บุหรี่มาจากไหน ทำไมเรียกว่าบุหรี่ แล้วคนไทยเริ่มสูบบุหรี่กันแต่เมื่อไหร่

ภาพประกอบเนื้อหา ภาพเขียนเก่าต้นยาสูบ

เดือนธันวาคม 2474 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้รับลิขิตของพระมหากิมฮวย ซึ่งคุ้นเคยกับพระองค์แจ้งว่าจะแสดงเทศนาสอนศีลธรรมเกี่ยวกับศีลข้อที่ 5 ซึ่งห้ามการบริโภคสุราและเมรัย ซึ่งพระมหากิมฮวยต้องการจะกล่าวขยายโทษของเมรัยไปจนถึงการสูบบุหรี่ แต่ยังขาดความรู้และข้อมูลเรื่องตำนานการสูบบุหรี่ ว่าไทยคิดสูบขึ้นมาเอง หรือได้แบบอย่างมาจากต่างประเทศ จึงทูลถามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งคำตอบพระองค์มีพระนิพนธ์ไว้ใน “ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด” (องค์การค้าคุรุสภา, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


2.

การที่สูบบุหรี่ หรือสูบกล้อง ตลอดจนนัดยาที่คนชอบประพฤติกันทุกวันนี้ ต้นเหตุอยู่ที่ใบไม้อย่างหนึ่งซึ่งเราเรียกกันว่า “ใบยา” อันธรรมชาติมีกลิ่นและรสจับใจผิดกับใบไม้อย่างอื่น จึงควรบอกอธิบายเรื่องใบยาก่อน ต้นไม้ใบยานั้นตามตำนานของฝรั่งกล่าวว่า เดิมมีแต่ที่ในทวีปอเมริกา เมื่อฝรั่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปพบทวีปอเมริกาใน พ.ศ. 2035 เห็นพวกอินเดียชาวอเมริกาชอบใช้ใบยาเป็นโอสถอยู่แล้ว สืบถามได้ความแต่ว่าเคยใช้กันมานาน ไม่มีใครทราบวว่าต้นยาจะมีมาตั้งแต่เมื่อใด และใครเป็นผู้ริใช้ใบยาเป็นโอสถขึ้นก่อน พวกอินเดียนเรียกใบยาว่า “โตบัคโค” และมีวิธีใช้ต่างกันเป็น 4 อย่าง คือ

อย่างที่ 1 กองไฟขึ้นแล้วเอาใบโตบัคโคที่ตากแห้งโรยลงไปให้เกิดควันส่งกลิ่นไปให้ “ดม”

อย่างที่ 2 เอาใบโตบัคโคตากให้แห้งแล้วหั่นบดให้เป็นผงใช้ “นัดถ์” ทางจมูก

อย่างที่ 3 เอาใบโตบัคโคที่ตากแล้วหั่นย่อยใช้ “อม” ในปาก

อย่างที่ 4 เอาใบโตบัคโคที่ตากและหั่นแล้วนั้นใส่ลงในกล้อง เอาไฟจุดแล้ว “สูบ” ควันเข้าไปในปาก

พวกอินเดียนนิยมกันว่า ใบโตบัคโคเป็นโอสถวิเศษ สามารถช่วยปลดเปลื้องความเดือดร้อนรำคาญ และให้มีความสำราญใจแก่ผู้บริโภค ถึงไปไหนมักมีติดตัวไปด้วยไม่ขาด เมื่อพวกฝรั่งเริ่มไปอยู่ในทวีปอเมริกา ไปลองใช้ใบโตบัคโคก็ติดใจเห็นจริงตามพวกอินเดียนว่า ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ประเทศสเปญ ตรัสสั่งให้แพทย์คนหนึ่งชื่อฟรานซิสโค เฟอนันเดสไปตรวจพันธุ์พฤษชาติในอเมริกา แพทย์คนนั้นเอาพันธุ์โตบัคโคที่เมืองเมกสิโค ไปยังประเทศสเปญเมื่อ พ.ศ. 2101 ต้นโตบัตโคจึงเริ่มไปมีขึ้นในทวีปยุโรปและพวกฝรั่งชอบใช้กันในประเทศสเปญก่อน

ต่อมาราชทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อนิโคต์อยู่ในประเทศโปรตุเกส ได้พันธุ์โตบัคโคส่งไปยังประเทศฝรั่งเศส ก็ไปปรากฏสรรพคุณและมีผู้ชอบใช้กันแพร่หลาย กลายเป็นของสำคัญขึ้นในทวีปยุโรป แล้วพวกชาวทวีปอาฟริกาและอาเซียก็พาต่อไปถึงทวีปนั้นๆ นักปราชญ์ในยุโรปจึงขนานนามโตบัตโคเป็นภาษาละตินลงในตำราให้เรียกว่า “นิโคตัง” (Nicotin) ตามนามของราชทูตฝรั่งเศส ผู้โฆษณาให้คนรู้เรื่องโตบัคโคแพร่หลาย

