ยุทธนาวี “แส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด” สงครามการปราชัยครั้งใหญ่ของสยาม ซึ่งแทบไม่เคยถูกกล่าวถึง

องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

จุดเริ่มต้นของสงคราม

สงครามแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด (Rạch Gầm-xoài Mút) สืบเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจภายในเวียดนามของสองตระกูลขุนนางจิ่งห์ (Trịnh) และเหงวียน (Nguyễn) ที่แข่งขันกันขยายอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ โดยตระกูลจิ่งห์กุมอำนาจทางเหนือ ส่วนตระกลูเหงวียนนั้นกุมอำนาจทางใต้

ต่อมาตระกลูเหงวียนประสบปัญหา อันเนื่องมาจากการบริหารภายในที่ล้มเหลวและการถูกโจมตีจากตระกูลจิ่งห์ ส่งผลให้ข้าราชการรวมไปถึงชาวบ้านพากันต่อต้าน จนเกิดขบวนการที่เรียกว่า “เต็ยเซิน” นำโดย 3 พี่น้อง ได้แก่ เหงวียนหญัก (Nguyễn Nhạc) เหงวียนเหวะ (Nguyễn Huệ) และเหงวียนหลือ (Nguyễn Lữ)  

เมื่อตระกลูเหงวียนไม่สามารถคุมการจลาจลที่เกิดขึ้นได้ จึงลงเอยด้วยการที่เจ้าตระกลูเหงวียนซึ่งก็คือ เหงวียนฟุกถ่วน และเหงวียนฟุกเซือง ถูกสังหารใน ค.ศ. 1777 แต่ทว่ากลุ่มเต็ยเซินก็ยังไม่สามารถโค่นอำนาจตระกูลเหงวียนได้เด็ดขาด เนื่องจากยังเหลือทายาทตระกูลเหงวียนนั่นคือ เหงวียนแอ๊งห์ (องเชียงสือ) ที่หนีมาขอความช่วยเหลือจากราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 1 จึงทำให้เป็นต้นเหตุที่ดึงเอาสยามเข้าไปเกี่ยวข้องจนนำไปสู่สงครามแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด

ใน ค.ศ. 1784 ภายหลังจากสถาปนาราชวงศ์จักรีได้เพียงสองปี รัชกาลที่ 1 ตัดสินพระทัยที่จะสนับสนุนตระกูลเหงวียน เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าเพิ่งมีการตั้งราชวงศ์ใหม่ ยังไม่มีความมั่นคงมากพอ อีกทั้งศึกจากพม่าก็ยังวางใจไม่ได้ ถึงแม้จะสามารถขยายอำนาจไปยังตอนเหนือกัมพูชาและลาวได้ แต่ก็เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มเต็ยเซินเป็นระยะ ดังนั้น ความขัดแย้งนี้จึงเป็นข้อได้เปรียบสำหรับสยาม การเลือกสนับสนุนตระกูลเหงวียนนั้นจะช่วยลดอำนาจกลุ่มเต็ยเซินได้ และในระยะยาวตระกูลเหงวียนอาจเป็นพันธมิตรและฐานกำลังที่ดีในภายภาคหน้า

การเข้าร่วมสงครามแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ดของสยาม

เดือนเมษายน ค.ศ. 1784 รัชกาลที่ 1 ส่งทัพไปตีซาดิ่งห์ (Gia Địng) [นครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน] โดยแบ่งเป็น 2 ทัพ ได้แก่ ทัพแรกนำโดยพระยานครสวรรค์ เดินทัพผ่านกัมพูชา ทั้งนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ปกครองกัมพูชาส่วนในได้เกณฑ์ทหารเขมรมาเข้าร่วมทัพในครั้งนี้ด้วย โดยมีทหารราว 30,000 นาย

ส่วนทัพที่สองเป็นทัพเรือนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 มีทหารราว 20,000 นาย เรือรบ 300 ลำ ล่องตัดผ่านอ่าวสยาม (อ่าวไทย) ไปยังเมืองเกียนซาง (Kiên Giang) เพื่อสมทบกับทัพบกที่ยกไปก่อน ส่วนเหงวียนแอ๊งห์ยกกองกำลังของตนไปกับทัพเรือและสั่งให้ขุนนางที่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของเวียดนามรวมกำลังพลโดยมอบให้จูวันเตี๊ยบเป็นแม่ทัพใหญ่ นับได้ว่าเป็นทัพที่แข็งแกร่งพอสมควร

