เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน

ขบวนแห่ของชาวสยามหรือ “เสียมก๊ก” สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยกล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่อยู่รัฐและบ้านเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดสนิทสนมของกษัตริย์กัมพูชาในยุคนั้น ไม่ใช่ “กองทัพเมืองขึ้นของขอม” ตามคำอธิบายของนักวิชาการเจ้าอาณานิคมตะวันตก

“เขมร” ใน “อยุธยา” ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน!?

กลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมรนับว่ามีบทบาทต่อสังคมอยุธยามาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพราะอาณาจักรเขมรโดยเฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังบริเวณภาคกลางของสยาม และ “ชาวเสียม” ก็มีส่วนร่วมในสงครามที่เขมรทำกับจาม ปรากฏเป็นภาพสลักที่ปราสาทนครวัดที่มีชื่อเรียกว่า “เสียมกุก” แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหาที่สิ้นสุดได้ยากว่า “เสียมกุก” ที่ปราสาทนครวัดหมายถึงชาวสยามที่บริเวณใดกันแน่

เขมรพระนครสมัยรุ่งเรือง ต้นแบบราชสำนักสยาม

นอกจากนี้ เขมร ยังเป็นวัฒนธรรมที่แข่งขันกับวัฒนธรรมทวารวดีในย่านนี้ตลอดตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสิ้นอำนาจไปแล้วได้ทิ้งร่องรอยทางศิลปกรรมเอาไว้ในรูปที่เรียกว่า “ศิลปะบายน” (Bayon Art) เช่น ปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปราสาทสระมรกตที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ปราสาทวัดกำแพงแลงเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ

จารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งทําขึ้นโดยพระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้กล่าวถึงนามเมืองสำคัญในเขตภาคกลางของสยาม 6 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่งพระพุทธรูปจำหลักแทนพระองค์ที่เรียกว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ไปประดิษฐานไว้ เมืองทั้งหกมีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งกันดังต่อไปนี้

(1) “ลโวทยปุระ” (ละโว้ ลวปุระ หรือลพบุรี จังหวัดลพบุรี)

(2) “สุวรรณปุระ” (อาจเป็นที่เนินทางพระ สามชุก หรือไม่ก็ตัวเมืองสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี)

(3) “ศัมพูกปัฏฏะนะ” (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี)

(4) “ชัยราชปุระ” (มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีร่องรอยการเป็นปราสาทเขมรเก่า)

(5) “ศรีชัยสิงหปุระ” (บางท่านว่าเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะที่บางท่านเห็นต่างว่าเป็นเมืองสิงห์บุรีเก่าที่ตําบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แต่โดยทั่วไปยอมรับว่าคือเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี)

(6) “ศรีชัยวัชรปุระ” (ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี)

ปราสาทเขมรได้พัฒนาคลี่คลายรูปแบบต่อมากลายเป็นมหาธาตุทรงปรางค์ บางครั้งเรียกว่า “ทรงฝักข้าวโพด” เพราะเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายข้าวโพด [1] มหาธาตุทรงปรางค์ถือเป็นประธานหลักของเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองราชบุรี ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี ปรางค์ประธานวัดจุฬามณีและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ปรางค์ประธานวัดหน้าพระธาตุ เมืองสิงห์บุรี ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุพรรณบุรี และวัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ก็เป็นมหาธาตุทรงปรางค์ เช่นกัน มหาธาตุทรงปรางค์นี้เป็นที่นิยมทำมาจนถึงวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้งที่กรุงเทพฯ

จาก คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึง “พระมหาธาตุที่เป็นหลักกรุงศรีอยุธยา” มีอยู่ 5 องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ พระมหาธาตุวัดราชบุรณ (วัดราชบูรณะ) พระมหาธาตุวัดสมรโกฏ (วัดสมณโกศฐาราม) และพระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย (วัดพุทไธสวรรย์) [2] นอกจากนี้ ในพื้นที่ย่านตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา ยังพบเจดีย์ทรงปรางค์อีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดส้มหรือวัดกุฎีฉลัก วัดเจ้าพราหมณ์ (วัดขุนพราหมณ์) วัดไตรตรึงษ์ วัดลังกา วัดถนนจีน วัดเชิงท่า วัดกษัตราธิราช วัดไชยวัฒนาราม วัดโลกยสุทธาราม วัดวรเชษฐ์เทพบำรุง

