ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2538 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
จำฉันได้ไหม? “บัตรโทรศัพท์” ของสำคัญเมื่อวันวานที่พกไว้เพื่อติดต่อกันผ่าน “โทรศัพท์” ก่อนกลายเป็นเพียง “ของสะสม”
ระบบโทรศัพท์แบบใช้บัตรในเมืองไทยนั้นเริ่มต้นโครงการทดลองเมื่อใน พ.ศ. 2530 และเปิดบริการให้ใช้จริงใน พ.ศ. 2534 โดยเริ่มต้นจากในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หาดใหญ่ แล้วจากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วประเทศ
บัตรโทรศัพท์ที่ใช้ในประเทศไทยเป็นบัตรระบบแสง คือใช้หลักการสะท้อนแสงอินฟราเรดที่มีแถบแสงบรรจุขนาดเล็กในการอ่านค่าบัตร ทั้งนี้นอกจากบัตรโทรศัพท์แบบระบบแสงแล้วก็ยังมีบัตรโทรศัพท์อีก 2 ชนิด ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ในประเทศไทย คือ บัตรระบบแม่เหล็ก และ บัตรระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับบางคนแล้ว บัตรโทรศัพท์ ไม่ใช่เพียงบัตรแข็งที่นำไปใช้กับโทรศัพท์สาธารณะเพื่อติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็น “ของสะสม” ที่มีมูลค่าทั้งทางกายและทางใจอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะลวดลายบนบัตรโทรศัพท์ที่ออกแตกต่างกันมาในแต่ละเดือน แต่ละรุ่น บ้างเป็นภาพโบราณสถาน ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ ฯลฯ การสะสมบัตรโทรศัพท์นั้นกล่าวได้ว่าเป็นที่นิยมมาก จนกระทั่งก่อให้เกิดเป็นธุรกิจการขายบัตรโทรศัพท์ ซึ่งมักจะขายคู่กับแสตมป์
บัตรโทรศัพท์ไทยสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ บัตรที่พิมพ์ออกจำหน่ายทั่วไป และบัตรที่ไม่ได้นำออกจำหน่าย เช่น บัตรทดลองใช้ บัตรทดสอบและซ่อมบำรุง
วงการนักสะสมบัตรโทรศัพท์สมัครเล่นก็มักจะสะสมบัตรชนิดแรก เพราะหาได้ง่าย ในขณะที่นักสะสมมืออาชีพที่ต้องมีทั้งใจรักและเงินหนักกระเป๋าก็มักจะสืบเสาะค้นหาบัตรชุดที่ไม่มีขายมาครอบครอง
หนึ่งในชุดบัตรโทรศัพท์ที่ใคร ๆ ก็อยากจะไขว่คว้ามาคือ “บัตรโทรศัพท์ชุดทดลองใช้” ที่มีสีเหลืองทั้งใบ ไม่มีลวดลายหรือรูปภาพใด ๆ ทั้งสิ้น มีเพียงตราเครื่องหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผลิตออกมาเพียง 95 ใบ เมื่อ พ.ศ. 2531 และไม่มีการวางจำหน่าย
นอกจากบัตรโทรศัพท์ชุดยากจะคว้านี้แล้ว ก็ยังมีบัตรชุดลวดลายสวยงามที่นักสะสมมือสมัครเล่นพอจะหามาได้ คือ ชุดรัตนโกสินทร์ เป็นบัตรพิมพ์รูปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 1 ชุด มีจำนวน 3 ใบ ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีบัตรโทรศัพท์แบบจิ๊กซอว์ คือเมื่อนำบัตรโทรศัพท์ชุดเดียวกันมาวางต่อกัน 4 ใบ จะเห็นเป็นรูปภาพรูปใหญ่
บัตรโทรศัพท์เหล่านี้ เมื่อออกวางจำหน่ายมีราคาเพียง 50 บาท หรืออย่างแพงคือ 100 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีนักสะสม มีผู้เห็นคุณค่าของชุดบัตรเหล่านี้มากขึ้น ทำให้ราคาซื้อขายพุ่งขึ้นสูงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้แม้ว่าจุดประสงค์ของการหาซื้อบัตรโทรศัพท์ของแต่ละท่านจะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะหามาเพื่อขายต่อในราคาแพง หรือหามาเพื่อเก็บไว้ ก็เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความรู้สึกระลึกหวนย้อนไปยังวันวานสมัยที่ยังไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือ
อ่านเพิ่มเติม :
- โทรศัพท์ เครื่องแรกในไทย สู่เครื่องมือสู้นักล่าอาณานิคม
- ย้อนรอยกิจการ “โทรศัพท์” ไทย จากระบบ “ต่อสาย” สู่โทรศัพท์สาธารณะ
- 7 มี.ค.1876 “เบลล์” อดีตครูสอนคนหูหนวกได้สิทธิบัตรในการสร้าง “โทรศัพท์” เป็นเจ้า…
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
บทความ“โลกสื่อสาร บัตรโทรศัพท์” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2538.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2562