เจ้าฟ้าเหม็น เจ้านายผู้เป็น “ลูกกษัตริย์-หลานกษัตริย์” กลับมีพระนามอัปมงคล

เจ้าฟ้าเหม็น กรมขุนกษัตรานุชิต
รูป กรมขุนกษัตรานุชิต หรือเจ้าฟ้าเหม็นตามจินตนาการ (ภาพจากหนังสือ "กบฏเจ้าฟ้าเหม็นฯ" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน 2457)

เจ้าฟ้าเหม็น หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาจักรี ขุนนางที่มีอำนาจมากที่สุดในแผ่นดินกรุงธนบุรี (ภายหลังปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เจ้าฟ้าเหม็นประสูติเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2322

หาก เจ้าฟ้าเหม็น ที่มีพระชาติประสูติที่ยิ่งใหญ่ เป็น “พระราชโอรส” และ “พระราชนัดดา” ของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถึง 2 พระองค์ กลับมีพระนามอัปมงคล แม้จะมีการเปลี่ยนพระนามหลายครั้งด้วยกัน

เริ่มจากการเปลี่ยน “พระนาม” ครั้งแรก พระนามของเจ้าฟ้าเหม็นในสมัยกรุงธนบุรีคือสมเด็จ “เจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์” ครั้นเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์” เรียกขานกันโดยทั่วไปว่าเจ้าฟ้าอภัย

เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้ทรงสดับก็รับสั่งว่า พระนามนี้ไปพ้องกับพระนาม เจ้าฟ้าอภัยทศ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ และ เจ้าฟ้าอภัย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ที่ล้วนไม่เป็นมงคลทั้งสิ้น จึงโปรดให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” ก่อนที่จะทรงกรมเป็น “กรมขุนกษัตรานุชิต” ในปี 2349

ทุกพระนามที่กล่าวมานั้นล้วนแต่ไม่เป็นมงคลทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่พระนาม “เจ้าฟ้าเหม็น” อันเป็นพระนามอย่างลําลอง ที่ไม่ต้องอธิบายว่าไม่เป็นมงคลอย่างไร ส่วนพระนาม “เจ้าฟ้าอภัยทศ” อันเป็นพระนามไม่เป็นมงคลตามรับสั่งของรัชกาลที่ 1 นั้น มีที่มาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ใกล้เสด็จสวรรคต พระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ ก็ออกอุบายทําหนังสือทูลเชิญเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่พระราชวังบวรสถานพิมุข ในกรุงศรีอยุธยา ให้เสด็จขึ้นมายังลพบุรีเป็นการด่วน

เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทศมาถึงลพบุรี ก็ถูกจับไปสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่ตําบลวัดทราก

ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ก็ทรงประสบพระชะตาเดียวกัน คือเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระใกล้จะสวรรคต ก็ได้ตรัสมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์กลาง แต่ทางฝ่ายสมเด็จพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นพระอนุชา เห็นว่าสมควรมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์โตมากกว่าคือ เจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งขณะนั้นยังทรงผนวชอยู่

จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคต ก็เกิดรบกันขึ้นระหว่างอากับหลาน คือสมเด็จพระมหาอุปราช กับเจ้าฟ้าอภัย ผลคือเจ้าฟ้าอภัยแพ้ ถูกสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ส่วนสมเด็จพระมหาอุปราชก็มิได้มอบราชสมบัติให้กับหลาน คือเจ้าฟ้านเรนทร ตามที่เป็นเหตุแต่แรก กลับทรงขึ้นครองราชสมบัติเสียเอง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ส่วนพระนามใหม่ที่รัชกาลที่ 1 พระราชทานคือ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” ก็ไปพ้องกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งก็มีจุดจบไม่ต่างกันมากนัก

เจ้าฟ้ากุ้งต้องพระราชอาญาในคดีเป็นชู้กับหม่อมสังวาลย์ เป็นคดีที่พัวพันเกี่ยวเนื่องทางการเมืองระหว่างลูกพี่ลูกน้อง คือ กรมหมื่นสุนทรเทพ พระอนุชาต่างพระมารดา อาฆาตแค้นที่โดนเจ้าฟ้ากุ้งลงพระราชอาญาโบย เพราะตั้งกรมเป็นถึงขุน สูงกว่าเจ้ากรมที่เป็นเพียงกรมหมื่น

แรงแค้นนี้ ทําให้กรมหมื่นสุนทรเทพนํา “ความลับ” ขึ้นกราบบังคมทูลเรื่องเจ้าฟ้ากุ้งทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระสนมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเหตุให้เจ้าฟ้ากุ้งทรงถูกลงพระราชอาญา สําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แต่มาสิ้นพระชนม์เสียก่อนตั้งแต่โทษโบย

สรุปว่าพระนามต่างๆ ของเจ้าฟ้าเหม็น ไม่มีพระนามใดเลยที่เป็นมงคล เหลืออยู่เพียงพระนามเดียวที่เป็นพระนาม เมื่อทรงกรม คือกรมขุนกษัตรานุชิต ซึ่งน่าจะแปลว่ากษัตริย์ผู้มีชัย แต่ในชีวิตจริงเจ้าฟ้าเหม็นก็ไม่มีทางจะชนะอะไรได้ ตราบใดที่ยังเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปรามินทร์ เครือทอง. “คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น”, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2547

ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น, สำนักพิมพ์มติชน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 16 มกราคม 2562