จากการที่เขมรเป็นศูนย์กลางการแพร่วัฒนธรรมอินเดียโบราณ ทำให้วัฒนธรรมเขมรที่ผสมผสานระหว่างอินเดียกับพื้นเมืองกลายเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมจารีตในรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารุ่นหลัง ที่ยังคงอ้างอิงและสร้างสิทธิธรรมจากการสืบทอดวัฒนธรรมเขมรยุครุ่งเรืองหรือเขมรพระนคร ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีหลวงหรือขนบธรรมเนียมของราชสำนักหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาราชสำนักหรือราชาศัพท์ก็พัฒนามาจากภาษาเขมรโบราณ ภาษานี้ใช้สื่อสารแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากจารึกและใบลานสมัยอยุธยา ที่นิยมจดจารด้วยภาษาเขมรโบราณ [3] การพระราชพิธี 12 เดือน (ทวาทศมาส) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไปจนถึงการแต่งกายของชนชั้นนำอยุธยาในยุคต้นและศิลปะการฟ้อนรำต่างๆ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่พราหมณ์เขมรมีบทบาทต่อราชสำนักอยุธยา [4]

ญาติชิดสนิทใกล้ ชนชั้นนำอยุธยากับเขมรพระนคร

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอยุธยากับเขมรยังมีสาเหตุปัจจัยมาจากความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ระหว่างชนชั้นนำทั้งสองบ้านเมือง โดยเฉพาะราชวงศ์อู่ทองที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเขมรพระนคร เพราะเมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรพระนครในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาก่อน ในเวลาต่อมา เมืองลพบุรียังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของราชอาณาจักร เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากเมืองลูกหลวงของเขมรพระนคร มาเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยา ดังจะเห็นได้จากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสองค์โตขึ้นไปครองเมืองลพบุรี

อนึ่ง เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องเครือญาติแล้ว อันที่จริงชื่อ “ราชวงศ์อู่ทอง” นี้ควรปรับแก้เสียใหม่เป็น “ราชวงศ์ละโว้” หรือ “ราชวงศ์ลพบุรี” เพราะคำว่า “ราชวงศ์อู่ทอง” มาจากความเชื่อว่ากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงอพยพมาจากเมืองอู่ทอง แต่ที่จริงราชวงศ์นี้สืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ผู้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน

จากที่ชนชั้นนำอยุธยามีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเขมรพระนครจึงเป็นเหตุให้เอกสารล้านนาเรียกกรุงอโยธยาว่า “กรุงกัมโพช” ไปด้วย [5] อโยธยาในช่วงก่อนสถาปนากรุง พ.ศ. 1893 ก็คือเมืองท่าหน้าด่านทางตอนใต้ของแคว้นลพบุรีหรือรัฐละโว้ ต่อมาพัฒนากลายเป็นเมืองหลวงของรัฐละโว้แทนที่เมืองลพบุรี ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนราชวงศ์ที่นับถือพุทธมหายานแบบเขมร มาเป็นกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ยังคงอ้างสิทธิสืบสายพระโลหิตมาจากกษัตริย์ราชวงศ์ก่อนหน้า [6]

แม้เมื่อหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว กษัตริย์ผู้ครองเมืองจะหันไปมีสายสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิและนครศรีธรรมราช แต่ก็มิได้ละทิ้งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเดิมของตนที่เป็นฝ่ายนิยมเขมร การทวีความสำคัญของพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์ ยังทำให้กษัตริย์อโยธยาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นสุโขทัยอีกด้วย เนื่องจากอโยธยาเป็นรัฐที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐข้างเคียงกรอบทิศเช่นนี้ คือ ทิศตะวันออกสัมพันธ์กับเขมรพระนคร ทิศใต้สัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช ทิศตะวันตกสัมพันธ์กับสุพรรณภูมิ ทิศเหนือสัมพันธ์กับสุโขทัย จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หนึ่งไปสู่อีกราชวงศ์หนึ่ง และที่สำคัญคือเปิดต่อการเข้ามาของคนภายนอกรอบทิศตลอดเวลา

ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมเขมรพระนครยังมีอยู่ในหมู่ชนชั้นนำอยุธยา ล่วงมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงให้ช่างไปศึกษาและถ่ายแบบปราสาทสำคัญๆ ที่เมืองพระนครมาจำลองเป็นพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรูปแบบจะคล้ายคลึงกับปราสาทที่ลานหน้าจักรวรรดิที่เมืองนครธม นอกจากนี้ ยังจำลองรูปแบบและผังมาสร้างปราสาทนครหลวงและวัดไชยวัฒนารามขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย [7]

เขมรอยุธยา มายังไง?

