ตามรอย 5 ชุมชนใหญ่ของญวนในบางกอก. มาจากไหน? มาอย่างไร?

องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

เอ็ดวาร์ด แวน รอย สืบเสาะประวัติศาสตร์คนหลายชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯ หรือบางกอก แล้วเรียบเรียงเป็นผลงานชื่อ “Siam Melting Pot” ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ในภาคภาษาไทยชื่อ “ก่อร่างเป็นบางกอก” โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร เป็นผู้แปล

เนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง “คนญวน” ที่อาจมีจำนวนไม่มากมายเหมือนคนลาว, คนจีน ฯลฯ แต่คนญวนที่เข้ามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อตั้งเป็นชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เช่น ที่สามเสน, บางโพ, สะพานขาว ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอหยิบยกบางส่วนมาเผยแพร่ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

บ้านญวน (ปากคลองลาด)

ระหว่างปี ค.ศ. 1777-1778 (พ.ศ. 2320-2321) กบฏเต็ยเซิน [1] ของชาวชนบทเวียดนามเพื่อต่อต้านขุนศึกตระกูลเหงียน มีอำนาจเหนือดินแดนปากแม่น้ำโขง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พวกกบฏบังคับให้ผู้คนอพยพออกจากห่าเตียน ซึ่งเป็นนครรัฐเมืองท่าการค้าที่ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนชายทะเลของเวียดนาม-กัมพูชา ในพื้นที่กำบังลมของคาบสมุทรก่าเมา (Cà Mau) หมาก เทียน ตื๋อ (Mac Thiên Tú’) ชาวกวางตุ้ง-เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ปกครองของเมืองพร้อมทั้งบริวารนั้น หลบหนีทางทะเลเพื่อไปยังธนบุรี ที่ซึ่งพวกเขาได้ให้กำเนิดอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งขึ้นท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่กำลังเติบโตขึ้นในนครหลวงแห่งนี้ (Sellers, 1983: 75; Sakurai and Takako., 1999: 204)

พวกเขามาถึงที่นั่นในต้นปี ค.ศ. 1178 (พ.ศ. 2321) ด้วยกองเรือรบที่มีคนเต็มลำเรือสำเภา และได้รับจัดสรรที่พำนักให้บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ลำน้ำ ถัดลงมาจากกำแพงและคูเมือง “ธนบุรีฝั่งตะวันออก” ตรงปากคลองตลาด ณ ที่แห่งนั้น พวกเขาค่อยๆ สร้างฐานการนำเข้า-ส่งออกด้วยกองเรือสำเภาขนาดเล็ก ผ่านการแข่งขันอย่างเสียเปรียบกับชุมชนพ่อค้าชาวฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วที่ตั้งมั่นอย่างมั่นคงอยู่ก่อนแล้ว

หมาก เทียน ตื๋อ ได้รับตำแหน่งและบรรดาศักดิ์จากพระเจ้าตากสินเป็นพระยาราชเศรษฐีญวน พร้อมคำมั่นที่ว่าจะให้เขาได้คืนกลับไปสู่อำนาจเหนือดินแดนเดิมในที่สุด และเพื่อเป็นการตอบแทน เขาจึงได้ส่งธิดาคนหนึ่งมาเป็นบรรณาการ เพื่อให้เป็นสนมของพระเจ้าตากสิน นับเป็นการสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับราชบัลลังก์สยาม ด้วยเหตุนั้นเขาจึงได้รับพระราชทานทำเนียบที่พำนักขุนนางแห่งหนึ่ง…บริเวณวัดโพธิ์ (ภายหลังปฏิสังขรณ์เป็นวัดพระเชตุพน) ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านในกำแพงพระนครของ “ธนบุรีฝั่งตะวันออก” อีกฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับวังหลวงของธนบุรี (ในอีกหลายชั่วคนถัดมา เมื่อพุทธทศวรรษที่ 2400 บริเวณท่าเทียบอู่เรือหน้าที่พำนักเดิมของหมาก เทียน ตื๋อ ถูกไฟไหม้ ทำให้บริเวณริมน้ำตรงนั้นถูกเรียกในภาษาไทยว่า “ท่าเตียน” ในปัจจุบันชื่อเรียกนั้นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อที่ผันมาจาก “ห่าเตียน” ซึ่งสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่าชุมชนชาวเวียดนามพลัดถิ่นนั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตกำแพงพระนคร [ซึ่งผิดหลักการจักรวาลวิทยาของการก่อสร้างเมือง] ตรงข้ามกับพระราชวังของพระเจ้าตากสินที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำ)

