“บุหรี่” ของบุรุษ “สตรี” ห้ามสูบ? ผู้หญิงสูบบุหรี่สัญลักษณ์ปลดแอกสตรี

การสูบบุหรี่ ผู้หญิง สูบ บุหรี่
(ซ้าย) ภาพ Women Smoking a Cigarette ของ Henri de Toulous-Lautrec, (ขวา) ภาพโฆษณากระดาษมวนบุหรี่ยี่ห้อ Job เมื่อปี 1896

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในยุคที่สตรียังถูกกดขี่ทางสังคม ก็มีสตรีหลายคนออกมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้ทัดเทียมบุรุษ พวกเธอจึงปฏิบัติในสิ่งที่บุรุษมองว่าเป็นปฏิปักษ์ทางสังคม นั่นคือ การสูบบุหรี่” ซึ่งครั้งหนึ่งมันเป็นสัญญะที่แสดงออกถึง “ความเป็นชาย”

ในบทความ แนวคิด “หญิงมาดใหม่” (The New Woman) ในการปลดแอกของสตรีช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ มองจากตะวันตกมาสู่สยามสมัยใหม่” เขียนโดย ผศ.ดร. เอกสุดา สิงห์ลำพอง (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2565) อธิบายถึง “หญิงมาดใหม่” หรือสตรีหัวก้าวหน้าที่หันมาสูบบุหรี่เพื่อแสดงจุดยืนทางสังคม พลิกกลับข้อวิพากษ์ และนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจและอิสระเสรีในการปลดแอกสตรี สรุปได้ดังนี้

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ศีลธรรมแบบวิกตอเรียที่เป็นตัวกำหนดแนวคิดหรือทิศทางของสังคมในตะวันตกอย่างแรงกล้านั้น ในสังคมสมัยนี้ยังคงมองว่าสตรีที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะนั้นไม่สมควร เป็นภาพในเชิงลบ เป็นการเบนเข็มทิศทางศีลธรรมไปทางด้านอื้อฉาว

สตรีที่ออกมาสูบบุหรี่จึงถูกมองจากสังคมในมุมมองของบุรุษว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จนถูกนำมาเสียดสีล้อเลียน ดังที่ปรากฏในภาพการ์ตูนล้อเลียนของนิตยสาร Punch เล่มที่ 108 ฉบับที่ 2814 วันที่ 15 มิถุนายน ค.. 1895

ภาพ “The New Woman,” นิตยสาร Punch เล่มที่ 108 ฉบับที่ 2814 วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1895, หน้า 282

ภาพการ์ตูนล้อเลียนนี้เป็นภาพเหตุการณ์ภายในบ้านของครอบครัวที่มีฐานะไม่ต่ำกว่าชนชั้นกลาง ด้านล่างของภาพมีคำว่า ‘THE NEW WOMAN’ มีบุคคลสามคน เป็นสตรีสองคนนั่งบนเก้าอี้ที่ด้านซ้ายและขวา ซึ่งสตรีทั้งสองคีบบุหรี่ไว้ในมือ นิตยสารฉบับนี้ได้สร้างภาพของสตรีที่กระเดียดไปทางความเป็นชาย ซึ่งเป็นการเสียดสีการปฏิบัติของสตรีหัวก้าวหน้าในยุคนั้น

และหากย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว ก็ยังคงเห็นภาพว่า การสูบบุหรี่ ของสตรีนั้นยังเป็นสิ่งไม่สมควร

สิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนคือ งานจิตรกรรมของศิลปินนีโอคลาสสิกสายนิยมตะวันออก (Orientalism) ซึ่งนิยมหยิบยกหัวข้อสตรีตะวันออกกับการสูบยาสูบที่แฝงไว้ซึ่งความเย้ายวนทางเพศ การสูบยาหรือสูบบุหรี่จึงถูกเหมารวมว่ามีความหมายนัยทางเพศในสายตาของผู้ชมชาวตะวันตก

