ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระประแดง เป็นชื่อที่ได้จากเทวรูปทองสัมฤทธิ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 2 องค์ มีจารึกนามว่า พระยาแสนตาองค์หนึ่ง ส่วนอีกองค์หนึ่งชื่อบาทสังขกร ขุดพบโดยบังเอิญบริเวณคลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อราว พ.ศ. 2041
ยุคนั้นการค้าทางทะเลกับบ้านเมืองชายฝั่งห่างไกลขยายกว้างขวางมากกว่าเดิม จึงให้จัดระบบบัญชีไพร่พลและราษฎรที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งทางดินแดนชายเลน กับซ่อมแปลงคูคลองเส้นทางคมนาคมให้เดินทางขึ้นล่องไปมาระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลอ่าวไทยสะดวกคล่องขึ้น โดยเฉพาะตรงที่เรียกคลองสำโรง (ปัจจุบันคือพื้นที่ระหว่างเขตบางนา กับอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรปราการ) ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า
“สมเด็จพระรามาธิบดีแรกให้ทำตำราพิชัยสงคราม และแรกทำสารบาญชีพระราชพิธีทุกเมือง
ขณะนั้น คลองสำโรงที่จะไปศีรษะจระเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำเจ้าพระยาตื้น เรือใหญ่เดินไปมาขัดสน จึ่งให้ชำระขุดได้รูปเทพรักษ์ 2 รูป หล่อด้วยทองสัมฤท์ จารึกชื่อองค์หนึ่งชื่อ พระยาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังฆังกร ในที่รวบ (ร่วม) คลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึ่งให้พลีกรรมบวงสรวงแล้วรับออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง”
เทวรูป 2 องค์ คือพระยาแสนตา กับบาทสังขกร คนยุคนั้นเรียกด้วยภาษาปากชาวสยามว่าพระประแดง เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า กัมรเดง เพื่อจะให้หมายถึงรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ของ “ขอม” ในศาสนาพราหมณ์ (ยังมีตัวอย่างอื่นๆ เช่น ศาลตาผาแดง เป็นปราสาทแบบขอม (เขมร) ในสมัยกรุงสุโขทัย แม้ชื่อผาแดง นางไอ่ คำว่าผาแดงก็เพี้ยนมาจากกัมรเดง-ประแดง)
แล้วให้สร้างศาลไว้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป 2 องค์นั้น เรียกว่าศาลพระประแดง ในบริเวณชุมชนเมืองตรงริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามคลองสำโรง ต่อมาเลยเรียกบ้านเมืองตรงนั้นตามรูปเคารพว่าเมืองพระประแดง
หากเทวรูป “พระประแดง” 2 องค์ ตั้งอยู่ในศาลเมืองพระประแดงได้ไม่ถึง 100 ปี
เมื่อพระยาละแวกยกทัพจากกัมพูชามาปล้นกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2112-33) ได้ขนกลับไปกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยธุยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดหลักฐานอยุธยา “พระประแดง” คำนี้มาจาก “กัมรเตง” ในภาษาเขมรโบราณ
- ทิ้งงานมหาเจดีย์ที่มัณฑะเลย์มาสร้างจุลเจดีย์ที่พระประแดง…?
- กำเนิด “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่
- “เมืองพระประแดง” แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง เมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ, จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2561