รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งสร้าง “วัดพระแก้ว” ให้เสร็จทันฉลองกรุง 100 ปี

ภาพลายเส้น วัดพระแก้ว
ภาพลายเส้นวัพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) (ภาพจากท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง

หากจะเอ่ยถึง วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับคนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีใครไม่รู้จัก หากวันนี้เราจะแนะนำวัดพระแก้วในอีกมุมหนึ่งให้ท่านรู้จัก เป็นช่วงที่ วัดพระแก้ว กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว และเป็น วัดพระแก้ว ที่นำเสนอโดยชาวต่างชาติที่ชื่อ คาร์ล บ็อค

คาร์ล บ็อค
คาร์ล บ็อค (ภาพจาก Temples and Elephants )

คาร์ล บ็อค (Cark Bock) เป็นนักภูมิศาสตร์ชาวนอร์เวย์ เขาเข้ามาสำรวจลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทยในปี 2424 และเป็นชาวยุโรปคนที่ 2 ที่ได้เดินทางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือสุดของประเทศในช่วงที่ยังเป็นป่าดงทุรกันดาร ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น บ็อคได้นำมาเขียนเป็นหนังสือ โดยครั้งแรก ปี 2426 ตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน และปี 2427 ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Temples and Elephants

ผลงานเล่มนี้ของเขาได้รับการชมเชยจากสมาคมภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น เหรียญตราเกียรติยศจากกษัตริย์ Franz Josef ประเทศออสเตรีย, รางวัลเหรียญทองจาก Geographical Society of London และการเชื้อเชิญให้บ็อคเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมต่างๆ

ปี 2529 ศิลปวัฒนธรรมนำมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า “ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง” โดย เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ เป็นผู้เรียบเรีบง

บ็อคบันทึกเกี่ยวกับการสร้างวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ดังนี้ [มีการจัดย่อหน้าใหม่ และเน้นตัวอักษรให้เข้มเพื่อสะดวกในการอ่าน]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงเริ่มสร้างอาราม [วัดพระแก้ว] อันงามเลิศนี้ขึ้น ถวายแด่พระแก้วมรกต เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร เป็นเครื่องแสดงบุญญาธิการของพระองค์ และเป็นงานชิ้นพิเศษ ที่แสดงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา วัดนี้มีการทำพิธีเปิด พร้อมกับจัดให้มีพิธีทางศาสนาอย่างมโหฬาร เมื่อปีมะเส็ง เดือน 7 จุลศักราช 1147 พ.ศ. 2328 โดยต้องรีบสร้างขึ้นให้เสร็จทันวันฉลองการสร้างพระนครครบ 3 ปี แต่ก็ไม่สำเร็จมีแต่ตัวโบสถ์และหอพระธรรมเท่านั้นที่สร้างเสร็จเรียบร้อย ได้มีการต่อเติมกันอีกเป็นบางครั้งบางคราว แต่วัดนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติ ได้มีการให้คำปฏิญาณว่า จะสร้างวัดให้สำเร็จเมื่อวันอังคาร ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2422 และมีการเริ่มกันใหม่ในระยะเดือนต่อไป จนสำเร็จเรียบร้อยลง เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2425 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี 3 เดือน 20 วัน ราวกับว่างานใหญ่ๆ เช่นนี้ เตรียมไว้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ทั้งพระองค์ยังต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และต้องอาศัยกำลังร่วมมือของบรรดาผู้ที่ได้รับมอบให้ไปปฏิบัติงานอย่างกะทันหัน เพื่อสร้างวัดพระแก้วให้สำเร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองสืบไป

งานสร้างวัดพระแก้วนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของบรรดาพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระอนุชาแต่ละองค์ ต่างก็ได้รับมอบหมายงานส่วนหนึ่งๆ ไปทำโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น องค์หนึ่งก็ให้ทรงดูแลการปูพื้นหินอ่อนใหม่ และประดับประดาพระอุโบสถด้วยรูปช้างศักดิ์สิทธิ์ องค์ที่สองจัดทำศิลาจารึกในพระอุโบสถใหม่ องค์ที่สามดาดทองเหลืองบนพื้นพระอุโบสถ องค์ที่สี่รับหน้าที่ซ่อมงานประดับมุก อีกองค์รับภาระเรื่องซ่อมเพดาน…