การเข้ามาของชาวเขมรในอยุธยามีทั้งเข้ามาโดยสงครามกวาดต้อนเข้ามาค้าขาย และการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร การเข้ามาโดยวิธีสงครามกวาดต้อนนั้นครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อทรงนำทัพไปตีเมืองนครธมของเขมรพระนคร ส่วนฝ่ายเขมรเองก็เข้ามากวาดต้อนผู้คนโดยพระเจ้าละแวก (เอกสารไทยมักเรียก “พระยาละแวก” ซึ่งไม่เหมาะสม เป็นการลดพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเพื่อนบ้าน) ยกทัพมากวาดต้อนชาวเมืองแถบหัวเมืองตะวันออกและเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา

สำหรับการเข้ามาด้วยสาเหตุทางการค้าขายโดยตรงนั้น จากเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง ได้ระบุว่า ทุกปีจะมีพ่อค้าชาวเมืองพระตะบองเดินทางมาโดยคาราวานวัวต่าง มาตั้งร้านค้าอยู่ที่ตลาดบ้านศาลาเกวียน ตรงบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ถัดจากหัวรอขึ้นไปราว 4-5 กิโลเมตร สินค้าต่างๆ ที่พ่อค้าชาวเขมรนำเข้ามาค้าขายยังตลาดบ้านศาลาเกวียนนั้น ได้แก่ เร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง ดีบุก หน่องา ผ้าปูม แพรญวน ทอง พราย พลอย แดง และบรรดา “สินค้าต่างๆ ตามอย่างเมืองเขมร” [8]

ส่วนการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทำให้เกิดชุมชนใหญ่ของชาวเขมรขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและเมืองบางกอก โดยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อพยพลี้ภัยจากการเบียดเบียนทางศาสนาเข้ามา สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณโบสถ์คอนเซปต์ชัญ เมืองท่าบางกอก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วัดคอนเซ็ปชัญ ย่านสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ) และให้อยู่ภายใต้ความดูแลของคณะมิสซังฝรั่งเศส เรียกว่า “บ้านเขมร” นอกจากมีประชากรเขมรแล้วยังมีชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส และเวียดนาม ที่เป็นชาวคริสต์เข้ามาอยู่ปะปนด้วย

ชุมชนบ้านเขมร มีอยู่ทั่วอยุธยา

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณวัดค้างคาว ในพื้นที่เกาะเมืองมีวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ “วัดสวนหลวงค้างคาว” ปัจจุบันคือด้านหลังติดสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จากที่มีชื่อพ้องกัน จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าวัดสวนหลวงค้างคาวนี้ คือที่ตั้งของชุมชนเขมรที่เข้ามาในรุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

แต่สภาพที่ตั้งและโบราณสถานของวัดสวนหลวงค้างคาวก็ชวนให้สงสัยว่า วัดสวนหลวงค้างคาวคงไม่ใช่วัดค้างคาวที่กล่าวถึงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะวัดสวนหลวงค้างคาวมีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านเหนือเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกิดจากการถมพูนดินสูงขึ้น ทั้งโบสถ์มีลักษณะเดียวกับวิหารหลวงวัดธรรมิกราชที่ติดกับพระบรมมหาราชวังทางทิศตะวันออก อีกทั้งวัดธรรมิกราชยังมีฉนวนทางเดินตัดตรงจากพระที่นั่งวิหารสมเด็จในพระบรมมหาราชวังมายังวิหารหลวงของวัด นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของวัดธรรมิกราชและวิหารหลวงไม่น้อยเลย

ทั้งโบสถ์วัดสวนหลวงค้างคาวและวิหารหลวงวัดธรรมิกราชยังมีขนาดใกล้เคียงกับพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท อาคารแบบนี้คือสถานที่ที่สามารถใช้เป็นที่ประชุมว่าราชกิจของกษัตริย์ได้ในกรณีฉุกเฉินหรือ ณ ขณะเสด็จมาประทับอยู่ อีกทั้งวัดสวนหลวงค้างคาวยังตั้งอยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรลัดตรงระหว่างพระบรมมหาราชวังไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ เป็นที่สะดวกแก่เจ้านายในการเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้อีกด้วย

