วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ 200 ปี สมานฉันท์ จักรี-ธนบุรี

วัดอภัยทายาราม
พระอุโบสถวัดอภัยทายาราม ที่บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่บนฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2489 ภาพนี้ถ่ายจากอาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)

“วัดอภัยทายาราม” หรือที่ชาวบ้านยังเรียกกันในปัจจุบันว่า “วัดมะกอก” ตั้งอยู่ติดกับเขตโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หันหน้าเข้าสู่คลองสามเสน ใน พ.ศ. 2549 เป็นวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ซึ่งวัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

สาเหตุอย่างหนึ่งอาจมาจากประวัติวัด “อย่างเป็นทางการ” ของกรมการศาสนาซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 ก็ใช้อ้างอิงไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่หลายข้อ รวมไปถึงการระบุเจ้านายผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ผิดองค์

ประวัติการปฏิสังขรณ์วัด “ตัวจริง” ได้ถูกจารึกเป็นเพลงยาวไว้บนแผ่นไม้สักลงรัก เขียนทอง เก็บรักษาไว้ที่วัดมาตลอดโดยมิได้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่ก็มิได้มีการอนุรักษ์ ซ่อมแซม จนปัจจุบันเพลงยาวที่จารึกไว้ได้ลบเลือนจนยากที่จะอ่านได้ความ

อย่างไรก็ดีคุณบุญเตือน ศรีวรพจน์ แห่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้พบเพลงยาวฉบับตัวเขียนในสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเนื้อหาตรงกันกับเพลงยาวที่จารึกไว้บนแผ่นไม้ของวัด และได้เขียนแนะนำไว้พอสังเขปแล้วในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2548 ทำให้เราได้ “ความสมบูรณ์” ในการปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ ทัศน์ ทองทราย ก็ได้บันทึกประวัติวัด “จากคำบอกเล่า” ของเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดียวกัน

แต่ในวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ในปี 2549 นอกจากประวัติการปฏิสังขรณ์วัดจากเพลงยาวและประวัติวัดจากคำบอกเล่าแล้ว ยังควรพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน โดยเฉพาะในประเด็นของ “ชื่อวัด” และวัตถุประสงค์ในการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้

จารึก วัดอภัยทายาราม ระบุ เจ้าฟ้าเหม็น มา บูรณะ
แผ่นไม้สักขนาดใหญ่ลงรักเขียนทอง จารึกประวัติการสร้างและฉลองวัดอภัยทายาราม อายุกว่า 200 ปี
https://www.nlt.go.th

ปฏิสังขรณ์วัดบ้านนอก เสมอด้วยวัดหลวง

วัดอภัยทายาราม เดิมเป็นวัดที่ทรุดโทรม ซึ่งน่าจะสร้างมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา “เจ้าฟ้าเหม็น” พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คงเสด็จมาพบเข้า เห็นวัดนั้นเสื่อมโทรมไม่สมกับเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ดังที่เพลงยาวได้กล่าวไว้ดังนี้

ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน   เหนบริเวณเปนแขมคาป่ารองหนอง

ไม่รุ่งเรืองงามอรามด้วยแก้วทอง   ไร้วิหารท้องน้อยหนึ่งมุงคา

ไม่ควรสถิศพระพิชิตมาเรศ   น่าสังเวทเหมือนเสดจ์อยู่ป่าหญ่า

ทั้งฝืดเคืองเบื้องกิจสมณา   พระศรัดทาหวังประเทืองในเรืองธรรม

เมื่อเสด็จมาพบเข้าดังนี้ ก็มีพระประสงค์จะทำการกุศล จึงทรงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่มาเตรียมการปฏิสังขรณ์ใหญ่ ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปีจุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340)

