ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวที่ “ฮิลส์โบโรห์” คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ “ฟุตบอลอังกฤษ” เมื่อฝูงชนจำนวนมากหลั่งไหลชมเกมนัดสำคัญ พวกเขาหวังจะดูทีมรักฟาดแข้งรอบรองชนะเลิศในรายการแข่งขันฟุตบอลอันเก่าแก่ของประเทศ แต่มวลชนเหล่านี้ต้องประสบชะตากรรมอันน่าเศร้าที่นำไปสู่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของ สโมสรฟุตบอล ลิเวอร์พูล และวงการฟุตบอล
15 เมษายน ค.ศ. 1989 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว วันแข่งขัน ฟุตบอล รอบรองชนะเลิศ “ศึกเอฟเอคัพ” (FA Cup) ระหว่างทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล (Liverpool) กับ “เจ้าป่า” น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ (Nottingham Forest) โดยใช้สนามกลางของสโมสรเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ (Sheffield Wednesday) ที่ชื่อว่า “ฮิลส์โบโรห์” (Hillsborough) เป็นสมรภูมิฟาดแข้งครั้งนี้
ลิเวอร์พูลในปีนั้นมีตำนานสโมสรอย่าง เซอร์เคนนี ดัลกลิช (Sir Kenny Dalglish) เป็นกุนซือที่กำลังพาทีมลุ้นดับเบิลแชมป์ของฤดูกาลนั้นอยู่ ส่วนน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ อยู่ภายใต้การคุมทีมของไบรอัน คลัฟ (Brian Clough)
ทั้ง 2 สโมสรล้วนเป็นทีมฟุตบอลที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นจำนวนมากของประเทศอังกฤษ เคยประสบความสำเร็จและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเฉพาะสโมสรลิเวอร์พูลที่มีแฟนบอลขนานนามตนเองว่า เดอะค็อป (The Kop) ถือเป็นหนึ่งในสโมสรมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังอังกฤษในยุคนั้นเลยทีเดียว
เอฟเอคัพเป็นรายการฟุตบอลชิงถ้วยรางวัลที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะอังกฤษ เป็นรายการแข่งขันที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และมนตร์ขลัง เกมระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในรอบรองชนะเลิศจึงเป็นเกมนัดสำคัญและได้รับความสนใจจากแฟนบอลจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาชมแบบติดขอบสนาม
มรณกรรมที่ “ฮิลส์โบโรห์”
ตั๋วชมการแข่งขันทั้งหมด 53,000 ใบถูกขายหมดก่อนวันเริ่มการแข่งขัน แฟนบอล “หงส์แดง” ถูกจัดให้อยู่อัฒจันทร์ฝั่งทิศตะวันตกและทิศเหนือของสนาม เป็นตั๋วจำนวน 24,000 ใบ ขณะที่แฟนบอล “เจ้าป่า” อยู่ฝั่งทิศใต้และตะวันออกเป็นตั๋วจำนวน 29,000 ใบ ในจำนวนนี้ แฟนบอลหงส์แดงกว่า 10,100 คน ได้ตั๋วยืนของสนามฝั่งทิศตะวันตก ณ จุดที่กำลังจะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น
อัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกของสนามฮิลส์โบโรห์มีโซนยืนที่ต้องเข้าจากประตูทิศเดียวกันของสนาม โซนยืนชั้น 1 แบ่งเป็น 6 โซน แต่ละโซนมีรั้วกั้นด้านข้างและด้านหน้าที่ติดขอบสนาม โดยมีประตูแคบ ๆ สำหรับให้แฟนบอลเคลื่อนย้ายระหว่างโซน
ทั้งนี้ ประตูทางเข้าจากด้านนอกสนามจะเชื่อมกับโซน 3 และ 4 โดยตรง ซึ่งสองโซนนี้อยู่ตรงกลางด้านหลังประตูฟุตบอลพอดี นั่นแปลว่าแฟนบอลจากประตูทิศตะวันตกจะต้องผ่านโซน 3 และ 4 ก่อนระบายไปยังโซน 1-2 ที่อยู่ฝั่งซ้าย และโซน 5-6 ที่อยู่ฝั่งขวา
