ของเล่นฮิตสมัยร.5 “รูปยากาแร็ต” แถมจากซองบุหรี่ ของสะสมก่อนยุคการ์ดพลังในถุงขนม

รูปยาซิกาแร็ต และกล่องที่บุญส่ง นาวิกมูล เก็บสะสม (ภากจากหนังสือ "ของเล่นของเรา Our Toys", 2553)

ถ้าถามเด็กหนุ่มหรือผู้ใหญ่วัยกลางคนบางรายเกี่ยวกับของเล่นในยุคของเขา คนกลุ่มนี้อาจเติบโตมากับยุค “การ์ด” ที่แถมมาจากขนม แต่ของเล่นที่มีชื่อชั้นแนวหน้าก่อนหน้านั้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมา ของเล่นที่เรียกได้ว่ามีชื่อชั้นแถวหน้าในไทย เล่นกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีชื่อ “รูปยากาแร็ต” ด้วยอย่างแน่นอน

ถ้าเอ่ยชื่อรูปยากาแร็ต หรือชื่อเต็มที่เรียกกันว่า “รูปยาซิกาแร็ต” (Cigarette) ซึ่งแถมมาจากซองบุหรี่ คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ใหญ่วัย 50-60 ปีขึ้นไป ของเล่นชนิดนี้ได้รับความนิยมทั้งในแง่นำเก็บให้เข้าชุดสำหรับดูเล่นหรือสะสม หรือจะดูหาความรู้ก็ได้เช่นกัน

สำหรับเด็กในสมัยนั้นคงไม่เน้นเรื่องความรู้ ในวัยซุกซนย่อมไปมุ่งเรื่องบันเทิงเสียมากกว่า เด็กสมัยนั้นจึงเล่นรูปยากาแร็ตอีกลักษณะ คือที่เรียกกันว่าเล่น “ร่อนรูป”

คำบอกเล่าของ เอนก นาวิกมูล ผู้เขียนหนังสือเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “ของเล่นของเรา Our Toys” เล่าความเป็นมาเรื่องการเล่นร่อนรูปนี้ว่า ฝั่งผู้ใหญ่นิยมเล่นกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากที่การแถมรูปในซองบุหรี่เริ่มมีตั้งแต่กลางรัชสมัย ประมาณ พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา ผู้ที่เล่นทันในยุคที่บริษัทยาสูบแจกรูปในซองบุหรี่จะคุ้นเคยกับการเล่น-การร่อนรูปเป็นอย่างดี

ข้อมูลจากคำบอกเล่าและการศึกษาสอบถามคนรุ่นก่อนซึ่งเอนก ได้รับมา ระบุว่า รูปที่แถมมากับซองบุหรี่มีหลักพันชุด เป็นการตลาดที่บริษัทยาสูบฝั่งตะวันตก ซีกยุโรป อเมริกา ทำขึ้นมาเพื่อล่อให้คนมาอุดหนุนซื้อบุหรี่ ยิ่งบริษัทยาสูบผุดกันมากขึ้น ยิ่งมีรูปที่แถมมามากขึ้นตามไปด้วย

รูปที่แจกมาด้วยมีหลากหลายรูปแบบ ขนาดแตกต่างกันออกไป อาจทำจากแผ่นโลหะแบนก็มี บางแบบพิมพ์หลายสี หรือบางแบบพิมพ์สีเดียวตลอดก็มีเช่นกัน

รูปจากซองของบริษัทในตะวันตกมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หญิงสาว (โป๊) สิ่งของ ยานพาหนะ สิ่งมีชีวิต ธงชาติ สถานที่สำคัญ ช่วงหลังเริ่มมีโรงงานจีนเข้ามาทำก็ยิ่งมีภาพลายเส้นจีน ภาพยิ่งมีหลายร้อยแบบ

สำหรับภาพของไทย เอนก เล่าว่า เป็นภาพวาดชุดต่างๆ หลายสิบชุด ที่พบเห็นกันได้บ่อยคือภาพจากวรรณคดีอย่างชุดรามเกียรติ์ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ไปจนถึงธงเครื่องหมายสัญลักษณ์ รูปพยัญชนะ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก สุภาษิต และยังมีสถานที่สำคัญ

สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนและได้รับความนิยมในเรื่องการเล่นรูปนี้เชื่อว่า แพร่หลายจากภาคกลางหรือกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีสภาพเสมือนประตูรับสินค้า เมื่อบุหรี่แพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่น การเล่นก็แพร่หลายตามไปเช่นกัน

ตัวอย่างรูปยาซิกาแร็ต (ภาพจากหนังสือ “ของเล่นของเรา Our Toys”, 2553)

“ในกรุงเทพฯ เดิมที่วัดโพธิ์เคยมีตลาดขายรูปยากาแร็ตชนิดเป็นหลักเป็นฐาน นัยว่าขายกันมาแต่ พ.ศ. 2455 หรือเมื่อรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์เพียง 2 ปี และขายมานานนับ 20 ปี มีนักสะสมทั้งชั้นธรรมดา และคุณหลวงคุณพระมาเดินหารูปกันขวักไขว่สนุกสนาน เรื่องนี้นักเล่นวัย 60 คงรู้ดี” เอนก เขียนเล่าในหนังสือ

