โทรศัพท์เครื่องแรกในไทย สู่เครื่องมือสู้นักล่าอาณานิคม

ภาพประกอบเนื้อหา - โทรศัพท์ในอดีตของไทย

ผู้เป็นคนต้นคิดทำเครื่อง โทรศัพท์ แบบที่คนนิยมใช้ทั่วโลก เป็นชาวสกอตชื่อ อะเลกซันเดอ เกรแฮม เบล (Alexander Graham Bell) ในปลายปี พ.ศ. 2418 เขาได้นำเครื่องโทรศัพท์ของเขาไปแสดงในงานนิทรรศการประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการตัดสินได้ยกย่องเครื่องโทรศัพท์ของเขาว่าเป็นของวิเศษที่สุดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นประเทศที่เจริญก้าวหน้าทั่วโลก ต่างก็ดำเนินการโทรศัพท์ขึ้นในประเทศของตน โดยใช้เครื่องโทรศัพท์แบบที่นายเบลประดิษฐ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการให้เมืองไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศทั้งหลาย จึงมีรับสั่งพระสยามธุรพาห์ให้ซื้อเครื่อง โทรศัพท์ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่งมายังเมืองไทยโดยด่วน

Advertisement

มีรายงานกล่าวถึงเครื่องโทรศัพท์เครื่องแรกในเมืองไทย ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2421 ว่า “อลาบาสเตอถวายตัวอย่างเตลิโฟนที่เมซันส่งเข้ามา ได้รับสั่งให้ลองเอาไปที่ประตูพรหมเบา ๆ “

ขอให้สังเกตว่า เครื่องโทรศัพท์แบบของเบลได้ชื่อลือกระฉ่อน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 เพียงช่วงเวลาล่วงมาได้สองปีเท่านั้น รัฐบาลไทยก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะจัดตั้งโทรศัพท์ขึ้นในเมืองไทยแล้ว แสดงว่าเป็นรัฐบาลที่ว่องไวในการปรับปรุงบ้านเมืองมาก

รัฐบาลมอบงานโทรศัพท์ให้กรมพระกลาโหมเป็นผู้ดำเนินงาน “กรมพระกระลาโหมได้นำเครื่องโทรศัพท์เข้ามาทดลองใช้ ในระหว่างกรุงเทพฯกับสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ. 2424…โทรศัพท์นี้ตั้งที่กรุงเทพฯ 1 เครื่อง และที่สมุทรปราการ 1 เครื่อง ใช้พูดติดต่อกันโดยทางสายโทรเลข ซึ่งมีอยู่แล้ว”

เมืองสมุทรปราการมีความสำคัญอย่างใด? รัฐบาลจึงได้วางสายโทรเลขและติดตั้งเครื่องโทรเลขและติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ที่เมืองนี้ก่อนเมืองอื่น

ในรัชกาลที่ 5 นี้ ข้าศึกที่ไทยหวาดหวั่นไม่ใช่พม่าคู่อาฆาตอย่างสมัยก่อนแล้ว เพราะพม่ารบแพ้อังกฤษถึงสองครั้ง เสียดินแดนแก่อังกฤษไปมากมายจนคลายความเข้มแข็งลงไปมาก ไทยจึงไม่กลัวเกรงพม่าอีกต่อไป แต่หันมากลัวฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งเป็นนักล่าอาณานิคมตัวฉกาจ และเก็งว่าถ้าอังกฤษหรือฝรั่งเศสจะรุกรานเมืองไทยก็คงจะส่งทัพเรือเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าจะป้องกันเรือรบข้าศึกมิให้ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็จำต้องสร้างป้อมปราการที่เมืองสมุทรปราการ และส่งทหารไปป้องกันรักษาเมืองนี้อย่างแข็งแรง ไม่ให้เสียแก่ข้าศึกได้

เมืองสมุทรปราการจึงกลายเป็นเมืองด่านหน้าของกรุงเทพฯ เมื่อเป็นเมืองหน้าด่านก็จำเป็นจะต้องมีเครื่องสื่อสารทันสมัยอย่างครบครัน

คลิกอ่านเพิ่มเติมย้อนรอย “การโทรศัพท์ไทย” ก่อนเป็นทีโอที รัฐวิสาหกิจ(เคยขาดทุน) กับ”การเมืองทหาร”


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “กว่าจะเป็นโทรศัพท์ แสนห้าหมื่นล้าน” จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2533

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562