ย้อนรอยกิจการ “โทรศัพท์” ไทย จากระบบ “ต่อสาย” สู่โทรศัพท์สาธารณะ

ภาพประกอบเนื้อหา - โทรศัพท์ในอดีตของไทย

“โทรศัพท์” เข้ามาในไทยครั้งแรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมเรียกกันว่า “เตลิโฟน” ผู้ที่นำเข้ามาคือ เฮนรี อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ชาวอังกฤษ (ต้นสกุลเศวตศิลา) ซึ่งเข้ามารับราชการในสมัยนั้น โดยเฮนรีถวายตัวอย่างโทรศัพท์แด่รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 รับสั่งให้ “ลองเอาลงไปที่ประตูพรหม ได้ยินเบา ๆ”

ต่อมาในวันที่ 21 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนสราญรมย์ ทอดพระเนตรการติดตั้งโทรศัพท์ ทำการติดต่อไปยังสำนักงานโทรเลข บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ติดต่อได้ยินกันถนัด

Advertisement

พ.ศ. 2424 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ เจ้ากรมกลาโหม ทรงนำโทรศัพท์มาทดลองใช้ระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า-ออกปากน้ำ โดยการอาศัยสายโทรเลขที่กรมกลาโหมสร้างขึ้นแต่เดิมอยู่แล้ว ต่อมา ภายหลังจากการจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อ พ.ศ. 2426 จึงได้โอนกิจการโทรศัพท์ ซึ่งเดิมอยู่ในการดูแลของกรมกลาโหม มาอยู่ในการดูแลของกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เช่าใช้โทรศัพท์ภายในกรุงเทพฯ และธนบุรีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 60 ราย

โทรศัพท์ยุคแรกเป็นระบบ “แมกนิโต” (Magneto System) ต้องอาศัยการมือหมุนเพื่อสร้างสัญญาณกระดิ่ง ส่งไปยังชุมสายโทรศัพท์ว่าต้องการเรียกสายออก ชุมสายโทรศัพท์มีเจ้าหน้าที่คอย “สลับสาย” หรือ “ต่อสาย” ด้วยมือ เพื่อเชื่อมต่อสายต้นทางไปปลายทาง จึงจะสามารถทำให้คู่สายสนทนากันได้

พ.ศ. 2450 ได้เปลี่ยนระบบโทรศัพท์เป็นระบบ “เซ็นทรัลแบตเตอรี” (Central Battery System) คือมีการจ่ายกระแสไฟออกจากชุมสายโทรศัพท์ โดยโทรศัพท์ปลายสายไม่ต้องมีแบตเตอรีในตัวและไม่ต้องมีแกนหมุนสร้างสัญญาณกระดิ่งไปแจ้งเจ้าหน้าที่ต่อสาย ในปีนั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ตั้งที่ทำการชุมสายโทรศัพท์ระบบใหม่นี้ขึ้นที่วัดเลียบ ต่อมา ใน พ.ศ. 2465 ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งที่ 2 ขนาด 900 หมายเลข ที่ไปรษณีย์กลางบางรัก เพื่อขยายการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เริ่มใช้โทรศัพท์มากขึ้น

พ.ศ. 2470 มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มากถึง 1,422 เครื่อง ปีต่อมาจึงขยายบริการครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม

พ.ศ. 2480 สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบ “เสตปบายเสตป” (Step-by-Step) ของบริษัท General Electric จากประเทศอังกฤษมาใช้ สามารถเพิ่มหมายเลขได้อีก 3,500 หมายเลข แบ่งเป็น ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ 2,300 หมายเลข และชุมสายโทรศัพท์บางรัก 1,200 หมายเลข

เมื่อมีชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ จึงได้เปลี่ยนโทรศัพท์มาเป็นแบบหมุนหน้าปัทม์ ที่กำหนดให้มีเลข 5 หลัก ผู้ใช้สามารถหมุนตัวเลขโทรศัพท์ติดต่อกันได้เอง โดยไม่ต้องผ่านการต่อสายที่ชุมสายโทรศัพท์อีกต่อไป จากนั้นได้เพิ่มชุมสายโทรศัพท์อีก 2 แห่ง คือ เพลินจิต และสามเสน