นี่จึงทำให้ภาพของสตรีที่สูบบุหรี่กลายเป็น “คนอื่น” หรือ “คนชายขอบ” ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง, โสเภณี, สตรีรักร่วมเพศ หรือสตรีที่มาจากสังคมเสื่อมทราม

แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ในงานจิตรกรรมประเภทหัวก้าวหน้า (avant-garde) เช่น จิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ก็ยังแสดงออกภาพแสดงแทนสตรีสูบบุหรี่อย่างกดขี่ เช่น งาน Women Smoking a Cigarette ของอ็องรี เดอ ตูลูส-โลแทร็ค (Henri de Toulous-Lautrec) ราว ค.ศ. 1890

การสูบบุหรี่ ผู้หญิง สูบ บุหรี่
ภาพ Women Smoking a Cigarette ของ Henri de Toulous-Lautrec

ผลงานชิ้นนี้แสดงภาพสตรีนั่งอยู่ภายในบ้านและคีบบุหรี่ในมือ แม้ว่าศิลปินจะไม่ได้ระบุตัวตนของผู้เป็นแบบในภาพวาด แต่จากพื้นหลังของภาพที่เป็นห้องแคบ ๆ เป็นนัยยะที่สื่อถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่อัตคัด ทั้งบุหรี่และสถานะทางเศรษฐกิจจึงยิ่งเน้นย้ำความเป็น “สตรีชายขอบ” ของสังคมในศตวรรษที่ 19

หรือในภาพโฆษณากระดาษมวนบุหรี่ยี่ห้อ Job ที่ออกแบบโดยอัลฟองส์ มูชา (Alphonse Mucha) ใน ค.ศ. 1896 ที่ใช้สตรีเป็นแบบที่มือข้างหนึ่งคีบบุหรี่ยกขึ้นมาสูงระดับไหล่ เงยหน้าเชิดคาง ปล่อยผมยาวสยาย และแสดงสีหน้าเคลิบเคลิ้ม เป็นนัยยะที่สื่อถึงความงามแบบเย้ายวนของสตรี ภาพโฆษณาบุหรี่ที่ใช้สตรีเป็นแบบเช่นนี้ จึงขับเน้นความเพลิดเพลินและความสุขที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ก็แฝงไว้ซึ่งนัยทางเพศเช่นเดียวกัน

โฆษณา การสูบบุหรี่ ผู้หญิง สูบ บุหรี่
ภาพโฆษณากระดาษมวนบุหรี่ยี่ห้อ Job เมื่อปี 1896

บุหรี่จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเหยียดหยามทางศีลธรรมและความเป็นหญิง ดังเช่นการวิจารณ์ขบวนการเฟมินิสต์ของ เอไลซ่า ลินน์ ลินตัน (Eliza Lynn Linton) นักข่าวและนักเขียนสตรี ที่จี้ประเด็นไปที่ การสูบบุหรี่ และการแต่งกายเลียนแบบบุรุษว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมกับการเป็นสตรี น่าเกลียด และเสื่อมทราม เป็นขั้วตรงข้ามของรสนิยมอันดีงาม ความว่า

“…a woman [who] does anything specially unfeminine and ugly…A woman who smokes in public and where she is forbidden, who dresses in knickerbockers or a boy’s shirt, who trails about in tigerskins, who flouts conventional decencies and offends against all the canons of good taste.”

ดังนั้นแล้วการที่สตรีสูบบุหรี่ ในมุมมองของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะบุรุษในสังคมยุคศตวรรษที่ 19 นั้นมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากขนบธรรมเนียมของสังคม ในขณะที่การบริโภคยาสูบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ ซิการ์ หรือกล้องยาสูบนั้นเป็นสิทธิ์ของบุรุษทั้งในพื้นที่รโหฐานและพื้นที่สาธารณะ นี่จึงทำให้สตรีหัวก้าวหน้าต่างนิยมที่จะสูบบุหรี่เพื่อแสดงจุดยืนทางสังคม ปฏิบัติในสิ่งที่บุรุษมองว่าเป็นปฏิปักษ์ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการปลดแอกสตรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2565