วัดสวนหลวงค้างคาวมีลักษณะเป็นราชอุทยาน มีความสำคัญเกินกว่าจะพระราชทานให้แก่ชาวเขมรหรือชนชาติใด และเป็นสถานที่ที่พบร่องรอยการใช้งานอยู่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะมีใบสีมาหินทรายและสถูปเจดีย์รุ่นปลายอยุธยาล้อมรอบโบสถ์ สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระราชทานให้แก่ชาวเขมร ตามพระราชพงศาวดารก็ไม่มีคำว่า “สวนหลวง” ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า หากพระราชทานที่ดินสวนหลวงแห่งที่ 2 ของพระนคร (ต่อจากสวนหลวงแห่งที่ 1 คือสวนหลวงสบสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงให้สร้างเป็นวังหลังที่ประทับแก่พระเอกาทศรถไปแล้วนั้น) เหตุใดพระราชพงศาวดารจึงไม่ใช้คำว่า “สวนหลวงค้างคาว” มีแค่คำว่า “วัดค้างคาว”

บริเวณนอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตก ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องหัวแหลม จุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรี) ยังมีวัดอีกแห่งชื่อตรงกับพระราชพงศาวดารว่า “วัดค้างคาว” ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เหลือเพียงซากเจดีย์ขนาดย่อม พื้นที่ถูกปรับปรุงเป็นลานจอดรถของวัดท่าการ้อง ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจะพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้แก่ชาวเขมรอพยพก็ไม่แปลกเพราะเป็นที่นอกเกาะเมือง มีเส้นทางสัญจรต่อไปยังชุมชนเขมรเก่าแก่ที่ย่านเกาะมหาพราหมณ์อีกด้วย

อนึ่ง ชาวเขมรในอยุธยาสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม “เขมรเก่า” หรือที่อยุธยาเรียกว่า “ขอม” มีวัดขอม เกาะขอม บ้านขอม ตัวบทกฎหมายก็มีกล่าวถึง “ขอม” (คำว่า “ขอม” เป็นคำที่อยุธยาเรียกเขมร) ขอมกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในอยุธยามาแต่เดิม ชุมชนใหญ่อยู่ที่ย่านบางปะอิน และอีกกลุ่มคือ “เขมรใหม่” ที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ การแบ่งลักษณะนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีชาวมอญ ที่แบ่งเป็น “มอญเก่า” กับ “มอญใหม่” “มอญเก่า” นั้นได้แก่มอญที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร ชุมชนใหญ่อยู่ที่โพธิ์สามต้น คลองสระบัว คลองบางลี่ “มอญใหม่” เป็นกลุ่มที่เข้ามาภายหลังตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ชุมชนใหญ่อยู่ที่สามโคก ปากเกร็ด ตลาดขวัญ (นนทบุรี) และหัวเมืองฝั่งตะวันตกในลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง

เนื่องจากกลุ่มเขมรใหม่รุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อพยพเข้ามาพร้อมเจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ของเขมรขณะนั้น จึงมีสมัครพรรคพวกบริวารเข้ามาอยู่ด้วยกันมาก ราชสำนักให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยอนุญาตให้ชาวเขมรเหล่านี้อยู่ใต้สังกัดเจ้านายเดิมของตน ต่อมาเมื่อเจ้านายเดิมนั้นสิ้นพระชนม์ ราชสำนักจึงแต่งตั้งผู้นำชุมชนคนใหม่ให้ทำหน้าที่แทน ซึ่งนั่นมาพร้อมกับการที่ชาวเขมรถูกสักเลกสังกัดในระบบไพร่ของอยุธยา เช่นเดียวกับชาวมอญและลาว

