ทำไมเรียก “บุหรี่” ว่า “บุหรี่” คำนี้มีที่มาจากไหน

ยาสูบ บุหรี่
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพเขียนเก่าต้นยาสูบ

สงสัยหรือไม่ “บุหรี่” ไม่ใช่คำไทยแท้ ทำไมเรียก “บุหรี่” คำนี้มีที่มาจากภาษาอะไร เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ใน “ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด” (องค์การค้าคุรุสภา, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504) ดังนี้


 

ไทยเราเริ่มริสูบบุหรี่ขึ้นเมื่อใด และเหตุใดเราจึงเรียกว่าบุหรี่ ด้วยกระบวนการที่ใช้ใบยาอย่างเดิมเป็นโอสถรักษาโรค ที่เอาใบยาสูบมวนสูบเหมือนบุหรี่ก็มี แม้ทุกวันนี้ยารักษาโรคโรคหืดยังใช้มวนสูบอย่างบุหรี่ แต่เรียกว่ายา หาได้เรียกว่าบุหรี่ ไม่ ถึงบุหรี่จริง ๆ ชาวบ้านนอกก็ยังเรียกว่า “ยา” (แม้บุหรี่สิคาเรต (cigarette) ก็มักเรียกกันว่า “ยากาแรต”)

คำที่เรียกว่าบุหรี่ เป็นคำของผู้ดีพูดเป็นพื้น แต่เมื่อเอาไปใช้ในราชาศัพท์ ก็กลับเรียกว่า “พระโอสถ” อันหมายความว่า “ยา” เหมือนกับชาวบ้านนอกเรียก ดูประหลาดอยู่ พิเคราะห์ดูคำว่าบุหรี่ เห็นว่าเป็นคำภาษาอื่น มิใช้ภาษาไทยเป็นแน่ ไม่มีสงสัย

พม่าก็สูบบุหรี่ แต่เขาเรียกเป็นคำภาษาพม่าว่า “เฉะลิบ” แปลเป็นภาษาไทย เฉะ ว่า ยา, ลิบ ว่า มวน เขมรเรียกบุหรี่ว่า “บารี” สันนิษฐานว่าจะได้ไปจากคำว่าบุหรี่ที่ไทยเรียกนั้นเอง เพราะคำว่า “บารี” ไม่มีในภาษาเขมร จึงมีปัญหาว่าคำบุหรี่เป็นภาษาอะไร และเหตุใดไทยเราจึงเอามาใช้ในคำพูดภาษาไทย

ได้ให้ค้นหาคำ “บุหรี่” ดูในหนังสืออภิธานภาษาต่าง ๆ พบในอภิธานภาษาเปอเซียมีคำบุรี (Buri) แปลว่า “แหลม” ดูสมกับประเพณีเก่า ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยเห็นและเคยทราบความาก่อน คือ บุหรี่ที่ไทยเราสูบชั้นเดิมใช้บุหรี่ก้นแหลมอย่างเดียว มวนด้วยใบตองแห้งบ้าง ใบจากบ้าง

ถ้าจะพิสูจน์ข้อนี้จงพิจารณาดูในพานทองเครืองยศก็จะเห็นได้ว่ามีซอง 2 ใบ ใบเขื่องสำหรับใส่พูล ใบย่อมสำหรับใส่บุหรี่ มีเป็นแบบมาแต่โบราณ ซองใบใส่บุหรี่นั้นต้องเป็นบุหรี่ก้นแหลมจึงจะลงซองได้

บุหรี่อย่างก้นป้านพึ่งเกิดขึ้นในตอนปลายรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เขาว่าพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงตฤทธิ์ กับใครอีกบ้างจำไม่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อจะได้สูบควัน และอมยากับหมากไปพร้อมกัน

บุหรี่ก้นป้านสมัยนั้นจึงปล่อยยาไว้นอกใบตองพอให้อมได้ เรียกว่า “บุหรี่ขำตา” ตามชื่อของผู้มวนขาย บุหรี่ก้นป้านอย่างที่ตัดยาเพียงใบตอง หรือที่มวนด้วยใบตองอ่อน และใบบัว เป็นของเกิดชั้นหลังมาอีก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 ทั้งนั้น

ด้วยเค้าเงื่อนมีดังกล่าวมา จึงสันนิษฐานว่าพวกแขกเปอเซีย (ต้นสกุลของพวกแขกเจ้าเซ็นทุกวันนี้) ซึ่งเข้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมาสูบบุหรี่ขึ้นก่อน ไทยเราเอาอย่างมาสูบจึงเรียกว่าบุหรี่ตามคำพวกเปอเซีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2567