เปิดหลักฐานอยุธยา “พระประแดง” คำนี้มาจาก “กัมรเตง” ในภาษาเขมรโบราณ

สมุทรปราการ แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบบทความ พระประแดง กัมรเตง
แม่น้ำเจ้าพระยา จ. สมุทรปราการ (ภาพ : collections.lib.uwm.edu)

“พระประแดง” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ที่คนไทยส่วนมากคุ้นหู ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “เทศกาลสงกรานต์พระประแดง” ที่มักเล่นกันอย่างสนุกสนานครึ้กครื้นช่วงท้ายของสงกรานต์ 

เราอาจคุ้นชินคำว่า “พระประแดง” และคิดว่าเป็นคำในภาษาไทยแต่ดั้งเดิม แต่หากย้อนไปในอดีตที่ยังไม่มีเส้นพรมแดนขีดแบ่งความเป็นรัฐชาติ “ภาษา” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์มีการหยิบยืม มีพัฒนาการในแต่ละพื้นที่ กระทั่งกลืนมาเป็นส่วนหนึ่งของคำที่เราใช้กันในปัจจุบัน 

เช่น คำว่า “พระประแดง” ที่มาจากภาษาเขมรโบราณอย่าง “กัมรเตง”

ในบทความ “‘ประแดง’ ‘ผแดง’ และ ‘ผาแดง’ บริบทและความเปลี่ยนแปลงจาก ‘กัมรเตง’ ในภาษาเขมรโบราณ” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก สาขาวิชาภาษาเขมร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเขมร ได้อธิบายถึงพัฒนาการของคำดังกล่าว สรุปความได้ดังนี้ 

คำว่า ประแดง ผะแดง ผแดง หรือ ผาแดง มีที่มาเดียวกับคำว่า “กมรแดง” และ “กุํมฦๅแดง” ซึ่งมีที่มาจากภาษาเขมรโบราณอย่าง “กัมรเตง” อีกทีหนึ่ง

“กัมรเตง” คำนี้ในภาษาเขมร ใช้เป็นคำนำแสดงพระราชอิสริยยศเจ้านายหรือมหากษัตริย์ของอาณาจักรกัมพูชาตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร ดังเห็นได้จากจารึกเขมรสมัยนั้น แต่จะถูกเขียนไว้ว่า “กัมรตาญ” เช่นที่ปรากฏว่า “วฺระ บาท กมฺรตาญศฺรีรุทฺมหาลย” แปลว่า “พระกัมรตาญ ศรีรุทรมหาลย”

จนในสมัยพระนครก็ได้เปลี่ยนจาก “กัมรตาญ” เป็น “กัมรเตง” และใช้เป็นพระยศอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางขั้นสูง และยังใช้เป็นคำแสดงตำแหน่งหรือยศข้าราชการที่มีศักดิ์สูงอีกด้วย

เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังพระนคร ก็เปลี่ยนเสียงและอักขรวิธีในการเขียนคำว่า “กมฺรเตง” เป็น “กํมฺรแตง” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นเจ้า เห็นได้จากศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระนคร หลักที่ 21 และในภาษาเขมรปัจจุบันก็เปลี่ยนวิธีเขียนเป็น “คมฺเฏง” แปลว่า พระเดชพระคุณ หรือ พระผู้เป็นเจ้า

คำว่า “กมฺรเตง” เมื่อเข้ามาอยู่ในภาษาไทย เป็นอย่างไรบ้าง?

คำนี้เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็เปลี่ยนจาก “กัมรเตง” เป็น “กมรแดง” (เปลี่ยน ต เป็น ด และ เ- เป็น แ-) อย่างที่เห็นในจารึกตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็มีปรากฏว่า “กมรแดง” ใช้เป็นคำนำหน้าพระนามกษัตริย์สุโขทัย เช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองว่า “นามเดิมกมรแดงอญผาเมือง”

นอกจากนี้ กฎหมายตราสามดวง ในพระไอยการตำแหน่งนายพลเรือน สมัยอยุธยา ก็มีการใช้คำว่า “กมฺรเตง” แต่เขียนในรูปแบบ “กุํมฦาแดง” เช่น “กุํมฦาแดงษารภาษชาติการีศรีกันดาลพล พลเรือนขึ้นฝ่ายขวานา ๖๐๐” 

แล้วคำว่า “ประแดง” และ “ผะแดง” มีที่มาจากคำว่ากัมรเตง ได้อย่างไร?

หลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทั้ง 2 คำนี้มีที่มาจากกัมรเตง ปรากฏอยู่ใน “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา” (รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา) เพราะมีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “หัวหมื่นหัวพันนายแวงกรมแดงนักมุขทั้งหลาย” และ “…มีบังคับออกพระศรีภูริปรีชญาธิราชเสนาบดีศรีสาลักษณให้กรมแดงศรียด นายราชกันตำราให้ทำดำราพระราชโองการ”

ด้านฉบับขอมปนไทยใช้ว่า “กรํมประแดงศรียสส” และในความต่อไปก็ใช้ว่า “จึงผะแดงศรียศแลนายราชกันดำรา…”

จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า “กรมแดงศรียด” “กรํมประแดงศรียสส” และ “ผะแดงศรียศ” ปะปนกัน ทั้งที่เป็นตำแหน่งเดียวกัน 

ด้วยเหตุนี้ตำแหน่ง “กรมแดง” กับ “กรํมประแดง” หรือ “ผะแดง” ที่ใช้ในพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา จึงน่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกัน และคำว่า “กรมแดง” หรือ กุํรแดง ก็เป็นคำที่มีที่มาจากคำว่ากัมรเตง

นี่จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าคำว่า “ประแดง” และ “ผะแดง” น่าจะมีที่มาจากคำว่ากัมรเตง ในภาษาเขมรโบราณ

กลับไปที่ตำแหน่ง “กุํมฦาแดง” ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า

กรมพระสุรัสวดีซ้าย

กุํมฦาแดงจุลาเทพภักดีศรีกันดาลพล ทหารขึ้นฝ่ายซ้ายนา ๖๐๐…

กรมพระสุรัสวดีขวา

กุํมฦาแดงษารภาษชาติการีศรีกันดาลพลๆเรือนขึ้นฝ่ายขวา นา ๖๐๐…”

ขณะที่ในหลักฐาน “พระไอยการตำแหน่งนาทหารนาหัวเมือง” กลับใช้คำว่า “ประแดง” ดังที่ว่า 

“เจ้าพญาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวราธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองพิษณุโลก เอกอุนา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา”

นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ตำแหน่ง “กุํมฦาแดง” กับ “ประแดง” เป็นตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “กมฺรเตง” นั่นเอง

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต นอกเหนือจากตำแหน่งที่มีที่มาเดียวกัน คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านความหมาย “ประแดง” ในสมัยอยุธยาตอนกลางตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา จะเห็นว่าแต่เดิมคำนี้เคยเป็นคำเรียกแทนชนชั้นเจ้า แต่ต่อมากลับเป็นตำแหน่งขุนนางชั้นผู้น้อย 

แล้ว “พระประแดง” มาเป็นชื่ออำเภอประจำจังหวัดสมุทรปราการได้อย่างไร?

เรื่องนี้ รศ. ดร. ศานติ กล่าวไว้ว่า…

“‘พระประแดง’ เป็นชื่อที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับคำว่า ‘กัมรเตง’ ที่หมายถึง ‘ผู้เป็นใหญ่’ ซึ่งในที่นี้หมายถึงเทพเจ้าหรือเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘เมืองประแดง’ ในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน เมื่อกล่าวถึงการขุดพบเทพารักษ์ ที่เมืองพระประแดง ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่า

‘ขณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีศะตรเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำเจ้าพญาตื้นเรือใหญ่จะเดืรไปมาขัดสน จึ่งให้ชำระขุด ได้รูปเทพารักษ์ ๒ องค์ หล่อด้วยทองสำฤทธิ จาฤกองค์หนึ่งชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังกร ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึ่งให้พลีกรรม์บวงสวงแล้วรับออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิศถานไว้ ณะ เมืองประแดง

นอกจากนี้ยังปรากฏความในตอนที่พระยาละแวกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาว่า ‘พญาลแวกเหนจะปล้นพระนครมิได้ก็เลีกทับคืนลงไปตั้งอยู่ ณะ ปากน้ำพระประแดง แล้วก็แต่งให้ขึ้นไปลาดจับคนถึงสาครบุรี ได้ขุนหมื่นกรมการ แลไพร่ชายหญิงอพยพมาเปนอันมาก 

จึ่งให้เอารูปเทพารักษสำฤทธทั้งสององค์ชื่อพญาแสนตา แลบาตสังกรอันมีมะเหศักดานุภาพ ซึ่งอยู่ ณะ เมืองพระประแดงอันขุดได้แต่ครั้งสมเดจ์พระรามาธิบดีนั้นไปด้วย’

ความในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน จึงน่าจะเป็นหลักฐานได้ว่าชื่อเมือง ‘ประแดง’ หรือ ‘พระประแดง’ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีการขุดคลองและได้เทพารักษ์ (เทวรูป) ชื่อพญาแสนตา และบาทสังกร

ด้วยเหตุนี้ชื่อ ‘ประแดง’ ในที่นี้จึงมีความสัมพันธ์กับคำว่า ‘กัมรเตง’ โดยยังรักษาความหมายในภาษาเขมรโบราณที่หมายถึง ‘ผู้เป็นใหญ่’ และใช้เป็นคำนำหน้าพระนามของ ‘เทวรูป’ ในศาสนาพราหมณ์ไว้ด้วย”

คำต่างๆ จึงไม่ได้ปรากฏอย่างโดดๆ แต่มีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน ดังเช่นคำว่า “พระประแดง” ที่สืบเค้ารากได้จากคำว่า “กมฺรเตง” นั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศานติ ภักดีคำ. “‘ประแดง’ ‘ผแดง’ และ ‘ผาแดง’ บริบทและความเปลี่ยนแปลงจาก ‘กัมรเตง’ ในภาษาเขมรโบราณ.” วารสารไทย ปีที่ 32 ฉบับที่ 118 เมษายน-มิถุนยน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2567