เจาะร่องรอย “แพน” นางละครชาวสยาม ผู้เกือบได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา?

คณะละคร ชาวสยาม
คณะละครชาวสยาม ภาพวาดลายเส้นจากรูปถ่าย โดย เอ. โบกูรต์

เรื่องราวของ “แพน เรืองนนท์” นางละครชาวสยามผู้ต้องพระทัยพระเจ้ากรุงกัมพูชา จากปากคำของ ทองใบ เรืองนนท์ ครูละครชาตรี น้องชายต่างมารดา ซึ่ง เอนก นาวิกมูล นำมาถ่ายทอดใน “นาฏกรรมชาวสยาม” ระบุว่า แพน นางรำผู้สวมบทนางบุษบารำถวายหน้าพระพักตร์ เจ้าสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ (เจ้าสีสุวัตถิ์ มุณีวงศ์) กษัตริย์กัมพูชา เป็นที่ต้องพระทัยของพระองค์มาก จึงทรงกักตัวไว้ใน ราชสำนักกัมพูชา และตามตัวบิดาของเธอไปเข้าเฝ้า เพื่อสู่ขอมาเป็นเจ้าจอมของพระองค์ แต่ต่อมาทั้งคู่ถูกส่งตัวกลับสยามด้วยเหตุว่า “หากอยู่ไปก็จะเป็นอันตรายได้ นับจากนั้นแม่แพนก็ไม่ไปสู่ราชสำนักเขมรอีกเลย” 

เจ้าสีสวัสดิ์ เจ้าสีสุวัตถิ์
พระฉายาลักษณ์ของเจ้าสีสุวัตถิ์ มุณีวงศ์ เผยแพร่เมื่อ 16 พฤศจิกายน 1937 (พ.ศ. 2480) โดย AFP PHOTO / FRANCE PRESSE VOIR / Bronberger

เอนกไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเดือนปี ที่เกิดเหตุการณ์โดยจำเพาะเจาะจง กล่าวแต่เพียงว่า เธออายุได้ 65 ปี แล้วใน พ.ศ. 2522

Advertisement

สุภัตรา ภูมิประภาส เขียนไว้ในบทความ “กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552 ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานในบันทึกทางประวัติศาสตร์ทั้งใน ราชสำนักกัมพูชา และประวัติศาสตร์สยาม

แต่ข่าว เจ้าสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชาประสงค์ที่จะแต่งงานกับนางรำชาวสยาม ถูกรายงานในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ รวมถึงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “The Bangkok Daily Mail” ที่ขึ้นพาดหัวว่า “Siamese Dancer May Be Cambodia’s Queen”

แอนดริว เอ. ฟรีแมน (Andrew A. Freeman) บก.ของ The Bangkok Daily Mail กล่าวว่า เขาได้เบาะแสข่าวดังกล่าวมาจากนักข่าวชาวไทยชื่อ ประสุต ผู้สัมภาษณ์แม่ของ แพน ซึ่งกล่าวว่า กษัตริย์กัมพูชามีบัญชาให้อาลักษณ์หลวงบันทึกตำแหน่งของบุตรสาวเธอเป็น “เจ้าจอม” (Chao Chom) และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “สีสวัสดิ์ อำไพพงศ์” (Srivasti Amphibongse) เธอจึงมั่นใจว่าบุตรสาวของเธอจะได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา

บันทึกของฟรีแมนระบุว่า หลังผ่านการถวายตัวได้ 3 วัน กษัตริย์กัมพูชาประกาศว่าจะสถาปนานางละครชาวสยามเป็นเจ้าจอม และทรงดำริจะสถาปนายศเพิ่มให้เป็นพระราชินี หรือพระมเหสีลำดับที่ 1 จากจำนวนชายา 5 พระนางที่มีอยู่แล้ว หลังการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระราชบิดา ที่สวรรคตเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า

สุภัตรากล่าวว่า เนื่องจากพระราชบิดาของเจ้าสีสุวัตถิ์สวรรคตในเดือนสิงหาคม 2470 ช่วงเวลาที่ แพน ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมย่อมเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นเธอจะมีอายุเพียง 13 ปี เท่านั้น ขณะที่เจ้าสีสุวัตถิ์มีพระชนมพรรษา 52 พรรษา

