“สิงห์คู่” ที่ “วัดพระแก้ว” ไทยเอามาจากเขมร

สิงห์คู่ ที่ วัดพระแก้ว
สิงห์วัดพระแก้ว ภาพถ่ายโดย Harrison Forman ราวทศวรรษ 1960 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

“สิงห์คู่” ที่ “วัดพระแก้ว” ไทยเอามาจากเขมร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในบันทึก

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเขมรนั้นเปลี่ยนแปรไปตามบริบทของยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ มากมาย ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในอดีตซึ่งบางครั้งอาจไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึงมากนัก คือปฏิสัมพันธ์ทางวัตถุ นำสิ่งของต่างๆ เข้า-ออกระหว่างกัน

กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลที่ปรากฏใน “นิราสนครวัด” (สะกดตามเอกสารเดิม ปัจจุบันมักเรียกกันว่า นิราศนครวัด) ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า สยามเคยนำวัตถุโบราณจากเขมรเข้ามาภายในประเทศ 2 ครั้ง

ครั้งแรก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ดังนี้

“…ตรวจดูในหนังสือพงศาวดารมีปรากฏว่า ไทยได้เอาของสัมฤทธิ์โบราณมาจากเมืองเขมร โดยครั้งแรกนั้น ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ภายหลังตีได้เมืองนครธม เมื่อพ.ศ. 1974 ในพงศาวดารว่า โปรดให้ขนรูปปั้นสิงห์ และสัตว์ต่างๆ อันหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เข้ามายังพระนครศรีอยุธยาราว 40 รูป ถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาไว้ ณ วัดมหาธาตุ รูปสิงห์สัตว์เหล่านั้นมีเรื่องต่อมาว่า อยู่ในกรุงศรีอยุธยานานถึง 138 ปีถึง พ.ศ. 2112 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ตีได้กรุงศรีอยุธยาให้ขนเอาไปเมืองหงสาวดีทั้งหมด”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าต่อว่า รูปสิงห์นั้นอยู่ที่นั่นอีก 30 ปี พงศาวดารพม่ากล่าวต่อว่า พ.ศ. 2142 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพไปตีหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง อพยพคน ทิ้งเมืองหงสาวดี ไปอาศัยเมืองตองอู

พวกยะไข่ที่ยกไปช่วยพม่าเห็นว่าเมืองร้าง ก็เก็บเอาทรัพย์สิน แล้วเผาปราสาทราชมนเฑียรกับบ้านเรือน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับแล้ว พวกยะไข่จึงให้ขนรูปสัตว์ที่พระเจ้าบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย เอาไปเมืองยะไข่ ถวายเป็นพุทธบูชาไว้ ณ วัดมหามัยมุนี รูปสัมฤทธิ์อยู่ที่เมืองยะไข่อีก 180 ปี หลังจากนั้นก็ผลัดเปลี่ยนสถานที่ไปอีกหลายหน

ส่วนครั้งที่ 2 เนื้อหาใน “นิราสนครวัด” มีระบุถึง สิงห์คู่ ว่า

“…ไทยเอาของเครื่องสัมฤทธิ์มาจากเมืองเขมรเป็นครั้งที่ 2 มีในพงศาวดารว่าพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รูปสิงห์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์กาไหล่ทองมาจากเมืองบันทายมาศคู่ 1 แล้วโปรดให้จำลองรูปสิงห์เขมรเหมือนอย่างนั้นเพิ่มขึ้นอีก 10 ตัว รวมเป็น 12 ตัว ถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ สิงห์คู่เดิมที่ได้มาจากเมืองเขมรนั้นตั้งอยู่ที่เชิงบันไดประตูกลางทางเข้าพระอุโบสถด้านหน้า ถ้าใครพิจารณาดูจะเห็นคราบทองที่กาไหล่ยังติดอยู่ทั้ง 2 ตัว…”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเชิงอรรถของเนื้อหา ปรากฏมีกำกับเพิ่มเติมไว้ว่า ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่ (Boisselier) ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญศิลปะขอมได้มาดูรูปสิงห์สัมฤทธิ์คู่กลางที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ลงความเห็นว่าไม่ใช่สิงห์ขอมเพราะลวดลายที่ประดับหน้าอกไม่ใช่ลวดลายขอม” เนื้อหาต่อมาตั้งข้อสังเกตว่า

“ยังมีสิงห์ศิลาอีกคู่หนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นศิลปะขอมแบบบรรยงก์แก้ (ราว พ.ศ. 1700-1750) อาจจะเป็นสิงห์ศิลาคู่นี้ก็ได้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงนำมาแต่เมืองเขมร”

ทั้งนี้ ปฏิสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ยังปรากฏบันทึกใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4” ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค พ.ศ. 2356–2413/ค.ศ. 1813-1870) ซึ่งเขียนไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริว่า ให้ไปรื้อปราสาทหิน “นครวัด” ของกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี)

แต่เมื่อ พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวง พระนครธมพระนครวัด กลับมากราบทูลว่า…มีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้ไปรื้อ “ปราสาทตาพรหม” พงศาวดารระบุว่า การรื้อปราสาทใช้ไพร่พล 2,000 คน (4 ผลัด ผลัดละ 500 คน) เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1867) ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้านโรดม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ อธิบายไว้ว่า

“สมัยนั้นกัมพูชาตกต่ำอ่อนแอจนกลายเป็นประเทศราชของทั้งสยามและเวียดนาม ก่อนที่จะหนีไปยอมรับการเป็นรัฐในอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867)”

อย่างไรก็ตาม การรื้อปราสาทครั้งนั้นล้มเหลว พงศาวดารอธิบายไว้ว่า เนื่องจากมีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาทล้มตายจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการรื้อปราสาทหินดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้ช่างจำลองปราสาทนครวัดเล็กไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้ ซึ่งปราสาทจำลองนั้นก็ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจาบรมวงศเธอ. นิราศนครวัด. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564