ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายและขุนนางมักนิยมสร้าง “วัด” ทั้งเพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชศรัทธา หนึ่งในนั้นคือ วัดชัยชนะสงคราม ตั้งอยู่ในย่านมหาจักร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่สร้างโดย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วคู่พระทัย รัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสงคราม “อานามสยามยุทธ”
เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเติบโตขึ้น บิดาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ได้ถวายบุตรชายเป็นมหาดเล็กในวัง ท่านเจริญก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับ กระทั่งเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาบดินทรเดชารับราชการมีผลงานด้านการศึกสงครามเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงทรงยกย่องให้เป็น “ขุนพลแก้วคู่พระทัย”
เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบทบาทในสงคราม “อานามสยามยุทธ” ระหว่างสยามกับญวน ที่กินเวลาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2376-2390 เมื่อเดินทางกลับมายังสยามในราว พ.ศ. 2391 เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ประสงค์จะสร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะ นั่นก็คือ “วัด”
จากนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้อุทิศบ้านและที่ดิน ซึ่งรัชกาลที่ 3 พระราชทานให้ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี เพื่อสร้างวัดขึ้น และตั้งชื่อวัดว่า วัดชัยชนะสงคราม
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ได้ถวายเป็นพระอารามหลวง วัดนี้จึงมีฐานะเป็นวัดราษฎร์ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดตึก” เพราะลักษณะอาคารภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ล้วนเป็นอาคารคอนกรีตทั้งสิ้น ถือว่าเป็นของแปลกใหม่ในสมัยนั้น
วัดชัยชนะสงคราม มีฐานะเป็นวัดราษฎร์มาจนถึง พ.ศ. 2521 กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
อ่านเพิ่มเติม :
- เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดิน
- เจ้าพระยาบดินทร์ (สิงห์) เฆี่ยนลูกที่ลอบขายฝิ่น “ตายก็ช่างมัน จะได้ไปเกิดใหม่เป็นคนดีๆ”
- ยุทธนาวี “แส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด” สงครามการปราชัยครั้งใหญ่ของสยาม ซึ่งแทบไม่เคยถูกกล่าวถึง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2567