โปรแกรมการแข่งขันเริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น. แต่ 1 ชั่วโมงก่อนการแข่งขันกลับมีแฟนบอลลิเวอร์พูลไม่ถึง 2,200 คนที่ผ่านประตูฝั่งตะวันตกเข้าไปถึงอัฒจันทร์แล้ว เนื่องจากช่องผ่านประตูฝั่งตะวันตกนั้นมีจำนวนน้อยกว่าฝั่งอื่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลด้านนอกมีกำลังไม่พอที่จะอำนวยความสะดวกแฟนบอล
เมื่อแฟนบอลจำนวนมากที่อยู่ด้านนอกเริ่มเกิดความกังวลว่าจะเข้าไปชมเกมการแข่งขันไม่ทัน มีการผลักดันคนข้างหน้าให้ผ่านประตู ความวุ่นวายจึงเริ่มก่อตัวขึ้น
ขณะที่แฟนบอลที่เข้ามาถึงโซน 3 และ 4 แล้ว พวกเขากลับไม่สามารถเคลื่อนหรือระบายออกไปยังโซนฝั่งซ้าย-ขวาได้ เนื่องการแรงผลักดันจากมวลชนที่อยู่ด้านหลังและป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน ภายในอัฒจันทร์ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คอยกระจายคนให้ออกไปยังโซนอื่น ๆ ด้วย
มวลชนจำนวนมากจึงเริ่มบีบอัดกันอยู่ในโซน 3 และ 4 อย่างหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่โซน 1-2 และ 5-6 ยังมีพื้นที่ว่างอยู่
15 นาทีก่อนการแข่งขัน ด้านนอกยังมีแฟนบอลอีกกว่า 4,000 คน ที่รอเข้ามาด้านในสนาม เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจเปิดประตูทางเข้าเพิ่ม มวลชนจำนวนมากที่ออกันอยู่ด้านนอกจึงไหลทะลักเข้าสู่ทางเข้าสนามทิศตะวันตก
ณ จุดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
เมื่อเริ่มการแข่งขัน พื้นที่บริเวณโซน 3 และ 4 อัดแน่นไปด้วยคนจำนวนมหาศาล เสียงเชียร์ภายในสนามที่ดังกระหึ่มยิ่งเร่งเร้าแฟนบอลอีกจำนวนหนึ่งที่ตกค้างอยู่ด้านนอกให้พยายามแทรกตัวเข้ามาชมเกมภายในสนามฮิลส์โบโรห์ให้ได้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แฟนบอลหลายคนในโซน 3 และ 4 เริ่มหายใจไม่ออกตั้งแต่ก่อนเริ่มการแข่งขันแล้ว กลุ่มที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างถูกอัดให้ติดกับรั้วเหล็ก มวลชนส่วนหนึ่งเริ่มตะเกียกตะกายและหนีตายอย่างอลหม่าน มีคนวูบหลับหมดสติเนื่องจากขาดอากาศหายใจ แรงบีบอัดบริเวณนั้นทำให้พวกเขาไม่สามารถระบายออกไปโซนยืนข้างเคียงได้ด้วยซ้ำ
แฟนบอลจึงตะโกนบอกให้เจ้าหน้าที่ด้านในสนามให้เปิดประตูด้านติดขอบสนามบริเวณหลังประตูฟุตบอลเพื่อระบายคนออกก่อน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับปล่อยให้แฟนบอลเข้ามายังสนามระหว่างมีการแข่งขัน
แฟนบอลจำนวนหนึ่งจึงปีนรั้วเพื่อเอาตัวเองออกจากโซน 3 และ 4 ให้ได้ บางส่วนขอความช่วยเหลือจากแฟนบอลคนอื่น ๆ ที่อยู่บนอัฒนจันทร์ชั้น 2 ให้ช่วยดึงพวกเขาขึ้นไปจากพื้นที่ดังกล่าว มีคนเสียชีวิตเพราะหายใจไม่ออก
ความโกลาหลนั้นทำให้กรรมการผู้ตัดสินในสนามเป่านกหวีดยุติการแข่งขันทันทีในนาทีที่ 6 หลังเริ่มเกม เพราะสถานการณ์ตรงนั้นดูเลวร้ายอย่างยิ่ง
8 นาทีหลังยุติการแข่งขัน รถพยาบาลคันแรกเดินทางเข้ามาถึงด้านในสนามฮิลส์โบโรห์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านนอกสนามไม่เปิดประตูให้รถพยาบาลเข้ามาทันทีหลังเกิดเรื่อง เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่คาดการณ์และประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป พวกเขาคิดว่าผู้คนที่เข้ามาในโซน 3 และ 4 คงกระจายไปยังโซนอื่น ๆ ที่ว่างได้เองเมื่อพบว่าพื้นที่ตรงนั้นเต็ม และความวุ่นวายเกิดจากแฟนบอลบางส่วนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วก่อนเรื่อง การประสานงานเพื่อความช่วยเหลือจึงเป็นไปอย่างล่าช้า
