ของเล่น-ของสะสมในหมู่เจ้านายชนชั้นสูง สมัยรัชกาลที่ 5 มีอะไรบ้าง

(ซ้าย) ตลับงารูปลูกพลับ ของสะสมในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต (ภาพจากพระที่นั่งวิมานเมฆ โดยสำนักพระราชวัง, 2545), (ขวา) กล้องยาสูบเมียร์ชอม ของสะสมส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 จัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต (ภาพจากพระที่นั่งวิมานเมฆ โดยสำนักพระราชวัง, 2545)

“—สวยมาก คล้าย ๆ กล้องยาสูบเมียร์ชอม (Meerchaum) ที่ฝรั่งชอบเล่นกัน—“

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวถึงตลับงาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ตลับงาที่ว่านี้เป็นเครื่องอุปโภคที่ใช้ประกอบเชี่ยนหมากหรือหีบหมากของข้าราชสำนักฝ่ายในสำหรับใส่ขี้ผึ้งสีปาก และขี้ผึ้งสำหรับแต่งทรงผม จึงเป็นเครื่องประกอบโต๊ะเครื่องแป้งอีกอย่างหนึ่ง

ข้าราชสำนักฝ่ายในต่างก็ใช้ประโยชน์จากตลับงามาช้านาน โดยมิได้เอาใจใส่ว่าเป็นของพิเศษกว่าเครื่องอุปโภคอื่น ๆ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวชมตลับงาของกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี และความนี้รู้กระจายไปสู่ข้าราชสำนักฝ่ายในพระองค์หรือคนอื่น ๆ จึงเกิดความตื่นตัวเห็นคุณค่าและความสวยงามของตลับงา พากันเสาะหาตลับงามาใช้มาเก็บและบำรุงรักษาขัดถูจนเงางามเป็นของเล่นของสะสมอย่างหนึ่ง

การเล่นของสะสมเป็นการเล่นที่นิยมกันในหมู่ผู้ใหญ่ ของเล่นของสะสมขึ้นอยู่กับฐานะและรสนิยมของผู้เล่น ของสะสมและการเล่นของคนฐานะไม่สู้ดี มักเป็นไปเพื่อความสนุกตื่นเต้นและยังมีการพนันขันต่ออาจมีเงินเป็นเดิมพัน เช่น การเลี้ยงและเล่นไก่ชน การเลี้ยงและประกวดนกเขา การเลี้ยงและเล่นปลากัด เป็นต้น ถ้าเป็นผู้มีฐานะดีก็จะมีของเล่นและการเล่นอีกประเภทหนึ่ง การเล่นที่นิยมอย่างหนึ่งคือ การสะสมของเก่าของโบราณหรือของสวยงามตามสมัยนิยม เช่น เล่นสะสมเครื่องกระเบื้องเครื่องถ้วยชาม เครื่องโต๊ะ ไม้เท้า เป็นต้น

ของเล่นและการเล่นเช่นนี้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ที่การเสาะหาและคุมให้เป็นชุดเป็นกลุ่มเดียวกัน การเสาะหานั้นมีทั้งการซื้อการขอการแลกเปลี่ยน เมื่อได้มาคราวใดก็มีความตื่นเต้น และเมื่อได้นำมาอวดประกวดประขันกันก็มีความสนุกสนานภาคภูมิใจและเป็นสุข หรือเมื่อยามว่างนำออกมาพิจารณาดูก็เกิดความเพลิดเพลิน

กล้องยาสูบเมียร์ชอม ของสะสมส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากของเก่าเล่าเรื่อง, 2544)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงนิยมเล่นของสะสมหลายสิ่ง นับแต่เครื่องโต๊ะ เครื่องถ้วย ไม้เท้า และอื่น ๆ เช่น ครั้งเสด็จประพาสยุโรป .. 2440 ได้โปรดให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) เสาะหามีดพับเล็ก ๆ ขนาดเจียดหมาก ลักษณะรูปทรงต่าง ๆ กันเพื่อเป็นของเล่นของสะสม เมื่อเสด็จฯ กลับจากยุโรปก็ทรงมีของสะสมเพิ่มขึ้นอีกอย่างคือกล้องยาสูบ เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชสำนักรู้ว่าทรงสะสมกล้องยาสูบ ก็พากันนำมาถวายมากมาย

ดังปรากฏเรื่องนี้ในลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่องกล้องยาสูบที่เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ทรงส่งมาถวาย ความว่า

