เมนูประวัติศาสตร์ : ข้าวต้มวัดบวร อาลัย “เสี่ยโข่ง” ผู้ใจดีแห่งบางลำพู

ข้าวต้มวัดบวร ต้นตำรับ ผักบุ้งไฟแดง
“เสี่ยโข่ง” คุณากร สวัสดิ์ธนาโรจน์ ร้านข้าวต้มวัดบวร (ภาพจากเพจ ข้าวต้มบวร)

แด่ “เสี่ยโข่ง” คุณากร สวัสดิ์ธนาโรจน์ (เรียก “เฮียเซียะ” ชื่อจีน คนคุ้นๆ จะเรียกเสี่ยโข่ง) แห่ง ข้าวต้มวัดบวร อีกหนึ่งคนบางลำพูที่ร่วงโรย มิใช่กาลเวลา แต่เกิดจากโควิด วันนี้ (20 กรกฎาคม 2564) ได้ฟังข่าวแล้ว ต้องถามไปยังคนใกล้ชิดย่านบางลำพู ว่าเรื่องนี้จริงหรือ ในที่สุดความจริงก็คือความจริง ต้องยอมรับ นี่คือเรื่องสุดท้ายที่เราได้คุยกันเมื่อปีที่ผ่านมา

วันนั้นคิดถึงเสี่ย บอกเสี่ยว่าอยากเขียนบันทึกไว้ เดี๋ยวผ่านเลย เสี่ยก็คุยสนุกอารมณ์ดี โดยเฉพาะให้เล่าเรื่องโรงหนังศรีบางลำพูตอนไฟไหม้ เสี่ยบอกวันนั้นผมดูและจำได้ เขาฉายหนังเรื่องตะลุยทะเลเพลิง แล้วไฟก็ไหม้โรงหนัง แล้วก็หัวเราะ

ด้วยความระลึกถึงและอาลัย เสี่ยโข่งผู้ใจดีแห่งบางลำพูที่ต้องจากไกลเพราะโควิด และในยามนี้หาเตียงไม่ได้ โรงพยาบาลไม่รับ เสี่ยและครอบครัวต้องไปรับการรักษายังพื้นที่ที่ว่างถึงศรีราชา ภรรยาและลูกชายหายกลับมา เหลือแต่เสี่ยที่ต้องจากไกล ฝากไว้แต่คุณความดีให้ระลึกถึง อยู่ในความทรงจำ สู่สุคติครับเสี่ย

เมนูประวัติศาสตร์ : ข้าวต้มวัดบวร

บ่ายๆ อากาศอบอ้าว เสี่ยโข่งเจ้าของร้าน ข้าวต้มวัดบวร กำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดซอยข้างธนาคารกสิกรไทยอย่างเอร็ดอร่อย คนบางลำพูนิยมเรียกเจ้าของร้านข้าวต้มว่าเสี่ย สวัสดีครับเสี่ย

เสี่ยโข่งเงยหน้าขึ้นมอง สวัสดีครับอาจารย์ เชิญนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดกันก่อน พร้อมกับสาธยายว่า อาจารย์รู้ไหม ก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านนี้เก่าแก่อร่อยมาก อร่อยมาตั้งแต่รุ่นเตี่ยเขา เตี่ยเขาทำเป็ดพะโล้ ต้มเป็ดเอง อร่อย มาถึงรุ่นลูกเขา พัฒนามาทำก๋วยเตี๋ยวเป็ด เขาทำมานานแล้วตั้งแต่รุ่นนั้น ดูเสี่ยเอร็ดอร่อยจริงๆ ผมขอรบกวนถามความรู้ กินไปคุยไปนะครับ ได้ได้อาจารย์ว่ามาเลย ข้าวต้มหน้าวัดบวรของเสี่ย เป็นไงมาไงครับ

โอ๊ย ตั้งแต่รุ่นเตี่ยผมโน่น ตอนนั้นข้าวต้มมีอยู่สองร้าน เพ่งเพ้ง กับร้านเตี่ยผมนี่แหละ เตี่ยผมนายเจี๊ยบชิ้ว แซ่อึ้ง มาจากเมืองจีน ซัวเถา ปรากฏว่าแซ่เดียวกับคนขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดอีก

ยุคนั้นร้านข้าวต้มในกรุงเทพฯ มีสองร้านที่คนชอบไป เป็นข้าวต้มห้องแอร์ อยู่ที่ถนนเสือป่า ชื่อ ลิ้ม ฮ่อ ง้วน เป็นร้านที่อยู่ระหว่างภัตตาคารกับร้านข้าวต้ม ที่ร้านนั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยไปนั่งกินข้าวต้ม ส่วนร้านธรรมดาไม่มีแอร์ ก็มาที่หน้าวัดบวร ร้านเราเป็นร้านข้าวต้มธรรมดาขายคนในพื้นที่ย่านบางลำพู ใกล้เคียง ในยุคเตี่ยนั้น สี่โมงเย็นจึงเปิดร้านกินกันเป็นอาหารมื้อเย็น