ครั้นถึงปีจุลศักราช 1160 (พ.ศ. 2341) เจ้าฟ้าเหม็นจึงเสด็จถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เป็นการเริ่มต้นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ คือ สร้างใหม่ทั้งวัด อย่างไรก็ดีวันเดือนปีที่ปรากฏในเพลงยาวนั้นยังคลาดเคลื่อนกับปฏิทินอยู่บ้างเล็กน้อย คือ กำหนดพระฤกษ์วันเสด็จในการถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์เพลงยาวได้ระบุว่าเป็น “สุริยวารอาสุชมาล กาลปักทวาทัสมี ปีมเมียสำฤทศกปรมาร” ถอดคำแปลออกมาเป็น วันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 12 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1160 ซึ่งตามปฏิทินนั้นเดือนแรม ดังกล่าวจะตรงกับวันจันทร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์

นอกจากนี้ในบทอื่นๆ ที่กล่าวถึงวันเดือนปีก็จะคลาดเคลื่อนทุกครั้ง จึงเป็นการยากที่จะถอดวันเดือนปีในเพลงยาว ให้เป็นวันเดือนปีในปฏิทินสุริยคติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

วัดอภัยทายาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์นั้นยิ่งใหญ่ และงดงามอย่างยิ่ง เสนาสนะทุกสิ่งอันล้วนวิจิตรบรรจงและอลังการ เทียบเคียงได้กับวัดสำคัญๆ ในสมัยนั้น และสิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าวัดนี้เป็น “วัดสำคัญ” นอกกำแพงพระนครคือ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และ “วังหน้า” กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งและหวาดระแวง

ที่ตั้งของวัดจะอยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางของเมืองในขณะนั้น สามารถจัดได้ว่าเป็น “วัดบ้านนอก” ดังนั้นการเสด็จทั้ง 2 พระองค์ในครั้งนี้ย่อมมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้อง “สืบสวน” กันอย่างละเอียดเพื่อหาเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินมายัง “วัดบ้านนอก” ในครั้งนั้น

ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2489 ที่ลูกศรชี้คือพระอุโบสถวัดอภัยทายารามหลังเก่าที่ “เจ้าฟ้าเหม็น” ทรงสร้าง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)

ขณะที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินนั้น วัดยังอยู่ระหว่างก่อสร้างคือเมื่อ เดือนยี่ ปีจุลศักราช 1163 (พ.ศ. 2344) จึงไม่ได้เสด็จมาเพื่อเฉลิมฉลองหากแต่มาทรงผูกพัทธสีมา “จผูกพัดเสมาประชุมสงฆ” แต่ถึงกระนั้นก็เสด็จมาทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ “มหึมา”

สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์   ผู้ทรงธรรม์อันสถิศมหาสถาร

ก็เสดจ์ด้วยราชบริพาน   กระบวนธารชลมาศมหึมา

ถึงประทับพลับพลาอาวาสวัด   ดำรัดการที่สืบพระสาสนา

สท้านเสียงดุริยสัทโกลา   หลดนตรีก้องประโคมประโคมไชย

เสจพระราชานุกิจพิทธีกุศล   เปนวันมนทณจันทรไม่แจ่มไส

ประทีปรัตนรายเรืองแสงโคมไฟ   เสดจ์คันไลเลิกกลับแสนยากร

การปฏิสังขรณ์ใหญ่วัดอภัยทายารามใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี จึงแล้วเสร็จในเดือน 3 ปีจุลศักราช 1168 (พ.ศ. 2349) ผ่านมาครบ 200 ปีในปีนี้พอดี เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จบริบูรณ์จึงมีการเฉลิมฉลองขึ้น เป็นงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน มีมหรสพ ละคร การละเล่นอย่างยิ่งใหญ่ และเทียบเท่ากับงานเฉลิมฉลองระดับ “งานหลวง” ทั้งสิ้น องค์ประธานองค์ประธานผู้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดเสด็จร่วมงานฉลองครบทุกวันจนจบพิธี แล้วขนานนามวัดว่า “อไภยทาราม”