แต่ว่าคนทั้งหลายก็ยังคงเรียกชื่อตามคำของพวกอินเดียนว่าโตบัคโคอยู่นั่นเอง เป็นแต่เรียกเพี้ยนไปตามประเทศและภาษาต่างกัน ยกตัวอย่างดังเช่นพวกชาวเปอเซียเรียกว่า “ตัมบากู” พวกฮินดูเรียกว่า “ตะมาขู” และพวกมลายูเรียกว่า “เตมบาเกา” ชาวยุโรปบางภาษาก็เรียกแต่ว่า “ตะบัค” เหตุที่เรียกชื่อคล้ายกันทุกแห่งหมดเช่นว่านี้ เขาจึงอ้างเป็นหลักว่า เดิมยาสูบมีแต่ในทวีปอเมริกา พึ่งแพร่หลายมาถึงประเทศอื่นๆ ไม่ถึง 400 ปีเข้าบัดนี้

3.

ได้ให้ค้นดูเรื่องตำนานทางฝ่ายจีนและฝ่ายอินเดีย ทางฝ่ายจีนได้ความว่า จีนได้พันธุ์ใบยา (ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่าหุน) ไปจากเมืองลูซ่ง ซึ่งอยู่ในเกาะฟิลิปิน ในสมัยเมื่อราชวงศ์ไต้เหม็งครองประเทศจีน (พ.ศ. 1911-2186) ที่จีนไม่เรียกชื่อคล้ายกับคำโตบัคโค ชวนให้คิดว่า หรือบางทีจะมีผู้พาพันธุ์โตบัคโคจากทวีปอเมริกา ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคมายังทวีปอาเซียอีกทางหนึ่ง เหมือนเช่นฝรั่งพาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทวีปยุโรป

และข้อนี้มีความประกอบชอบกลอยู่ในหนังสือประเทศสยาม ซึ่งมองสิเออเดอลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ. 2211 แต่ง กล่าวว่าไทยชอบใช้ใบโตบัคโคอย่างฉุนทั้งผู้ชายและผู้หญิง และใบโตบัคโคที่ใช้กันในกรุงศรีอยุธยานั้นได้มาจากเกาะมนิลาบ้าง เมืองจีนบ้าง และปลูกในพื้นเมืองบ้าง ดังนี้เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นว่า เพราะเหตุใดไยจึงไม่เรียกใบยาว่าโตบัคโค เหมือนอย่างพวกมลายูและชาวอินเดีย

เรื่องตำนานทางฝ่ายอินเดียนั้น ได้ความว่าชาวอินเดียมียาสูบ ยานัดถุ์ และยาอม (กับหมากพูล) มาช้านานนับด้วยพันปี แต่สันนิษฐานว่าคงใบไม้อย่างอื่น ครั้นได้ใบโตบัคโคมาเห็นดีกว่าใบยาอย่างเดิม จึงเปลี่ยนมาใช้ใบโตบัคโคแทน เพราะฉะนั้นชาวอินเดียจึงได้เรียกว่า “ตะมาขู”

ฝ่ายชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ต่อแดนดินเดียมาทางทิศตะวันออก และมีทางคมนาคมกับชาวอินเดียมาแต่ดึกดำบรรพ์ คงได้ประเพณีกินหมากและใช้ใบยาอย่างเดิมมาจากชาวอินเดีย ตั้งแต่ใบโตบัคโคยังมิได้มีในทวีปเอเชีย จึงเรียกใบไม้ซึ่งสำหรับใช้สูบ รม ดม นัดถุ์ ว่า “ใบยา” (หมายความว่าใบไม้ซึ่งใช้เป็นโอสถ) ในภาษาไทยเหมือนกันทุกจำพวก

ครั้นมีใบโตบัคโคเข้ามาถึงเมืองไทย เห็นจะได้มาจากเกาะมนิลาเหมือนอย่างจีน ไทยเห็นว่าวิธีใช้ใบโตบัคโค ก็เป็นอย่างเดียวกับเช่นใช้ใบยาอย่างเดิม เป็นแต่รสชาติผิดกัน เปรียบเหมือนอย่างมะม่วงอกร่องผิดกับมะม่วงพิมเสน แต่ก็เป็นมะม่วงด้วยกัน จึงเรียกโตบัคโคเคยปากว่า “ใบยา” แต่เมื่อเพาะปลูกโตบัคโคขึ้นในประเทศนี้ และชอบใช้กันแพร่หลาย การที่ชอบใช้ใบยาอย่างเดิมน้อยลงโดยลำดับ ชื่อว่า “ใบยา” และ “ต้นยา” ตลอดจนคำที่เรียกว่ายาสูบ ยากินกับหมากและยานัดถุ์ จึงกลายเป็นหมายความว่า โตบัคโค ถึงกระนั้นยังมีใบไม้อย่างอื่นที่เรียกว่า “ยา” เหลืออยู่ เช่น “ยาข้าวเย็น” เป็นต้น แต่ยาที่ไทยเราใช้สูบ ใช้กินกับหมาก แลใช้นัดถ์ในปัจจุบันนี้ ควรเชื่อได้ว่าคือ “โตบัคโค” ซึ่งเราได้พันธุ์มาจากต่างประเทศ

4.

