“วัชรอาสน์” หรือโพธิบัลลังก์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สู่ “ศีรษะแผ่นดิน”

วัชรอาสน์ โพธิบัลลังก์ ผจญมาร อุโบสถ วัดเกาะ เพชรบุรี
(ซ้าย) วัชรอาสน์ ที่พุทธคยา อินเดีย (ขวา) ภาพผจญมาร ภายในอุโบสถวัดเกาะ เพชรบุรี (ภาพจาก Wikimedia Commons และ รศ. พิชญา สุ่มจินดา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2564)

“วัชรอาสน์” หรือ โพธิบัลลังก์ สถานที่ตรัสรู้ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถูกให้ความสำคัญในคัมภีร์และตำนานพุทธศาสนาแทบทุกเวอร์ชัน รวมถึง “ไตรภูมิ” คัมภีร์โบราณของไทยที่อธิบายความรู้เรื่องจักรวาล ก็ให้ความสำคัญกับโพธิบัลลังก์อย่างสูงในฐานะ “ศีรษะแผ่นดิน” ซึ่งคตินี้พบร่องรอยอย่างจริงจังในสมัยรัตนโกสินทร์

โพธิบัลลังก์ กับสถานะ ศีรษะแผ่นดิน คืออะไร และคตินี้มีนัยอะไรซ่อนอยู่?

ความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของ โพธิบัลลังก์ ถูกเล่าไว้อย่างละเอียดใน ไตรภูมิโลกวินิจยกถา เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายลักษณะทางกายภาพของแผ่นดินชมพูทวีป ซึ่ง “มัชฌิมประเทศ” อันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพราะ “เป็นที่เกิดแห่งบุคคลอันวิเศษทั้งปวง คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า…”

จะเห็นว่าบุคคลวิเศษทั้งหลายจะไม่ถือกำเนิดที่อื่นนอกจากมัชฌิมประเทศ อันมี โพธิบัลลังก์ หรือพระแท่น “วัชรอาสน์” ตั้งอยู่ในตำแหน่งประธาน เป็นศูนย์กลางของแผ่นดิน และถูกล้อมรอบด้วยสถานที่สำคัญเป็นชั้น ๆ

ชั้นแรกเรียกว่า “สัตตมหาสถาน” คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประทับเพื่อเสวยวิมุตติสุข รวมโพธิบัลลังก์เป็น 7 แห่ง ทรงประทับแห่งละ 7 วัน รวมเป็น 7 สัปดาห์ ซึ่งโพธิบัลลังก์จะอยู่ใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ รายล้อมด้วยสถานที่ 6 แห่ง ได้แก่ 1) อนิมิสเจดีย์  2) รัตนจงกรมเจดีย์ 3) รัตนฆรเจดีย์ 4) อชปาลนิโครธเจดีย์ 5) มุจลินทรเจดีย์ 6) ราชายตนะเจดีย์ 

ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ 2 ระบุว่า ถัดจากสัตตมหาสถาน มีชั้นที่สองเรียกว่า “อัฏฐมหาสถาน” คือสถานที่สำคัญ 8 แห่ง ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญ ๆ เรียกว่า “มหาสถาน” ได้แก่

1) สถานที่ประสูติ ป่าลุมพินีวัน 2) โพธิบัลลังก์ที่ทรงตรัสรู้ 3) สถานที่แสดงปฐมเทศนา 4) สถานที่ประทับจำพรรษาพระองค์เดียวแล้วมีช้างปาลิไลย์คอยดูแล 5) สถานที่ทรงทรมานช้างธนบาลหัตถี ที่พระเทวทัตปล่อยมาทำร้ายพระองค์ 6) สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ และเสด็จโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 7) สถานที่เสด็จลงจากดาวดึงส์และแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก 8) สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ในบรรดามหาสถานทั้ง 8 นี้ โพธิบัลลังก์อยู่ตรงกลาง โดยมีมหาสถานอีก 7 แห่งรายล้อมเช่นเคย

