ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
ประธานาธิบดีกร้านท์ (President Ulysees S. Grant) ประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2422 (ค.ศ. 1879) และใช้เวลา 6 วันอยู่ที่นี่ ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้สร้างภาพพจน์แห่งมิตรภาพและความน่าเชื่อถือไว้จนพัฒนาเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระยะยาวในสมัยต่อๆ มา
แต่การเดินทางมาเยือนสยามของประธานาธิบดีกร้านท์ เดิมทีไม่อยู่ในแผนการเดินทาง?
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1877 เรือโดยสารชื่อ Indiana นำกร้านท์และภริยาพร้อมด้วยผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งออกเดินทางจากฟิลาเดลเฟีย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด เรือแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ไอร์แลนด์และอังกฤษ เพื่อต่อรถไฟท่องยุโรปในฐานะแขกของรัฐบาลเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ อิสราเอล ตุรกี กรีก ฮอลแลนด์ ปรัสเซีย (เยอรมนี) เดนมาร์ก นอร์เวย์-สวีเดน รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี สเปน โปรตุเกส จากนั้นจึงต่อเรือเดินสมุทรอีกครั้งมุ่งหน้าสู่อินเดีย พม่า สิงคโปร์ สยาม จีน และญี่ปุ่น
เมื่อมาถึงสิงคโปร์ แผนเดิมคือจับเรือมุ่งหน้าตรงไปเมืองจีนเลย แต่พระราชสาส์นฉบับหนึ่งจากรัชกาลที่ 5 แห่งสยามส่งมายังกร้านท์ที่สิงคโปร์ ทำให้เขาเปลี่ยนแผนโดยกะทันหัน พระราชสาส์นฉบับนั้นเชื้อเชิญให้กร้านท์แวะมาเยือนบางกอกในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ดังนั้นในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) กร้านท์และคณะก็ได้มากับเรือโดยสารประจำทางชื่อ Kongsee (กงสี) สู่กรุงเทพฯ
ที่ท่าราชวรดิฐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ทรงรอต้อนรับคณะของกร้านท์ แล้วทรงนำท่านเข้าพัก ณ พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ในวันรุ่งขึ้นกร้านท์มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคำนับบุคคลผู้มากด้วยอิทธิพลทางการเมืองคนหนึ่งของสยาม เขาก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (23 ธันวาคม 2351 – 19 มกราคม 2426)
การเยี่ยมเยือนคำนับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรืออดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง 5 ปีแรกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-16 นับเป็นข้อมูลที่หาอ่านยากชิ้นหนึ่ง ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้หมดภาระหน้าที่ปกครองประเทศไปแล้ว ภายหลังรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะมีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์ นับจากนี้ท่านจะมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในคณะรัฐบาล
ภารกิจและชื่อเสียงของท่านโด่งดังแค่ไหน นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็เคยบรรยายไปมากแล้ว ในที่นี้จะกล่าวเพียงว่ากิตติศัพท์ของท่านยังเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศ ผู้นำชาวต่างชาติมักจะถือเป็นเกียรติที่จะขอเข้าเยี่ยมคำนับในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และแน่นอนที่การพบปะแต่ละครั้งจะทำให้คนแปลกหน้าได้ “ข้อมูลเชิงลึก” และการมาของประธานาธิบดีกร้านท์ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกของคนไทยโบราณที่มีต่อคนอเมริกัน
ในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จเจ้าพระยาฯ อยู่ในวัยชรา อายุ 72 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ในฐานะนักการเมืองอาชีพได้หนักแน่นแม่นยำ เรายังเห็นได้ว่าการที่กร้านท์มาถึงบางกอกในเย็นวันแรก แล้วขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนใครทั้งหมด ชี้ชัดว่าท่านเป็นผู้มีบารมีเพียงใดในสายตาของกร้านท์ บันทึกการเข้าพบเขียนไว้ในลักษณะ “การสัมภาษณ์” แบบพูดจาโต้ตอบกันของชนชั้นผู้นำที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นายยัง (John Russel Young) นักข่าวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาคือ THE NEW YORK HERALD เขียนว่า
