเป็นข้ออ้างอิงได้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นสุโขทัยกับดินแดนล้านนาฟากตะวันออก อันจะทำให้การศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแคว้นทั้งสองมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยสามารถนำมาใช้อธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์เพิ่มขึ้นได้หลายเรื่อง เช่น สาเหตุของสงครามระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สถานะเดิมของดินแดนเมืองพะเยา แพร่ และน่าน ของล้านนา เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมืองชากังราว” คือ เมืองพิชัย จ. อุตรดิตถ์ ไม่ใช่ “เมืองกำแพงเพชร”
- เจ้านครอินทร์ สร้างเมืองกำแพงเพชร, พระเจ้าตากไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2565