ดูหลักฐานอีกมุม “องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนามเต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยามหรือไม่?

ภาพจิตรกรรม องเชียงสือ กษัตริย์เวียดนาม เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 1 พึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ภาพประกอบเนื้อหา - องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

“องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนาม เต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 1 แห่งสยาม แต่ในเอกสารเวียดนามบันทึกไว้อีกอย่าง

เมื่อสำรวจพงศาวดารไทยในยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ยุคก่อนสมัยใหม่” จะพบว่าหลายครั้งมีการกล่าวถึงการเข้ามา “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” ของกษัตริย์จากราชสำนักข้างเคียง ซึ่งส่วนมากเป็นการเข้ามาพึ่งพิงด้วยเหตุแพ้สงครามหรือการตกเป็นองค์ประกัน

ตัวอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง คือ การเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ “เหงวียนฟุกแอ๋งห์” หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “องเชียงสือ”

ภาพวาดจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) ที่แพร่หลายในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม

องเชียงสือคือทายาทคนเดียวที่เหลืออยู่ของตระกูลเหงวียน ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1762 (พ.ศ. 2305 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) เป็นบุตรคนที่ 3 ของเหงวียนฟุกลวน ที่ต่อมาจะกลับไป “ปราบดาภิเษก” เป็นปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียนที่ปกครองพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันคือเวียดนามทั้งหมด ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

ตามคำเล่าลือและในความรับรู้ของคนทั่วไป องเชียงสือลี้ภัยเข้ามาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยาม นั่นคือ “เรื่องเล่ากระแสหลัก” ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในหลักฐานทางการของไทย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ระบุเกี่ยวกับการเข้ามาสยามของกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ว่า องเชียงสือเข้ามาสยามโดยการรับเลี้ยงจากขุนนางสยาม ปรากฏในหลักฐานชิ้นนี้ว่า

“…ฝ่ายแผ่นดินเมืองญวน องไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินยกกองทับมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลทหารออกต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย ภาบุตรภรรยาแลขุนนางสมักพักพวก ลงเรือแล่นหนีมาทางทะเล ขึ้นอาไศรยอยู่บนเกาะกระบือ ในปีขานจัตวาศกนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาชลบุรีพระระยองออกไปตระเวนสลัดถึงเกาะกระบือ ภบองเชียงสือๆ เล่าความให้พระยาชลบุรี พระระยองฟังว่า องเชียงสือเปนบุตรองเทิงกวาง เปนหลานเจ้าเมืองเว้ บ้านเมืองเสียแก่ฆ่าศึกหนีมาจะเข้าไปพึ่งพระบารมี พระยาชลบุรี พระระยองรู้ความแล้ว จึ่งชวนองเชียงสือให้เข้ามากรุง…”

แล้วในมุมมองของเวียดนามเป็นเช่นไร?

ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 สุเจน กรรพฤทธิ์ นำเสนอประเด็นดังกล่าว ในบทความ “ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป ‘องเชียงสือ’ ในหลักฐานเวียดนาม” ซึ่งเป็นการให้ภาพขององเชียงสือ กษัตริย์เวียดนาม อย่างที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน

หากย้อนไปเมี่อครั้งก่อนที่องเชียงสือจะเข้ามาสยาม เวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเมืองภายใน เมื่อขบวนการเต็ยเซินสะสมกำลัง และคุกคามตระกูลเหงวียนที่เว้ ทำให้ต้องย้ายราชธานีมาอยู่ที่ซาดิ่งห์ บริเวณปากแม่น้ำโขง

สถานการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับรัฐใกล้เคียงคือสยาม กัมพูชา และฮาเตียน เปลี่ยนไป จากเดิมที่เวียดนามต้องขับเคี่ยวกับสยามเรื่องการครอบครองกัมพูชาและฮาเตียน กลายเป็นต้องหันมาเป็นมิตรกับสยามเพื่อต่อต้านเต็ยเซิน และรักษาเขตอิทธิพลของตนไว้ ถือเป็นครั้งแรกที่เวียดนามกับสยามอยู่ในสถานะ “มิตร” มิใช่ “ศัตรู”