ไทยเราเริ่มริสูบบุหรี่ขึ้นเมื่อใด และเหตุใดเราจึงเรียกว่า “บุหรี่” ด้วยกระบวนการที่ใช้ใบยาอย่างเดิมเป็นโอสถรักษาโรค ที่เอาใบยาสูบมวนสูบเหมือนบุหรี่ก็มี แม้ทุกวันนี้ยารักษาโรคโรคหืดยังใช้มวนสูบอย่างบุหรี่ แต่เรียกว่ายา หาได้เรียกว่า “บุหรี่” ไม่ ถึงบุหรี่จริงๆ ชาวบ้านนอกก็ยังเรียกว่า “ยา” (แม้บุหรี่สิคาเรต (cigarette) ก็มักเรียกกันว่า “ยากาแรต”) คำที่เรียกว่า “บุหรี่” เป็นคำของผู้ดีพูดเป็นพื้น แต่เมื่อเอาไปใช้ในราชาศัพท์ ก็กลับเรียกว่า “พระโอสถ” อันหมายความว่า “ยา” เหมือนกับชาวบ้านนอกเรียก ดูประหลาดอยู่ พิเคราะห์ดูคำว่า “บุหรี่” เห็นว่าเป็นคำภาษาอื่น มิใช้ภาษาไทยเป็นแน่ ไม่มีสงสัย

พม่าก็สูบบุหรี่ แต่เขาเรียกเป็นคำภาษาพม่าว่า “เฉะลิบ” แปลเป็นภาษาไทย เฉะ ว่า ยา, ลิบ ว่า มวน เขมรเรียกบุหรี่ว่า “บารี” สันนิษฐานว่าจะได้ไปจากคำว่าบุหรี่ที่ไทยเรียกนั้นเอง เพราะคำว่า “บารี” ไม่มีในภาษาเขมร จึงมีปัญหาว่าคำ “บุหรี่” เป็นภาษาอะไร และเหตุใดไทยเราจึงเอามาใช้ในคำพูดภาษาไทย

ได้ให้ค้นหาคำ “บุหรี่” ดูในหนังสืออภิธานภาษาต่างๆ พบในอภิธานภาษาเปอเซียมีคำบุรี (Buri) แปลว่า “แหลม” ดูสมกับประเพณีเก่า ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยเห็นและเคยทราบความาก่อน คือบุหรี่ที่ไทยเราสูบชั้นเดิมใช้บุหรี่ก้นแหลมอย่างเดียว มวนด้วยใบตองแห้งบ้าง ใบจากบ้าง ถ้าจะพิสูจน์ข้อนี้จงพิจารณาดูในพานทองเครืองยศก็จะเห็นได้ว่ามีซอง 2 ใบ ใบเขื่องสำหรับใส่พูล ใบย่อมสำหรับใส่บุหรี่ มีเป็นแบบมาแต่โบราณ ซองใบใส่บุหรี่นั้นต้องเป็นบุหรี่ก้นแหลมจึงจะลงซองได้

บุหรี่อย่างก้นป้านพึ่งเกิดขึ้นในตอนปลายรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เขาว่าพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงตฤทธิ์ กับใครอีกบ้างจำไม่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อจะได้สูบควันและอมยากับหมากไปพร้อมกัน บุหรี่ก้นป้านสมัยนั้นจึงปล่อยยาไว้นอกใบตองพอให้อมได้ เรียกว่า “บุหรี่ขำตา” ตามชื่อของผู้มวนขาย บุหรี่ก้นป้านอย่างที่ตัดยาเพียงใบตอง หรือที่มวนด้วยใบตองอ่อน และใบบัว เป็นของเกิดชั้นหลังมาอีก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 ทั้งนั้น

ด้วยเค้าเงื่อนมีดังกล่าวมา จึงสันนิษฐานว่าพวกแขกเปอเซีย (ต้นสกุลของพวกแขกเจ้าเซ็นทุกวันนี้) ซึ่งเข้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมาสูบบุหรี่ขึ้นก่อน ไทยเราเอาอย่างมาสูบจึงเรียกว่า “บุหรี่” ตามคำพวกเปอเซีย คำเปอเซียที่เราเอามาใช้เป็นภาษาไทย เช่น ดอก “กุหลาบ” เป็นต้น ยังมีอีกถมไป

คำว่า “สูบบุหรี่” คงเป็นคำคู่กับ “สูบกล้อง” แต่การสูบกล้องดูเหมือนไทยจะได้แบบอย่างมาแต่จีน ทั้งไทยฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ว่าเฉพาะชาวกรุงเทพฯ แต่ก่อนมาผู้ที่ชอบสูบกล้องมีน้อย มักชอบใช้อมกับหมาก ถ้าสูบก็ชอบสูบบุหรี่เป็นพื้น วินิจฉัยเรื่องบุหรี่มีอธิบายตามที่รู้และคิดเห็นดังแสดงมา

(จากวารสารศิลปากร ฉบับปีที่ 1 เล่มที่ 2 ตุลาคม 2491)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2564