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม แยกกองโทรศัพท์ออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้บริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง คือบริเวณกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง มีชุมสายโทรศัพท์ที่วัดเลียบ บางรัก เพลินจิต สามเสน และธนบุรี จำนวนหมายเลขประมาณ 10,000 หมายเลข มีเจ้าหน้าที่ 732 คน ทรัพย์สิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ โทรศัพท์ในภูมิภาคยังคงอยู่ในการดูแลของกรมไปรษณีย์โทรเลข

อาคารที่ทำการโทรศัพท์ในอดีต

พ.ศ. 2501 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จัดตั้งโทรศัพท์สาธารณะร้านขนาดเล็กหรือ Kiosk ให้บริการคิดอัตราค่าใช้บริการครั้งละ 75 สตางค์

พ.ศ. 2503-2504 ทะยอยโอนกิจการโทรศัพท์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาอยู่ในการดูแลขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทั้งหมด

กิจการโทรศัพท์ขยายตัวมากขึ้น จนถึง พ.ศ. 2512 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนำเครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบ “ครอสบาร์” (Crossbar) มาใช้ สามารถเพิ่มหมายเลขอีกจำนวนมาก

พ.ศ. 2515 เปิดให้บริการโทรศัพท์สาธารณะประเภทแบบมีผู้ดูแล ติดตั้งภายในอาคาร โดยเป็นโทรศัพท์ที่มีช่องหยอดเหรียญโทรศัพท์และเหรียญบาท โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลให้บริการจำหน่ายเหรียญโทรศัพท์ เหรียญละ 1 บาท มีให้บริการในสถานที่ส่วนบุคคล ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนสถานที่ราชการอื่น ๆ

พ.ศ. 2517 ได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ในเขตนครหลวงบางชุมสายโทรศัพท์จาก 5 หลัก เป็น 6 หลัก กระทั่งอีก 2 ปีต่อมาได้เปลี่ยนเป็น 7 หลักทั้งหมด แต่ในภูมิภาคยังคงใช้แบบ 6 หลัก

พ.ศ. 2518 เปิดใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้พนักงานต่อสายเป็นครั้งแรก (เชียงใหม่เข้ามากรุงเทพฯ)

พ.ศ. 2520 เปลี่ยนใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบกดปุ่มเป็นครั้งแรกในเขตนครหลวง แต่ระบบกดปุ่มนี้สร้างสัญญาณพัลส์ (Pulse Tone) ออกไป เช่นเดียวกับการหมุนหมายเลขแบบเดิม ยังไม่ใช่ระบบปุ่มกดจริง

พ.ศ. 2521 ให้บริการโทรศัพท์ไร้สายเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2522 ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะประเภทแบบไม่มีผู้ดูแล ติดตั้งภายนอกอาคาร และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

พ.ศ. 2523 เปลี่ยนเป็นชุมสายอัตโนมัติทั่วประเทศ ไม่มีพนักงานต่อสายอีกต่อไป

พ.ศ. 2525 ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลอัตโนมัติครั้งแรก

พ.ศ. 2526 ให้บริการชุมสายโทรศัพท์ระบบ “เอสพีซี” (Stored Program Contral : SPC) เพิ่มขีดความสามารถและการบริการหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ คือ

บริการหมายเลขย่อ ผู้ใช้สามารถกดเลข 4 หลัก เพื่อติดต่อไปยังหมายเลขที่ใช้บ่อย

บริการหมายเลขด่วน ผู้ใช้เพียงยกหูค้างไว้ระยะเวลาหนึ่ง ก็จะติดต่อไปยังหมายเลขที่กำหนดไว้ได้ทันที

บริการเรียกซ้ำ ผู้ใช้สามารถกดปุ่มไปยังหมายเลขที่เพิ่งวางสายได้ทันที

บริการโอนสาย ผู้ใช้สามารถโอนสายไปยังเครื่องอื่นขณะไม่อยู่ได้

บริการประชุมทางโทรศัพท์ ผู้ใช้สามารถสนทนาได้พร้อมกัน 3 เครื่องในเวลาเดียวกัน

บริการรับสายเรียกซ้อน ระบบจะส่งสัญญาณเตือนว่ามีสายเรียกซ้อนเข้ามา

และบริการแจ้งค่าโทรสัพท์ทางไกลทันที ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่พนักงานทันทีหลังการใช้งาน