การแบ่งงานกันทำโดยมีความศรัทธาในศาสนาประจำชาติ และความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์เช่นนี้ ทำให้งานชิ้นสำคัญสำเร็จลงได้ในที่สุด ภายหลังที่สร้างกันยืดเยื้อมาถึง 100 ปีเต็ม ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 ก็ได้มีพิธีฉลองวัดครั้งสุดท้ายด้วย ความโอ่อ่าภาคภูมิ และเป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจกันโดยทั่วไป

พระบรมรูป พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระแก้ว
พระบรมรูปพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานภายในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในบริเวณวัดพระแก้วนั้น รวมสถานที่หลายแห่งกินเนื้อที่กว้างขวาง มีกำแพงที่ประดับด้วยภาพวาดอย่างละเอียดลออล้อมรอบ ตรงกลางบริเวณมีโบสถ์หลังหนึ่ง เรียกว่าพระมณฑป สร้างเป็นรูปไม้กางเขน และในโอกาสที่มีงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาทรงธรรม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แสดงที่นี่ กำแพงพระมณฑปนี้ฝังข้าวของประดับประดาอย่างสวยงาม และบนเพดานก็ทาสีน้ำเงินและสีทองล้วนๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือการแกะสลักบานประตูไม้มะเกลือ ฝังมุก อย่างละเอียดลออเป็นรูปเทวดา และตามขอบก็ยังมีลายกนกอย่างน่าดูอีก หลังพระมณฑปมีพระเจดีย์ชื่อพระเจดีย์ศรีรัตนา ซึ่งทำด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช สั่งมาจากเยอรมนีสำหรับการนี้โดยเฉพาะ

ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งในบริเวณลานวัด แต่ที่น่าสนใจที่สุดในบรรดาสิ่งที่อยู่ตรงกลางวัดก็คือ อุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระแก้วมรกตอันมีพระนามที่เลื่องลือ เป็นพระพุทธรูปหยกที่งามหาที่เปรียบมิได้ ได้พบที่เชียงราย ในปี พ.ศ. 1979 หลังจากโยกย้ายเปลี่ยนที่ไปหลายแห่ง แล้วในที่สุดก็ได้มาประดิษฐานอย่างปลอดภัยในวัดหลวง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ในกรุงเทพฯ

พระพุทธรูปนี้เปลี่ยนเครื่องทรงที่ทำด้วยทองตามฤดูกาลในปีหนึ่งๆ องค์พระแก้วมรกตประทับอยู่สูงสุดบนยอดที่บูชา จนยากที่จะมองเห็นได้ เพราะแสงสว่างไม่ค่อยจะมีมากอยู่แล้ว และตามธรรมดาก็ปิดหน้าต่างใส่กลอนแน่นหนากันอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกแก่ผู้เข้าชม ถ้าให้รางวัลเสียเล็กๆ น้อยๆ แล้วคนเฝ้าจะเปิดบานเกล็ดอันแสนหนักที่ประดับอยู่ด้านนอกกับรูปเทวดาตัวงอๆ อันหนึ่ง หรือสองอันออกให้ชม เมื่อแสงแดดส่องผ่านความมืดสลัว ในโบสถ์เข้าไปเล้ว และเมื่อแสงสว่างนั้นต้ององค์พระพุทธรูปอันสุกสกาวที่ประทับอยู่เหนือบรรดาแจกันต่างๆ ซึ่งจัดเรียงลำดับอยู่อย่างสวยงาม มีทั้งแจกันดอกไม้สด ดอกไม้ เทียน และพระพุทธรูปต่างๆ ที่ทำด้วย เงิน ทอง และสัมฤทธิ์ และเหนือเครื่องแก้วโบฮีเมียน และเชิงเทียน ซึ่งบางแห่งก็ยังมีเทียนขี้ผึ้งจุดวอมแวมอยู่ ทั้งยังล้อมรอบด้วยฉัตรหลายชั้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการยกย่องนับถือต่อองค์พระแก้วมรกตแล้ว

จึงจะเห็นภาพนั้นงดงามหนักหนา ช่างจัดไว้อย่างเหมาะเจาะยิ่งนักที่จะให้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะได้จากแบบอย่างที่สงบเอาจริงเอาจัง และงามสง่าขององค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาคุณงามความดีในโลกนี้ และความสงบสุขในโลกหน้า พื้นพระอุโบสถนี้ดาดด้วยทองเหลือง และตามฝาผนังประดับประดา ด้วยภาพฝาผนังที่ไม่มีทิวทัศน์อย่างที่มีอยู่ทั่วไป ส่วนมากเป็นภาพทางประวัติศาสตร์ไทยทหรือประวัติพุทธศาสนา