แพน เรืองนนท์
แพน เรืองนนท์ ในวัย 65 ปี ภาพถ่ายโดย เอนก นาวิกมูล เมื่อ พ.ศ. 2522

ขณะเดียวกัน สุภัตรา ได้อ้างอิงข้อมูลจาก ศานติ ภักดีคำ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เขมร ว่า ตำแหน่งมเหสีของกษัตริย์กัมพูชามี 3 ลำดับ คือ ลำดับที่ 1 เรียกว่า สมเด็จพระอัครมเหสี ลำดับที่ 2 เรียกว่า สมเด็จพระอัครราชเทพี และลำดับที่ 3 เรียกว่า พระอัครชายา

หากกษัตริย์มีพระราชประสงค์จะยกหญิงที่ไม่ได้เป็น “ขัตติยกัญญา” มาเป็นบาทบริจาริกา ก็จะให้ตำแหน่ง “เจ้าจอม” ซึ่งมีทั้งหมดอีก 6 ลำดับ

มารดา ของ แพน อ้างว่า บุตรของเธอเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์กัมพูชา ถึงขั้นทรงมอบหมายให้เธอถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดการเครื่องทรง เครื่องเสวย และกิจการต่างๆ ของฝ่ายใน นอกจากนี้ แพน ยังกล้าขัดพระทัยกษัตริย์กัมพูชา ด้วยการยืนกรานว่าจะไม่ตัดผมสั้นตามแบบสตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ สุภัตรา ให้ความเห็นว่า รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของ แพน ในราชสำนักพนมเปญตามที่ฟรีแมนบันทึกจากปากคำของมารดาของเธอ เป็นความข้างเดียวที่อาจจะเล่าแต่เพียงด้านดี และยังอาจถูกแต่งเติมจากทั้งปากมารดาของเธอและสื่อก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน กงสุลฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมกัมพูชากลับออกมากดดันให้ Bangkok Daily Mail ยุติการการรายข่าวดังกล่าว โดยอ้างว่า เรื่องราวทั้งหมดที่ถูกรายงานออกไปเป็นความเท็จทั้งสิ้น พร้อมบังคับให้สื่อรายนี้ตีพิมพ์แถลงการณ์ของทางกงสุล เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กงสุลฝรั่งเศสยังได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับ อ้างว่า กษัตริย์กัมพูชาทรงไม่พอพระทัยและปฏิเสธรายงานข่าวอันคลาดเคลื่อนจากความจริง จึงทรงบัญชาให้ส่งตัว แพน กลับกรุงเทพฯ โดยทันที

แต่เมื่อ แพน ถึงกรุงเทพฯ เธอปฏิเสธว่า ถูกส่งตัวกลับ และอ้างว่าเธอเพียงเดินทางมาเยี่ยมน้องชายที่ป่วย

“ฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วัน และจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาของพระองค์อยู่”

คำให้สัมภาษณ์ของเธอปรากฏอยู่บนพาดหัวของ Bangkok Daily Mail อีกครั้ง และกงสุลฝรั่งเศสก็เร่งตอบโต้ทันควันผ่านแถลงการณ์ระบุว่า “นางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลไม่เป็นที่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก”

ไม่มีใครรู้เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุใด แพน จึงถูกกีดกันอย่างหนักจากทางฝรั่งเศส จึงไม่ยอมให้มีการรายงานข่าวใดๆ เกี่ยวกับเธอเลย ถึงขั้นไปขอให้รัฐบาลสยามปิดข่าว โดยทางกระทรวงการต่างประเทศได้เรียกตัวฟรีแมนไปพบ และขอให้หยุดการตีพิมพ์ข่าวนี้

ฟรีแมนจบบันทึกของตนเกี่ยวกับชะตาชีวิตของนางละครชาวสยามไว้ว่า ภายหลังกษัตริย์กัมพูชาได้รับเอาสตรีที่ทางฝรั่งเศสยอมรับมาเป็นราชินี ส่วน แพนก็กลับไปใช้ชีวิตเป็นนางละครร่วมคณะกับมารดาและบิดาเช่นเดิม ซึ่งฟรีแมนยังได้กล่าวว่า

“…หากเดลี่เมล์ไม่เป็นผู้ป่าวประกาศเรื่องนี้ออกไปในวงกว้าง นางสาวแพน และกษัตริย์มณีวงศ์ [มุนีวงศ์] คงครองรักกันอย่างมีความสุขต่อไป…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน”. สุภัตรา ภูมิประภาส. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2560