โศกนาฏกรรมนี้ทำให้แฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิต 97 คน โดยเสียชีวิตในวันเกิดเหตุ 95 คน และเสียชีวิตในภายหลัง 2 คน คือ โทนี แบรนด์ ผู้กลายเป็นเจ้าชายนิทราจากภาวะสมองขาดออกซิเจน ครอบครัวของเขาตัดสินใจให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจในปี 1993 อีกคนคือ แอนดรูว์ เดอไวน์ ผู้ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง จนไม่สามารถสื่อสารหรือใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ เขาอยู่ในการดูแลของครอบครัวและโรงพยาบาล กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2021
ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีตั้งแต่ 10 ขวบ ไปจนถึง 67 ปี มี 15 คน จาก 97 คน ที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนเสียชีวิต (รวมโทนีและแอนดรูว์) และมีแฟนบอลอีกหลายร้อยชีวิต ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจจากโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในความทรงจำอันเลวร้ายของประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล
เพื่อป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยแบบที่ฮิลส์โบโรห์ สมาคมฟุตบอลอังกฤษสั่งให้ทุกสนามในลีกสูงสุดติดตั้งเก้าอี้สำหรับอัฒจันทร์ทั้งหมด ยกเลิกวัฒนธรรมการยืนเชียร์ และรื้อถอนรั้วเหล็กกั้นโซนออกให้หมดทุกสนามด้วย
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของแฟนบอลเกือบทั้งหมดเกิดจากสภาวะที่เรียกว่า “Crowd Crush” (ไม่มีคำแปลตรงตัวในภาษาไทย) อธิบายพอสังเขปได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากจนเกิดการเบียดเสียดอัดแน่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หรือศัพท์ทางการแพทย์คือ Compressive Asphyxia
เมื่อคนจำนวนมากอัดแน่นอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ร่างกายถูกแรงภายนอกบีบอัด ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ระบบการทำงานในร่างกายขาดความสมดุล นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันนั่นเอง
จากเหตุการณ์นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองบางคนพยายามกล่าวหาแฟนบอลลิเวอร์พูลว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายและโศกนาฏกรรมนี้ มีการอ้างว่าแแฟนลิเวอร์พูลดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าสนามแล้วอาละวาดจนเกิดความวุ่นวายขึ้น แฟนบอลที่ไม่มีตั๋วจำนวนหนึ่งพยายามผ่านประตูช่วงชุลมุนและมาแออัดกันเกินจำนวนที่อัฒจันทร์รองรับได้
เดอะซัน (The Sun) หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษยังพาดหัวข่าวกล่าวหาแฟนบอลลิเวอร์พูลอย่างรุนแรงด้วยข้อความว่า
“Some fans picked pockets of victims.
Some fans urinated on the brave cops.
Some fans beat up PC giving kiss of life.”
