ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เฟอร์นิเจอร์” เมื่อหมายถึงเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ย่อมเป็นวัตถุที่ปรากฏอยู่คู่กับวิถีชีวิตมนุษย์อย่างใกล้ชิดท่ามกลางความพยายามพัฒนาการใช้ชีวิตของตัวเองให้สะดวกสบายขึ้น พัฒนาการของเฟอร์นิเจอร์ก็พบเห็นกันเรื่อยมา ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ยุโรป
มีผู้ศึกษาเส้นทางพัฒนาการของเฟอร์นิเจอร์ ในอดีตกันมาบ้าง ดังเช่นในบทความ “เฟอร์นิเจอร์ อมตวัตถุของนักสะสม” เขียนโดย ชนิตร ภู่กาญจน์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2539 โดยผู้เขียนบทความต้นฉบับอธิบายโดยอ้างอิง “หลักฐานที่มีผู้บันทึกเอาไว้” ว่า เฟอร์นิเจอร์ถูกกล่าวขานในต้นศตวรรษที่ 13 ช่วงเวลาของศตวรรษนี้ เฟอร์นิเจอร์ถูกสร้างด้วยไม้จากต้นโอ๊ก อันเป็นไม้หาง่ายมากในยุโรปช่วงสมัยนั้น ออกแบบสร้างเป็นรูปแบบง่ายๆ ไม่ค่อยมีจุดโดดเด่นมากนัก
กระทั่งมาถึงศตวรรษที่ 14 โต๊ะและเก้าอี้ (เฟอร์นิเจอร์) เริ่มเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ผู้สร้างมีแนวสร้างสรรค์ของตัวเอง และใช้อารมณ์เข้ามาผสมผสานกับการสร้างเพื่อใช้งาน รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนคือขาโต๊ะ และพื้นบนของโต๊ะที่มีแกะลวดลายที่ไม่ค่อยละเอียดนักลงบนพื้นโต๊ะและขาโต๊ะ นอกจากนี้ ขาโต๊ะยุคสมัยนี้ยังเน้นความแข็งแรงเพื่อสอดรับการใช้งาน ขาโต๊ะจึงค่อนข้างมีลักษณะบึกบึน
เฟอร์นิเจอร์พัฒนามาเรื่อยๆ เมื่อมาถึงช่วงศตวรรษที่ 16 รูปแบบเฟอร์นิเจอร์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ในบ้านขุนนาง เศรษฐี และในพระราชวัง โดยออกแบบแตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป
รอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 16-17 การออกแบบเฟอร์นิเจอร์มักมีการประกวดแข่งขันเชิงฝีมือมากขึ้นในหลายรูปแบบ ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ และตู้ อีกทั้งยังพิถีพิถันในการเลือกไม้มาสร้าง นอกจากไม้โอ๊กแล้ว ไม้ชนิดอื่นๆ เริ่มถูกตัดมาสร้างเฟอร์นิเจอร์ในที่พักของชนชั้นสูง
ส่วนในกลุ่มคนระดับกลางถึงล่าง เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบสำหรับใช้งานเท่านั้น ไม่ได้ปรากฏการแสดงออกเชิงศิลปะ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ปรากฏการสร้างเฟอร์นิเจอร์อันโดดเด่น (ในเชิงศิลปะ) ในกลุ่มนี้มักปรากฏขึ้นเพราะผู้สร้างเป็นคนมีหัวทางศิลปะและสร้างเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง
ชนิตร ภู่กาญจน์ ยกตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์คือ เก้าอี้ของราชินีแอนน์ ซึ่งยอมรับกันว่าออกแบบอย่างสละสลวย พนักพิงโดดเด่นในรูปทรงสูง ขาเก้าอี้ยึดหลักความมั่นคงแข็งแรง เบาะที่นั่งกรุขึ้นเป็นพิเศษพร้อมลวดลายที่สวยงาม
ตู้ของพระเจ้าวิกตอเรีย เป็น “เอกลักษณ์เฉพาะอีกอย่างที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่าเป็นสไตล์วิกตอเรีย ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของนักสะสมและยังมีอยู่ในมือนักสะสมอีกหลายชิ้นจนถึงได้มีการลอกเลียนแบบสไตล์วิคตอเรียออกมาขายกันเกร่อในปัจจุบัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1987 ได้มีการขายตู้ไม้วอลนัทประดับลวดลายทำด้วยโลหะหลังหนึ่งในราคา 1,050 ปอนด์ ซึ่งราคานี้นับว่าเป็นราคาที่ไม่สูงนัก เพราะเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นของเก่าแท้ๆ นั้น ราคาซื้อขายกันจะเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 2,000 ปอนด์ขึ้นทั้งนั้น”
ราคากลางของเฟอร์นิเจอร์สมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งชนิตร ภู่กาญจน์ หยิบยกมาเล่าในช่วงนั้น (พ.ศ. 2539) ระบุว่า ราคามาตรฐานกลางไม่ต่ำกว่า 2,000 ปอนด์
