“พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว?

พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกตเมื่อมิได้ประดับเครื่องทรง (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เหตุการณ์เกี่ยวกับ “พระแก้วมรกต” หลังถูกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันท์ มีเอกสารโบราณหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก และเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่อีกหลักฐานหนึ่งกลับกล่าวไว้ว่า พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์” มาก่อน

แต่ ดร. ศานติ ภักดีคำ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ณ ปี 2566 เป็นภาคีสมาชิก​ สำนักศิลป​กรรม ราชบัณฑิต​ยสภา-กอง บก.) ​กล่าวว่า มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่งระบุว่า ก่อนหน้าที่จะมีการย้ายพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระแก้วมรกตได้ถูกย้ายไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนฯ ก่อน มิได้ย้ายจากวัดแจ้งเข้าวัดพระแก้วโดยตรงอย่างที่เอกสารหลายชิ้นระบุ

หลักฐานที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “สังคีติยวงศ์” แต่งโดย สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯในสมัยที่ยังเป็นพระพิมลธรรม เมื่อ พ.ศ. 2332 เป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานการสังคายนาพระไตรปิฎก ภาษาบาลี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ส่วนที่กล่าวถึงการย้ายพระแก้วอยู่ใน สังคีติยวงศ์ ปริจเฉทที่ 8 เขียนเป็นภาษาบาลีว่า “รตนพุทฺธพิมฺพํ อาราเธตฺวา นาวาสงฺฆาเฏน อติสกฺการปริปุณฺเณน โพธาราเมตํ ปติฏฺจฐาเปตฺวา ชยภูมึวิจาเรตฺวา” (ข้อความต้นฉบับใช้ “ฐ” ไม่มีเชิง)

ข้อความนี้ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้แปลว่า “…จึงให้อาราธนาพระพุทธพิมพ์แก้วปฏิมา ลงเรือขนานมา พร้อมด้วยสักการบูชายิ่งครบถ้วนทุกประการมาประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธาราม แล้วจึงให้เที่ยวพิจารณาหาสถานที่ชัยภูมิได้แล้ว…”

และในบทเดียวกันยังกล่าวถึงการอัญเชิญพระแก้วจากวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระแก้วว่า

“อถโฃ นาคเสนตฺเถเรน สตฺถุธาตุปจฺจตฺถริตํ ปวรสุภนิลาภาสํ มรกฏพุทฺธพิมฺพํ นาชาปูชาสกฺกาเรหิ โพธารามโต อานยิตฺวา สิริรตนสาสฺตาราเม ปวรสุนฺทรอุโปสถาคาเรตมฺปิ ฐปาเปสุํ…” (ข้อความต้นฉบับใช้ “ฐ” ไม่มีเชิง)

พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต เมื่อมิได้ประดับเครื่องทรง (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แปลโดยพระยาปริยัติธรรมธาดาได้ความว่า

“…ครั้นแล้วโปรดเกล้า ให้เชิญพระพุทธพิมพ์มรกต อันพระนาคเสนเจ้า ได้บรรจุพระสัตถุธาตุไว้ทรงรัศมีเขียวงามประเสริฐแห่ออกจากวัดโพธารามมาวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดิษฐานไว้ในโรงอุโบสถอันงามประเสริฐนั้นแล้ว…”

ปัญหาที่ตามมาก็คือ หลักฐานตามที่ปรากฏใน สังคีติยวงศ์ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เมื่อเทียบกับเอกสารอื่นๆ? ตรงนี้ ดร. ศานติ มองว่า สังคีติยวงศ์ ถูกเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2332 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพียง 7 ปี จึงใกล้กับเหตุการณ์การย้ายพระแก้วมากกว่าเอกสารอื่นๆ ที่เขียนขึ้นภายหลังเป็นเวลานาน “แม้กระทั่งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน” ซึ่งเป็นเอกสารที่ชำระขึ้นในปี พ.ศ. 2338 ก็ยังถือว่าหลัง สังคีติยวงศ์ อยู่หลายปี

ดร. ศานติ ยังเชื่อว่า สมเด็จพระพนรัตน์ น่าจะเป็น “ประจักษ์พยาน” ที่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายด้วยตาตนเองด้วย เพราะสมเด็จพระพนรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมได้ครองวัดโพธิ์มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แม้จะเคยถูกพระเจ้าตากลงทัณฑกรรม แต่เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงคืนสมณศักดิ์และให้พระพิมลธรรมครองวัดโพธิ์ดังเดิม

และหากพิจารณาถึงความสำคัญของวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเคยถูกใช้จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วยแล้ว ความเป็นไปได้ที่ พระแก้วมรกตจะเคยถูกประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ตามที่สมเด็จพระพนรัตน์กล่าวใน สังคีติยวงศ์ จึงมีค่อนข้างสูง และยังอาจเป็นพระพุทธรูปประธานในพระราชพิธีครั้งนั้นด้วย เหมือนเช่นการใช้พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกต ในการประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในลักษณะเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดร. ศานติ ภักดีคำ. “พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)? ข้อมูลที่ถูกหลงลืมใน ‘สังคีติยวงศ์'”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2553.


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 12 เมษายน 2566