แปลได้ว่า “แฟนบอลบางส่วนขโมยทรัพสินย์ของเหยื่อ ปัสสาวะใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล้าหาญ และเปลื้องผ้าศพของหญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย”
เป็นเหตุให้แฟนบอลและชาวเมืองลิเวอร์พูลโกรธแค้นการนำเสนอดังกล่าวอย่างมาก หนังสือพิมพ์ เดอะ ซัน ไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในเมืองลิเวอร์พูล ไม่ให้ทำข่าวใด ๆ เกี่ยวกับสโมสร รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวสำนักนี้เข้ามายังสนามแข่งขันและสนามซ้อมของลิเวอร์พูลตั้งแต่นั้น
การต่อสู้อันยาวนาน
เดือนมกราคม ปี 1990 มีการพิจารณาไต่สวนสาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าว ระบุเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ยอมปิดประตูทางเข้าฝั่งตะวันตก และถือว่า นายเดวิด ดัคเคนฟิลด์ (David Duckenfield) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้นล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ เหตุการณ์นี้จึงเป็นเพียง “อุบัติเหตุ” จากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ยิ่งไปกว่านั้น ดร.สเตฟาน พอปเปอร์ (Dr. Stefan Popper) หัวหน้านายแพทย์ผู้ชันสูตรศพยังปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตของแฟนบอลแก่สาธารณชน ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสียอย่างมาก
ปี 2012 มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์ความหนากว่า 400 หน้าต่อสาธารณชน ข้อมูลจากเอกสารนี้เปิดเผยว่าผู้เสียชีวิต (อย่างน้อย) 41 ราย ไม่ได้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ พวกเขาอาจรอดชีวิต หากได้รับความช่วยเหลือทันทีหลังเกิดเรื่อง เอกสารนี้ยังประณามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนักการเมืองว่า โยนความผิดให้ผู้เสียชีวิตอย่างหน้าไม่อาย ทั้งที่ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการอันย่ำแย่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หนังสือพิมพ์เดอะ ซัน ได้แถลงขอโทษต่อแฟนบอลลิเวอร์พูลกรณีคำกล่าวหาที่ร้ายแรงในอดีต แต่สิ่งที่พวกเขาทำมันเลวร้ายเกินกว่าที่แฟนบอลลิเวอร์พูลและครอบครัวผู้สูญเสียจะให้อภัยได้
ปีเดียวกัน นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ออกมาขอโทษแฟนบอลลิเวอร์พูล ที่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เงียบหายไปโดยไม่พยายามรื้อฟื้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง เขายอมรับว่าการละเลยของเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้แฟนบอลเข้าสนามเกินความจุ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวน่าเศร้านี้ ทั้งหน่วยพยาบาลและการประสานงานที่ล่าช้ายังทำให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไร้ประสิทธิภาพจนทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่ควรจะเป็น
ปี 2015 หลังการรื้อฟื้นคดีโศกนาฏกรรมฮิลโบโรห์อีกครั้ง เดวิด ดัคเคนฟิลด์ ให้การยอมรับข้อกล่าวว่าเขาล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่กรณีประตูทางเข้า จนเป็นเหตุให้เกิดผู้เสียชีวิต
ปี 2016 หรือ 27 ปีหลังเหตุการณ์นั้น มีการลงมติของคณะลูกขุนด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ให้การยืนยันว่า แฟนบอลลิเวอร์พูลที่เสียชีวิตทั้ง 96 ราย (ในขณะนั้น) ถูกฆาตกรรมอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาไม่ใช่สาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเลยการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด การออกแบบสนามกีฬาที่ผิดพลาด และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่และหน่วยพยาบาล
คำตัดสินดังกล่าวถือเป็นการ “ปลดแอก” ให้แฟนบอลลิเวอร์พูล โดยเฉพาะญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้เป็นอิสระ หลังการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมมาอย่างยาวนาน
ขอผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์ทั้ง 97 คน พบความสงบสุข “You’ll never walk alone.” พวกเขาจะไม่มีวันเดินอย่างเดียวดาย…
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
BBC, Hillsborough: Timeline of the 1989 stadium disaster
HILLSBOROUGH DISASTER ฝูงชนมรณะ | The Common Thread
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565