กลุ่มตระกูลไท-ลาวนิยมเรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นมีค่าเรียก ว่า “ขอมอุโมงคเสลา” ในเอกสารตำนานพื้นเมืองของล้านนา หรืออย่างคำว่า “ขอมสบาดโขญลำพง” ในศิลาจารึกสุโขทัย อยุธยาก็เรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นกัน จึงมีวัดชื่อ “วัดขอม” อยู่บริเวณพื้นที่ที่เป็นสุสานจีนวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน แต่ตัววัดได้ร้างและถูกผนวกรวมเข้ากับวัดพนัญเชิงไปนานแล้ว อีกทั้งยังมีร่องรอยชุมชนเขมรอยู่ที่บริเวณวัดขนอน อำเภอบางบาล และวัดโปรดสัตว์ วัดทำเลย์ไท ที่อำเภอบางปะอิน ก่อนที่ชาวเขมรจะผสมกับชาวมอญที่เข้ามาอยู่ภายหลัง โดยมีร่องรอยใบสีมาที่ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ) กำหนดนิยามเรียกว่า “ใบสีมาแบบขอมผสมทวารวดี” [9]

นอกจากนี้ ยังมีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านขอม (ปัจจุบันชื่อตำบลวัดยม) ท่าเกาะพระก็เคยมีชื่อเรียกว่า “เกาะขอม” และมีชุมชนขอมอยู่ที่ริมคลองบ้านโพธิ์ ปากคลองทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของอยุธยาชื่อ “บ้านขอม” (ปัจจุบันคือตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน) และคลองบ้านเลนในเขตอำเภอบางปะอิน ก็เป็นเครือญาติกับเขมรที่บ้านขอม บ้านเลนมีอาณาเขตครอบรวมถึงบริเวณวัดชุมพลนิกายาราม ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟอร์เรสต์ แมคกิลล์ (Forrest McGill) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในอยุธยา จะได้ข้อสรุปถึงแรงจูงใจสำคัญต่อความนิยมในศิลปกรรมรูปแบบเขมรของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่าส่วนหนึ่งก็เพราะทรงมีเชื้อสายชาวเขมรในอยุธยา [10] และอีกกรณีคือในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีหลักฐานเป็นหนังสือคู่มือทูตสยามที่ไปฝรั่งเศส มีเนื้อความระบุว่าถ้าฝรั่งถามเกี่ยวกับพระองค์ว่า “กษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบตระกูลมาแต่ใด” ให้ทูตสยามตอบไปว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจาก “สมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร” กษัตริย์ต้นวงศ์ผู้สร้างเมืองเขมรพระนคร [11]

สมัยอยุธยามีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็มีเจ้านายเขมรลี้ภัยจากปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติเข้ามา คือกรณีนักองค์ราม หรือนักองค์โนน เมื่อเวลาใกล้จะเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 นักองค์รามได้ร่วมเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออกกับกลุ่มพระยาตาก (สิน) ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและทำศึกได้รับชัยชนะในกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงแต่งตั้งนักองค์รามขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชา และในกรุงธนบุรีก็มีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ย่านคลองสำเหร่ คลองสามเสน คลองสำโรง คลองทับนาง วัดบางยี่เรือ [12]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สันติ เล็กสุขุม, เจดีย์: ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ใน ประเทศไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), น.34.

[2] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิาช, 2555), น. 40.

[3] ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ, ประวัติศาสตร์อยุธยาจากจารึก (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์, 2561); ก่องแก้ว วีระประจักษ์, บรรณาธิการ, สารนิเทศจากคัมภีร์ ใบลานสมัยอยุธยา (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545), น. 113-121.

[4] ประกอบ ผลงาม, สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์: เขมรถิ่นไทย (นครปฐม: สถาบันวิจัย ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538)

[5] กำพล จำปาพันธ์, “กัมโพช: ละโว้-อโยธยาในเอกสารล้านนา,” วารสารมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 15, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557): 74-82.

[6] ศรีศักร วัลลิโภดม, กรุงศรีอยุธยาของเรา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546), น. 29.

[7] Forrest McGill, “The Art and Architecture of the reign of King Prasatthong of Ayutthaya (1629-1656)” (PhD.Thesis in The History of Art at University of Michigan,1977), pp. 264-265.

[8] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง, น. 7.

[9] น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ), ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่ อยุธยา (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2558), น.90.

[10] Forrest McGill, “The Art and Architecture of the reign of King Prasatthong of Ayutthaya (1629-1656)”, pp. 263-264.

[11] ไมเคิล ไรท์, ภูมิศาสตร์ – ประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่, เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2562, เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_7424

[12] กำพล จำปาพันธ์, พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 26-28, 216-217.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษาและโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาเคย์, เขียนโดย กำพล จำาปาพันธ์, โมโมทาโร่ (สำนักพิมพ์มติชน, 2566)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2566