ทำไม “ข้าวต้มกุ๊ย” เมนูขวัญใจชาวโต้รุ่งถึงเคยเป็น “อาหารคนจน”?

ข้าวต้มกุ๊ย ผัดกุยช่ายขาวเต้าหู้หมูสับ ผัดขแนงหมูกรอบ
ข้าวต้มกุ๊ย และกับแนม

ข้าวต้มกุ๊ย อาหารยอดฮิตยามค่ำคืนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย ประกอบด้วยข้าวเมล็ดนิ่มในน้ำซุปสีใสบ้าง เขียวบ้าง ตามวัตถุดิบที่เลือกสรร พร้อมกับตั้งแต่หนึ่งอย่างไปจนถึงคนรับประทานจะพอใจ ที่คุ้นตากันบ่อย ๆ คงไม่พ้นผักบุ้งไฟแดง ผัดหอยลาย หรือผัดกุยช่ายขาวเต้าหู้หมูสับ ความอร่อยหลากหลายทำให้เมนูดังกล่าวมัดใจใครต่อใครได้อยู่หมัด 

แม้จะถูกใจคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ทว่าครั้งหนึ่งอาหารจีนอย่าง “ข้าวต้มกุ๊ย” กลับกลายเป็นอาหารที่ได้รับการตีตราว่าเป็น “อาหารคนจน”

อาหารจีน เป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายศตวรรษ อาจเพราะคนจีนอพยพเข้ามาสยามเป็นระยะเวลานาน ทั้งคนจีนยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยเป็นอย่างมาก ตามหลักฐานปรากฏว่าอาหารจีนถือว่าเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง ไล่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จะเห็นร่องรอยอาหารของกลุ่มคนเหล่านี้มากมาย เช่น บันทึกของลา ลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่ระบุว่า

“ราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์เลี้ยงรับรองคณะราชทูตด้วยสำรับกับข้าวอาหารไทยมากกว่า 30 ชนิด ที่ปรุงตามต้นตำรับจีน”

ไม่เพียงหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ “กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏรูปพ่อครัวชาวจีนกำลังยกสำรับไปเสิร์ฟ

ความสำคัญของอาหารจีนต่อชนชั้นสูง ไม่เพียงทรงอิทธิพลแค่ยุคอยุธยา แต่ยังล่วงเลยมาถึงช่วงกรุงรัตนโกสินทร์  

อย่างในตำรับอาหารสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 ก็มีการกล่าวถึงอาหารในวังที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากจีน อย่าง รังนกนึ่ง ซึ่งปรากฏผ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า 

  “รังนกนึ่งน่าซด   โอชารสกว่าทั้งปวง

              นกพรากจากรังรวง   เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน”

จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) อาหารจีนอย่าง “ไก่ผัดเล่าปี่” ก็ยังเป็นหนึ่งในพระกระยาหารโปรดของพระองค์

ในทางกลับกันก็มีอาหารจีนอยู่หลายประเภทที่ได้รับการตีตราว่าเป็น “อาหารของคนจน” หรือชนชั้นล่าง หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวต้มกุ๊ย” หรือบางคนก็เรียกว่า “ข้าวต้มพุ้ย” เพราะมาจากวิธีกินข้าวของคนจีนที่ต้องยกชามข้าวต้มโดยใช้ตะเกียบ 

แล้วทำไม “ข้าวต้มกุ๊ย” ถึงได้รับการขนานนามว่าเป็นอาหารของคนจน? 

จากงาน “การเมืองวัฒนธรรมของ ‘อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย’: ความเป็นไทยที่ (เคย) กดทับ ‘อาหารเจ๊ก’ ‘อาหารลาว’” ของ อาสา คำภา นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ส่วนหนึ่งมาจาก “ความหวาดกลัว” ของชนชั้นนำต่อกลุ่มคนจีนที่มีบทบาทอย่างมากในสยาม เพราะคนจีนมักจะมีหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม จึงก่อให้เกิดความคิดเรื่อง “อุดมการณ์ชาติไทย” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านงานเขียนต่าง ๆ ของพระองค์ เช่น พวกยิวแห่งบูรพาทิศ พ.ศ. 2457

“อุดมการณ์ชาติไทย” ดังกล่าวแพร่ขยายความคิดไปในแทบทุกพื้นที่ ทำให้กลุ่มชนชั้นนำ และชาวสยามเริ่มมองว่า “ชาวจีน” เป็นอีกชนกลุ่มหนึ่งที่แตกต่าง และเริ่มมีทัศนคติต่อคนจีนในแง่ลบ กอปรด้วยวิถีชีวิตของกุลีจีนขณะนั้นที่มักใช้ชีวิตเร่งรีบ เนื่องจากต้องทำงานเพื่อให้ได้ปริมาณมากในเวลาจำกัด บริเวณสถานอโคจรต่าง ๆ เช่น โรงฝิ่น โรงบ่อน ทำให้ช่วงเวลากินข้าวของคนจีนมีภาพที่ไม่น่าดูนัก

แรงงานชาวจีนมักจะเลือกกินอาหารที่อิ่มท้อง กินง่าย ราคาถูก อย่าง “ข้าวต้มกุ๊ย” ซึ่งขณะนั้นมีราคาเพียงถ้วยละครึ่งสตางค์ แนมกับ นั่งยอง ๆ บนเก้าอี้ แล้วใช้ตะเกียบคีบข้าวกิน ซึ่งหากมองตามทัศนะของคนไทย ท่าทางพวกนี้ถือเป็นเรื่องไร้มารยาท และไม่สุภาพเรียบร้อย จึงพลอยทำให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ของข้าวต้มกุ๊ย

นอกจากนี้ อาสายังระบุไว้อีกว่าการสร้างภาพลักษณ์ให้ “ข้าวต้มกุ๊ย” เป็นอาหารของคนจน ยังเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ

“สำหรับครอบครัวคนจีนในไทยสาเหตุที่พวกเขานิยมกินข้าวต้มเป็นอาหารหลัก (วันละ 2 – 3 มื้อ) ยังเกี่ยวข้องกับเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะการกินข้าวสวยทุกมื้อจะทำให้ข้าวไม่พอกิน เนื่องจากคนจีนไม่ได้ทำนาซึ่งต่างจากคนไทย ดังที่กล่าวมาข้าวต้มจึงเคยเป็นภาพลักษณ์ ‘อาหารคนจน’ มาก่อนอีกด้วย” 

ส่วนชื่อข้าวต้ม “กุ๊ย” ซึ่งบางคนสันนิษฐานว่ามีที่มาจากคำว่าอันธพาล ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบว่าอาหารดังกล่าวเคยได้รับการหมิ่นแคลนในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา. “การเมืองวัฒนธรรมของ ‘อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย’: ความเป็นไทยที่ (เคย) กดทับ ‘อาหารเจ๊ก’ ‘อาหารลาว’.” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 21, ฉ. 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564): 454-471.

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ชาวจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2517.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566