ในปี ค.ศ. 1780 (พ.ศ. 2323) หมาก เทียน ตื๋อ กระทำอัตวินิบาตกรรม ขณะที่สมาชิกในครอบครัวทั้ง 36 คน เจ้าหน้าที่อาวุโสของเขาอีก 17 คนถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของพระเจ้าตากสิน ด้วยข้อหามีส่วนร่วมในการคิดคบกับกบฏเต็ยเซินต่อต้านธนบุรี (Sellers, 1983: 81-83; Sakurai and Takak,1999: 205) ทว่า ชาวเวียดนามที่เหลือในชุมชนนี้ได้รับการผ่อนปรนโทษ และได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยต่อ

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ผู้นำชุมชนคนใหม่คือ พระยาภักดีนุชิต (องวังไต หรือ องเติง) ได้กระชับความสัมพันธ์กับเจ้านายไทยของเขา ด้วยการส่งธิดาของเขานามว่าจุ้ย มาเป็นบรรณาการให้เป็นสนมของรัชกาลที่ 1 นางให้กำเนิดพระองค์เจ้าวาสุกรี (พ.ศ. 2333-2396) ผู้ออกผนวชตลอดพระชนม์ชีพ และยังดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส…เจ้าจอมมารดาจุ้ยได้รับพระราชทานนามและบรรดาศักดิ์อาวุโสของวังหลวงเป็นท้าวทรงกันดาล ทรงมีหน้าที่ดูแลราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ (พระคลังใน)…

หมู่บ้านที่ปากคลองตลาดเติบโตขึ้นในปีให้หลังด้วยการเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวกวางตุ้ง-เวียดนาม ที่แห่งนั้นแสดงถึงความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองอย่างผ่านสถาบันทางศาสนาและอาชีพดั้งเดิม เมื่อแรกเริ่มเดิมที ที่นั่นเป็นที่ตั้งของศาลลัทธิเต๋า (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ศาลเจ้าบ้านหม้อ อุทิศให้เทพปุนเถ้ากง ภายหลังเพิ่มกวนอูเข้าไป)…และวัดพุทธมหายาน (วัด Sam Lo Theon [2] หรือวัดกัมโล่วยี่)…ซึ่งประกอบพิธีกรรมแบบเวียดนาม วัดนี้ถูกทิ้งร้างในรัชกาลที่ 3 และได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 5 ในชื่อวัดทิพยวารี ซึ่งเป็นวัดมหายานที่ประกอบพิธีแบบจีนและให้บริการชุมชนแต้จิ๋วที่ครองพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบัน…

ชาวกวางตุ้ง-เวียดนามที่เป็นช่างฝีมือในชุมชนได้พัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านศิลปะการประดับตกแต่ง เช่น งานเปลือกหอยมุก งานเครื่องถม งานแก้ว งานแกะสลักหยกและงาช้าง ในต้นรัชกาลที่ 5 กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ปราโมช, 2370-2415) ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ช่างฝีมือของชุมชนนี้ด้วยศักยภาพในการกำกับดูแลกรมช่างเคลือบ กรมช่าง กระจก และกรมญวนหก [3]

บ้านญวน (ต้นสำโรง)