นอกจากนี้ยังมี “โสฬสมหานคร” และ “มหาชนบท” ล้อมรอบอีก 2 ชั้น ถัดจากนั้นจึงเป็นพื้นที่ป่าหิมพานต์ ปัญจมหานที พื้นที่น้ำท่วม เรื่อยไปจนสุดชมพูทวีป

ความสำคัญของศีรษะแผ่นดิน ที่ตั้งของโพธิบัลลังก์ คือ เมื่อโลกจะถูกทำลาย ศีรษะแผ่นดินจะถูกทำลายเป็นลำดับสุดท้าย และเมื่อกาลกำเนิดโลกเวียนมาใหม่ จุดแรกที่จะเกิดขึ้นก่อนก็คือ ศีรษะแผ่นดินเช่นกัน

ดังข้อความในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาว่า “…อันว่า ศีศะแผ่นดิน อันเปนที่ต้งงบันลังก์พระมหาโพธิเปนที่ ถวายพุทธาพิเศก ทรงพระวิมุดิเศวตรฉัตรนั้นเมื่อโลกยจฉิบหายที่อันนั้น ก็ฉิบหายต่อมาภายหลัง เมื่อโลกต้งงขึ้นที่นั้นก็ต้งงขึ้นก่อน ที่ทั้งปวงจึ่งต้งงขึ้นตามต่อภายหลัง ที่นั้นจึ่งชื่อว่าศีศแแผ่นดิน ด้วยอรรถว่าเปนประทานแก่พื้นที่ชมภูทวีป…”

อีกความสำคัญของศีรษะแผ่นดินคือ การปรากฏดอกบัว “บุพนิมิต” สัญลักษณ์แสดงจำนวนพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในแต่ละกัลป์ ซึ่งพระพรหมจากชั้นสุทธาวาสจะเหาะมาดูบุพนิมิตดังกล่าว

ศีรษะแผ่นดินในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา จึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างมากของพุทธศาสนานิกายเถรวาท แม้ไตรภูมิอีกเวอร์ชันอย่าง “ไตรภูมิพระร่วง” จะให้ความสำคัญกับ เขาพระสุเมรุ เป็นหลัก โดยเป็นทั้งศูนย์กลางจักรวาล ล้อมรอบด้วยเขาบริวาร มหาทวีปทั้ง 4 มหานทีสีทันดรสมุทร พระอาทิตย์และพระจันทร์ล้วนโคจรรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์และที่ประดิษฐานพระเจดีย์จุฬามณี บรรจุพระเกศธาตุ (เส้นผม) ของพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ตาม แนวคิดศีรษะแผ่นดินกลับถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะปรากฏหลักฐานว่ามีการขยายความให้กว้างขวางออกไปอย่างเห็นได้ชัด ผ่านสถาปัตยกรรม วัดวาอารามต่าง ๆ ในพระนคร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยน “หลัก” ของโลกจากเขาพระสุเมรุมาเป็น “โพธิบัลลังก์” มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์และรัฐในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเท่ากับเปลี่ยนกษัตริย์ที่เคยเป็นเสมือน “เทวะ” บนยอดเขาพระสุเมรุ มาเป็นสถานะใหม่ คือ “พุทธะ” ของโลกแทน

ดังจะเห็นการอธิบายกำเนิดกษัตริย์พระองค์แรกของโลกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และจะมาบังเกิดขึ้นบนแผ่นดินมัชฌิมประเทศ สอดคล้องอุดมคติใหม่ของกษัตริย์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เน้นความเป็น “ธรรมราชา” มากกว่าการเป็น “เทวราชา” แต่บทบาทของการเป็นสมมติเทพไม่ได้หายไปแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ชาตรี ประกิตนนทการ. (2558). การเมืองในสถาปัตยกรรม สมัยรัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน.

พิชญา สุ่มจินดา. จาก “สะดือแผ่นดิน” สู่ ศีรษะแผนดิน การต่อยอดคติโพธิบัลลังก์จากสมัยอยุธยาตอนปลายสู่ต้นรัตนโกสินทร์. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2564.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567