กล้องที่ทูลเกล้าฯ ถวาย แรกแม่เห็นออกตกใจนึกว่าไม่ดี เพราะเคยเห็นกล้องเมช่อมที่ตื่นกันว่าดีนั้นสีมันไม่ขาวจ๊วก เหมือนที่ลูกส่งมา ทั้งเสียใจว่าพระยาศรี เขาเอามาถวายเสียก่อน แลของเขาเป็นสีเหลืองดำ ๆ เช่นที่เคยเห็นผู้ชายตื่นกันนั้นด้วย ถึงคิดจะเก็บไว้เสียไม่ถวาย เผอิญเสด็จมาทางห้องมาทอดพระเนตรเห็นเข้า รับสั่งว่าดีโปรดหน้าตาแขก จึงค่อยหายเสียใจได้ถวายไปในวันนั้น เดี๋ยวนี้ทรงอยู่เสมอ เวลาลูกกลับเข้ามาคงจะได้เห็นหน้าตาแขกกลับเป็นสีดำไป เพราะเดี๋ยวนี้แกเมาหน้าแดงจัดอยู่แล้ว—“

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อทอดพระเนตรเห็นตลับงาใส่ขี้ผึ้งของกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ซึ่งแตกต่างจากตลับงาทั่วไป เพราะอุปนิสัยรักสวยรักงามและพระปรีชาสามารถเชิงช่างทำให้ทรงมีวิธีบำรุงรักษาตลับงา นอกจากจะทรงขัดถูด้วยขี้ผึ้งสีพระโอษฐ์แล้ว ยังทรงชะโลมด้วยน้ำมันใช้ใบตองแห้งและผงดินสอพองขัดจนตลับงาขึ้นเงา ขาวใสเห็นลายงาและดูเหมือนโมราคล้ายกล้องยาสูบเมียร์ชอม ซึ่งทำจากแร่ชนิดหนึ่งสีคล้ายงาช้าง ผู้สูบจะขัดถูและพ่นควันใส่กล้องจนจับเป็นสีเหลืองขึ้นเงา ถือว่าเป็นของสวยงาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบกับตลับงา จึงตรัสชมว่า สวยมาก คล้าย ๆ กล้องยาสูบเมียร์ชอม (Meerchaum) ที่ฝรั่งชอบเล่นกัน—“

พระราชดำรัสนี้เองที่ส่งผลให้ข้าราชสำนักฝ่ายในตื่นตัวเสาะหาตลับงามาเก็บสะสมและบำรุงรักษาด้วยการขัดถูจนเงางาม ครั้งนั้นผู้ใดหาหรือมีงาช้างมักนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงประดิษฐ์เป็นตลับงารูปร่างต่าง ๆ เช่น เมื่อ .. 2446 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลเกล้าฯ ถวายงาช้าง 2 กิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ช่างกลึงเป็นตลับงารูปลูกพลับเป็นเถาเรียงกันตั้งแต่ใบใหญ่จนถึงใบเล็ก โปรดพระราชทานพระมเหสีเทวี 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า พระอัครราชเทวี และโปรดพระราชทานนามเป็นชุดคล้องจองกัน

ต่อมาเมื่อการเล่นตลับงาแพร่หลายมีผู้กลึงตลับงาเป็นรูปทรงต่าง ๆ และนำมาจดทะเบียนแบบที่ค้นคิดใหม่ ครั้งนั้นมีถึง 17 แบบ เช่น ผลจันท์ขนาดโต ขนาดรอง ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจ้อย ผลพลับแห้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ลูกรอกข้างแข็งขนาดโต ขนาดรอง ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจ้อย รูปนาฬิกาพกแบบอย่างสูงและอย่างเตี้ย รูปชูชีพทุกขนาด รูปผลตาลเฉาะ รูปรีอย่างไข่ แบบหมวกแก๊ป รูปอักษรฝรั่งเอถึงแซด ผลแอปเปิ้ล รูปเงินพดด้วง ฯลฯ

การเล่นตลับงาก็เหมือนการเล่นของสะสมอื่น ๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนก็ค่อย ๆ คลายความนิยมลง และเริ่มเสาะหาของเล่นของสะสมใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนไป แม้ของเล่นของสะสมบางชิ้นบางอันจะถูกทอดทิ้งเพราะค่าน้อย ถูกขายเพราะค่ามาก แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในของเล่นของสะสมทุกชิ้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็คือ “คุณค่า” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2562