ในปี ค.ศ. 1785-1786 (พ.ศ. 2328-2329) เจ้าชายเหวงียน แอ๋ญ ผู้ฝักใฝ่บัลลังก์อันนัม (Nguyen Anh ในพงศาวดารไทยเรียก “องเชียงสือ”) ถูกกบฏเต็ยเซินต้อนจนมุมที่เกาะห้างไกลของคาบสมุทรก่าเมาในเวียดนามใต้ ด้วยการแทรกแซงของนักบวชคาทอลิก พระองค์จึงได้ที่หลบภัยสำหรับพระองค์เองและผู้ติดตามอารักขาที่บางกอก…ที่ระบุว่าพวกเขาบรรทุกกันมาเต็มสำเภาจีนถึง 5 ลำ (สำเภาเดินสมุทรขนาดใหญ่ลำหนึ่งสามารถจุคนได้ 100 คน)

รัชกาลที่ 1 ทรงให้องเชียงสือไปพักอยู่ ณ ย่านบ้านญวน (ปากคลองตลาด) แต่กองทหารถูกจัดสรรให้ไปอยู่ริมน้ำบริเวณห่างไกลราว 3 กิโลเมตรตรงลำน้ำด้านใต้ บริเวณด้านใต้ที่ตั้งของชาวโปรตุเกสที่โรซาริโอ (รู้จักกันในอีกชื่อว่าต้นสำโรง) ซึ่งครอบครองพื้นที่ขนาดประมาณเท่ากับสถานกงสุลโปรตุเกสในภายหลัง (ทิพากรวงษ์ฯ, 2552 ก: 40-41; Sakurai and Takako., 2002: 263) เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ เหวงียน แอ๋ญ ส่งพระขนิษฐามาเป็นบรรณาการให้เป็นสนมของรัชกาลที่ 1 แม้ว่าจะเป็นสนมที่โปรด แต่พระองค์นั้นไม่ได้ให้กำเนิดบุตรธิดากับนาง

เหวงียน แอ๋ญ ละทิ้งให้กองกำลังของพระองค์ต้องเผชิญโชคโดยลำพัง ขณะที่ตนหนีเล็ดลอดไปค้าขายกับกองเรือจีนในปีถัดมา (ปี พ.ศ. 2329) เพื่อหวนกลับไปทำสงครามกลางเมืองในเวียดนาม ในการนั้นพระองค์ถือว่าได้ดูหมิ่นประเพณีการลาจากเจ้าบ้าน ทำให้พระองค์ถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากอุปราชในรัชกาลที่ 1 และคนอื่นๆ ทว่ารัชกาลที่ 1 กลับไม่ได้ทรงตอบโต้อันใด หากแต่พระองค์ได้เคลื่อนย้ายกองกำลังเวียดนามที่ขึ้นบกรออยู่ไปยังที่ซึ่งปลอดภัยกว่าที่บางโพ ห่างจากกำแพงพระนครเหนือลำน้ำขึ้นไปราว 11 กิโลเมตร และยังสมทบกำลังทหารเพิ่มให้ไปอีก

พระสนมเจ้าหญิงเวียดนาม ยังคงอยู่เป็นตัวแทนกลุ่มชายที่ผละละทิ้งดินแดนออกไปแล้วของเหวงียน  แอ๋ญ ณ พระราชวังหลวง พร้อมทั้งได้สนับสนุนการสร้างวัดพุทธมหายานแบบเวียดนามสำหรับเหล่าทหารที่บางโพ เหวงียน แอ๋ญเองในท้ายที่สุดได้กลับไปพิชิตกบฏเต็ยเซิน รวบรวมเวียดนามเป็นปึกแผ่น แล้วสถาปนาพระองค์เป็นจักพรรดิซาลองม์ (Gia Long) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหวงียนที่ตั้งขึ้นใหม่ เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้คิดถึงกองทหารของพระองค์ที่สูญเสียไปที่ฐานที่มั่นที่บางกอก

บ้านญวน (บางโพ)