เมื่อเจ้าเมืองซาดิ่งห์ (ฝ่ายเต็ยเซิน) ทราบว่าสยามยกทัพมา จึงได้เกณฑ์ทัพเรือมาป้องกันเมืองซาแด๊ก (Sa Đéc) ซึ่งการรบในครั้งนี้ทัพของพระยานครสวรรค์เป็นฝ่ายชนะ ทำให้สามารถยึดเรือเชลยและศาสตราวุธได้จำนวนมาก แต่ทว่า พระยานครสวรรค์กลับส่งคืนให้แก่แม่ทัพเต็ยเซิน การกระทำดังกล่าวของพระยานครสวรรค์ถูกกล่าวว่าเป็นกบฏ ดังนั้น รัชกาลที่ 1 จึงมีรับสั่งให้นำตัวพระยานครสวรรค์กลับไปไต่สวนจนกระทั่งถูกประหารชีวิต จากนั้นให้พระยาวิชิตณรงค์เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทัพบกแทน

ต่อมาทัพเรือเต็ยเซินยกทัพมาตั้งที่เมืองหมี๋ทอ (Mỹ Tho) และพยายามที่จะส่งกองทัพเล็ก ๆ มาโจมตีเพื่อตัดกำลังทัพสยามอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ฝ่ายเต็ยเซินเสียกองกำลังไปมากจนเกือบถอยทัพ จากหลักฐานตระกูลเหงวียนมีการระบุว่าชายคนหนึ่งที่ชื่อ เลซวนซ้าก (Lê Xuân Giác) ได้เสนอให้เอากองทหารที่แข็งแกร่งมาดักที่สองฝั่งแม่น้ำแส็กเกิ่มและสว่ายมู้ด รวมไปถึงแม่น้ำเตี่ยนซึ่งคาดว่าสยามจะยกทัพมา  

ฝ่ายสยามที่กำลังล่องไปตามแม่น้ำเตี่ยนโดยไม่ทันระวังตัว เมื่อถึงเขตที่เต็ยเซินวางกำลังไว้ ณ จุดที่แม่น้ำแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด ที่บรรจบกับแม่น้ำเตี่ยน ก็พบว่าทัพเรือของตนถูกล้อมทั้งหน้าและหลัง ทหารเต็ยเซินที่ซุ่มในพุ่มไม้สองฝั่งและเกาะกลางแม่น้ำก็ออกมาโจมตี ทัพสยามตกอยู่กลางทัพเต็ยเซิน ถูกปืนใหญ่ระดมยิงใส่ ทหารที่เหลือถูกเต็ยเซินสังหาร สามารถหนีรอดมาได้เพียงไม่กี่พันนาย

ส่วนทัพบกเมื่อรู้ข่าวว่าทัพเรือแตกก็ทิ้งค่ายหนี กรมหลวงเทพหริรักษ์หนีมาได้เพราะข้าในกรมจับกระบือได้ตัวหนึ่งให้ทรงขี่ขึ้นบกหนีเข้าไปทางกัมพูชา ส่วนเหงวียนแอ๊งห์หนีไปทางแม่น้ำจ่าหลวด (sông Trà Luật) แล้วหนีไปเมืองห่าเตียน (Hà Tiên)

รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการสอบสวนจนพบทราบว่าทัพสยามกระทำการแบบย่ามใจ จนตกหลุมพรางของทัพเต็ยเซิน ซึ่งในหลักฐานเวียดนามเองได้กล่าวถึงทัพสยามว่าทหารสยามนั้นไม่จริงจังกับการศึก มุ่งไปทางอบายมุข เที่ยวข่มเหงประชาชนทำให้ปราชัยต่อเต็ยเซิน นอกจากนี้ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ได้ยินพฤติกรรมทหารสยามก็ทรงกริ้วมากจึงทูลยืนยันว่า 

