เก้าอี้ฝรั่งชื่อดังในตำนาน “โทเน็ท” ในราชสำนักไทย

พระที่นั่ง สุทไธสวรรย์ปราสาท สมัย รัชกาลที่ 4 พระสงฆ์ เจ้านาย ข้าราชบริพาร นั่งพื้น ประกอบ เบี้ยหวัด-เงินเดือนเจ้านาย
ภาพประกอบ- ภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท สมัยรัชกาลที่ 4 พระสงฆ์, เจ้านาย และข้าราชบริพารทั้งหมดยังนั่งกับพื้น

เก้าอี้ แบบตะวันตกได้กลายมาเป็นเครื่องเรือนชิ้นสำคัญในชีวิตประจำวันของชนชั้นสูง ประโยชน์ใช้สอยของเก้าอี้ที่อาจมีเพื่อโชว์มากหน่อย ใช้น้อยหน่อย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ใช้จริงมากขึ้น ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 กล่าวว่าใน พ.ศ. 2423 พระองค์ทรงได้รับของขวัญปีใหม่เป็นเก้าอี้หลายตัว

“วันนี้เป็นวันปีใหม่รับก๊าศแจกก๊าศแจกขนมตามเคย เจ้านายข้าราชการถวายของต่างๆ ในวันปีใหม่ คือ …องค์ดิษฐถวายเก้าอี้เตรกะลิงแชหวาย 1 เก้าอี้อีซี่แชนั่งได้นอนได้ 1 รวม 2 กรมพิชิตถวายเก้าอี้อีซี่แชเหมือนเตียงนอน 1”

Advertisement

แสดงให้เห็นค่านิยมของคนยุคนั้นที่เห็นว่าเก้าอี้ฝรั่งเป็นของดีมีราคาอยู่ไม่น้อย

ความรุ่มรวยของราชสำนักสยามและความนิยมสูงสุดในการใช้เก้าอี้ ปรากฏในการตกแต่งในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ถ่ายภาพในพระที่นั่งองค์นี้ไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระสงฆ์ เจ้านาย และข้าราชบริพารทั้งหมดนั่งลงกับพื้น

ผ่านไปราว 40 ปี ภาพถ่ายในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระอัฐิพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นการตกแต่งภายในที่มีความ “ฝรั่ง” มากขึ้น มาถึงตอนนี้ไม่มีการนั่งบนพื้นอีกต่อไป เก้าอี้หลายประเภทจัดวางเรียงรายอยู่ในพระที่นั่ง ทั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ที่ตั้งอยู่บนอาสนะอีกที พระราชอาสน์ของรัชกาลที่ 5 ที่ขนาบข้างด้วยโต๊ะเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศซึ่งแสดงถึงความสำคัญสูงสุด

และที่น่าสนใจที่สุดคือหมู่เก้าอี้ทางขวามือของผู้อ่าน เก้าอี้ระดับตำนานของวงการการออกแบบอย่าง เก้าอี้โทเน็ท (Thonet chair) ได้มาปรากฏในที่นี้ด้วย

เก้าอี้โทเน็ท เก้าอี้ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
ภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท สมัยรัชกาลที่ 5 หมู่เก้าอี้ทางขวามือคือ เก้าอี้โทเน็ท ภาพจากฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก (กรุงเทพฯ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2561)

ราว พ.ศ. 2379 (ค.ศ. 1836) ช่วงเวลารุ่งโรจน์แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม มิคาอิล โทเน็ท (Michael Thonet) ได้คิดค้นเทคโนโลยีการดัดไม้ให้โค้งงอด้วยไอน้ำจนสำเร็จ เขานำเทคนิคนี้มาผลิตไม้ที่โค้งงอเป็นทรวดทรงลงตัวและประกอบขึ้นเป็นเก้าอี้ที่ทันสมัย นอกเหนือจากความโมเดิร์นในการออกแบบและวิธีการผลิตแล้ว เก้าอี้ของโทเน็ทยังใช้วัสดุไม่มาก และถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อแพ็กลงในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกสำหรับการขนส่ง (เรียกได้ว่าเป็น IKEA ยุคบุกเบิก)

เก้าอี้โทเน็ท ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภาพจาก สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ทุกปัจจัยที่ตอบโจทย์ ประกอบกับขีดความสามารถของกลไกการผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม กับระลอกคลื่นแรกของโลกาภิวัตน์ ทำให้ “เก้าอี้โทเน็ท” โด่งดังขึ้นแท่น เก้าอี้ best-seller ระดับโลก

Coffee Shop Chair No.14 คือชื่อรุ่นของเก้าอี้ที่ปรากฏในภาพถ่ายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เก้าอี้รุ่นนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ประธานของเก้าอี้ทั้งปวง (chair of chairs) ในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กิจการของโทเน็ทมีลูกจ้างกว่า 25,000 คน ทำงานใน 60 โรงงานทั่วยุโรปเพื่อส่งออกเก้าอี้โมเดลนี้ไปทั่วโลก

ความโมเดิร์นนี้ได้กลายมาเป็นความคลาสสิกของสมัยใหม่ กิจการของโทเน็ทยังคงดําเนินต่อมาถึงทุกวันนี้ มีสถิติที่น่าสนใจว่าเฉพาะ Coffee Shop Chair No.14 แบบเดียว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบริษัทได้ผลิตขายไปราวๆ 50 ล้านตัวแล้ว

เก้าอี้โทเน็ท เก้าอี้
กระบวนการผลิตเก้าอี้ในโรงงานโทเน็ท (ภาพจาก หนังสือ”เล่นแร่แปรภาพฯ”)

การปรากฏของเก้าอี้โทเน็ทในราชสำนัก สะท้อนรสนิยมในการบริโภคที่ทันสมัยของชนชั้นนำสยาม การนั่งบนเก้าอี้กลายเป็นวิธีการแสดงความเป็นผู้เจริญแล้ว และเป็นแบบอย่างให้ราษฎรฝันใฝ่ว่าจะได้ลุกขึ้นจากพื้นและซื้อหาเก้าอี้ฝรั่งมาไว้หย่อนก้นลงไปบ้าง แต่ด้วยบริบทเศรษฐกิจและสังคมสมัยนั้น เก้าอี้ที่ถือเป็น “ที่นั่งสูง” ของชนชั้นสูง จะอยู่สูงเกินกว้าที่ราษฎรทั่วไปจะเอื้อมถึงหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2566