กษัตริย์ราชวงศ์จักรีมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในทักษะการรบของกองกำลังทหารเวียดนามที่บางโพ แต่ปรากฏว่าทหารเหล่านี้กลับถูกใช้งานอย่างจำกัด ด้วยความเกรงกลัวว่าทหารพวกนี้จะเอาใจออกหากกลับไปต่อต้านประชาชนของพระองค์เอง ทหารพวกนี้จึงไม่ได้ถูกสั่งเคลื่อนพลไปทำสงครามระหว่างไทย-เวียดนาม ในปี ค.ศ. 1831-1845 (พ.ศ. 2374-2388) อีกทั้งไม่ได้ปฏิบัติการในการยาตราทัพไปภาคใต้ของสยามในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1830 (พุทธทศวรรษที่ 2370) ดังนั้นบทบาททางการทหารของชุมชนนี้จึงจางหายไป

เหล่าชายฉกรรจ์ได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพเสริมเป็นผู้ค้าไม้ซุงและแรงงานโรงเลื่อยไม้ จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นโรงสีข้าวพลังไอน้ำและโรงเลื่อยพลังไอน้ำในในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พุทธศตวรรษที่ 26) โรงเลื่อยจำนวนมากเหล่านี้ซึ่งได้รับการขัดสีฉวีวรรณใหม่อย่างเต็มรูปแบบ และยังคงดำเนินกิจการอยู่บริเวณริมแม่น้ำที่บางโพ สิ่งที่แสดงถึงความเป็นหนึ่งของชุมชนนี้คือ วัดอนัมนิกายาราม ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330)…ในปัจจุบันวัดนี้ยังเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นยืนหยัดในอัตลักษณ์เวียดนามบริเวณชายขอบของกรุงเทพฯ ที่ประกาศถึงรากเหง้าของตนผ่านลวดลายประดับหลังคา อักขระ อลังการแบบเวียดนาม รูปปั้นวีรบุรุษทหารเวียดนาม เจดีย์จำลองแสดงที่ฝังศพจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงพุทธศาสนาเวียดนามที่นิยมจะฝังมากกว่าเผาศพ…

บ้านญวน (สามเสน)

การขับเคี่ยวระหว่างสยามและเวียดนามที่ยกระดับขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งในกัมพูชายืดเยื้อกินระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1831 ถึง 1841 (ปี พ.ศ. 2374 ถึง 2384) ก่อนจะยุติลงด้วยสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) (Vella, 1955b: 95-106; จิตรสิงห์, 2552: 185-189) ภายในช่วงสงครามดังกล่าว กองกำลังเวียดนามที่ถูกจับได้ราว 15,000 คนถูกกวาดต้อนมายังสยาม จากสนามรบในกัมพูชาโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสยาม พวกเขาส่วนใหญ่ถูกผลักไสให้ไปที่อยู่กาญจนบุรีซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนอันห่างไกล โดยมีจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อให้ปกป้องชายแดนฝั่งตะวันตกของสยาม…

การทรมานดำเนินมานานนับ 2 ทศวรรษ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความเห็นใจและตกลงยินยอมให้ย้ายพวกเขาไปยังบริเวณชานเมืองบางกอก ทหารชาวคาทอลิกและผู้ติดตามจำนวนมากที่เพิ่มพูนขึ้นมาตลอดช่วงระยะพลัดถิ่น ได้ถูกส่งให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ บริเวณชุมชนคาทอลิกที่ตั้งมั่นอยู่แล้วที่บ้านโปรตุเกส (Palegoix, 2000: 407-408; ดูบทที่ 2 หัวข้อย่อย “บ้านโปรตุเกส [สามเสน]”) ณ แห่งนั้น พวกเขาถูกจัดสรรให้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระปิ่นเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ผู้นำของพวกเขาได้รับตำแหน่งและบรรดาศักดิ์เป็นพระยาณรงค์ฤทธิโกษา สังกัดกองกำลังทหารปืนใหญ่ของวังหน้า