ส้างวัดสิ้นเงินห้าสิบเก้าชั่ง   พระไทยหวังจไห้เป็นแก่นสานต์

ตั้งทำอยู่แปดปีจึ่งเสจการ   ขนานชื่อวัดอไภยทาราม

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นปริศนาชวนให้ค้นหาคำตอบของ วัดอภัยทายาราม ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาว และอื่นๆ ไม่ใช่การปฏิสังขรณ์อย่างยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การสร้างเสนาสนะอย่างวิจิตรบรรจง หรือแม้แต่งานฉลอง 7 วัน 7 คืน ด้วยการละเล่นดุจเดียวกับงานหลวง สิ่งเหล่านี้มีฐานะเป็นแต่เพียง “พยาน” สำคัญ ที่จะนำไปสู่การไขคำตอบสำคัญ ซึ่งก็คือเหตุอันเป็นที่มาของชื่อวัด “อไภยทาราม” นั่นเอง

วัดอไภยทาราม ไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็น

นามวัด “อภัยทายาราม” เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในชั้นหลัง เดิมนามวัดตามที่ปรากฏในเพลงยาวขนานนามว่า “อไภยทาราม” ซึ่งก็น่าจะเป็นนามพระราชทาน ชื่อ “อไภยทาราม” นี้อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็น ผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่พระนาม “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์” ของเจ้าฟ้าเหม็นนั้น มิได้ใช้โดยตลอด เนื่องด้วยมีพระราชดำริเห็นว่าเป็นนามอัปมงคล!

ที่มาที่ไปของพระนามอัปมงคล เริ่มต้นและเกี่ยวพันกับพระชาติกำเนิดของเจ้าฟ้าเหม็น ในฐานะผู้ที่ทรงอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือพระอัยกา หรือ “คุณตา” ซึ่งได้สำเร็จโทษพระราชบิดาเจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดิน

เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระสนมเอก ท่านผู้นี้เป็นธิดาของเจ้าพระยาจักรี หรือต่อมาเสด็จขึ้นปกครองแผ่นดินเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ในพระราชวงศ์จักรี

เจ้าฟ้าเหม็นประสูติในแผ่นดินกรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช 2322 ต่อมาอีกเพียง 3 ปี “คุณตา” เจ้าพระยาจักรี ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว สถาปนาพระราชวงศ์ใหม่ โดยได้สำเร็จโทษ “เจ้าตาก” พระราชบิดาของเจ้าฟ้าเหม็น พร้อมกับพระญาติบางส่วนในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นอันสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี

หลังจากเหตุการณ์ล้างครัว “เจ้าตาก” จบลงยังเหลือพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกบางส่วนที่ได้รับการยกเว้น รวมทั้งเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เนื่องจาก “คุณตา” ทรงอาลัยหลานรักพระองค์นี้ยิ่งนัก ดังนั้นตลอดรัชกาลที่ 1 แม้เจ้าฟ้าเหม็นจะทรงถูก “ตัด” ออกจากราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่ก็ยังทรงเป็น “พระเจ้าหลานเธอ” พระองค์โปรดของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดรัชกาล

พระนามพระราชทานแรกของเจ้าฟ้าเหม็น ที่เป็นนาม “พ่อตั้ง” คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระนามนี้ใช้ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็มีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนพระนามเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ในแผ่นดินก่อน ด้วยไม่สมควรที่จะใช้เรียกขานในแผ่นดินใหม่นี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเจ้าตากขนานพระนามพระราชนัดดาให้เรียก เจ้าฟ้าสุพันธวงษ์ ไว้แต่เดิมนั้น จะใช้คงอยู่ดูไม่สมควรแก่แผ่นดินประจุบันนี้ จึ่งพระราชทานพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศรสมมติวงษ พงษอิศวรราชกุมาร”

อย่างไรก็ดีพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ที่คาดว่าเป็นพระนามที่นำไปขนานนาม “วัดอไภยทาราม” นั้น ตามความเป็นจริงพระนามนี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้น ก็มีพระราชดำริให้เลิกเสียและเปลี่ยนพระนามใหม่อีกครั้ง

