ย้อนรอย “การโทรศัพท์ไทย” ก่อนเป็นทีโอที รัฐวิสาหกิจ(เคยขาดทุน) กับ “การเมืองทหาร”

อาคารที่ทำการโทรศัพท์ในอดีต

เสียงวิจารณ์ต่อองค์กรรัฐวิสาหกิจในไทยที่ขาดทุนกันเมื่อปี 2560 ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงว่าด้วยการบริหารงานขององค์กรรัฐอีกครั้ง ในบรรดารายชื่อรัฐวิสาหกิจที่ติดลิสต์ผลประกอบการ พ.ศ. 2560 ขาดทุนมีชื่อ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อย้อนไปดูเส้นทางช่วงก่อนหน้าแยกออกมาเป็นองค์การอิสระและแปรเป็น “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” ในช่วงนั้นก็มีปัญหาภายในที่น่าสนใจจากคำบอกเล่าของคนในช่วง “การเมืองทหาร”

รายงานประจำปีของบริษัทระบุข้อมูลผลประกอบการของทีโอทีในปี 2560 ขาดทุนรวม 4,261 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ขาดทุน 5,778 ล้านบาท แม้ผลประกอบการใน 5 เดือนแรกของปี 2561 จะมีกำไรสุทธิมากกว่า 80 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่ผ่านมาทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง

ประวัติดั้งเดิมของ บริษัท ทีโอที เริ่มต้นตั้งแต่หน่วยงานกองช่างโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข และเปลี่ยนมาเป็นองค์การอิสระครั้งแรกในนาม “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” หรือ ท.ศ.ท. เมื่อปี 2497 ก่อนจะแปรรูปเป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2445 และจดทะเบียนบริษัทจำกัดมหาชนในนามบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในปี 2548

จากกิจการของกรมไปษณีย์โทรเลขในยุคเริ่มต้นที่มีติดตั้งโทรศัพท์กลางวัดเลียบในปี 2480 มาจนถึงการให้บริการโทรศัพท์อัตโนมัติ สภาพในองค์กรเปลี่นแปลงไปมาก จากข้อมูล “รายงานประจำปี พ.ศ. 2498” บันทึกไว้ว่า พลจัตวาประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเวลานั้นเป็นผู้หยิบยกแนวทางปรับปรุงวิธีดำเนินงาน แยกหน่วยงานด้านการสื่อสารออกเป็นองค์การอิสระตามที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทสโลนเค็กแอนด์โลว์จัดทำรายงาน ให้กลับมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2497

หลังจากนั้นจึงดำเนินการตามขั้นตอน นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ลงมติเห็นชอบรับหลักการ และเข้าที่ประชุมรัฐสภา กระทั่งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2497 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่งตั้งให้นายสนิท ตุงคะมณี นายช่างใหญ่ กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 มีนาคม 2497

นับแต่นั้นการแยกกองช่างโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงเป็นรูปธรรมขึ้นมาในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี บทความเรื่อง “โทรศัพท์ในอดีต” โดย อรุณ สัมบุณณานนท์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2526 อธิบายเส้นทางกว่าที่นายสนิท จะเป็น “ผู้อำนวยการ” ได้ ต้องผ่านประสบการณ์งานช่างอย่างโชกโชน

“นับตั้งแต่ติดตั้งเครื่อง, ตรวจแก้เครื่อง, ทดลองเครื่องภายในภายนอก, ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามที่สั่งการ, คอยดูแลสวัสดิการของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างจริงจังและจริงใจ ฯลฯ …”

แต่แล้วความผันผวนทางการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงองค์การทีละน้อยส่งผลต่อการทำงานในองค์การ ผู้เขียนบทความเล่าเหตุการณ์ภายในว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2502 นายช้อน เกษเจริญ อดีตหัวหน้ากองบำรุงรักษา ที่ขอโอนย้ายไปกรมประมวลราชการแผ่นดินในภายหลัง โทรศัพท์เรียนให้คุณสนิท ฯ ทราบว่า “ทางการจะเตรียมเปลี่ยนผู้อำนวยการ โดยเอานายทหารมาแทนในเร็วๆ นี้”

อรุณ ผู้เขียนบทความที่เคยทำงานในองค์การฯ เคยเป็นคู่สนทนาปรับทุกข์ในช่วงเย็นหลังเลิกงาน และเล่าความในช่วงนั้นว่า เป็นข่าวที่สะท้อนสะเทือนใจที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะคิดจะทำตามความพอใจ และจะรอฟังข้อมูลจากนายช้อน เกษเจริญ เป็นครั้งสุดท้าย หากแน่นอนจริงจะลาออกขอพักผ่อน

อรุณ สรุปเหตุการณ์ผันผวนโดยระบุว่า ผู้อำนวยการมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน ช่วงท้ายก็เข้าโรงพยาบาลศิริราชเพื่อรักษาตัวหลายครั้ง วันที่ 6 มีนาคม 2503 ท่านถึงแก่อนิจกรรมด้วยความสงบ

ภายหลังคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ พลโทผเชิญ นิมิบุตร เป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แทนนายสนิท ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2503 อาจมองได้ว่า ตำแหน่งผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเริ่มเป็นตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

“อรุณ” แสดงความคิดเห็นในบทความว่า การปฏิบัติงานในระบอบการเมืองของทหารเป็นการงานที่ต้องระแวดระวังหากเกี่ยวพันกับเรื่อง “ผลประโยชน์” … เมื่อนั้นย่อมมีหลายสาขา หลายหมู่คณะ หลากล้วนแต่เป็นก๊กเป็นเหล่ากัน

อ้างอิง:

อรุณ สัมบุณณานนท์. โทรศัพท์ในอดีต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2526.

“5 เดือน ทีโอทีพลิกกำไร 80 ล. เร่งลงทุนบรอดแบนด์ลุยติดเน็ตภาครัฐ”. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. วันที่ 5 กรกฎาคม 2561. <https://www.prachachat.net/ict/news-185634>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2561