แม้ว่าจะเห็นพ้องกันในด้านศาสนา แต่ความแตกต่างของภาษาและขนบธรรมเนียมประจำวันของชาวบ้านชาวโปรตุเกสกับชาวเวียดนามที่สามเสนได้กีดกันไม่ให้พวกเขารวมกันเป็นชุมชนโบสถ์คาทอลิกที่เป็นเอกภาพได้ ดังนั้นชาวเวียดนามจึงตั้งโบสถ์แห่งใหม่ขึ้น ณ ที่ตั้งของวัดส้มเกลี้ยง ซึ่งเป็นวัดมอญเก่าที่ถูกทิ้งร้างไปแล้ว เมื่อพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบว่าชาวคาทอลิกเวียดนามได้รื้อทำลายวัดดังกล่าวและดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นเหตุให้ทรงตำหนิติเตียนพวกเขาอย่างเกรี้ยวกราด (ผุสดี, 2541: 131-137) พระปิ่นเกล้าฯ ทรงรับผิดชอบและได้รับคำสั่งให้ก่อสร้างวัดขึ้นแทนในบริเวณใกล้เคียง (วัดราชผาติการาม สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2400)…ชาวเวียดนามที่นั่นได้ก่อตั้งโบสถ์เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์และสุสานขึ้น (ทั้งสองแห่งตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2406) ในฐานะเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน โดยโบสถ์แห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ในปัจจุบัน

การแสดงออกซึ่งความภูมิใจในชาติพันธุ์ของพวกเขาอีกประการ คือการที่ชาวชุมชนเวียดนามคาทอลิกที่สามเสนได้ปรับตัวให้เข้ากับประเทศไทย “ในแนวทางที่ตรงกันข้ามกันเกือบจะทั้งหมดกับกลุ่มชาวพุทธ (เวียดนาม) อพยพในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) ที่บางโพนั้น พวกเขาไม่อนุญาตให้ลูกหลานของตนแต่งงานกับผู้ที่ไม่ใช่ชาวเวียดนาม และคนจำนวนมาก (แม้จะเป็นในพุทธทศวรรษที่ 2500 แล้ว) ยังคงใช้ภาษาเวียดนามระหว่างพวกเขากันเองและในการสักการะทางศาสนา” (Poole, 1970: 28)

บ้านญวน (สะพานขาว)

ราวปี ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2397) กองทหารชาวพุทธประมาณ 300 นายที่กาญจนบุรีซึ่งเป็นเชลยศึกพลปืนใหญ่ชาวเวียดนาม ได้รับการจัดสรรให้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ ในบริเวณริมฝั่งด้านนอกของ “คูเมืองชั้นนอก” ที่ขุดขึ้นใหม่ (คลองผดุงกรุงเกษม) ใกล้กับวัดโสมนัสที่กำลังจะสร้างขึ้นมา พวกเขาก่อตั้งวัดสมณานัมบริหาร [4] เป็นศูนย์กลางชุมชน

ผู้นำของพวกเขาได้รับแต่งตั้งและได้บรรณาศักดิ์เป็นหลวงอันนัมณรงค์ฤทธิ์ผู้บัญชาการกรมปืนใหญ่ในวังหลวง ด้วยว่าหน้าที่ทางการทหารของพวกเขาหยุดลงไปในช่วงปีรัชกาลที่ 4 และ 5 ที่ไร้ศึกสงคราม (หลังสยามแพ้ศึกย่อยยับที่เชียงตุงในปี พ.ศ. 2395-2397) หลวงอันนัมได้ปล่อยให้บรรดาชาวบ้านดำเนินการก่อตั้งกิจการต่อเรือวิ่งในคลอง ซึ่งโดยหลักแล้วใช้สำหรับขนส่งสินค้า (Akin, 1978: 4) และแน่นอนว่าพวกเขายังให้เช่าบริการในฐานะคนเรือสำหรับการขนส่งระดับท้องถิ่น