อาหารขึ้นชื่อที่คนชอบสั่งกิน ผักบุ้งไฟแดง ปูดอง เป็ดพะโล้ กุ้งอบเกลือ สมัยนั้น กุ้งโลละยี่สิบห้าบาทเอง ห่านตัวหนึ่งก็ยี่สิบห้าบาทเหมือนกัน นอกจากนั้นก็มี จับฉ่าย ปลาช่อน ปลาตะเพียนต้มเกี๊ยมฉ่าย ปลาช่อนเลิกทำมานานแล้วเมนูนี้ ใบปอ เครื่องดอง ถั่วเค็ม ปลาลิ้นหมาทอดกรอบจิ้มซีอิ๊วดำ ยุคแรกๆของการเปิดร้านข้าวต้ม เชื่อไหม ข้าวต้มถ้วยละยี่สิบสตางค์ ไม่่ถึงสลึง ลูกค้าคนกินมาจากไหน คนในพื้นที่แถวบางลำพูเรานี่แหละ นอกจากนั้นในยุคโน้น หน้าหนาวมีประกวดนางงามวชิราวุธ ประกวดนางสาวไทย ผับ บาร์ ถนนราชดำเนิน เลิกแล้ว คนมีสตางค์น้อยก็มากินข้าวต้มหน้าวัดบวรกัน เพราะร้านเราเลิกดึก ส่วนคนมีสตางค์มากหน่อยก็ไปข้าวต้มห้องแอร์ ถนนเสือป่า

เห็นว่าเตี่ยทำเมนูประวัติศาสตร์ “ผักบุ้งไฟแดง” เจ้าแรก?

ใช่ ใช่ วันนั้นเตี่ยเบื่อกับข้าวร้านข้าวต้ม ก็เดินไปที่ตลาดยอด เห็นผักบุ้งจีนเขาแช่น้ำแข็งไว้ ก็หยิบเอามาผัดน้ำมันกิน อ้าว กรอบอร่อยดีนี่ จึงเป็นผักบุ้งไฟแดงเมนูที่คนชอบสั่งมา 60 กว่าปีแล้ว

“ผักบุ้งไฟแดง” ร้านข้าวต้มวัดบวร อาหารขึ้นชื่อที่ต้องสั่ง (ภาพจากเพจ ข้าวต้มบวร)

ส่วนคนที่ชอบอาหารที่ร้าน คงเพราะบรรยากาศสบายๆ อาหารถูกปาก มากินแบบปากต่อปาก ตั้งแต่คนรุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นลูกหลานก็กินกันเรื่อยมา ก็อยู่กินกัน ขายกันมาจนถึงวันนี้ ร้านเราไม่มีชื่อเรียกอะไร มีแต่ลูกค้าเรียกกันเอง จนติดปาก ข้าวต้มหน้าวัดบวร เราอยู่ในที่ของวัดบวรนิเวศ วัดเมตตาให้เราทำมาหากิน คำว่าบวรเป็นของสูง เราไม่กล้านำมาใช้เป็นชื่อร้านของเรา ที่ลูกค้าคนกินเรียกร้านเราเอง เราก็ดีใจ ร้านข้าวต้มหน้าวัดบวร

ข้าวต้มวัดบวร ข้าวต้มหน้าวัดบวร หรือ ข้าวต้มกึ่งศตวรรษ คือร้านข้าวต้มหน้าวัดบวรร้านเราแน่นอน เสี่ยโข่งคุณากร สวัสดิ์ธนาโรจน์บอก ผมเข้าบ้านไปเตรียมตัวออกมาร้านตอนเย็นหน่อย มีอะไรพบได้ที่ร้านข้าวต้มนะครับ เสี่ยลุกจากเก้าอี้เดินเข้าซอยเข้าบ้านไปแล้ว

ผักบุ้งไฟแดงเจ้าแรก ข้าวต้มวัดบวร ของเสี่ยโข่ง มีโอกาสต้องไม่พลาดเมนูประวัติศาสตร์ (วันนั้นผมเกรงใจ เลยไม่ได้บันทึกรูปกับเสี่ยโข่งเอาไว้ เสียดายมากๆ และไม่นึกว่านั่นเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย) ขอแสดงความเสียใจและขอไว้อาลัยแด่คนสำคัญของบางลำพูด้วยครับ

เสี่ยโข่งกำลังเขียนเบอร์โทรศัพท์ให้ผม(สมปอง ดวงไสว) ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด ตามเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564