หลักฐานชั้นต้นของเวียดนาม บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม (เล่ม 1) เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลจักรพรรดิมิงห์หม่างของราชวงศ์เหงวียน เขียนโดย “ก๊วก สื่อ กว๋าน” หน่วยงานที่มีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ราชสำนัก ได้บันทึกเกี่ยวกับการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือ เมื่อ ค.ศ. 1784 เอาไว้ ซึ่งแตกต่างไปจากหลักฐานของไทย

บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม เล่ม 1 ที่เล่าเรื่องราวขององเชียงสือเอาไว้จากมุมมองของราชสำนักเหงวียน

หลักฐานเวียดนามชิ้นนี้ มิได้กล่าวถึงการไปพบกับขุนนางสยาม หรือการยอมตนเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด กลับให้ความสำคัญในประเด็นที่ว่า “ค.ศ. 1784 กษัตริย์ (องเชียงสือ) ไปสยาม… กษัตริย์ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป” ดังที่หลักฐานชิ้นนี้ให้คือ

พอเข้าสู่ปี 1784 (องเชียงสือ) พ่ายศึกที่สมรภูมิเบ๋นแหง (Bến Nghé/เมืองใกล้อ่าวสยาม) จูวันเตี๊ยบ (Chu Văn Tiếp/แม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งขององเชียงสือ)  เดินทางไปขอความช่วยเหลือกษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 1) ทรงเห็นชอบ…รับสั่งให้แม่ทัพท้าดซีดา (Thát Xi Đa/เป็นชื่อยศของแม่ทัพสยาม) นำทัพเรือไปฮาเตียน ส่งสารแจ้งว่ามาเสริมกำลัง แต่จริงๆ คือจะช่วยกษัตริย์ (องเชียงสือ) ให้ไปสยาม วันเตี๊ยบนำพระราชโองการ (รัชกาลที่ 1) กลับมากับทัพสยาม จากนั้นองเชียงสือเดินทางมาที่เมืองลองเซวียน พบแม่ทัพสยามที่พยายามทูลเชิญ

หลักฐานดังกล่าวนี้ นอกจากจะบันทึกการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือไว้แล้ว ยังได้บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างองเชียงสือกับสยามเมื่อ ค.ศ. 1778 อันเป็นสมัยกรุงธนบุรี รวมถึงศึกกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. 1781 อันเป็นที่มาของความสัมพันธ์ลับระหว่างองเชียงสือกับแม่ทัพใหญ่ของสยามในสมัยกรุงธนบุรี

กลาง ค.ศ. 1778 เมื่อองเชียงสือรับตำแหน่งอ๋องเต็มตัว ได้ส่งทูตไปกรุงธนบุรีเปิดการติดต่อกับราชสำนักสยามในฐานะมิตร ปีนั้น “องเชียงชุน” พระปิตุลาคนหนึ่งขององเชียงสือหนีเต็ยเซินไปที่กรุงธนบุรีกับหมักเทียนตื๋อ เจ้าเมืองฮาเตียน พร้อมผู้ติดตามอีก 53 คน องเชียงสือทรงห่วงใยพระปิตุลา และต้องการพึ่งกำลังของสยาม ดังนั้นในเดือน 6 จึงรับสั่งให้เซิมและติ๋งห์ไปสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ต่อมาใน ค.ศ. 1781 เมื่อเกิดศึกกัมพูชา อันเป็นศึกครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าตากสิน เป็นสถานการณ์ที่นำมาสู่การผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯ

ระหว่างศึกกัมพูชา เกิดการเจรจาในสนามรบระหว่างแม่ทัพสยามกับแม่ทัพเวียดนาม ตามที่หลักฐานเวียดนามบันทึกไว้ว่า แม่ทัพเวียดนามไปยังค่ายทหารสยาม แม่ทัพสยามได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทั้งสองฝ่ายต่างปรึกษาหารือกัน และแสดงความจริงใจด้วยการเสพสุราพร้อมกับหักลูกธนูสาบาน

ประเด็นการเข้ามาสยามขององเชียงสือ ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน แม้ว่าหลักฐานไทยและเวียดนามจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าหลักฐานใดถูกหลักฐานใดผิด เพราะตราบใดที่ยังมีการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2562