ในส่วนเก้าอี้ ยังมีชิ้นที่น่าสนใจคือ เก้าอี้วินซอร์ ทำจากไม้ทั้งตัว พนักพิงเป็นไม้ซีก สร้างในศตวรรษที่ 19 นักสะสมหลายคนมักนิยามว่า ทำง่ายแต่มีเสน่ห์
ในยุคพระเจ้าจอร์จที่ 1 ถึงที่ 3 ไม้วอลนัท ปรากฏเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์อย่างกว้างขวาง ดังเช่น โต๊ะเขียนหนังสือไม้วอลนัทของพระเจ้าจอร์จที่ 1
ในหมู่นักสะสมส่วนใหญ่มองเฟอร์นิเจอร์ไปที่ยุคสมัย ยิ่งสร้างมานานแล้วยิ่งแพงตามความเก่าแก่ของยุคสมัย แต่ชนิตร ภู่กาญจน์ เล่าว่า ยังมีบางชิ้นที่ไม่ได้ผูกติดกับยุคสมัย แต่จะมองกันที่งานฝีมือ ความละเอียดของงาน และเอกลักษณ์ของชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร ตัวอย่างเช่น โต๊ะทำงานโนเนมที่ซื้อขายกันเมื่อมกราคม 1986 ลวดลายต้องตาผู้ซื้อ เริ่มต้นขายกันที่ 2,500 ปอนด์
โดยภาพรวมแล้ว งานไม้สลักมือเป็นงานศิลปะอมตะ เลียนแบบกันได้ยาก ถึงฝีมือจะใกล้เคียงกัน รายละเอียดอย่างเนื้อไม้คืออีกหนึ่งปัจจัยที่นักสะสมให้น้ำหนักว่า “เนื้อไม้ชนิดนี้หาไม่ได้ในยุคนี้อีกแล้ว”
เรียกได้ว่า “เนื้อไม้เก็บประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง…”
ตะวันออก : จีน
ไม่เพียงแค่ฝั่งยุโรป ในฟากตะวันออกก็มีเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และมีพัฒนาการแยกต่างหากจากฝั่งยุโรป หากพูดถึงเฟอร์นิเจอร์ตะวันออกที่ได้รับความสนใจมากที่สุดย่อมต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์จีนโบราณ
นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์แบบจีนโบราณซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่งคือ Gustav Ecke นักประวัติศาสตร์ด้านศิลปะเชื้อสายอเมริกัน-เยอรมัน ผู้เขียนหนังสือ Chinese Domestic Furniture in Photographs and Measured
ในภาพรวมแล้ว พฤติกรรมของคนจีนโบราณปรากฏจากหลักฐานที่เป็นภาพวาดหลายชิ้น คนทั่วไปในสมัยจีนโบราณอยู่กับบ้านโดยนั่งคุกเข่าหรือนั่งกับพื้นบนเสื่อ เฟอร์นิเจอร์ล้อมรอบมักเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบเตี้ย อาทิ โต๊ะเตี้ย ที่วางแขน
ในช่วงที่เริ่มรับวัฒนธรรมและอิทธิพลแบบพุทธจากอินเดีย ตำแหน่งที่นั่งซึ่งถูกยกระดับสูงถึงเริ่มปรากฏขึ้น ผู้นั่งในระดับสูงกว่าหมายถึงสถานะที่ได้รับความเคารพจากผู้อื่น หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเริ่มปรากฏลักษณะการยกตำแหน่งสำหรับนั่งไว้รองรับกรณีแขกพิเศษหรือเจ้าหน้าที่ทางการ ขณะที่การยกระดับสูงขึ้นก็ปรากฏการเพิ่มพื้นที่ทางยาวมากขึ้นสำหรับไว้เอนหลังได้ และพัฒนามาเป็นลักษณะ “เตียง” และม้านั่งกึ่งเตียงเอนนอนพักได้ (daybed) ในเวลาต่อมา
ม้านั่งที่ปรากฏหลังจากนั้นก็มีหลากหลาย อาทิ เริ่มมีลักษณะเป็นนาฬิกาทราย ทำจากไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่นๆ ระหว่างช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ (386-586)
ในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัย (จากเสื่อมาถึงเก้าอี้) รูปแบบการวางท่าทางบนเฟอร์นิเจอร์ยกระดับก็เริ่มเพิ่มเติมเข้ามา เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้มักมีลักษณะใหญ่ ความสูงระดับกลาง อาทิ โต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร
ในช่วงราชวงศ์ถัง เก้าอี้และม้านั่งเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง กระทั่งในช่วงราชวงศ์เหนือและซ่งใต้ (920-1279) เฟอร์นิเจอร์ยกสูงหลายชนิดเริ่มพัฒนาขึ้นและใช้กันในชีวิตประจำวันทั่วไปดังพบเห็นในภาพเขียนวิถีชีวิตสามัญชน
อ่านเพิ่มเติม :
- เก้าอี้ฝรั่งชื่อดังในตำนาน “โทเน็ท” ในราชสำนักไทย
- ของเล่น-ของสะสมในหมู่เจ้านายชนชั้นสูง สมัยรัชกาลที่ 5 มีอะไรบ้าง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564