ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในละครพรหมลิขิต ที่ดำเนินเรื่องในสมัยกรุงศรีอยุธยา นำเสนอเรื่องราวตอนหนึ่งว่า พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา ทรงมีทหารของนักองค์แก้วฟ้าช่วยก่อการกบฏ คิดโค่น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เพื่อให้ “ลูกเขย” ของพระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร ซึ่งเป็นพระราชอนุชาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขึ้นครองราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม หากดูในประวัติศาสตร์แล้ว ในกรุงศรีอยุธยาก็มี “เขมรอยุธยา” โดยเป็นชาวเขมรที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากและสืบสายต่อเนื่องกันมา เป็นหนึ่งในชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีพัฒนาการน่าสนใจยิ่ง
เขมรอยุธยา คือใคร? มายังไง?
กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา เล่าไว้ในหนังสือ “Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า เขมรอยุธยา มีทั้งเข้ามาโดยสงครามคือถูกกวาดต้อน เข้ามาค้าขาย และการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
การเข้ามาโดยวิธีสงครามกวาดต้อน ครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อทรงนำทัพไปตีเมืองนครธมของเขมรพระนคร ส่วนฝ่ายเขมรเองก็เข้ามากวาดต้อนผู้คนโดย พระเจ้าละแวก (เอกสารไทยมักเรียก “พระยาละแวก” ซึ่งไม่เหมาะสม เป็นการลดพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเพื่อนบ้าน) ยกทัพมากวาดต้อนชาวเมืองแถบหัวเมืองตะวันออก และเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา
สำหรับการเข้ามาด้วยสาเหตุการค้าขาย เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง ระบุว่า ทุกปีจะมีพ่อค้าชาวเมืองพระตะบองเดินทางมาโดยคาราวานวัวต่าง มาตั้งร้านค้าอยู่ที่ตลาดบ้านศาลาเกวียน บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ถัดจากหัวรอขึ้นไปราว 4-5 กิโลเมตร สินค้าต่างๆ ที่พ่อค้าชาวเขมรนำเข้ามาค้าขายยังตลาดบ้านศาลาเกวียน ได้แก่ เร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง ดีบุก หน่องา ผ้าปูม แพรญวน ทอง พราย พลอย แดง และบรรดา “สินค้าต่างๆ ตามอย่างเมืองเขมร”
ส่วนการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปรากฏในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์ และ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทำให้เกิดชุมชนใหญ่ของชาวเขมรขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและเมืองบางกอก โดยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อพยพลี้ภัยจากการเบียดเบียนทางศาสนาเข้ามา
สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณโบสถ์คอนเซปต์ชัญ เมืองท่าบางกอก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วัดคอนเซ็ปชัญ ย่านสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ) และให้อยู่ภายใต้ความดูแลของคณะมิสซังฝรั่งเศส เรียกว่า “บ้านเขมร” นอกจากมีประชากรเขมรแล้วยังมีชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส และเวียดนาม ที่เป็นชาวคริสต์เข้ามาอยู่ปะปนด้วย
ชุมชนบ้านเขมร มีอยู่ทั่วอยุธยา
กำพลระบุไว้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ เขมรอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณ วัดค้างคาว ในพื้นที่เกาะเมืองมีวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ วัดสวนหลวงค้างคาว ปัจจุบันคือด้านหลังติดสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
จากที่มีชื่อพ้องกัน จึงทำให้เกิดความเชื่อว่า วัดสวนหลวงค้างคาวคือที่ตั้งของชุมชนเขมรที่เข้ามาในรุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
แต่สภาพที่ตั้งและโบราณสถานของวัดสวนหลวงค้างคาวก็ชวนให้สงสัยว่า วัดสวนหลวงค้างคาว คงไม่ใช่ วัดค้างคาว ที่กล่าวถึงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะวัดสวนหลวงค้างคาวมีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านเหนือเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกิดจากการถมพูนดินสูงขึ้น ทั้งโบสถ์มีลักษณะเดียวกับวิหารหลวงวัดธรรมิกราชที่ติดกับพระบรมมหาราชวังทางทิศตะวันออก อีกทั้งวัดธรรมิกราชยังมีฉนวนทางเดินตัดตรงจากพระที่นั่งวิหารสมเด็จในพระบรมมหาราชวังมายังวิหารหลวงของวัด นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของวัดธรรมิกราชและวิหารหลวงไม่น้อยเลย
ทั้งโบสถ์วัดสวนหลวงค้างคาว และวิหารหลวงวัดธรรมิกราช ยังมีขนาดใกล้เคียงกับพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท อาคารแบบนี้คือสถานที่ที่สามารถใช้เป็นที่ประชุมว่าราชกิจของกษัตริย์ได้ในกรณีฉุกเฉินหรือ ณ ขณะเสด็จมาประทับอยู่ อีกทั้งวัดสวนหลวงค้างคาวยังตั้งอยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรลัดตรงระหว่างพระบรมมหาราชวังไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ เป็นที่สะดวกแก่เจ้านายในการเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้อีกด้วย