ในพระอุโบสถมีพิธีถือน้ำหรือดื่มน้ำ โดยผู้เข้าพิธีสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์กันทุกครึ่งปี บรรดาเมืองขึ้นต่างๆ ก็ส่งผู้แทนมาเข้าพิธี รวมทั้งเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่างก็ทำพิธีสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย พิธีนี้ประกอบด้วยการดื่มน้ำที่พระเสกไว้ และทำกันปีละสองครั้ง คือ ในวันหนึ่งค่ำเดือนห้า ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และในวัน แรม 13 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายน (พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา)

การบรรยายที่ได้กล่าวมานี้ คงจะช่วยให้เห็นภาพสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อไปจะได้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกครองของราชวงศ์ ที่ได้ปกครองประเทศสยามในเวลานี้ การที่สร้างได้สำเร็จจะเป็นเครื่องกำหนดยุคสำคัญยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยได้เพียงรางๆ เท่านั้น

ในเช้าวันที่เป็นวันสำคัญเพราะมีพิธีฉลองวัดนั้น บรรดาเจ้านายต่างๆ ก็มาประชุมกันเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกลับถวายบังคมทูลเรื่องงานที่ได้กระทำเป็นลำดับ และงานส่วนที่แต่ละองค์ช่วยกันทำจนเป็นผลสำเร็จ พระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าสนใจจนข้าพเจ้าต้อง พยายามเอามาแปลไว้ดังนี้

“พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย และทุกๆ ท่านที่ได้ช่วยเหลือในการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเป็นผลสำเร็จ ที่ได้มาชุมนุมกัน และกระทำให้เรามีความพอใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ยินรายงานจากพวกท่านว่า วัดนี้ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วตามความประสงค์ของเรา เรารู้สึกปีติยินดี และขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนสำเร็จนี้จัดทำขึ้นด้วยความศรัทธาในศาสนา และเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์นี้ ผู้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อจะให้เป็นผลงานที่แสดงถึงพระราชศรัทธา เป็นศรีสง่า เป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง และบรรดาราชสันตติวงศ์ผู้ได้ปกครองประเทศสยาม ต่างก็เคารพบูชา และได้สร้างวัดนี้เพิ่มเติมเรื่อยมามิได้หยุดหย่อน มาจนถึงสมเด็จพระราชบิดาของเรา

ผู้ได้ทรงสนพระทัยในองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนี้ยิ่งกว่าพระราชบุพการีองค์ใดๆ แต่พระราชประสงค์ของพระองค์ในอันที่จะสร้างวัดนี้ให้สำเร็จต้องล้มเลิกไป เพราะการสวรรคตเสียก่อนที่จะถึงเวลาอันควร และต่อจากนี้ถึงการสร้างจะได้ดำเนินต่อไป โดยมีผู้ควบคุมจัดการหลายคนก็ตาม แต่ก็ยังมีความหมดเปลืองที่จะทำให้งานไม่ก้าวหน้าไปเป็นที่น่าพอใจ จนกระทั่งได้มีการแบ่งการควบคุมงานให้เป็นสัดส่วน และแบ่งเงินทองที่ใช้เป็นทุนในการก่อสร้างอย่างถูกต้อง วัดนี้จึงได้สร้างสำเร็จลงได้

เมื่อเราระลึกถึงพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเราที่ได้ทรงเสริมสร้างวัดนี้ ได้ทรงทำการสักการะบูชาต่างๆ ที่นี่ และได้ทรงเอาพระทัยใส่อย่างจริงจัง ด้วยความที่ศรัทธาต่อพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรอย่างแก่กล้า เราก็เกิดมีความปรารถนาอยากจะเห็นวัดนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ทันเวลางานฉลองการที่ได้สร้างและป้องกันพระนคร คือกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ครบ 100 ปี เพราะวัดนี้และตัวพระนครได้สร้างขึ้นในปีเดียวกัน จะได้เป็นงานฉลองครบร้อยปีทั้งของวัดพระศรีรัตนศาสดารามและของกรุงรัตนโกสินทร์ไปด้วยกัน แต่ที่แรกพวกท่านทุกคนต่างก็มีความเห็นกันแข็งแรงว่า งานที่ใหญ่โตเช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำให้เสร็จลงทันเวลาที่ต้องการได้