“ภายหลังข้าราชการกราบบังคมทูลหาสิ้นพระนามไม่ กราบทูลแต่ว่า เจ้าฟ้าอภัย จึ่งทรงเฉลียวพระไทย แล้วมีพระราชดำรัสว่า ชื่อนี้พ้องต้องนามกับเจ้าฟ้าอภัยทัต เจ้าฟ้าปรเมศ เจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินกรุงเก่า ไม่เพราะหูเลย จึ่งพระราชทานโปรดเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมารแต่นั้นมาฯ” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน), อมรินทร์, 2539, น. 43)

เหตุการณ์นี้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ในช่วงปีจุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 จึงเท่ากับว่าพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้อยู่ไม่เกิน 2 ปี จึงยกเลิกเสีย ด้วยว่าเป็นพระนามอัปมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของ กล่าวคือพระนาม “เจ้าฟ้าอภัย” ที่ใช้ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าของพระนามล้วนแต่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทุกพระองค์

นอกจากนี้หลักฐานการเปลี่ยนพระนามยังสอดคล้องกับการอ้างถึงพระนามที่เปลี่ยนใหม่ เมื่อทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ “ทรงกรม” ในปีพุทธศักราช 2350 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม 1 ปี ขณะนั้นทรงใช้พระนามเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์อยู่แล้ว

“โปรดตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต 1 สมเด็จพระเจ้าหลานพระองค์นี้ ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ข้าราชการขานพระนามโดยย่อว่า เจ้าฟ้าอภัย ได้ทรงสดับรับสั่งว่า พ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทัต ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงโปรดให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 102)

ดังนั้นหากกำหนดระยะเวลาโดยสังเขปเกี่ยวกับ พระนามเจ้าฟ้าเหม็น ควรจะได้ดังนี้ เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระนามลำลอง คงใช้ตลอดพระชนมายุ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ใช้แต่แรกเกิดในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2322-5) เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2325-6) เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งทรงกรม (พ.ศ. 2326-50) และกรมขุนกษัตรานุชิต ใช้เป็นพระนามสุดท้าย (พ.ศ. 2350-2)

ระยะเวลาของการใช้พระนามแต่ละพระนามนั้นชี้ให้เห็นว่า พระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์นั้นถูกยกเลิกโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2326 หรือเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 ก่อนที่จะทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทารามในปีพุทธศักราช 2349 เป็นเวลานานถึง 23 ปี นอกจากนี้พระนามอภัยธิเบศร์ ยังได้รับพระราชวิจารณ์ว่า “ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะนำพระนามที่เลิกใช้ไปนานแล้วและเป็นอัปมงคลกลับมาใช้ใหม่ โดยนำไปตั้งเป็นชื่อวัด อันควรแก่นามสิริมงคลเท่านั้น

ดังนั้นหากชื่อวัดอไภยทารามไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็นแล้ว ชื่อวัดแห่งนี้ย่อมจะมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่งแอบแฝงไว้หรือไม่?

แผนการ “ตา” ปกป้องหลาน

เมื่อเริ่มมีการลงมือปฏิสังขรณ์วัดนั้นตกอยู่ในปีพุทธศักราช 2341 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระชนมพรรษามากแล้วถึง 62 พรรษา แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ชรามากนัก แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “วังหน้า” และ “วังหลวง” ยังคงมีแฝงอยู่ตลอดรัชกาล