รูปยากาแร็ตที่ว่านี้เล่นกันจริงจังไม่แพ้พระเครื่องที่มีหนังสือคู่มือ สำหรับคู่มือรูปยากาแร็ตก็ถึงกับมีผู้พิมพ์หนังสือคู่มือซื้อรูปจัดจำหน่าย เอนก นาวิกมูล อ้างว่าพบเห็นหนังสือที่ว่าจากนักเก็บสะสมรูปท่านหนึ่งนามว่า จรัส พิกุล

หนังสือคู่มือที่ว่าเขียนโดยร้อยตำรวจโทหงวน ทิพยบุตร เนื้อหาในหนังสือบ่งบอกชื่อชุดภาพ บริษัทที่ผลิต จำนวนรูปในชุด เข้ามาในปีใด ขายชุดเท่าไหร่ แม้จะว่ากล่าวกันเหมือนหนังสือทั่วไป แต่ผู้เขียนเล่าว่า หนังสือกลุ่มนี้กลายเป็นของหายาก ยังไม่เคยเห็นมีใครเก็บไว้

ย้อนกลับไปถึงการเล่นของเด็กกันบ้าง จากที่เกริ่นในช่วงต้นว่าเล่นกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สำหรับเด็กก็ไม่ได้เล่นจริงจังหรือขั้นหาความรู้ สะสมให้ครบชุด ไม่อย่างนั้นชุดที่มีนับ 100 รูป หรือ 50 รูปต้องใช้เงินมากเท่าไหร่คงพอคาดเดากันได้

วิธีเล่น

เอนก เล่าว่า เมื่อบิดาของตัวเองโตขึ้นพอร่ำเรียนแล้วรู้จักการร่อนรูป ต้องอาสาผู้ใหญ่วิ่งซื้อบุหรี่ให้ จากนั้นจึงเก็บรูปแถมในซองเอาไว้ ขยันหน่อยก็ได้มาก ไม่ค่อยขยันก็ได้น้อยกันไป แต่สำหรับคนที่ร่อนรูปเก่ง อาจไม่ต้องวิ่งซื้อบุหรี่ก็สามารถได้รูปยากาแร็ตไว้ในครอบครองได้ วิธีการคือเล่นพนันกินรูปกับเพื่อน เหมือนกับที่เล่นพนันกินการ์ดพลังที่แถมมาจากขนมนั่นเอง

จากที่เอนก นาวิกมูล สัมภาษณ์นักร่อนรูปสมัยเก่ารายหนึ่งนามว่า เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท เล่าว่า การเล่นพนันกินรูปจะตีค่าตัว 20-30 ใบต่อ 1 สตางค์ การเล่นจะเล่นกี่คนก็ได้ (อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป) รูปแบบการเล่นมีหลากหลายแบบ ใกล้เคียงกับวิธีที่เล่นกินการ์ดพลังสำหรับวัยเด็กในยุคที่ขนมทานเล่นยังแถมมาอยู่ ในที่นี้ขอข้ามวิธีการเล่นไป

สิ่งที่น่าสนใจยังมีเรื่องกลเม็ดการเล่นซึ่งนักเล่นมักมีรูปใบเก่งประจำตัว อาศัยการลงเทียนไขเป็นมัน คาดว่าจะช่วยให้รูปยากาแร็ตลื่นและแข็ง ดีด ทอย หรือร่อนได้น้ำหนักดี ถ้ามองแง่ดี การร่อนรูปช่วยให้เด็กสมัยนั้นออกกำลัง หัดใช้สมาธิไปในตัว แต่ถ้าถึงขั้นหมกมุ่นหรือทะเลาะวิวาทกันก็ไม่ดีนัก ซึ่งคุณเฉลิมศักดิ์ เล่าว่า ไม่ค่อยพบเห็นทะเลาะวิวาทเตะต่อยกัน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความนิยมในรูปยากาแร็ตเริ่มลดลง คุณเฉลิมศักดิ์ นักเก็บรูปที่มีรูปยากาแร็ตหลายพันรูปเล่าว่า

“การเล่นร่อนรูปเริ่มจางหายไปเมื่อราวพ.ศ. 2482-2483 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่อยหนึ่งเพราะตอนนั้นรูปไม่ค่อยมีแล้ว โรงงานไม่ทำ รูปยาก็เลยไม่ค่อยมีเล่น”

มาถึงยุคนี้รูป หรือการ์ดของแถมในซองขนม หรือสินค้าต่างๆ เริ่มห่างหายไปตามเวลา สำหรับยากาแร็ตที่เล่นกันเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลายเป็นของที่คนรุ่นหลังเก็บเอาไว้มาเล่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันบ้าง ประโยชน์อีกอย่างคือภาพและข้อมูลในรูปยังเป็น “ของเล่น” ที่ช่วยสอนลูกหลานได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่



อ้างอิง
:

เอนก นาวิกมูล. ของเล่นของเรา Our Toys . กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2561