“วันก่อนเห็นเจ้าพวกนี้ให้ทาสขนของกลับมามีทั้งหญิงสาวทรัพย์สินเงินทอง ก็คิดอยู่ว่าจะเสียการใหญ่ ตั้งใจว่าจะต่อเรือเพื่อส่งไปหนุนแต่ไม่ทัน แพ้ชนะก็เป็นปกติของชายชาติทหาร แต่พวกนี้ปราชัยด้วยสาเหตุใดก็ไม่รู้”

เหงวียนแอ๊งห์กลับมาถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 ตรัสถามสาเหตุที่ปราชัยทั้งที่มีกำลังเหนือกว่า เหงวียนแอ๊งห์ได้ทูลว่า “คิดถึงน้ำใจไมตรีสยามรัฐเพื่อนบ้านที่เราช่วยเหลือ แต่เพราะเจ้าตัน [พระยาวิชิตณรงค์] และเจ้าเสือง [กรมหลวงเทพหริรักษ์] ทะนงตน ชะล่าใจ ไปที่ไหนก็ข่มเหงราษฎรอย่างโหดร้าย ชาวบ้านไม่พอใจเป็นเหตุให้ต้องปราชัย”

ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ ได้สอบสวนทหารที่รอดชีวิตทรงพบว่าเหตุที่พ่ายแพ้เพราะเจ้าตัน [พระยาวิชิตณรงค์] เจ้าเสือง [กรมหลวงเทพหริรักษ์] ยกยอปอปั้นตัวเองวางตนเป็นใหญ่ โหดร้าย บุ่มบ่ามบุกโดยไม่เชื่อฟังเหงวียนแอ๊งห์ ความปราชัยครั้งนี้สยามมองว่าเป็นสร้างความอัปยศให้กับของราชสำนักสยามเป็นอย่างมาก

ทำไมสงครามถึงไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของไทย?

สงครามแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ดเป็นความทรงจำที่ถูกเลือกให้กลายเป็นความทรงจำร่วมในมุมมองของเวียดนาม เพราะยุทธนาวีนี้ทำให้เกิดขบวนการปลดปล่อยความทุกข์ยากให้เกษตรกร ปกป้องอธิปไตยของประเทศ เอกราชของประชาชน โดยให้ภาพ “ทหารสยามที่โหดร้าย” พระเอกก็คือ “ทัพเต็ยเซิน” ในขณะที่เวียดนามเลือกที่จะ “จำ” สยามนั้นเลือกที่จะ “ลืม”

เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นการบอกเล่าถึงความพ่ายแพ้ของสยาม อีกทั้งยังมีหลักฐานที่แสดงว่าทหารสยามนั้นกดขี่ข่มเหงคนเวียดนาม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเหตุการณ์นี้ไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทย 

จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ไทยเองก็เลือกที่จะใช้โครงเรื่องแบบเดียวกับเวียดนามคือ หยิบเอาศัตรู สร้างวีรบุรุษและผู้ร้ายขึ้นมา เพื่อก่อให้การต่อสู้และเสียสละเพื่อบ้านเมืองของตน โดยเนื้อหาภายในประวัติศาสตร์นั้น เลือกที่จะไม่หยิบยกความผิดพลาดหรือการขยายฐานอำนาจเข้าไปยังรัฐอื่น ๆ ของตนมากล่าวถึง

ประวัติศาสตร์มักถูกเขียนขึ้นโดยผู้ที่ชนะ ดังนั้น การเขียนจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ การเชิดชูความกล้าหาญ และเสียสละในการต่อสู้เพื่อชาติ จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติ และความเป็นชาตินิยมขึ้นมา โดยการแฝงและฝังแนวคิด หรือสร้างความหมายเชิงสัญลักษณให้เหตุการณ์เหล่านั้น โดยมีเป้าหมายก็เพื่อสร้างชุดความคิดและปลูกฝังความเชื่อแบบเดียวกันให้กับคนในชาติ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ดูหลักฐานอีกมุม “องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนามเต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยามหรือไม่?


อ้างอิง :

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2545. ว่าด้วยการเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ (ว่าด้วยการเมือง ของประวัติศาสตร์และความทรงจำ). กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มติชน.

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ. 2556. แส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด ประวัติศาสตร์การรับรู้มหายุทธสยามพ่ายในมุมองของเวียดนาม. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 32(1): มกราคม-มิถุนายน 2556.

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. 2550. ประวัติศาสตร์เวียดนามในแบบเรียนชั้นประถม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564