ซึ่งต่อมาอีกเพียง 10 ปีหลังจากการปฏิสังขรณ์วัด ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ด้วยพระชนมพรรษา 72 พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นชอบให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อย่างยิ่งใหญ่ เพราะมีพระราชประสงค์มากไปกว่าการสร้างวัดเพื่อการกุศลเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปีมะโรง พุทธศักราช 2334 เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า “วิกฤตวังหน้า” ถึงขั้นที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เหมือนอย่างเคย เหตุจากความหวาดระแวงที่สะสมกันเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อมีพิธีตรุษ วังหลวงได้ลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมเล็งตรงมายังวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าวังหลวงอาจจะมีประสงค์ร้าย ก็มีรับสั่งให้คนไปสืบความ ครั้นได้ความว่า ปืนนั้นเพื่อการพิธีตรุษ ก็ทรงคลายพระพิโรธลง เหตุการณ์ครั้งนี้หมิ่นเหม่ถึงขั้นที่จะเกิดศึกกลางเมือง ตามที่ปรากฏอยู่ในนิพานวังน่า ดังนี้

เพราะพระปิ่นดำรงบวรสถาน   กระหึ่มหาญทุนเหี้ยมกระหยับย่ำ

เหมือนจะวางกลางเมืองเมื่อเคืองคำ   พิโรธร่ำดั่งจะรุดเข้าโรมรัน

ครั้นทรงทราบว่าพระจอมบิตุลา   ให้พลกัมพูชาลากปืนขัน

ประจุป้อมล้อมราชวังจันทร์   จึงมีบันฑูรสั่งให้สืบความ

ตรัสให้มาตุรงค์ตรงรับสั่ง   มิไปฟังราชกิจก็คิดขาม

มาสืบเรื่องพระไม่ปลงจะสงคราม   ก็ประณามทูลบาทไม่พาดพิง

ว่าคำขอมน้อมพจมานสาร   ไม่หาญเสน่หาพระนุชยิ่ง

แต่พิธีตรุศยืนลากปืนจริง   ยังนึกกิ่งกริ้วนั้นพอบันเทา

ยังมีเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งอันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองวัง คือในปีพุทธศักราช 2338 หลังการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระชนกนาถ เมื่อวังหน้า “ลักไก่” ซ่อนฝีพายฝีมือจัดไว้ในงานแข่งขันเรือพาย ฝ่ายข้าราชการวังหลวงทราบเข้าก็ถวายรายงานให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสว่า เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ และทรงให้เลิกการแข่งเรือระหว่างสองวังตั้งแต่นั้นมา เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าอีกเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ข้อบาดหมางหวาดระแวงยังเกิดขึ้นอีกหลายเรื่อง รวมไปถึงการที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงกราบทูลขอพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่ม สำหรับแจกจ่ายข้าราชการ แต่ก็ทรงถูกปฏิเสธ

แม้ว่าการกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ เช่นนี้ ที่ไม่ถึงขั้นตัดรอนขาดจากกัน ก็เพราะมีสมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็น “กาวใจ” ประสานความแตกร้าวนี้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์สุดท้ายที่เป็นหลักฐานว่า พี่น้องสองวังนี้ยังคง “คาใจ” กันอยู่จนวาระสุดท้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยังมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งของทหารรักษาพระองค์ทั้ง 2 วัง จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อมีพระราชปรารภในช่วงปลายพระชนมายุ ที่ทรงห่วงวังหน้าและลูกหลานวังหน้า เกรงว่าจะถูกเบียดเบียนจากวังหลวง

“ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 13, คุรุสภา, 2507, น. 47)

แน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงวังหน้าเคืองวังหลวงเท่านั้น เหตุการณ์ “กบฏวังหน้า” ก็ทำให้วังหลวงเคืองวังหน้าด้วยเช่นกัน ถึงขั้นตัดรอนไม่เผาผีกัน

“รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 95)

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้านี้ ย่อมส่งผลทางตรงต่อสวัสดิภาพของเจ้าฟ้าเหม็นโดยตรง หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อนกรมพระราชวังบวรฯ เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ “กำจัด” เจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวปราบดาภิเษก ทรงเป็นเจ้าของวรรคทองที่ว่า “ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” นั่นเอง