วัดสวนหลวงค้างคาว มีลักษณะเป็นราชอุทยาน มีความสำคัญเกินกว่าจะพระราชทานให้แก่ชาวเขมรหรือชนชาติใด และเป็นสถานที่ที่พบร่องรอยการใช้งานอยู่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
เหตุเพราะมีใบสีมาหินทราย และสถูปเจดีย์รุ่นปลายอยุธยาล้อมรอบโบสถ์ สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระราชทานให้แก่ชาวเขมร ตามพระราชพงศาวดารก็ไม่มีคำว่า “สวนหลวง” ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า หากพระราชทานที่ดินสวนหลวงแห่งที่ 2 ของพระนคร (ต่อจากสวนหลวงแห่งที่ 1 คือสวนหลวงสบสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงให้สร้างเป็นวังหลังที่ประทับแก่พระเอกาทศรถไปแล้วนั้น) เหตุใดพระราชพงศาวดารจึงไม่ใช้คำว่า “สวนหลวงค้างคาว” มีแค่คำว่า “วัดค้างคาว”
บริเวณนอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตก ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องหัวแหลม จุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรี) ยังมีวัดอีกแห่งชื่อตรงกับพระราชพงศาวดารว่า วัดค้างคาว ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เหลือเพียงซากเจดีย์ขนาดย่อม พื้นที่ถูกปรับปรุงเป็นลานจอดรถของวัดท่าการ้อง
ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจะพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้แก่ชาวเขมรอพยพก็ไม่แปลก เพราะเป็นที่นอกเกาะเมือง มีเส้นทางสัญจรต่อไปยังชุมชนเขมรเก่าแก่ที่ย่านเกาะมหาพราหมณ์อีกด้วย
เขมรเก่า-เขมรใหม่ ในอยุธยา
กำพลบอกอีกว่า เขมรอยุธยาสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม “เขมรเก่า” หรือที่อยุธยาเรียกว่า “ขอม” มีวัดขอม เกาะขอม บ้านขอม ตัวบทกฎหมายก็มีกล่าวถึง “ขอม” (คำว่า “ขอม” เป็นคำที่อยุธยาเรียกเขมร) ขอมกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในอยุธยามาแต่เดิม ชุมชนใหญ่อยู่ที่ย่านบางปะอิน ส่วนอีกกลุ่มคือ “เขมรใหม่” ที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
เนื่องจากกลุ่มเขมรใหม่รุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อพยพเข้ามาพร้อมเจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ของเขมรขณะนั้น จึงมีสมัครพรรคพวกบริวารเข้ามาอยู่ด้วยกันมาก ราชสำนักให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยอนุญาตให้ชาวเขมรเหล่านี้อยู่ใต้สังกัดเจ้านายเดิมของตน ต่อมาเมื่อเจ้านายเดิมนั้นสิ้นพระชนม์ ราชสำนักจึงแต่งตั้งผู้นำชุมชนคนใหม่ให้ทำหน้าที่แทน ซึ่งนั่นมาพร้อมกับการที่ชาวเขมรถูกสักเลกสังกัดในระบบไพร่ของอยุธยา เช่นเดียวกับชาวมอญและลาว
กลุ่มตระกูลไท-ลาวนิยมเรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นมีค่าเรียก ว่า “ขอมอุโมงคเสลา” ในเอกสารตำนานพื้นเมืองของล้านนา หรืออย่างคำว่า “ขอมสบาดโขญลำพง” ในศิลาจารึกสุโขทัย อยุธยาก็เรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นกัน จึงมีวัดชื่อ “วัดขอม” อยู่บริเวณพื้นที่ที่เป็นสุสานจีนวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน แต่ตัววัดได้ร้าง และถูกผนวกรวมเข้ากับวัดพนัญเชิงไปนานแล้ว อีกทั้งยังมีร่องรอยชุมชนเขมรอยู่ที่บริเวณวัดขนอน อำเภอบางบาล และวัดโปรดสัตว์ วัดทำเลย์ไท ที่อำเภอบางปะอิน ก่อนที่ชาวเขมรจะผสมกับชาวมอญที่เข้ามาอยู่ภายหลัง
นอกจากนี้ ยังมีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านขอม (ปัจจุบันชื่อตำบลวัดยม) ท่าเกาะพระก็เคยมีชื่อเรียกว่า “เกาะขอม” และมีชุมชนขอมอยู่ที่ริมคลองบ้านโพธิ์ ปากคลองทางทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของอยุธยาชื่อ “บ้านขอม” (ปัจจุบันคือตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน) และคลองบ้านเลนในเขตอำเภอบางปะอิน ก็เป็นเครือญาติกับเขมรที่บ้านขอม บ้านเลนมีอาณาเขตครอบรวมถึงบริเวณวัดชุมพลนิกายาราม ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
สมัยอยุธยามีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็มีเจ้านายเขมรลี้ภัยจากปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติเข้ามา คือกรณี นักองค์ราม หรือ นักองค์โนน เมื่อเวลาใกล้จะเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 นักองค์รามได้ร่วมเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออกกับกลุ่มพระยาตาก (สิน) ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง และทำศึกได้รับชัยชนะในกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงแต่งตั้งนักองค์รามขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชา และในกรุงธนบุรีก็มีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ย่านคลองสำเหร่ คลองสามเสน คลองสำโรง คลองทับนาง วัดบางยี่เรือ
อ่านเพิ่มเติม :
- ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน
- “เขมร” ไม่เรียกตัวเองว่า “ขอม” ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า “ขอม” มาจากไหน?
- “สิงห์คู่” ที่ “วัดพระแก้ว” ไทยเอามาจากเขมร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในบันทึก
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566