“…ชายชราผู้นี้เป็นคนสำคัญระดับแนวหน้าของประเทศทีเดียว เขาเป็นขุนนางในระบอบเก่าที่ทรงอิทธิพลที่สุด และเป็นสหายของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน (คือรัชกาลที่ 4) ในรัชกาลปัจจุบันเขาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regent) ในระยะ 5 ปีแรก และด้วยอิทธิพลของเขานี่เองทำให้รัชกาลปัจจุบันปราศจากเสี้ยนหนาม ทุกวันนี้เขาดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ทั้งยังปกครองดูแลหลายจังหวัดทางภาคใต้ (คือ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น – ผู้เขียน) มีอาญาสิทธิ์ขาดสั่งให้คนไปตายได้ เสียงของเขาทำให้รัฐบาลต้องรับฟัง ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะผ่านโลกมามาก อีกครึ่งหนึ่งเพราะความอาวุโสในหน้าที่การงาน
เรือของเราเคลื่อนเข้าเทียบท่าหน้าคฤหาสน์หลังใหญ่ของท่านรีเย้นท์ (คือผู้สำเร็จราชการฯ – ผู้เขียน) รอคอยอยู่ที่ท่าในชุดครึ่งยศประดับเหรียญตราเต็มหน้าอก ข้างหลังเขามีนายชานด์เลอร์ (Mr. Chandler) ชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี และรู้ภาษาไทยดี รีเย้นท์เป็นคนรูปร่างเล็กแต่ล่ำสัน ตัดผมเกรียนรอบศีรษะ เป็นผู้มีสีหน้าเคร่งขรึมอยู่เสมอ
รีเย้นท์เดินเข้ามาสัมผัสมือกับท่านกร้านท์ แล้วนำขึ้นไปยังห้องรับแขกอันหรูหรา ที่หน้าคฤหาสน์มีกองทหารจำนวนหนึ่งทำวันทยาวุธ มีกองดุริยางค์เล่นเพลงรักชาติของเรา (เพลง Star – Spangled Banner) ต่อด้วยเพลงชาติ (Hail, Columbia) เสียงดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ
รีเย้นท์เป็นคนมีวาจาสิทธิ์ พูดช้าๆ แต่หนักแน่น น้ำเสียงมีพลัง พูดไปพลาง คิดไปด้วย ในระหว่างการสนทนาเด็กรับใช้เสิร์ฟน้ำชาจีนอย่างดี และซิการ์คิวบาที่มีราคาแพง หลังจากครุ่นคิดอย่างรอบคอบอีกครั้ง รีเย้นท์ก็ได้กล่าวต้อนรับอย่างมั่นใจว่าชาวอเมริกันเป็นพันธมิตรของสยาม
ท่านกร้านท์กล่าวชมเชยความพยายามของผู้นำสยามที่ต้องการเปิดประเทศค้าขายกับชาวตะวันตกอย่างเสมอภาค รีเย้นท์รับฟังคำสดุดีอย่างแช่มชื่น ด้วยสีหน้าภาคภูมิใจแล้วจึงกล่าวตอบในลักษณะให้สัมภาษณ์ว่า
“สยามอาจจะแปลกประหลาดในสายตาคนภายนอก เราแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้นำตะวันตกเลย เพราะเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางผ่านของการพาณิชย์นาวี แต่เราก็เป็นชาติรักสงบ และไม่ชอบความก้าวร้าว จึงไม่มีนโยบายต่อต้านชาวตะวันตก เราตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างอิทธิพลของมหาอำนาจทั้ง 2 ชาติ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส เราจึงผูกมิตรกับทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานแห่งมิตรภาพและภราดรภาพ
บางทีมันอาจดูเหมือนว่าเราอ่อนแอ แต่มันเป็นนโยบาย เราต้องการรักษาเอกราชและอธิปไตยของเราไว้ โดยมิต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มันมา แต่คนภายนอกก็ต้องมีมานะกับเราบ้าง เราเป็นชาติโบราณ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใดตามความต้องการของชาติมหาอำนาจ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เรามีความเชื่อเป็นของเราเอง แต่เราก็มีใจให้อเมริกาเสมอมา“
เพิ่งไม่กี่ปีมานี่เองที่พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินถูกจำกัดอำนาจลงภายหลังการก่อตั้งสภาองคมนตรี อันเป็นแนวคิดของรีเจ้นท์โดยตรง เพื่อประคับประคองและสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดินในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ เรารู้สึกได้ว่าอำนาจขององคมนตรียังมีอยู่ ก็ที่ตัวรีเจนท์นี่เอง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ค้นหารัตนโกสินทร์ ประธานาธิบดีอเมริกันในราชสำนักไทย” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2564