ช่วงทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในพื้นที่นี้ คนเร่ขายผลไม้ปรากฏถี่ขึ้นที่มหานาคซึ่งเป็นตลาดน้ำบริเวณใกล้เคียง (ดูบทที่ 5 หัวข้อย่อย “บ้านตานี”) พวกเขาผูกเรือไว้บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมและบรรดาคลองข้างเคียงในอาณาบริเวณของบ้านญวน สุดท้ายแล้วบางส่วนของคนค้าขายเหล่านั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในที่ดินว่างเปล่าบริเวณชายฝั่งของลำคลอง พวกเขาสร้างกระท่อมยกพื้นขนาดเล็กที่ไม่แน่นหนานัก แม้ว่าจะประชิดติดกับบ้านญวน ก็ไม่มีใครใส่ใจพวกเขาเนื่องจากที่ดินริมคลองไม่มีมูลค่าทางการตลาด และเมื่อถึงเวลา พวกผู้ค้าเร่เหล่านั้นจะตั้งแผงตลาดผลไม้ท้องถิ่น ซึ่งยังคงอยู่ที่สะพานขาวมาถึงทุกวันนี้

ที่ตั้งชุมชนเวียดนามถูกล่วงล้ำเมื่อมีการก่อสร้างถนนลูกหลวงและสะพานขาวราวปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) วังของเจ้านายและทำเนียบที่พำนักของเหล่าขุนนางตามถนนหลานหลวงทำให้บ้านญวนตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นรอง…การปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องของสิ่งเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยการเวนคืนที่ดินของหมู่บ้านสำหรับสร้างถนนพิษณุโลกและการกอสร้างบ้าน 100 หลังคาโค้งชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ (ปัจจุบันรู้จักกันในนามบ้านพิษณุโลก) ซึ่งเป็นที่พำนักหรูหราขอพานักหรูหราของพระยาอนิรุทธเทวา (ฟื้น พึ่งบุญ)…

เชื้อสายของชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมได้ก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางบางกอกในฐานะเจ้าของที่ดิน และพวกเขาหลายคนได้ย้ายออกไปอยู่ในละแวกบ้านที่ดีกว่านี้ พวกเขาได้ละทิ้งวัดมหายานเก่าแก่และตัวตนของเวียดนามที่ยิ่งถดถอยลงเอาไว้เบื้องหลัง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เอกสารไทยมักเรียกว่า “ไกเซิน” ผู้แปลถ่ายเสียงชื่อเฉพาะให้ใกล้เคียงชาวเวียดนามสำเนียงภาคเหนือ ยกเว้นกรณีที่ชื่อเฉพาะนั้นคุ้นเคยกันในภาษาอยู่แล้ว ก็จะคงการออกเสียงแบบไทยไว้หรือทำบันทึกกำกับไว้ หรือยกเว้นที่ชื่อนั้นในไทยออกเสียงด้วยสำเนียงอื่นอยู่แล้ว ก็จะใช้ตามสำเนียงที่ใช้

[2] ยังไม่พบชื่อที่สะกดด้วยภาษาไทย – ผู้แปล

[3] ต้นฉบับใช้คำว่า “krom yuan yok” แล้วแปลเป็น “Jade Department” แต่อาจจะเป็นความคลาดเคลื่อนจากคำว่า กรมญวนหก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดแสดงกายกรรม-ผู้แปล

[4] ผู้เขียนแปลความหมายชื่อวัดว่า “วัดที่ดูแลโดยสามัญชนชาวเวียดนาม” ซึ่งอาจออกเสียงคลาดเคลื่อนจากคำว่า “สมณ” (พระ) กลายเป็น “สามัญ” (ธรรมดา) ตามที่ผู้แปลตรวจสอบชื่อภาษาไทยแล้ว ที่ถูกต้องหมายถึง “วัดที่ดูแลโดยพระชาวเวียดนาม”- ผู้แปล


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2565