พ.ศ. 2527 เปิดให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศอัตโนมัติ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อโดยตรงได้มากถึง 27 ประเทศ

พ.ศ. 2529 เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งแรก เป็นระบบเอ็นเอ็ม 470 เมกกะเฮิรตซ์

พ.ศ. 2530 เปิดให้ประชาชนสามารถซื้อโทรศัพท์ใช้เอง แต่โทรศัพท์ต้องผ่านการรับรองจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2531 ประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์ครบ 1,000,000 หมายเลข

พ.ศ. 2532 เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สาธารณะบนรถไฟ ให้บริการในสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาได้ร่วมมือกับเอกชนให้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวหรือ “เพจเจอร์” และยังจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ทั้งฉบับไทยและอังกฤษ ทั้งฉบับหน้าขาว ฉบับธุรกิจและโฆษณากระดาษสีเหลือง (Yello Pages)

พ.ศ. 2534 เปิดให้บริการโทรศัพท์สาธารณะรุ่นใหม่ ที่สามารถใช้ “บัตรโทรศัพท์” (Card Phone) เป็นครั้งแรก ในปีนี้ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้บริการโทรศัพท์กว่า 1,553,160 หมายเลข ด้วยชุมสายโทรศัพท์กว่า 526 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ 19,682 คน ทรัพย์สิน 7 หมื่นล้านบาท

บัตรโทรศัพท์ชุดแรกที่มีการวางจำหน่ายทั่วไป

พ.ศ. 2536 เปิดให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลต่างประเทศชนิดหยอดเหรียญ

พ.ศ. 2540 เปลี่ยนโทรศัพท์จากระบบคอรสบาร์ ซึ่งเป็นแบบหมุน มาเป็นระบบเอสพีซี ซึ่งเป็นแบบกด ทั้งหมด

ในช่วงเวลานี้ โทรศัพท์ได้ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากระบบเครือข่ายเคเบิลเส้นใยนำแสง เคเบิลใต้น้ำ ระบบดาวเทียม และระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์ขยายครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนถึง พ.ศ. 2544 ได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศจาก 7 หลัก เป็น 9 หลัก โดยเป็นการเพิ่มรหัสพื้นที่ 2 หลัก และตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์เดิม

พ.ศ. 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แปลงสภาพเป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TOT Corporation Public Company Limited) มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พ.ศ. 2547 เปิดให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศผ่านรหัส “007” ค่าบริการนาทีละ 9-45 บาท ผ่านรหัส “008” ค่าบริการนาทีละ 6-32 บาท

พ.ศ. 2548 บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน (TOT Public Company Limited) เพื่อให้เป็นชื่อที่ตรงกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในปีนั้นให้บริการโทรศัพท์มากถึง 565,500 หมายเลข และปีต่อมา ได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “มือถือ” จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก

จากการพัฒนาการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ประกอบการเทคโนโลยี “Smartphone” ส่งผลให้โทรศัพท์พื้นฐานหรือ “โทรศัพท์บ้าน” และ “โทรศัพท์สาธารณะ” ลดความสำคัญลงไป มีการยกเลิกใช้โทรศัพท์บ้านไปบางส่วน และมีการรื้อถอนโทรศัพท์สาธารณะ เพราะมีผู้ใช้บริการลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ทีโอที ยังคงพัฒนาโทรศัพท์สาธารณะรุ่นใหม่ออกมาให้บริการ ซึ่งสามารถชาร์ตแบตเตอรีได้ มี WI-FI ฟรี และสามารถติดต่อเลขหมายฉุกเฉินได้ฟรี

ปัจจุบัน บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ชื่อใหม่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. (มกราคม, 2540). โทรศัพท์. สารคดี. ปีที่ 12 ฉบับที่ 143.

สารานุกรมโทรคมนาคมไทย. (2552). กรุงเทพฯ : สมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ (อีซีทีไอ).

ประชาชาติธุรกิจ. (2561). เผยโฉม ตู้โทรศัพท์สาธารณะ TOT รุ่นใหม่ ชาร์ตแบตฯได้ WI-FI ฟรี!!. จาก www.prachachat.net/breaking-news/news-195925


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2563