17 พฤษภาคม 2518 : นักศึกษาประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขอโทษ เหตุรุกล้ำอธิปไตยไทย

นักศึกษา ประชาชน เดินประท้วง หลังเกิดกรณี เรือมายาเกซ
กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนขับไล่ และทวงคำขอโทษจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังเกิดกรณีมายาเกซ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2017 (AFP PHOTO)

ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2518 หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ รัฐบาลเขมรแดงที่เพิ่งขึ้นมามีอำนาจได้ไม่นานก็ได้ใช้กำลังเข้ายึด เรือมายาเกซ (Mayagüez) เรือสินค้าสัญชาติอเมริกันในบริเวณอ่าวไทย และควบคุมไปยังเมืองพระสีหนุ (Sihanoukville)

รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) ได้ประณามการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาว่าเป็นการกระทำเยี่ยงโจรสลัด และเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปล่อยตัวประกันโดยเร็ว หาไม่แล้วก็จะได้รับผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างถึงที่สุด

ถึงช่วงเย็นของวันที่ 13 พฤษภาคม ตามเวลาในประเทศไทย นาวิกโยธินจำนวนราวหนึ่งพันนายของกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เดินทางมาถึงฐานอู่ตะเภาเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ เรือมายาเกซ โดยไม่ได้มีการขออนุญาตทางการไทยเสียก่อน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่าหากนาวิกโยธินสหรัฐฯ เดินทางมาถึงไทยจริง “เราก็ไม่อาจเป็นมิตรกับสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป” และย้ำว่า รัฐบาลไทยยังมิได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในกรณีนี้แต่อย่างใด

ขณะที่แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลกับนิวยอร์กไทม์ว่า รัฐบาลคึกฤทธิ์ ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องออกมาประท้วงเพื่อรักษาภาพความเป็นกลาง หลังไทยพยายามสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีนและเวียดนาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางรายกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่นานคนไทยก็ลืม เพราะไม่ต้องการทิ้งผลประโยชน์ที่มีกับสหรัฐฯ และทางการไทยเองก็คงไม่อยากได้รับคำขอจากฝั่งสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการจริงๆ

การปฏิบัติการช่วยเหลือ เรือมายาเกซ ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แม้จะแลกมาด้วยความสูญเสียบ้าง แต่ก็ทำให้ประธานาธิบดีฟอร์ดได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์ในเมืองไทยกลับตรงกันข้ามเมื่อประชาชนชาวไทยจำนวนมากโกรธแค้นที่สหรัฐฯ ไม่เคารพอธิปไตยของไทย

วันที่ 16 พฤษภาคม รัฐบาลไทยได้ออกคำสั่งเรียกตัวนายอานันท์ ปันยารชุน ทูตไทยประจำสหรัฐฯ ในขณะนั้นกลับประเทศเพื่อทำการปรึกษาหารือ หลังสหรัฐฯ ละเมิดอธิปไตยของไทย และนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ก็กล่าวว่าจะมีการทบทวนข้อตกลงและสนธิสัญญาทั้งหมดที่มีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไทยจะไม่ตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

“ผมไม่เคยพูด และมันจะไม่เกิดขึ้น ผมชอบอเมริกัน” คึกฤทธิ์ กล่าว

ด้านกลุ่มนักศึกษา และนักกิจกรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยได้เคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทั้งหมดออกจากไทยมาแล้ว ก็ได้รวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคนเพื่อเดินขบวนประท้วงในวันที่ 17 พฤษภาคม เริ่มจากการรวมตัวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินไปตามท้องถนนถึงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ กลุ่มผู้ประท้วงได้โจมตีพฤติกรรมจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขอโทษต่อไทยอย่างเป็นทางการ และเร่งให้รัฐบาลไทยนำตัวทูตไทยประจำสหรัฐฯ กลับประเทศ หากยังไม่ได้รับคำขอโทษจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายในเวลา 18 นาฬิกา ของวันที่ 20 พฤษภาคม

ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่หน้าสถานทูตข้ามวันข้ามคืน จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม เอ็ดเวิร์ด อี. มาสเตอร์ส (Edward E. Masters) อุปทูตสหรัฐฯ ก็ได้ยื่นหนังสือแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)

หนังสือดังกล่าวมีข้อความตอนหนึ่งว่า “สหรัฐฯ มีความเสียใจต่อความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและสหรัฐฯ จากการส่งกำลังนาวิกโยธินไปยังฐานทัพอู่ตะเภาเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือภารกิจกู้ภัยเรือเอส.เอส.มายาเกซ”

ทันทีที่ได้รับหนังสือแสดงความเสียใจ พล.ต.ชาติชายก็กล่าวว่า “เรื่องที่แล้วก็ให้มันแล้วกันไป” และแจ้งเรื่องการแสดงความเสียใจของสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อให้ยุติการชุมนุม ด้านกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อได้รับสารแล้วก็ด่าทอสหรัฐฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้แยกย้ายกันกลับบ้านไปในวันเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Shabecoff, Philip. “White House Says Cambodia Seized a U.S. Cargo Ship.” The New York Times, 12 May 1975. Web. 17 May 2017. <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1975/05/13/76363203.html?pageNumber=19>

The Associated Press. “Thailand Reports Marines Arrival in Ship’s Seizure.” The New York Times, 14 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/14/archives/thailand-reports-marines-arrival-in-ships-seizure-bangkok.html>

Gwertzman, Bernard. “Washington Silent on the Thai Protest.” The New York Times, 15 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/15/archives/washington-silent-on-the-thai-protest.html>

Finney, John W. “U.S. Frees Cambodian-held Ship and Crew; Marines Storm Island, Suffer Casualties; Planes Hit Airfield, Sink 3 Patrol Boats.” The New York Times, 15 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/15/archives/us-frees-cambodianheld-ship-and-crew-3-copters-lost-president-on-tv.html>

Browne, Malcom W. “Thais, Angry with U.S., Call Their Envoy Home.” The New York Times, 16 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/17/archives/thais-angry-with-us-call-their-envoy-home-thailand-angry-with-the.html>

Browne, Malcom W. “3,000 Thais March on U.S. Embassy as Protest Grows.” The New York Times, 18 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/18/archives/3000-thais-march-on-us-embassy-as-protest-grows-formal-note-says.html>

The Associated Press. “U.S. Regrets Using Base in Note to Thais.” The New York Times, 19 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/19/archives/us-regrets-using-base-in-note-to-thais.html>

Browne, Malcom W. “Thais Accept U.S. Regrets; Crisis Over Base is Eased.” The New York Times, 19 May 1975. Web. 17 May 2017. <http://www.nytimes.com/1975/05/20/archives/thais-accept-us-regrets-crisis-over-base-is-eased.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2560