ถึงตัวเราเองก็ยังลังเลมากอยู่ในเรื่องที่จะสร้างให้เสร็จลงได้ แต่ด้วยเหตุผลสองประการดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เรากล้าสวดมนต์อธิษฐานต่อองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากร ถ้าเราจะได้ปกครองประเทศสยามต่อไปได้อีกเป็นเวลานาน ก็ขอให้สร้างวัดนี้สำเร็จทันระยะเวลาที่ต้องการเถิด เมื่อได้สวดมนต์เช่นนั้นแล้ว จึงได้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย และแจ้งให้ทราบถึงความปรารถนาทั้งสองประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยอ้างว่า

เมื่อสมเด็จพระราชบิดาสวรรคตนั้น พวกเราอายุยังน้อยมาก ไม่มีใครพอที่จะแสดงความกตัญญูและจงรักภักดีต่อพระองค์ได้ บัดนี้เราต่างก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีอายุสมควรที่จะกระทำการสำคัญ ที่สมเด็จพระราชบิดาผู้สวรรคตไป ได้ตั้งพระทัยจะกระทำเพื่อพระราชกุศลและเพื่อพระเกียรติยศ แต่ยังไม่สำเร็จลงได้แล้ว เราจึงควรจะใช้สติปัญญาทั้งหมดของเราจัดการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปฏิบัติงานขั้นต่อไปด้วยความกตัญญูกตเวที ซึ่งจะไม่แต่เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่จะเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ให้ปรากฏสืบไปด้วย

ข้อสอง เราต้องการจะให้สร้างวัดนี้ให้เสร็จทันงานฉลองพระนครครบ 100 ปี ซึ่งก็ต้องอาศัยพวกพี่ๆ น้องๆ ผู้ที่เราได้อุ้มชูช่วยเหลือ และเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กด้วยความห่วงใยรักใคร่ และล้วนแต่เป็นผู้ที่ไม่เคยแสดงเจตนาร้ายต่อตัวเราเลยสักครั้งเดียว มีแต่จะแสดงความจงรักภักดีอย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลย ทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าการที่เราอธิษฐานไปนั้น จะมีผลชักจูงให้พวกท่านพยายามจนสุดกำลังที่จะทำงานให้สำเร็จผลโดยรวดเร็ว

เพราะพวกท่านก็ย่อมปรารถนา ให้เรามีชีวิตยืนยาวต่อไป ส่วนเรื่องเงินที่จำเป็นจะต้องใช้นั้น ถ้าต้องเบิกจากคลังแผ่นดินก็จะเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น เพราะเมื่อจ่ายเงินในกิจการต่างๆ ของแผ่นดินไปแล้ว ก็จะเหลือเงินไม่พอสำหรับสร้างวัด ดังนั้น เราจึงใช้เงินพระคลังข้างที่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทิ้งเป็นมรดกไว้ ทั้งเมื่อก่อนสวรรคตก็ยังได้ทรงอุทิศให้ใช้ในการสร้างวัดวาอารามและเงินใช้สอยส่วนตัวของเราเอง วัดนี้จึงสร้างสำเร็จขึ้นมาได้โดยใช้เงินทั้งสองอย่างนี้เท่านั้น

บัดนี้ ความปรารถนาทั้งสองประการของเราก็ได้เป็นผลสำเร็จลงแล้ว และเป็นที่เห็นชัดแล้วว่าความปรารถนา และความคิดของเราถูกต้อง และเป็นความจริง การที่สร้างวัดนี้ได้สำเร็จทำให้เรามีความปีติยินดีเป็นที่สุด เพราะเป็นการที่ทำให้เราได้แสดงความกตัญญูกตเวที ต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชบิดาผู้ทรงได้ชุบเลี้ยงเรามา…

เราขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุสงฆ์ และประชาชน ที่ได้มาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยจงมีส่วนได้รับความปีติยินดีเช่นตัวเรา และขอให้ได้รับกุศลผลบุญ และความสุขความเจริญทั่วทุกท่าน

ส่วนตัวเรานั้น ขอถวายผลบุญกุศลในครั้งนี้ แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้สวรรคตไปแล้ว และบรรดาเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ ขอเทพยดาอารักษ์ในสากลโลก จงมาร่วมในการแพร่พระเกียรติคุณ และความปรีดาปราโมทยในการที่สร้างงานอันยิ่งใหญ่นี้ได้สำเร็จสมดังความปรารถนาของเราเถิด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2563