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสินจะรับพระราชทานเอาไปใส่เรือล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 460)

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 19 ปี แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครลืมความเป็น “ลูกเจ้าตาก” ของเจ้าฟ้าเหม็นได้ ซึ่งต้องทรงแบก “แอก” นี้ ไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ย้อนหลังไป 2 ปี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงผูกพัทธสีมาที่วัดอไภยทาราม สมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลงในปีเดียวกัน โดยเฉพาะกรมสมเด็จ พระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ที่ทรงชุบเลี้ยงเจ้าฟ้าเหม็นแทนพระมารดามาแต่ประสูติ เท่ากับร่มโพธิ์ร่มไทรหรือเกราะป้องกันภัยของเจ้าฟ้าเหม็นได้สิ้นลงไปด้วย เหลือแต่เพียง “คุณตา” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ อีกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

การที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกันได้นั้น ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมักจะเป็น “งานยักษ์” เช่น ในงานพระศพสมเด็จพระพี่นาง (พ.ศ. 2342) หรือในงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ ปีเดียวกับที่เสด็จวัดอไภยทาราม ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลพร้อมกันที่ “วัดบ้านนอก” ของ “ลูกเจ้าตาก” จึงไม่ใช่เรื่องปรกติในเวลานั้น

วัดอไภย คือวัดไม่มีภัย

คำว่า อไภย พจนานุกรมฉบับหมอบรัดเลย์เริ่มทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลไว้ว่า ไม่มีไภย, เช่นคนอยู่ปราศจากไภย มีราชไภย เปนต้นนั้น. พจนานุกรมฉบับหมอคาสเวลในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลว่า อะไภย นั้นคือขอโทษ เหมือนคำพูดว่าข้าขออไภยโทษเถิด ส่วนพจนานุกรมสมัยใหม่ฉบับมติชนแปลว่า ยกโทษให้ไม่เอาผิด และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ยกโทษให้, ความไม่มีภัย

จากความหมายของชื่อวัดดังกล่าวนี้ กับการที่กรมพระราชวังบวรฯ ผู้ที่ทรงเคยสังฆ่าเจ้าฟ้าเหม็น โดยเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มายัง “วัดอไภย” ซึ่งไม่ใช่ตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็นนี้ ย่อมมีนัยยะแห่งการ “สมานฉันท์” ระหว่างกรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าเหม็น ประการหนึ่ง และอาจหมายรวมถึงการ “ยกโทษ” หรือ “ขอโทษ” แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปด้วยในเวลาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าวัดอไภยทาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์ นั้นไม่ใช่แค่การ “สร้างวัดให้หลานเล่น” แน่ แต่เป็นการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง มีเสนาสนะครบบริบูรณ์อย่างวัดหลวง มีพระอุโบสถ เจดีย์ใหญ่ ลวดลายจิตรกรรมวิจิตรบรรเจิด มีการเกณฑ์ไพร่มาทำงานนับพันคน นิมนต์พระสงฆ์เกือบ 2,000 รูป มีงานฉลอง การละเล่น ละคร ของหลวง 7 วัน 7 คืน สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้สะท้อนเพียงเพราะองค์ผู้ปฏิสังขรณ์เป็น “เจ้าฟ้า” หรือ “หลานรัก” เท่านั้น แต่สิ่งอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เหมาะสม กับการยกโทษหรือขอโทษ สำหรับราชภัยในอดีต

อย่างไรก็ดีเมื่อวัดนี้สร้างเสร็จจนมีงานฉลองในปีพุทธศักราช 2349 นั้น กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทิวงคตไปก่อนหน้าแล้วในปีพุทธศักราช 2346 แผนการสมานฉันท์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และวัดอไภยทารามก็ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าฟ้าเหม็นได้ตามพระราชประสงค์ความพยายามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในการปกป้องหลานรักจบลงเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ในต้นรัชกาลที่ 2 แห่งพระราชวงศ์จักรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2565